“ฝ่าอำนาจนิยม สู่อำนาจร่วม” คือประโยคที่ย้ำเตือนถึงบทบาท และหน้าที่ของ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชาย บ้านกาญจนาภิเษก ในฐานะที่เดินมาสู่ 2 ทศวรรษ การเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับเด็ก เยาวชนที่ก้าวพลาด ณ ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต
ภาพต่าง ๆ จึงถูกสะท้อน ผ่านละคร “ฝ่าอำนาจนิยม สู่อำนาจร่วม” โดยทีมละครเฉพาะกิจเธียเตอร์ ที่พยายามบอกเล่าเรื่องราวจากชีวิตจริง ของอดีตเยาวชน 3 คน ที่เคยเดินเข้าสู่สถานพินิจ ท่ามกลางกฎระเบียบเคร่งครัด ใช้ความรุนแรงในการควบคุม ทำให้ชีวิตเยาวชนเจอกับมุมมืด ก่อนพวกเขาได้รับโอกาสให้เข้าไปอยู่ที่ บ้านกาญจนาฯ ซึ่งมี “ป้ามล” ทิชา ณ นคร คอยโอบรับพวกเขา ๆ ด้วยความอ่อนโยน
บ้านหลังใหม่ของเยาวชน ที่ซึ่งไม่มีกฎระเบียบเข้มงวด บ้านที่พวกเขาเป็นตัวของตัวเองได้ และยังมีป้ามล ที่คอยแก้ปมจากภายในตัวเอง ด้วยการให้เขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำจริง ๆ มีกิจกรรมที่ทำให้ได้คุยกับครอบครัวอย่างจริงใจ พ่อแม่มาเยี่ยมได้อย่างอิสระ บ้านกาญจนาฯ ปกครองกันเองด้วยอำนาจของส่วนรวม ด้วยความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทำให้ด้านสว่างของเยาวชนเหล่านี้ถูกฉายออกมา
“บ้านกาญจนาฯ” เครื่องมือ “ซ่อมคน”
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ นภสินธุ์ นาชัยพลอย ผู้ตรวจราชการกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เล่าถึงภารกิจการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน ที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ด้วยการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู สงเคราะห์ และคืนเด็กดีสู่สังคม ทำให้ปัจจุบันมีศูนย์ฝึกและอบรมฯ ทั่วประเทศ 19 แห่ง รวมบ้านกาญจนาฯ ที่มี คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ผู้พิพากษาสมทบศาลเด็กและเยาวชน เป็นกำลังหลักในการระดมทุน ก่อตั้งบ้านกาญจนาเพื่อถวายพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
พร้อมทั้งเปิดรับ ผู้อำนวยการ คนนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการ คือ ป้ามล ภายใต้โจทย์สำคัญคือการค้นหาเครื่องมือที่จะไปให้ถึงการเปลี่ยนวิธีคิดของเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด เพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ โดยเป้าหมายที่ต้องการคือต้องไม่ควรเกิน ร้อยละ 15 ซึ่งในการแก้ไขปัญหาคน ไม่มีเครื่องมือที่ดีที่สุด และไม่มีเครื่องมือที่ตายตัว มากกว่าการใช้เวลา และใช้ความอดทน
“ผมมีความเชื่อมั่นเสมอว่า เด็กทุกคนมีความใฝ่ดีในตัวเอง เขามีดีในตัวเอง และการแก้ไขปัญหาเราไม่สามารถที่จะใช้อำนาจ ต้องให้เขามีส่วนร่วม เพราะเขาคือเจ้าของชีวิต ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 ปี ของบ้านกาญจนาฯ ป้ามลได้พิสูจน์ ให้สังคมเห็นว่า เครื่องมือเหล่านี้มีอยู่จริง และที่สำคัญเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาฯ กระทำผิดซ้ำไม่ถึงร้อยละ 5 และที่สำคัญ ผมได้รู้จักเด็กที่ออกจากศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาฯ ได้ดิบได้ดีในสังคมเยอะมาก ฟังแล้วก็ชื่นใจ ต้องบอกว่าปัจจุบันประเทศไทย มีเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะฉะนั้นเด็กและเยาวชน เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต การแก้ไขปัญหาของเขา ต้องใช้คนที่มีองค์ความรู้แบบป้ามล เข้าถึง ให้ โอกาส ให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการตัดสินชีวิตของเขา ในนามกระทรวงยุติธรรม ขอแสดงความยินดีกับป้ามล และบ้านกาญจนาฯ ในโอกาสครบรอบ 20 ปี”
นภสินธุ์ นาชัยพลอย
ในความมืดมิด แต่ชีวิตยังมองเห็นแสงสว่าง ที่บ้านกาญจนาฯ
“เด็กทุกคนมีความใฝ่ดีในตัวเอง” คือหนึ่งในประโยคสำคัญที่ ผู้ตรวจราชการกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เน้นย้ำ จึงสะท้อนได้ชัดเจนว่าการกระทำผิดของเด็ก เยาวชน ไม่ทุกครั้งเสมอไปที่เกิดขึ้นจากความคิดของตัวเขาเอง เพราะสภาพแวดล้อมรอบข้าง โดยเฉพาะคนในครอบครัว มีส่วนสำคัญที่อาจทำให้เด็กบางคนก้าวพลาดโดยไม่รู้ตัว
ก็อต เป็นเยาวชนบ้านกาญจนาฯ รุ่นปัจจุบัน ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตกว่าจะมาจนถึงวันนี้ ช่วยตอกย้ำเหตุผลดังกล่าวได้อย่างชัดเจน เพราะเขาเกิดในครอบครัวที่อบอุ่น แต่พ่อติดการพนัน ชีวิตครอบครัวจึงมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อเขาต้องแยกกันอยู่กับพ่อแม่ ไปอาศัยอยู่กับน้า ใน กทม. ความอบอุ่นในชีวิตที่เคยได้รับจึงขาดหายไป เมื่อมาอยู่กับน้า ที่ต้องทำงานหนักหาเงิน จึงไม่มีเวลาให้กับก็อต ทำให้ตัวเขาเองได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ เมื่อเกิดปัญหาไม่รู้จะพึ่งใคร ที่เดียวที่มีในตอนนั้นคือ “ร้านเกม” ก็อต ยอมรับเขาไม่ได้ติดเกม แต่ติดเพื่อน ติดสังคมในร้านเกม แลัะที่นั่นเต็มไปด้วยอบายมุขทุกอย่าง ทั้งพนันออนไลน์ ยาเสพติด กลายเป็นเขาต้องอยู่ในวังจรสีเทาแบบนั้นไปโดยปริยาย
“ตอนนั้นมีพี่คนหนึ่งชักชวน ด้วยจุดอ่อนที่รู้ว่าเขาต้องการเงิน ต้องการการยอมรับ นำมาสู่จุดที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยน คือ เขามาขอให้ช่วย ผมก็ตอบรับแบบไม่ต้องคิด เพราะเป็นโอกาสที่ได้ตอบแทน เขาให้ไปขนยาเสพติด 4 ล้านเม็ด ตอนนั้นรู้สึกดีที่ได้ตอบแทนบุญคุณเขา อย่างที่ทุกคนรู้คือจุดจบยาเสพติด ไม่ตายก็ ติดคุก ผมต้องติดคุก เพราะอะไรทำไมผมถึงโดนจับง่าย ผมตกเป็นเหยื่อของผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ ที่เขาขอกัน ผมถูกส่งตัวไปที่ที่ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ที่เขามองว่าเปลี่ยนได้ และเราตกเป็นเหยื่อของระบบอีกครั้ง ระบบอำนาจนิยม”
ก็อต สะท้อนเรื่องราวในชีวิต
ชีวิตของ ก็อต เหมือนพบแสงสว่าง เมื่อมีโอกาสมาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ บ้านหลังที่ทำให้เขารู้สึกว่าได้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมา เขาได้ทำกิจกรรมวิเคราะห์ข่าว วิเคราะห์หนัง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทุก ๆ เรื่อง จนค้นพบตัวเองว่า “รักในการเล่นดนตรี ร้องเพลง แต่งเพลง” และได้รับโอกาสไปประกวดร้องเพลง ที่ จ.นครสวรรค์ ได้ลองแต่งเพลงใช้ประกวด ชื่อเพลง “คำสัญญา”
“บ้านกาญจนาทำให้ผมได้ใกล้ชิดกับแม่ ได้เข้าใจแม่มากขึ้น ได้แต่งเพลง เพื่อขอโทษแม่ แสดงความในใจที่ทำให้แม่ผิดหวัง วันแรกที่ผมโดนจับ คนแรกที่มาหาก็คือแม่ แม่ที่ไม่เคยเดินทางไกล แม่ไม่เคยขึ้นเครื่องบิน แม่บินมาทันทีที่รู้ว่าถูกจับ แม่ไม่ด่าสักคำ แม่ถามแค่ว่าเป็นไงบ้าง แม่บอกว่าจะพากลับบ้าน ผมรู้ว่าสิ่งที่แม่พูดเป็นไปไม่ได้ แต่ผมรู้ว่าแม่พยายาม แม้สุดท้ายต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม และผมอยากบอกแม่ว่า ต่อจากนี้ผมจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น และดีกว่าเดิม ขอขอบคุณที่มอบโอกาสให้เด็กคนนี้ได้มาพูดความรู้สึกในใจ ในแสดงความสามารถ”
ก็อต ย้ำคำสัญญา
ชีวิตเด็ก เยาวชน ที่ผ่านจากบ้านกาญจนาฯ จึงไม่ต่างจากการได้รับโอกาส และชีวิตใหม่เพื่อคืนพวกเขากลับสู่สังคม สิ่งนี้ถูกยืนยันโดย ชาญ – อภิรัฐ สุดสาย อดีตเยาวชนบ้านกาญจนา ที่ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวชาญ เขาเกิดในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ โดนไล่ออกจากโรงเรียนตอน ม.2 แม่จึงส่งไปอยู่กับญาติที่ กทม. แต่ก็มาอยู่ในสังคมแบบเดิม สภาพแวดล้อมเดิม และถูกจับในคดีชิงทรัพย์ เพราะเพื่อนมาขอความช่วยเหลือเรื่องเงิน เขาจึงเอามีดไปจี้ปล้นผู้คน จนถูกจับขณะก่อเหตุ
“ตอนนั้นถูกจับเข้าสถานพินิจ เจ้าหน้าที่จับผมถอดเสื้อผ้า ตัดผม ใส่ชุดนักโทษ อยู่ในสถานพินิจ ผมคิดว่าต้องดึงความเป็นปีศาจในตัวออกมา เพื่อต่อสู้กับอำนาจในนั้น จนวันหนึ่งได้ย้ายมาอยู่บ้านกาญจนาฯ บ้านที่ไม่มีประตู รั้วสูงแค่หน้าอก ง่ายต่อการหนีมาก โดนปลดกุญแจมือ ผมเห็นป้าแก่ ๆ คนหนึ่ง เดินเข้ามาหา บอกว่า เราแค่ก้าวผิดจังหวะ ไม่มีใครเลวมาแต่เกิด เสื้อผ้าหน้าผมเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครมาละเมิดได้ ป้ามาผูกข้อมือ มากอดให้กำลังใจ ก่อนนอนคืนนั้นมีความคิดที่จะหนีแต่ทุกอย่างก็หายไป ผมได้เขียนบันทึกก่อนนอน ที่นี่ไม่ได้ทำงานแค่กับผม แต่ทำงานกับครอบครัวด้วย เอาผมไปดูแล ขัดเกลา ป้ามล คือ คนที่เห็นตัวตนของผมก่อนตัวเองเสียอีก”
อภิรัฐ สุดสาย
ชาญ ยังเล่าอีกว่า ตอนนี้เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่แฟลตคลองจั่น มีเหตุความความรุนแรงในร้านของเขา จนได้มารู้ว่าผู้ก่อเหตุ “ป่วยจิตเวช” เขาจึงพยายามทุกวิถีทาง ปรึกษากับป้ามล ในการพาคนนั้นเข้ารับการรักษา เพราะเขาเชื่อว่า การได้ช่วยให้คนนี้หายดี จะช่วยลดผลกระทบต่อสังคมและคนรอบข้างเขาได้ โดยเฉพาะคนในครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารู้สึกว่า ตัวเองมีส่วนที่ทำให้สังคมดีขึ้นได้
ปลดทิ้งอำนาจ ในพื้นที่ของเด็กที่ก้าวพลาด
ธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ กรรมการมูลนิธิชนะใจ บอกว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านกาญจนาฯ ออกแบบไว้ก่อน มีการสร้างหอสูง ไม่มีรั้ว หรือกำแพงสูง ขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมพินิจฯ คุณหญิงจันทนี เอ่ยถึงชื่อ “ป้ามล” ที่ได้เห็นการทำงานกันมาพอสมควร เพื่อเชิญมาเป็นผู้อำนวยการคนนอกที่ไม่ใช่ข้าราชการ มีการย้ายข้าราชการมาที่นครปฐมหลายคน และสิ่งที่ป้ามลทำ คือ มาขอปลดกำไลข้อมือเด็ก
“ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ลงชื่อ ผมจำได้ได้เลยตอนแรกลงชื่อไล่ป้ามล ไม่ยอมรับ ลงชื่อยาวเหยียดเลย แต่ต้องขอโทษด้วยนะครับเพราะ ที่ลงชื่อมาทั้งหมดหลาย 10 ฉบับ ผมฉีกลงทิ้งถังขยะหมดเลย ผมได้นำเรื่องนี้ไปเล่าให้กับอธิบดีฯ ฟังว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ แล้วทำไปทำมา ก็จะมีลักษณะอย่างนี้ ทุกอย่างปลดออกหมดเลย ที่เป็นสัญลักษณ์เชิงอำนาจ และบอกว่าที่นี่ไม่ใช้อำนาจ เป็นพื้นที่ของเด็กที่ก้าวพลาด ไม่ใช้ความรุนแรงในทุกมิติ สายตา วาจา การกระทำ เราคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และออกแบบวิธีการแปลก ๆ เช่น ให้เด็กเลี้ยงไก่ ซึ่งเราไม่เข้าใจ แต่ตอนหลังเข้าใจแล้วว่า หลายอย่างเราใช้วิธีการบอกเล่าไม่ได้ ต้องใช้การสื่อสาร ซึ่งเด็กสามารถรับรู้ได้”
ฝ่าอำนาจนิยม โจทย์ใหญ่ เปลี่ยน “คุกเด็ก” เป็น “บ้านแห่งโอกาส”
หากตั้งคำถามว่าการเปลี่ยน คุกเด็ก เป็นบ้านที่ให้โอกาสของผู้กระทำความผิด ใครได้ใครเสีย คนที่ตอบได้ดีที่สุด คือ ป้ามล – ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ที่เชื่อว่า คนที่เสียคือคนที่ คลั่งอำนาจนิยม เพราะอำนาจนิยมถูกอธิบายในลักษณะของการปกป้องคนที่เป็นผู้ใช้อำนาจ
จากที่เห็นเจ้าหน้าที่สถานพินิจทำร้ายเด็ก ป้าได้พยายาม ให้พ่อแม่ของเขาได้เข้ามาเห็นว่าลูกเขามีบาดแผลจากการถูกทำร้ายมากแค่ไหน และแจ้งความให้อำนาจในการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร กับสิ่งที่เกิดขึ้น และเขาได้ให้สิทธิ์ป้าในการตัดสินใจ ป้ามลจึงถามเจ้าหน้าที่ว่า มี 2 ทางให้เลือก คือ ลาออก หรือ ถูกไล่ออก
ป้ามล บอกว่า จริง ๆ แล้วมีความเชื่อ ในตัวทุกคนมีสิ่งที่ดีงาม เจ้าหน้าที่คนนั้นเขารับรู้ ว่าสิ่งที่ป้ามลทำ เป็นการต่อสู้ที่หนักหน่วง จำได้ว่าได้ไปขอบคุณที่เขาเขียนใบลาออก แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า หลังจากที่ได้ให้เจ้าหน้าที่คนนั้นลาออก ด้วยความที่ไม่ได้มีอำนาจ เพราะเป็นผู้อำนวยการจากคนนอก ตอนนั้นมีเจ้าหน้าที่ในบ้านกาญจนาฯ อยู่ 49 คน มากกว่าครึ่งมาเขียนใบลาออก เพื่อต่อรองให้พาเพื่อนคนนั้นกลับมา โดยบอกว่า การที่ทำแบบนั้นจะทำให้เด็ก “ได้ใจ” และอาจกลับมาทำร้ายภายหลัง แล้วถามป้ากลับว่าจะรับรับผิดชอบชีวิตพวกเขาอย่างไร นั่นคือสิ่งที่เจ้าหน้าที่บอก
“เขาให้เราไปพาเพื่อนกลับมา เพราะคุณทำในสิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถใช้อำนาจกับเด็กเหล่านี้ได้อีกเลย ป้าเลยบอกว่าถ้าใช้เหตุผลนี้ ป้าไม่คิดว่าเป็นเหตุผล และไม่ได้คิดด้วยว่าการที่เอาเจ้าหน้าที่คนที่ทำร้ายเด็กออก จะทำให้เด็กลุกขึ้นมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ และเชื่อว่าเหตุการณ์แบบนั้นจะไม่เกิดขึ้น เพราะเหตุผลของป้าอยู่ที่ว่า จะทำให้เขาเกิดความคิดว่ากติกามันศักดิ์สิทธิ์ คือการไม่ทำร้ายกัน การไม่โต้กลับเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ใช่คนทำร้ายเขา ยืนยันว่าหลักการนี้สำคัญกว่า” ”
“ตอนนี้ผู้ใหญ่กำลังมองว่าอำนาจนิยมเป็นสิ่งที่คุ้มครองพวกเขา จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยในการจะปลดอำนาจนิยมออกจากผู้ใหญ่ในประเทศนี้ ไม่ว่าจะในโรงเรียน ในครอบครัว ในสถานพินิจ ไม่ง่ายเลย ต่อ ให้เปลี่ยนอธิบดีอีกกี่คน พูดแบบไม่เกรงใจเลย ว่าไม่ง่าย จนกว่าจะถึงจุดที่เขาเชื่อว่ายิ่งไม่ใช้อำนาจ ยิ่งมีอำนาจ วันที่เขามาถึงตรงนั้นต่างหาก ที่จะทำให้เขาเชื่อได้ว่า เราไม่ควรใช้อำนาจ ป้ารู้ว่าเด็กไม่อยากลุกขึ้นมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ เพราะเขาเกรงใจเรา แม้ว่าบางคนอาจจะไม่ได้ชอบ แต่อย่างน้อยเขาได้รับรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำคืออะไร”
ป้ามล อธิบายวิธีคิด
อีกคนที่ยืนยันหลักการของบ้านกาญจนาฯ มีส่วนสำคัญต่อการดูแลเด็ก เยาวชนที่ก้าวพลาด คือ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ย้ำว่า หลักการที่จะทำให้เด็ก เยาวชนที่ก้าวพลาด ไม่กลายเป็นคนที่ผิดตลอดไป กระบวนการที่จะเปลี่ยนแปลงเขาให้เป็นคนมีคุณค่าในสังคมไทยได้นั้น จะต้องอาศัยกระบวนการ แบบที่ป้ามลได้ออกแบบและทำให้เห็น
บางครั้งพ่อแม่อาจไปทำร้ายความรู้สึกของเด็ก จนทำให้เขามองตัวเองว่าทำไม่ดี ทั้งที่เด็กอยากได้ความภาคภูมิใจ แต่เมื่อถูกพ่อแม่ไม่เข้าใจ ก็เกิดความผิดหวัง สูญเสียความเชื่อมั่น สูญเสียการเห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งจุดนี้เป็นตัวนำให้เขาก้าวก้าวไปทดลองในสิ่งที่พลาดได้
“สิ่งที่ป้ามลทำ คือการใช้กระบวนการหลายอย่าง วิธีที่เราเห็น ให้เด็กและพ่อแม่ได้สื่อสารกันในเชิงลึก ซึ่งผมคิดว่าในสังคมไทยควรจะต้องมีโรงเรียนพ่อแม่ เพราะเราจะส่งผ่านวิธีการเลี้ยงของเรา ส่งผ่านไปให้ลูกเราต่อ ทำยังไงให้ลูกรู้จักคุณค่าในตัวเอง ก็จะส่งผลให้เขาเติบโตเป็นบุคลากรที่สำคัญของประเทศได้ เช่นเดียวกับการที่มีน้อง ๆ จากบ้านกาญจนาฯ มาร่วมแลกเปลี่ยนบทเรียนการก้าวพลาด ก็ถูกส่งต่อให้กับรุ่นต่อไป สิ่งนี้ถือเป็นวัคซีนให้กับรุ่นน้อง อยากให้ทุกคนส่งผ่านพลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นพลังหนึ่งเดียวที่ท้าทายกับอำนาจนิยม ไปสู่อำนาจร่วม ซึ่งตัวอย่างของบ้านกาญจนาฯ อยากให้ดำเนินการต่อไปยาวนาน เป็นแบบอย่างให้กับเครือข่ายในการสร้างบุคลากรใหกับสังคมไทยต่อไป”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ทิ้งท้าย