“ไผ่ ดาวดิน” กับความเป็นธรรมราคาแพง | จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

ความฝันอยากเป็นผู้พิพากษา ทำให้ ‘จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา’ หรือที่หลายคนรู้จักในนาม “ไผ่ ดาวดิน” เลือกเส้นทางนักศึกษาวิชากฎหมาย ในรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น

เพราะติดสอยห้อยตามทั้ง “ทนายอู๊ด” และ “ทนายพริ้ม” พ่อและแม่ของไผ่ที่คอยให้ความช่วยเหลือด้านคดีแก่ชาวบ้าน แม้จะเคยเห็นความไม่เป็นธรรมตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาเข้าใจเท่ากับเมื่อเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ไผ่ในวัย 29 ปี ยังเดินตามความฝัน เพราะสิ่งที่ได้เรียนรู้มาโดยตลอด คือ “กฎหมาย” ไม่เท่ากับ “ความยุติธรรม”

แต่เพราะต้องกลายเป็นคนมีมลทิน ด้วยความผิดจากคดีการเมือง ราคาที่ต้องจ่าย อาจทำให้เส้นทางชีวิตของชายผู้มีฝันคนนี้ ไม่ราบรื่นนัก

ตอนนี้ นอกจากบทบาทของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เขายังเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาการออกประทานบัตรเหมืองแร่และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ สภาผู้แทนราษฎร พร้อม ๆ กับเรียนต่อระดับปริญญาโท ด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ไผ่ ดาวดิน

The Active คุยความคิดกับ “ไผ่” ถึงสิ่งที่หล่อหลอมและทำให้เขายังคงยืนเด่นโดยท้าทาย กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ดังถ้อยคำคุ้นหูว่า #เราคือเพื่อนกัน

หลายคนรู้จัก “ไผ่ ดาวดิน” จากการคัดค้านเหมืองในภาคอีสาน

เขาบอกว่า ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย มีมากกว่าแค่การเรียนวิชากฎหมายในคณะนิติศาสตร์ แต่การลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านในภาคอีสาน ทำให้เขาเป็นเขาในวันนี้

เขาเข้าร่วมกับกลุ่ม “ดาวดิน” หรือ กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ที่เป็นการสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น ของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รุ่นพี่ – รุ่นน้อง ยังได้ร่วมกันตั้งศูนย์กฏหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม อาสาเป็นที่ปรึกษาด้านกฏหมายให้กับผู้ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโครงการพัฒนาทั้งของรัฐและเอกชน

กรณี เหมืองแร่โปแตช คือ จุดเริ่มต้น จากนั้นก็ไล่ระดับไปเหมืองอื่น ๆ ทั้ง เหมืองทอง เหมืองหิน เหมืองทราย ฯลฯ ทั้งการเรียนรู้และคัดค้าน โดยเฉพาะกระบวนการรับฟังความเห็น ที่เขาบอกว่า กระบวนการไม่ได้เป็นไปตามชื่อ

“มันชื่อเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่มันไม่ได้รับฟังความคิดเห็น อันนี้คือสิ่งที่เราสงสัย ทำให้ตั้งคำถามกับความยุติธรรม เห็นชาวบ้านโดนตี ผู้หญิงโดนตี คนตีก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องทำขนาดนี้เพื่อปกป้องบริษัทในการขุดเจาะโพแทสเซียม ทำไมถึงเป็นแบบนี้”

ไผ่บอกว่า ไม่ใช่แค่เหมืองแร่โปแตช ที่อุดรธานี แต่กรณีแบบนี้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ในการนำทรัพยากรแร่ในภาคอีสานไปใช้ เช่น เหมืองทองคำ จ.เลย ที่มีการนำประชาชนนอกรัศมี 5 กิโลเมตร ตามข้อกำหนดของอีไอเอ (การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) มายกมือออกเสียงเพื่อให้กระบวนการผ่าน โดยไม่ได้สนใจกระบวนการรับฟังความเห็น ไม่ได้รับฟังชาวบ้านอย่างจริงใจ

ดาวดิน
ภาพ : Roengrit Kongmuang – เริงฤทธิ์ คงเมือง (8 ก.ย. 2556)

“มันไม่ยุติธรรมไง ทำไมไม่มีสิทธิ์คัดค้าน บ้านเขา ทรัพยากรก็เป็นของเขา ทำไมกระบวนการไม่ฟังเขา ทำไมนายทุนต้องมีธงว่ารับฟังความเห็นแล้วต้องได้ ทำไมไม่เปิดใจว่าหากเขาโหวตได้ คือ ได้ ไม่ได้ก็ต้องทำใจ อันนี้ทำทุกครั้ง คือได้ตลอด หากทำไม่ได้ คือเพราะชาวบ้านคัดค้าน”

นอกจากประเด็นเหมืองแร่ เขายังเติบโตทางความคิดมาจากการเห็นปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน กรณีบ้านบ่อแก้ว จ.ชัยภูมิ, เขื่อนลำสะพุง จ.ชัยภูมิ รวมถึงคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ที่เขาและนักกิจกรรมรุ่นใหม่เห็นว่าเป็นการแปรรูปการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ผลักภาระให้ประชาชน

มองเห็นจุดร่วมอย่างไร กับเรื่องที่กำลังเรียกร้องตอนนี้

ไผ่ บอกว่า เมื่อศึกษาข้อเท็จจริงจากหลายพื้นที่ จะเห็นได้ว่ามันเป็นปัญหาโครงสร้างทางการเมือง เพราะปัญหาในชนบท ที่บ้านของเขา ที่ภาคอีสาน ทั้งการจัดการทรัพยากรแร่ ที่ดิน เขื่อน หรือคนจนเมืองขอนแก่น เหล่านี้ มีรูปแบบปัญหาไม่แตกต่างกัน จึงนำมาสู่การตั้งคำถาม และพบว่ามันเป็นปัญหาโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย รวมศูนย์อำนาจ เพราะรัฐส่วนกลางไม่เข้าใจบริบทของคนในพื้นที่

“เราไม่ได้ปฏิเสธทุนนิยม แต่ทุนที่ไม่ฟังเสียงประชาชน ใช้อำนาจเหนือกฎหมาย เหนือรัฐ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา ทำไมเราต้องมาเรียกร้องที่รัฐบาล เพราะจังหวัดไม่มีอำนาจตัดสินใจโครงการพัฒนาเหล่านี้ได้เลย เราก็เห็นว่าปัญหาอยู่ที่โครงสร้าง มุมมองที่รัฐมีต่อการพัฒนา คือ จะนำทรัพยากรมาใช้อย่างไรได้บ้าง แต่ชาวบ้านมองความสุขบนฐานทรัพยากรที่เขามี มองจากฐานคิดคนละอัน”

เขาเปรียบเทียบกับภูเขาหนึ่งลูก ที่เอกชนหรือนายทุน มองว่ามีทรัพยากรอะไรบ้าง มีประโยชน์อะไรบ้างที่จะนำไปใช้ ต้องนำออกมาใช้ให้หมด แต่ชาวบ้านมองว่า ภูเขาลูกนี้ จะหาอยู่ หากิน หาอาหาร เก็บเห็ดเลี้ยงชีวิตอย่างไร อยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน

“บางโครงการทำไปแล้ว บางสิ่งมันไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ ต้นไม้ใช้เวลาเติบโตกี่ปี คุณทำลายภายในไม่กี่นาทีได้ แต่เราสร้างใหม่ไม่ได้”

เพราะเรียนนิติศาสตร์ ทำให้เชื่อมโยงปัญหากับความยุติธรรม?

เขาเริ่มตอบคำถามประเด็นนี้ ด้วยการยกกรณีที่เขาและเพื่อนเคยถูกฟ้องร้องฐานขัดขวางกิจการพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อยังเรียนระดับมหาวิทยาลัย ทั้งที่เขาและชาวบ้านใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งรับรองสิทธิในการปกป้องทรัพยากร

“กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือของรัฐและทุน เราต้องถือว่ารัฐธรรมนูญสูงสุด แต่เขาใช้ กฎหมายกิจการพลังงาน ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ หมายความว่าเราไม่เคยเคารพรัฐธรรมนูญเลย รัฐไทยเลือกใช้กฎหมายบางตัวเพื่อจำกัดสิทธิ หรือให้สิทธิบางอย่าง แต่ไม่เคยใช้กฎหมายเพื่อประชาชน ทั้งที่กฎหมายฝั่งประชาชนก็มี แต่ไม่เคยถูกหยิบมาใช้”

ไผ่ ยกตัวอย่าง มาตรา 66 และ 67 กรณีสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ชาวบ้านเคยใช้เพื่อต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน แต่ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 กลับไม่มีอยู่ ทั้งที่เป็นกลไก เป็นเครื่องมือเดียวที่ชาวบ้านใช้

“ปี 2557 หลังรัฐประหาร ข้อเท็จจริงเหล่านี้ เงียบไปหมดเลย เห็นได้ชัดว่าโครงสร้างทางการเมืองเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรด้วย พอประยุทธ์มา ยิ่งใช้ทรัพยากรง่ายกว่ารัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย”

ไผ่น่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่ไปชูสามนิ้วต่อหน้า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา?

“เพราะเราเห็นแล้วว่า ปัญหาของสังคมไทย คือ เรื่องโครงสร้างทางการเมือง ที่เป็นเรื่องเดียวกับปัญของแต่ละพื้นที่ การที่รัฐรวมศูนย์ ความยุติธรรม เสรีภาพในการพูด สิ่งเหล่านี้ถูกจำกัด แล้วอะไรที่เป็นข้อจำกัดก่อนปี 2557 ก็คือ กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ถูกใช้กันมากมาย หลายคนถูกดำเนินคดี”

เขายกตัวอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการ ที่ไม่มีใครกล้าคัดค้าน แม้อาจมีผลกระทบ เพราะกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้สร้างบรรยากาศของความกลัวให้เกิดขึ้น

จากความไม่เป็นธรรม ทำให้เขาเห็นความเชื่อมโยงของแต่ปัญหา และกฎหมายไม่ใช่ความยุติธรรมเสมอไป แต่เป็นเครื่องมือที่มีหลายการตีความ เช่น จะพิจารณาจากรัฐธรรมนูญ จากพระราชบัญญัติ จากพระราชกำหนด หรือจากประมวลกฎหมายทั่วไป อยู่ที่จะเลือกใช้ แต่ที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงปรากฏว่ารัฐเลือกใช้กฎหมายในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ว่าจะต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนหรือสิทธิทางการเมือง

“คุณใช้วิธีการนี้หมดเลย ชาวบ้านที่เหมืองทองโดนฟ้องคดีหลายร้อยล้าน เขาเลือกที่จะใช้กฎหมายเพื่อทำลายความชอบธรรม วิธีการแบบนี้ คือ ความรุนแรงทางกฏหมาย คุณทำให้ชาวบ้านที่ออกมาปกป้องทรัพยากรต้องโดนคดี ต้องชำระเงินหลายร้อยล้านบาท”

ภาพ : ข่าวสดออนไลน์ (19 พ.ย. 2557)

กฎหมาย ไม่เท่ากับความยุติธรรม?

“ใช่ ไม่เท่ากัน เช่น กรณีรัฐประหาร คุณจะพิจารณาจากกฎหมายไหน จากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ข้อเท็จจริง คือ ศาลพิจารณาจากรัฐธรรมนูญที่มีการนิรโทษกรรม เพราะฉะนั้น เห็นกฎหมายสองตัว หากเลือกใช้ประมวลกฎหมายอาญา 113 เราล่ารายชื่อ แต่ศาลไม่รับฟ้อง เพราะศาลถือว่าการรัฐประหารสมบูรณ์แบบแล้ว”

เขายกตัวอย่างกรณีที่ อานนท์ นำภา เคยรวบรวมรายชื่อฟ้องร้อง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามกฎหมายอาญา มาตรา 113 การกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ จากการล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ แต่ศาลไม่รับฟ้อง เพราะไม่ผิดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เนื่องจากมีบทบัญญัตินิรโทษกรรมทุกการกระทำของคณะรัฐประหาร

“เราเห็นชัดว่าสุดท้าย นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อยู่ฝ่ายเผด็จการ หากศาลยืนยันหลักการ ศาลสามารถใช้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เอาผิดประยุทธ์ ไม่รับรองการรัฐประหารได้ แต่ดูกระบวนการทุกอย่างตามโครงสร้างทางการเมือง สนช. มาจากประยุทธ์ ฝ่ายบริหารจากรัฐประหาร อำนาจกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ได้ถ่วงดุลกันเลย”

หลายคนบอกว่า หากข้อเรียกร้องมีแค่เรื่องให้ “พลเอก ประยุทธ์” ลาออกและแก้รัฐธรรมนูญ ม็อบจะได้แนวร่วมเพิ่ม?

“อยู่ที่การวิเคราะห์ว่าสังคมไทยมีปัญหาอะไร แต่ถ้าเราคิดว่าการที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีอำนาจเหนือการเมือง เซ็นรับรองการรัฐประหาร ตรงนี้คือสิ่งสำคัญ หรือแม้แต่ข้อเรียกร้องที่ 3 การปฏิรูป คือ การปรับตัว สถาบันฯ อาจจะเคยมีอำนาจมาก แต่วันนี้ ควรจะปฏิรูปตัวเองตามข้อเรียกร้อง 10 ข้อ เพราะสังคม ณ วันนี้ เรามองว่าคนเท่ากัน”

เขาให้ความเห็นในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ ว่าปัจจุบันพวกเขาไม่ได้มองคนอื่นว่ามีเชื้อชาติ มีศาสนาเป็นอย่างไร เพราะอดีตมองมนุษย์ด้วยมุมมองทางศาสนา เกิดมาไม่เท่ากัน มีความโชคดี แต่ปัจจุบันใช้ความรู้และวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นใครก็คือคนเท่ากัน ส่วนสิ่งที่เหนือกว่ากฎหมายก็ต้องปรับตัว

“เราอยู่ใต้กฎหมายเดียวกันได้ ต้องทำให้เป็นตัวอย่างด้วยซ้ำ เรามาออกแบบร่วมกัน ออกแบบรัฐธรรมนูญร่วมกัน หรือข้อเรียกร้องข้อที่สอง แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน ต้องแก้ที่โครงสร้างทางการเมือง ให้รัฐธรรมนูญเป็นของทุกคน แก้ปัญหากันในวิถีของกฎหมาย รัฐสภา นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ”

ไผ่ ดาวดิน

“ประเทศนี้ รัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดจริง ๆ ไหม เราต้องตั้งคำถามกับความจริง”

แนวทางเคลื่อนไหว เพื่อให้ได้ตามข้อเรียกร้อง?

“แนวทางที่เรามี คือ สันติวิธี ยืนยันความคิด ความเชื่อ ว่ามีคนที่ไม่พอใจอยู่ ทุกครั้งที่มีกิจกรรมมันสะท้อนให้เห็นว่า เราเฝ้ามองรัฐอยู่นะ เราไม่พอใจคุณ เราอยากให้คุณออกไป คุณจะบริหารประเทศได้โดยที่ประชาชนคัดค้านแทบทุกวันหรอ เราทำได้แค่นี้ ใช้สิทธิเสรีภาพออกมาไล่คุณ บนพื้นฐานว่าแนวทาง 3 ข้อ จะทำให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันได้”

เขามองว่า พลเอก ประยุทธ์ เป็นเงื่อนไขของปัญหา ดังนั้น หากการเปิดพื้นที่พูดคุยหรือเจรจาโดย พลเอก ประยุทธ์ ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ผิด เพราะต้นตอของปัญหา คือ การรัฐประหาร

“กฎหมายต้องเป็นใหญ่ แต่ตั้งแต่ปี 2557 กฎหมายไม่ได้เป็นใหญ่เลย ประยุทธ์เป็นใหญ่ คำสั่งเป็นใหญ่ ข้อเรียกร้องจึงเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก ไม่ใช่บอกว่าถอยคนละก้าว มานั่งพูดคุยกัน คุณต้องลาออกก่อน เพราะคุณคือตัวปัญหา คุณคือคนที่ทำให้บ้านเราไม่เคารพกฎหมาย คุณคือคนฉีกกฎหมายสูงสุด จะมาบอกให้นั่งคุยกันได้อย่างไร หลักนิติธรรมนิติรัฐเสียหมดเลย คุณปกครองด้วยอำนาจ ไม่ได้ปกครองด้วยกฎหมาย”

“เรากำลังอยู่ในประเทศอะไรเนี่ย (ลากเสียง) เราต้องเอากลับมา”

ไผ่ ดาวดิน

การกดดันให้ได้ตามข้อเรียกร้อง กับแนวสันติวิธีไปด้วยกันได้อย่างไร

เขาตอบว่า “การไม่ใช้ความรุนแรง” พร้อมยกตัวอย่างกรณีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ และการใช้ความรุนแรงทางกฎหมายในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น โดยย้ำว่า การชุมนุมปิดถนนไม่ใช่การละเมิดสิทธิ และหยิบยกกรณีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในการปิดเขตเลือกตั้ง ไม่ให้ผู้อื่นใช้สิทธิเลือกตั้ง ว่านั่นคือการละเมิดสิทธิ ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนั้นทำให้ศาลตัดสินว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ไผ่บอกว่าหลักการของสันติวิธี คือ ไม่ว่าจะทะเลาะกัน เกลียดกัน แต่ต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ ถ้าไม่มีสันติวิธี มันคือความรุนแรง ที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ คือ ฆ่ากัน

“สันติวิธีเป็นเครื่องมือเดียวที่พวกเรามีนะ วันนี้ผมเห็นความสร้างสรรค์ เห็นการออกแบบม็อบที่สนุกสนาน เราได้เรียนรู้แล้วว่าการต่อสู้มีหลายรูปแบบ การสร้างสรรค์ การเดินพรมแดง แค่นี้ก็เป็นความเคลื่อนไหวแบบหนึ่ง ผมชอบเห็นความเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์และหลากหลายแบบนี้ เราอย่าหยุดสู้ มันแสดงให้เห็นว่าเราพยายามสู้ทุกวิถีทาง แต่เรายึดหลักสันติวิธี เรามีแค่นี้ เราจะใช้ความสร้างสรรค์ ใช้ความอดทน ใช้ความขยัน ไม่ออกก็ทำไปเรื่อย ๆ ยังไม่ออกใช่ไหม จัดม็อบอีก ไม่ออกก็ต้องออกไปอีก เราทำได้แค่นี้จริง ๆ”

“สันติวิธีต้องใช้ความพยายามมาก?”

เขาพูดประโยคนี้ หลังร่วมรายการดีเบตที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งกับศิลปินที่มีจุดยืนคนละขั้ว เขาบอกว่า ขณะที่เผชิญหน้ากับคนที่ตะคอกหรือด่าอยู่ หากด่ากลับ จะยิ่งเละ เขาบอกอีกว่านี่เป็นการฝึกอย่างหนึ่ง เพราะอยากฟังเขา อยากรู้ว่าสิ่งที่เขาตะคอกมา เขาคิดอย่างไร

“แน่นอน การด่าก็ยังอยู่ในสันติวิธี หลักการสันติวิธี คือ ไม่ว่าคุณจะทะเลาะกัน คุณเกลียดกัน แต่ต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ ถ้าเราไม่มีสันติวิธี มันคืออะไร มันคือความรุนแรง ที่ผ่านมาประวัติศาสตร์คือการฆ่ากัน รัฐใช้กำลังฆ่า ประชาชนที่เห็นต่างก็ออกมาฆ่า”

ไผ่ ดาวดิน

“ทำไมคุณรักสถาบันฯ คุณปกป้องสถาบันฯ เราต้องการปฏิรูปสถาบันฯ ทำไมต้องฆ่ากัน ทำไมต้องอยากใช้ความรุนแรง เพราะฉะนั้น ขั้นตอนของการพูดคุยกันจึงเป็นสิ่งที่ดี สันติวิธีก็ใช้ได้ และควรต้องใช้ เราไม่ควรใช้กำลัง เพราะสังคมไทยไม่เคยพูดถึงความจริงกรณีการใช้ความรุนแรงเลย เราไม่เคยมีบทเรียน เราไม่เคยเอามาเป็นหลักสูตรการศึกษา ในการสอนระบบการศึกษาเลยว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น”

เขามองว่าการปกป้องตัวบุคคล เป็นการปกป้องด้วยอคติ เพราะตัวบุคคลอยู่ไม่นานก็ไป สิ่งที่ยังอยู่ คือ หลักการและกฎหมาย โครงสร้างอำนาจที่ดีควรอยู่ เช่น การกระจายอำนาจ ที่มีโครงสร้างการตรวจสอบที่ดี พร้อมยกตัวอย่างว่า ทำไมนักการเมืองท้องถิ่นจึงถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินจำคุกมากกว่า นั่นเป็นเพราะการตรวจสอบดี แต่อำนาจที่รวมศูนย์ ไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น ความจริงที่เขาเชื่อ คือ ทหารก็คอร์รัปชันได้ ที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลไหน เขาก็ไม่เห็นด้วยกับการคอร์รัปชัน แต่อีกฝ่ายกลับไม่สนใจ มีแต่ปกป้อง พลเอก ประยุทธ์

“คำว่าชาติของเราไม่เหมือนกัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็ไม่เหมือนกัน เรารักชาติไม่เหมือนกัน ทำไมคุณหวังดีได้ เราหวังดีไม่ได้หรอ เราเห็นว่าทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง คือ ปัญหา ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เราไม่เคยมีรัฐธรรมนูญของประชาชนเลย มาจากรัฐประหารหมด ตรงนี้คือปัญหารากฐานของสังคมไทย ว่าวิเคราะห์ปัญหาแค่ไหน”

หากถอดท่าทีของคนอีกฝ่ายออก สิ่งที่เห็นคืออะไร

“เขาอยากให้พวกเขามีอำนาจ แต่เราไม่ได้สนใจว่าพวกใคร เราสนใจเรื่องที่มา แต่เขาอยากให้เขามีอำนาจ ถ้าขึ้นชื่อว่านักการเมืองคือเลวหมด คือศัตรู นักการเมืองทุกคนทุจริตคอร์รัปชัน นี่คือสิ่งที่เห็น เขายอมรับ พลเอก ประยุทธ์ เพราะ พลเอก ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นนักการเมือง พลเอก ประยุทธ์ เป็นทหาร”

แม้ว่า “พลเอก ประยุทธ์” สมัยที่สอง จะมาจากการเลือกตั้ง?

“ถ้าพลเอกประยุทธ์ มาครั้งแรกจากการเลือกตั้ง ปี 2562 ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร คุณเป็นนักการเมือง แต่ภาพที่ทุกคนรู้ แค่ชื่อก็รู้แล้ว พลเอก ประยุทธ์ พวกเขายอมรับใครก็ได้ที่ไม่ใช่นักการเมือง”

เขามองว่า สิ่งที่ พลเอก ประยุทธ์ทำได้ดี เป็นเพราะใช้อำนาจเด็ดขาด สามารถจัดการได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่ทำให้คนจำนวนหนึ่งถูกใจ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

“คุณสามารถเอาคนเข้าคุกได้ มันง่าย มันถูกใจจังเลย แต่มันเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ ด้วย ทั้งที่ดิน เขื่อน เหมือง ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ชาวบ้านเขาเคลื่อนไหวตลอด แต่สิ่งที่ประยุทธ์ทำแล้วพอใจมาก เพราะไม่มีใครออกมาเรียกร้อง แต่ความจริงคือสังคมไทยมีความขัดแย้งอยู่ตลอด ต้องยอมรับ”

เขาบอกว่าการชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของชาวบ้าน คือ สิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เป็นความเคลื่อนไหวของสามัญชนคนธรรมดา ในการต่อสู้กับปัญหาเชิงนโยบาย ทั้งหมดนี้คือปัญหาของสังคมไทย

“จริง ๆ แล้วคุณไม่ได้แก้ไขปัญหา แต่ห้ามพูดถึงปัญหา”

ไผ่ ดาวดิน

เคยคิดจะเดินเส้นทางเดียวกับพ่อแม่ไหม ?

“ไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็พัก” เขาตอบพร้อมแววตาครุ่นคิด

“ตอนนี้ก็เรียนและเคลื่อนไหวไปก่อน เรียนนิติมา ก็สอบทนาย สอบรอบหนึ่งแล้วไม่ผ่าน เดี๋ยวจะสอบอีก ก็ต้องใช้ชีวิตเหมือนกัน”

ไผ่ เป็นลูกชายคนโตของครอบครัวที่มีพ่อและแม่เป็นทนายความ เกิดและใช้ชีวิตใน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ เขาเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เด็ก ๆ เขาจะติดสอยห้อยตามพ่อเดินทางไปว่าความหลายครั้ง และหลาย ๆ ครั้งก็มีชาวบ้านมาหาที่บ้าน แต่ก็สงสัยว่าทำไมเป็นทนายความแบบพ่อถึงไม่ร่ำรวยเหมือนคนอื่น

“พ่อสอนเรื่องความยุติธรรมมาตลอด เราก็ตั้งคำถาม ทำไมทนายคนอื่นรวย ทำไมพ่อจน พ่อก็บอกว่า ต้องเอาความยุติธรรมไว้ก่อน พ่อก็ทำงานของพ่อไป ชาวบ้านมาที่บ้านเยอะ ๆ ไม่ค่อยได้เงินค่าคดีเท่าไร แต่ที่บ้านมีข้าวกินไม่เคยขาด แม้จะไม่มีนา”

เขาเล่าว่า สมัยรณรงค์เรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 เขาอายุประมาณ 6 ขวบ ได้ไปเคลื่อนไหวกับพ่อ เป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองครั้งแรก แต่ยังไม่รู้รายละเอียดเท่าไร มาศึกษารายละเอียดภายหลังคือตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เขารู้สึกว่าตัวเองสนใจการเมืองช้าไป หากเปรียบเทียบกับสมัยนี้

“น้อง ๆ อ่านหนังสือการเมืองตั้งแต่มัธยมต้น ผมเคยพูดคุยกับนักเรียน อายุ 16 ปี ชวนคุยเรื่องคาร์ล มาร์กซ์ ทฤษฎีการเมือง มันต่างกันมาก (หัวเราะ) ผมมารู้ตอนเรียนมหาวิทยาลัย”

จากความฝันว่าอยากเป็นผู้พิพากษา แต่เมื่อเขาได้เรียนรู้ปัญหาสังคมตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยจนถึงตอนนี้ จึงเข้าใจเรื่องความยุติธรรมอย่างที่ทนายอู๊ด (วิบูลย์ บุญภัทรรักษา) พ่อของไผ่เคยบอก เขาเข้าใจเรื่องความ (ไม่) เป็นธรรม ทำให้ตอนนี้เปลี่ยนแนวคิดไป

“ก็อาจจะเป็นทนายสิทธิ แต่จะสอบผ่านหรือเปล่าไม่รู้ เพราะเป็นผู้มีมลทินมัวหมอง สภาทนายความ คงต้องตั้งคณะกรรมการสอบฯ เพราะเป็นคดีที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหลักของชาติ”

ก่อนการรัฐประหาร ปี 2557 เขาและนักกิจกรรมรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง เตรียมจัดตั้งพรรคการเมือง ที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ “พรรคสามัญชน” แต่เมื่อมีการรัฐประหาร ทำให้การเดินหน้าจัดตั้งพรรคต้องหยุดชะงัก แม้ทุกอย่างจะเป็นไปตามขั้นตอน กระทั่งจัดตั้งพรรคได้สำเร็จและส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แต่ ไผ่ บอกกับเราว่า เพราะเขามีคดีติดตัวจากการแชร์บทความของบีบีซีไทยและพ้นโทษไม่เกิน 10 ปี ทำให้เวลานี้ แม้แต่สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคที่ตนมีส่วนร่วมก่อตั้ง ก็ยังทำไม่ได้

เขาย้ำว่า นี่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญที่ปกป้องความมั่นคงของชาติและความมั่นคงของรัฐ แต่ไม่ได้มองว่าความมั่นคง คือ ประชาชน

“เขาไม่มีทางเข้าใจคนแบบนี้หรอก”

อะไรจะหยุดความเคลื่อนไหวของ “ราษฎร” ได้

“ไม่มี คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย ไปดูประวัติศาสตร์มา วันนี้คนที่ต่อสู้เมื่อ 6 ตุลา 14 ตุลา อายุเยอะแล้ว เขายังสู้ นี่ของจริง ถึงจะไม่ชนะในยุคนั้น แต่มันส่งต่อบทเรียนให้พวกเรา อีกอย่างที่เราเห็น บทเรียนสำคัญ คือ เขาสู้มา ขนาดแพ้มากี่ครั้ง เขายังสู้อยู่ นี่แหละคืออำนาจที่แท้จริง อำนาจประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป เพียงแค่ว่าเรายังไม่เคยชนะ แต่เราต้องชนะ และเราจะชนะแน่นอน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์