นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้กิจกรรม ‘ทัศนศึกษา’ (Field Trip, Outdoor Education) มีความหมาย และจำเป็นต่อการพัฒนาเด็ก ในมุมมองของ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะของนักการศึกษา ที่เชื่อว่าโดยเฉพาะเด็กเล็กด้วยแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องได้วิ่งเล่น และสัมผัสกับโลกภายนอก
ส่วนเด็กโต การทัศนศึกษาจะทำให้เขาเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตำราเรียนกับชีวิตจริง หากการจัดกิจกรรมยังไม่เหมาะสมกับวัย ก็ต้องหาทางปรับปรุงให้เหมาะสม หากคุณภาพยังไม่ดีพอ ก็ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น และหากไม่ปลอดภัย หรือเกิดเหตุอันตราย ก็ต้องหาวิธีทำให้ปลอดภัย “ไม่ใช่การยกเลิกการทัศนศึกษา” เมื่อเกิดเหตุสูญเสียจากการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน
เพราะสำหรับเด็กจำนวนไม่น้อย ทัศนศึกษาปีละครั้งที่โรงเรียนจัดให้ อาจเป็นโอกาสเดียวที่ช่วยเปิดโลก และเพิ่มพูนประสบการณ์นอกห้องเรียน เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัว จะมีกำลังทรัพย์มากพอ พาลูกไปเรียนรู้นอกสถานที่ได้เอง
ทัศนศึกษา ยังย้ำหลักการที่ว่า การเรียนรู้นั้นเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา สอดคล้องกับ นโยบาย Anywhere Anytime ของ กระทรวงศึกษาธิการ ที่เชื่อว่า การนั่งจ่อมท่องตำราอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ไม่ช่วยให้เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ และไม่สามารถทำให้เขาเข้าใจว่าสิ่งที่เล่าเรียนมานั้น สัมพันธ์อย่างไรกับโลกภายนอกที่เขาอาศัยอยู่
แต่ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ กลับมีคำสั่งระงับการทัศนศึกษาที่ไม่จำเป็น อย่างไม่มีกำหนด ด้วยความกังวลต่อความปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับครู และนักเรียน
แล้วการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลาจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ?
The Active ชวนทบทวนความหมายของการทัศนศึกษา และหาทางออกการจัดการศึกษานอกห้องเรียนอย่างเหมาะสม ปลอดภัย ผ่านแนวคิดของนักการศึกษา และ คนในแวดวงการเรียนรู้ของเยาวชน…
ทำอย่างไรการเรียนรู้ผ่านการเล่น และการได้ท่องโลกกว้างจะสามารถปกป้องเด็กไทยในเชิงกายภาพร่างกาย และปกป้องให้การเรียนรู้ของพวกเขาเกิดขึ้นได้ทุกที่ได้จริง ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้
Outdoor Education : เพราะการเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยม
และวันหนึ่งเด็กก็ต้องออกจากห้องนี้ไป
พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้ความสำคัญของแหล่งเรียนรู้ ไว้ในมาตรา 25 ย้ำว่า เด็กควรได้เข้าถึงกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามวัย โดยคำนึงธรรมชาติแวดล้อมร่วมด้วย เพราะการศึกษาแค่ในตำราเรียนไม่ช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจและเอาตัวรอดได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้น ห้องเรียนจะ Active ได้ ครูและภาครัฐ ต้องเอื้อให้ผู้เรียนได้รู้จักเรียนรู้จากภายนอกห้องเรียนด้วย
สิ่งสำคัญคือ แม้เวลาในคาบเรียนจะหมดลง เขาก็จะยังสามารถเรียนรู้ต่อไปได้ในโลกภายนอก… นี่คือแนวคิดเบื้องต้นของ การศึกษานอกห้องเรียน หรือ Outdoor Education
คำสั่งระงับการทัศนศึกษาอย่างไม่มีกำหนด ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมกำชับว่า “หากมีเหตุจำเป็น” ให้โรงเรียนกวดขันความปลอดภัยอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุสูญเสียซ้ำรอยโศกนาฏกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น
สำหรับผู้ที่คลุกคลีอยู่กับกระบวนการสร้างการเรียนรู้ของเด็ก อย่าง พงศ์ปณต ดีคง เจ้าของเพจ Leeway การเรียนรู้ผ่านการเล่น ได้ตั้งคำถามต่อกรณีดังกล่าวกลับไปว่า เหตุจำเป็น ที่ระบุไว้ในคำสั่ง แค่ไหน ? เรียกว่า จำเป็น ถ้าอย่างนั้น เพื่อการศึกษาของเด็กไทยถือเป็นเหตุจำเป็นมากพอแล้วหรือยัง ? ส่วนตัวมองว่า กระทรวงศึกษาธิการ ยังอธิบายแนวทางการแก้ไขได้อย่างไม่ชัดเจน
“นี่จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะพูดถึงเรื่องเกณฑ์การจัดทัศนศึกษาอย่างปลอดภัย มากกว่าการเรียกร้องให้ยกเลิก เพราะการยกเลิกไม่ได้ช่วยทำให้สังคมนี้ปลอดภัยต่อเด็กมากขึ้น โจทย์สำคัญคือการทัศนศึกษาในเด็กเล็กควรเดินทางไปไกลแค่ไหน ? และถ้าจะให้เขาเรียนรู้แถวละแวกบ้าน แล้วเรามีพื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดภัยให้เขาอย่างเพียงพอหรือยัง ?”
พงศ์ปณต ดีคง
เขายังอธิบายด้วยว่า เรามักเห็นการศึกษานอกห้องเรียนในไทย ผ่านรูปแบบกิจกรรมทัศนศึกษา ซึ่งเป็นโอกาสไม่กี่ครั้งในรอบปีที่เด็กบางคนจะได้มีประสบการณ์ในโลกภายนอก เพราะไม่ใช่ทุกครอบครัวจะมีต้นทุนเพียงพอจะพาลูกไปเที่ยวที่อื่นได้ ส่วนหนึ่งตนเข้าใจดีว่าผู้ปกครองอาจมีความกังวลต่อความปลอดภัยในตัวบุตรหลาน แต่โจทย์สำคัญ คือ เราจะทำยังไงให้การทัศนศึกษา หรือการเรียนรู้นอกห้องเรียนอื่น ๆ มันมีความปลอดภัยต่อพวกเขามากขึ้น
หลายคนมองว่าการเอาเด็กเล็กไปทัศนศึกษาเป็นเรื่องเสียเปล่า เพราะโตมาก็จำอะไรไม่ได้ แต่สำหรับ พงศ์ปณต กลับไม่เห็นด้วย เขาเชื่อว่า การวัดผลในเด็กเล็กนั้นทำได้ยาก ไม่เหมือนเด็กโตที่สามารถให้เขาเขียนเรียงความ หรือทำแบบทดสอบเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์โดยตรงได้ แต่การที่วัดผลได้ยาก ไม่ได้แปลว่าพัฒนาการไม่เกิดขึ้น เพราะเด็กเล็กเรียนรู้ผ่านการเล่น ทั้งการใช้ภาษา การควบคุมอารมณ์ การมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอก ทั้งหมดนี้เป็นทักษะที่หล่อหลอมอยู่ภายใน และจะฉายแววเมื่อเขาเติบโตขึ้น
ทัศนศึกษาเกินกว่า 400 กิโลเมตร :
โอกาสทางการเรียนรู้ ที่ไกลห่างของเด็กต่างจังหวัด
นอกเหนือจากเรื่องการกวดขันมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่ง กรณีรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ ก็เกิดขึ้นจากการที่โรงเรียนต้องพาเยาวชนออกมาจากจังหวัด เดินทางไป-กลับไกลกว่า 400 กิโลเมตร เพื่อเข้าถึงศูนย์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ขณะที่ศูนย์การเรียนในต่างจังหวัดนั้นมีพื้นที่จำกัด และมีทรัพยากรการเรียนรู้ไม่เพียงพอ พงศ์ปณต จึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง ว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาศูนย์การเรียนในท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่งนักเรียน
“เด็กไม่ได้จำเป็นต้องเดินทางมาเรียนรู้ถึงสำนักงานใหญ่ในเมืองหลวง ประเด็นอยู่ที่เนื้อหาความรู้มากกว่า และถ้าเด็กได้เรียนรู้ในพื้นที่บ้านเกิดของเขา มันคงไม่ได้ทำให้เขามีใจรักบ้านเกิดได้โดยตรง แต่มันทำให้เขาได้เห็นว่าบ้านเกิดพวกเขายังมีความหวัง”
พงศ์ปณต ดีคง
สิ่งนี้สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.อรรถพล ก็ออกมายืนยันว่า Outdoor Education เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีหลายครอบครัวหวังพึ่งภาคการศึกษาจะพาลูกหลานของพวกเขาได้ไปรู้จักกับโลกกว้าง มีนักเรียนกว่า 30,000 โรงเรียน ที่ต้องเดินทางไปทัศนศึกษา ไปค่าย ไปแข่งขันทุกปี
ข้อมูลจาก สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ปี 2566 มีรถนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 30 ครั้ง บาดเจ็บ 369 ราย เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งพาหนะที่เกิดเหตุ ไม่ได้เป็นรถบัสทัศนศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีรถตู้ รถสองแถว และพาหนะอื่น ๆ ที่ใช้ขนส่งเยาวชนไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
คำถามสำคัญ คือ รัฐไทยให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองความปลอดภัยเยาวชนอย่างไร ? และมีการวางมาตรฐานยานพาหนะอย่างรัดกุมพอหรือยัง ?
หากลองพิจารณาจากงบประมาณสำหรับการทัศนศึกษา พบว่า จัดรวมอยู่ใน งบฯ อุดหนุนด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งประกอบไปด้วย 5 กิจกรรม ได้แก่
- กิจกรรมวิชาการ
- กิจกรรมค่ายคุณธรรม-ลูกเสือ
- ทัศนศึกษา
- กิจกรรมการเรียนรู้ผ่านระบบสารสนเทศ
- การเรียนรู้ทางไกล ซึ่งโรงเรียนต้องจัดสรรตามความเหมาะสม
โดยเด็กอนุบาลจะได้รับงบส่วนนี้ในสัดส่วนสูงกว่าชั้นปีอื่น (15.7%) ขณะที่ชั้นประถมฯ และมัธยมฯ จะได้รับงบที่สัดส่วน 12.1 – 14.2% ทั้งนี้ เด็กทุกคนจะได้รับงบฯ สำหรับทัศนศึกษาสูงขึ้นทุกปี เริ่มต้นที่ 494 บาทในชั้นอนุบาล และสูงสุดที่ 1,026 บาทในชั้น ม.ปลาย โดยโรงเรียนขนาดเล็กจะได้รับการอุดหนุนงบรายหัวเพิ่มเติมด้วย
สำหรับ โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ที่เกิดเหตุสูญเสียจากทัศนศึกษา มีนักเรียนอย่างน้อย 126 คน ซึ่งถือว่าไม่เข้าเกณฑ์โรงเรียนขนาดเล็ก ที่จะได้รับงบฯ อุดหนุนเพิ่มเติม ผศ.อรรถพล จึงมีข้อสังเกตว่า โรงเรียนอาจมีเหตุจำเป็นด้านงบประมาณที่จะต้องพานักเรียนไปทัศนศึกษาพร้อมกันทุกระดับชั้นในครั้งเดียว
สำหรับมาตรการความปลอดภัยเบื้องต้น ผศ.อรรถพล แนะให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาหันมาคุยกันเพื่อกำหนด ผู้ให้เช่ายานพาหนะ ที่มีมาตรฐาน และได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐ ตรงนี้ก็มีคู่มือคัดเลือกรถโดยสารไม่ประจำทางของ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่)
ส่วนมาตรการทัศนศึกษาในเด็กเล็ก ยังสามารถจัดให้รัดกุมได้ โดยกระทรวงฯ ต้องกำหนดข้อบังคับลงมาว่าเด็กในแต่ละช่วงวัยควรเดินทางไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน หรือถ้าในโรงเรียนขนาดเล็ก ครูดูแลไม่ทั่วถึง ต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลบุตรหลาน จะเห็นว่าเรามีทรัพยากรที่พร้อมมากพอที่จะยกระดับความปลอดภัยให้กับเยาวชนได้
“เราสามารถจัดการศึกษาที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยให้เยาวชนได้ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยด้วยการเลือกงดทัศนศึกษา โดยไม่ได้กลับมาถอดบทเรียนว่าอันตรายเหล่านี้จะป้องกันไม่ให้เกิดได้อย่างไร”
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล
Anywhere Anytime :
การศึกษาที่ไหนก็ได้ ยังเป็นไปได้อยู่ไหม ?
ในช่วงปี 2566 – 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ ได้ชูธง นโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เพื่อสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการ สร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยหวังลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านการจัดทำหลักสูตรที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ (เช่น นโยบาย 1 นักเรียน 1 แท็บเล็ต)
อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลานั้น ไม่ได้หมายถึงแค่การแจกจ่ายแท็บเล็ตเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการส่งเสริมให้เยาวชนได้รู้จักมองหาความรู้ที่มีอยู่ทุกหนแห่ง ซึ่ง ผศ.อรรถพล ตั้งข้อสังเกตว่า การระงับการทัศนศึกษาไปอย่างไม่มีกำหนด จะเป็นการออกคำสั่งที่ย้อนแย้งกับนโยบายของกระทรวงฯ เองหรือไม่ ?
สิ่งสำคัญคือกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้บริการการศึกษาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นรากฐานของคุณภาพชีวิตอีกนับล้านคน จำเป็นต้องยืนยันในหลักการด้านการศึกษาว่า การศึกษานอกห้องเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะการศึกษาในโลกสมัยใหม่ ที่ความรู้ไม่ได้อยู่แต่ในตำรา
แต่สิ่งที่ นักการศึกษา เป็นห่วงคือ ขณะนี้มีครูไม่น้อยกำลังหลงกับหลักการด้านการศึกษา ไม่เข้าใจว่า ทัศนศึกษา คือ กิจกรรมนอกหลักสูตรที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็ก และเป็น หน้าที่ ของครูและสถานศึกษาที่ต้องจัดให้ดี ให้มีความหมาย เหมาะสมกับช่วงวัย สำคัญที่สุดคือ ต้องปลอดภัย
“นี่จึงเป็นโอกาสของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะออกมาแสดงทัศนคติ ยืนยันในหลักการศึกษา สร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจต่อกระทรวงฯ ต่อการทัศนศึกษา และแนวทางการศึกษาอื่น ๆ หลังจากนี้“
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล