“แม้ต้องเจอรัฐประหาร 3 ครั้ง แต่นั่นก็ยังไม่(อยาก)คุ้นเคย” คุยกับ Gen Y ในม็อบ

“คนรุ่นไหนมาชุมนุมกันแน่?” อาจเป็นคำถามตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนเชื่อว่า คงมีแต่เด็ก ๆ เป็นม็อบมุ้งมิ้ง เต้นเพลงพ็อปเกาหลี หรือ K-pop ขณะที่บางคนอาจมองว่า เป็นม็อบจัดตั้งมีท่อน้ำเลี้ยง

“ผิง” วัย 33 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคน Gen Y ที่เข้าร่วมการชุมนุมหลายครั้งก่อนหน้านี้ ก็มีคำถามอยู่ในใจเช่นกัน กระทั่งการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่เธอเริ่มเห็นความแตกต่าง

เพื่อจะหาคำตอบให้คำถามที่เกิดขึ้นในใจ ผิงและเพื่อน ๆ จึงทำกิจกรรมที่เธอเรียกว่าเป็น “Exhibition” ชวนผู้ชุมนุมร่วม “แสดงตัว” โดยการแปะ “สติกเกอร์” บอกอายุและ Generation ของพวกเขา

หลังจากเพจ “เนิร์ดข้างบ้าน” เปิดผลสำรวจ 2 ครั้งในการชุมนุมที่ถนนสีลม วันที่ 29 ต.ค. และการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 8 พ.ย.

The Active ชวนผิงมาเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เธอและเพื่อนค้นพบ

เปิดผลสำรวจ Generation ไหนเยอะสุดในม็อบ

การสำรวจวัยผู้เข้าร่วมชุมนุม มีการสำรวจแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรก เป็นการสำรวจในการชุมนุมที่สีลม เมื่อ 29 ต.ค. ทำการสำรวจช่วงเวลาประมาณ 19.30 – 20.45 น. โดยมีผู้ร่วมติดสติกเกอร์ทั้งหมด 192 คน โดยได้ผลการสำรวจดังนี้

  1. Gen Z (อายุระหว่าง 0 – 22 ปี หรือเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป)  จำนวน 20 คน (10.4%)
  2. Gen Y (อายุระหว่าง 23 – 40 ปี หรือเกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523 – 2540)  จำนวน 146 คน (76%)
  3. Gen X (อายุระหว่าง 41 – 55 ปี หรือเกิดระหว่างปี พ.ศ.2508 – 2522) จำนวน 16 คน (8.3%)
  4. Boomer (อายุระหว่าง 56 – 74 ปี หรือเกิดระหว่างปี พ.ศ.2489 – 2507) จำนวน 9 คน (4.7%)
  5. Silent (อายุ 75 – 95 ปี หรือเกิดก่อนปี พ.ศ.2489)  จำนวน 1 คน (0.5%)

ส่วนการสำรวจครั้งที่ 2 เป็นการสำรวจวันที่ 8 พ.ย. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเริ่มสำรวจตั้งแต่เวลาประมาณ 16.30 น. ไปจนถึงเวลาประมาณ 18.00 น. ก่อนจะเริ่มออกเดินขบวนไปสนามหลวง โดยมีผู้ชุมนุมร่วมติดสติกเกอร์ทั้งหมด 777 คน แบ่งเป็น

  1. Gen Z (0-22 ปี)  จำนวน 92 คน (11.84%)
  2. Gen Y รุ่น 2 (23-31 ปี) จำนวน 283 คน (36.42%)
  3. Gen Y รุ่น 1 (32-40 ปี) จำนวน 105 คน (13.5% ) (รวม Gen Y ทั้งสองช่วงอายุ ทั้งหมดจำนวน 388 คน (49.93%) ซึ่งมีจำนวนเยอะที่สุดในม็อบครั้งนี้)
  4. Gen X (41-55 ปี) จำนวน 162 คน (20.84%)
  5. Boomer (56-74 ปี) จำนวน 131 คน (16.85%)
  6. Silent (อายุ 75-95 ปี) จำนวน 4 คน (0.50%)

เมื่อวิเคราะห์ผลสำรวจทั้ง 2 ครั้ง พบประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

  • จำนวน Gen Z ที่เข้าร่วมชุมนุมครั้งที่ 2 มีเปอร์เซนต์ที่ใกล้เคียงเดิมเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งแรก
  • ทั้ง 2 ครั้ง พบจำนวน Gen Y เยอะที่สุดเหมือนเดิม แต่จำนวน % ลดลง เนื่องจาก Gen X กับ Boomer มีจำนวนเยอะขึ้น
  • จำนวน Slient มีเปอร์เซ็นต์เท่าเดิม
  • ในการสำรวจครั้งที่ 2 พบว่าคนอายุ 25 คือ คนที่ร่วมตอบแบบสอบถามมากที่สุด (45 คน) ขณะที่การสำรวจครั้งแรก คือ คนอายุ 27
  • ในการสำรวจครั้งที่ 2 จำนวน Gen Y อายุน้อย (23-31) คือ กลุ่มคนที่มีจำนวนเยอะถล่มทลาย
  • ช่วงอายุของการตอบคำถามครั้งนี้ มีตั้งแต่ 11 – 80 ปี

First Mobber เยอะ? เคยเปลี่ยนฝั่งไหม?

นอกจากนี้ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ยังมีการสำรวจเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น คือ 1) มีคนที่มาร่วมม็อบนี้เป็นครั้งแรก หรือ First Mobber เยอะแค่ไหน และ 2) มีคน “เปลี่ยนฝั่ง” เยอะจริงตามที่พูดกันหรือไม่ โดยผู้สำรวจระบุว่า ต้องใช้เวลาสนทนากับผู้เข้าร่วมชุมนุมนาน และมีรายละเอียดเยอะกว่าการสอบถามเรื่องอายุ ทำให้มีจำนวนคนตอบคำถามนี้น้อยกว่าคำถามเรื่องอายุ โดยผลสำรวจมีดังนี้

– เหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 มีผู้เคยเข้าร่วมจำนวน 24 คน อายุระหว่าง 60-80 ปี

– เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 มีผู้เคยเข้าร่วมจำนวน 28 คน อายุระหว่าง 60-80 ปี)

– เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 มีผู้เคยเข้าร่วมจำนวน 46 คน อายุระหว่าง 35-80 ปี)

– เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือเสื้อเหลือง ปี 2551 มีผู้เคยเข้าร่วมจำนวน 16 คน อายุระหว่าง 25-65 ปี

– เหตุการณ์การชุมนุม นปช. หรือเสื้อแดง ปี พ.ศ. 2553 มีผู้เคยเข้าร่วมจำนวน 105 คน (อายุระหว่าง 24-80 ปี)

– เหตุการณ์ชุมนุม กปปส. และกลุ่มเสื้อหลากสี ปี 2556 – 2557 มีผู้เคยเข้าร่วมจำนวน 25 คน (อายุระหว่าง 19-66 ปี)

– เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มราษฎรและทุก ๆ ม็อบที่เกิดขึ้นในปี 2563 มีผู้เคยเข้าร่วมจำนวน 178 คน (อายุระหว่าง 18-80 ปี)

เมื่อสรุปเป็นเปอร์เซ็นต์ ได้ผลดังนี้

– 59% ของคนที่ทำแบบสอบถามนี้เคยเข้าร่วมม็อบเสื้อแดง

– 9% ของคนที่ทำแบบสอบถามนี้เคยเข้าร่วมม็อบพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง

– 14% ของคนที่ทำแบบสอบถามนี้เคยเข้าร่วมม็อบ กปปส. เสื้อหลากสี

– ผู้เคยร่วมม็อบ กปปส. บอกว่าไปแบบมีเงื่อนไขถึง 8 คน คิดเป็น 32% ของคนไปทั้งหมด โดยเงื่อนไขการไปร่วมม็อบ กปปส. ก็มีหลากหลาย เช่น  ไปกินข้าวไข่เจียว, พ่อพาไปนอน, ไปฟังเพลงเฉย ๆ, พ่อบังคับ, ไปแอบดู, แวะเข้าห้องน้ำ หรือเป็นทางผ่านกลับบ้าน

ส่วนประเด็นที่น่าสนใจเมื่อวิเคราะห์ผลสำรวจการตอบคำถามนี้ พบว่า

– มีคนที่เปลี่ยนฝั่งจริง โดยพบ 17 คน จาก 25 คน

– มีคนจาก Silent Generation สองคนที่มีอายุสูงสุด 75 ปี และ 80 ปี เคยเข้าร่วมม็อบประชาธิปไตยทุกม็อบตั้งแต่ ตุลาคม 2516, ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535, เสื้อแดง 2553 และ ม็อบราษฎรปี 2563

– มี First Mobber แต่ยังไม่รู้จำนวนที่แน่นอน โดยประเด็นนี้ผู้สำรวจอธิบายว่า เนื่องจากยังออกแบบคำถามและวิธีการตอบคำถามยังไม่ดีพอ

คุยกับ “ผิง” จากคำถามดัง ๆ ในใจ จนต้องลุกมาหาคำตอบในม็อบ

“ผิง” เปิดเผยกับ The Active ว่า จากคำถามที่เกิดขึ้นในใจของเธอหลังเข้าร่วมการชุมนุมที่สถานทูตเยอรมนีว่า ทำไมเริ่มเห็นคนวัยทำงานเยอะขึ้นจากการชุมนุม ก่อนหน้านี้มักจะเห็นแต่เด็กนักเรียน นักศึกษา คำถามที่เกิดขึ้นไปกระตุ้นต่อมการเป็นนักทำโปรเจกต์และทำให้ “ผิง” ตัดสินใจชวนเพื่อน ๆ ที่มีความสนใจเหมือนกันทำการสำรวจช่วงวัยของผู้เข้าร่วมการชุมนุม

“ยังคุยกันขำ ๆ ว่ายิงคิวอาร์โคดให้เขากรอกดีไหม แต่เพื่อนก็พูดว่าน่าจะเป็นอะไรที่ทำง่าย ทำเสร็จแล้วไปได้เลย ก็เลยคิดว่าถ้าแปะสติกเกอร์ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย”

“ผิง” ยอมรับว่า ส่วนตัว เห็นด้วยกับ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม อยากให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ และคิดว่าถ้าทำออกมาแล้ว ก็น่าจะได้เห็นว่ามีคนที่มาร่วมมากกว่าแค่เยาวชน และทำให้คนที่ได้เห็นข้อมูลนี้ก็อาจจะรู้สึกอยากมาร่วมชุมนุมด้วย หรือคนที่เคยปรามาสว่านี่เป็นแค่ม็อบเด็ก ก็อยากให้เห็นว่า จริง ๆ มันไม่ใช่อย่างที่คิด แต่มันเป็นการร่วมกันของคนหลายกลุ่ม หลายช่วงวัย

เมื่อถามว่า ผลสำรวจข้อหนึ่งที่พบว่า คน Gen Y หรือคนที่อยู่ในวัยทำงาน เป็นกลุ่มที่เข้าร่วมเยอะที่สุดนั้น สะท้อนให้เห็นอะไร ผิงมองว่า อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือคน Gen Y คือคนที่โตมาก็เจอเหตุการณ์รัฐประหารมากถึง 3 ครั้ง ที่อยู่ในความทรงจำ และอยู่กับรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มานานถึง 6 ปีแล้ว แต่กลับไม่เห็นความรุดหน้าของประเทศเลย

ผิง ยืนยันว่า แม้พวกเขาจะโตมากับการรัฐประหาร แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขารู้สึกคุ้นเคยเลย โดยผิงยกประสบการณ์ส่วนตัวจากการเป็นครูสอนพิเศษเด็กมัธยม เธอพบว่า เด็กยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีมาก เด็กสามารถค้นหาข้อมูลได้ทั่วโลกไม่ติดกรอบแค่ในประเทศไทย และเด็กรุ่นนี้มีความอยากเป็น “Global Citizen” สูง เขาอยากอยู่ตรงนั้นกับความก้าวหน้าอื่น ๆ ในโลกใบนี้ และเขารู้สึกว่าประเทศไทยให้สิ่งนี้กับเขาไม่ได้ มันติดเพดานแล้ว

“ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ๆ ที่ถูกพูดถึงคือ ลิซ่า Blackpink เด็ก ๆ พูดกันว่าถ้าลิซ่าอยู่ประเทศไทย คงไม่ได้เต้นเก่งร้องเก่งขนาดนี้ แต่พอลิซ่าไปเกาหลีใต้ ประเทศนั้นกลับสามารถพาลิซ่าไปได้ไกลมาก คือเด็กรู้สึกว่าประเทศไทยติดเพดานแล้ว ถ้าไม่ทลายเพดาน ก็จะไปไกลกว่านี้ไม่ได้”

เมื่อถามว่า ทำไมถึงเชื่อว่า 3 ข้อเรียกร้องถึงจะทำให้เพดานทลายได้ ผิงออกตัวว่า เธออาจจะไม่สามารถตอบคำถามแทนเด็ก ๆ ได้ แต่คิดว่ามี 2 ส่วน ส่วนแรก คือ เขารู้ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ยังไงก็ไม่ดี หมายถึงว่าไม่มีที่ให้ถอยไปไหนแล้ว และเขาก็รู้สึกว่าข้อเรียกร้องนี้เป็นอนาคตของเขา เขาเชื่อว่าวันหนึ่งจะต้องดีกว่านี้ได้ ถ้าเขาสามารถทำให้ประเทศกลับมาอยู่ในกติกาเดียวกัน หรือในระบอบที่ทุกคนสามารถสู้กันได้อย่างแฟร์ ๆ

“เด็กรุ่นนี้โตมากับการแข่งขัน เมื่อเขาออกไปสู่สังคมข้างนอก เขาก็อยากได้ดีเพราะความสามารถ เขาอยากได้ระบบสังคมที่ให้รางวัลกับคนที่มีความสามารถ ไม่ใช่คนที่ได้เพราะเครือข่ายหรือระบบอุปถัมภ์ มันล้าสมัยมาก ๆ แล้วสำหรับเด็กรุ่นนี้”

มองเห็น “พวกหนู” ในม็อบไหม

การออกมาแสดงตัวในม็อบของเด็ก ๆ สิ่งสำคัญที่พวกเขาต้องการ คือ การให้ผู้ใหญ่เห็น “ตัวของเขา” ที่ไม่ใช่แค่สีเสื้อหรืออุดมคติทางการเมืองที่ผู้ใหญ่รู้จักเท่านั้น แต่สำหรับผิง คิดว่า เธอไม่รู้ว่าเขาจะเห็นไหม แต่คิดว่าสังคมต้องมีคนตรงกลางเยอะมาก ๆ คือคนที่ยอมรับการอยู่ร่วมกัน มีฉันทามติร่วมกันในกติกาของสังคม โดยคนกลุ่มนี้จะต้องมีมากถึง 70-80% เพื่อให้คนที่อยู่ซ้ายสุดหรือขวาสุดต้องยอมรับไปเอง ผิงจึงคิดว่า การเรียกร้องเชิงประเด็นจึงต้องมีพลัง เพราะเป็นการซื้อใจคนไปเรื่อย ๆ 

“จริง ๆ ตอนสำรวจก็มีคนรุ่นผู้ใหญ่ที่เห็นด้วย แต่ก็มีผู้ใหญ่อีกประเภทที่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่ยอมเปิดตัวเองออกมารับข้อมูลอีกฝั่งหนึ่ง หรือบางทีอาจจะรับ แต่ก็มีชุดความคิดที่พร้อมจะโต้ตอบทันที ก็อยากให้เขาเปิดใจให้กว้าง ชวนมานั่งคุยกัน ชวนมาม็อบดูสักครั้ง แล้วชอบ ไม่ชอบอะไร ก็มาคุยกัน”

ส่วนที่มีความเห็นสะท้อนกลับมาว่า การสำรวจนี้ไม่เป็นวิชาการ ใช้อ้างอิงไม่ได้ ผิงตอบว่า เธอยอมรับในเรื่องนี้ และยินดีถ้าจะมีใครนำข้อมูลของเธอไปต่อยอดในทางวิชาการมากกว่า แต่ผิงยืนยันว่า ทั้งหมดที่เธอทำคือ เพื่อย้ำให้เห็น “ตัวคนจริง ๆ” ในที่ชุมนุม

“ยอมรับว่าไม่รัดกุมทางวิชาการ แต่สิ่งที่เน้นในการทำครั้งนี้ คือ การมีส่วนร่วมของคนที่มาม็อบ คนที่มาแปะสติกเกอร์เป็นคนจริง ๆ คือให้เขามีส่วนร่วม คือคนที่มีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีความต้องการที่จะมีส่วนร่วมกับสิ่งนี้กับคนที่ไม่รู้จักกัน ผิงไม่ใช่คนดัง เพื่อนที่ไปทำด้วยกันก็ไม่มีใครรู้จัก แล้วก็ไปชูป้ายชวนคนมาทำอันนี้ แต่ก็มีคนมาทำกันเยอะ ผิงรัก interaction เล็ก ๆ ที่แชร์กันในม็อบ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว