ผิดไหม ที่ไร้ศาสนา?

เมื่อถามว่า “ศาสนาจำเป็นอะไรต่อชีวิต?” : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ

ในสังคมปัจจุบัน “ศาสนา” ยังจำเป็นอยู่ไหม? เมื่อคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามถึง “ประโยชน์” และ “ความจำเป็น” ของศาสนาต่อชีวิต

ข้อมูลจาก The Pew Research Center องค์กรที่วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางศาสนาและผลกระทบต่อสังคมทั่วโลก ระบุว่าสถิติของ “คนไร้ศาสนา” เพิ่มขึ้นจาก 35 ล้านคน เมื่อปี 2008 มาเป็น 1,100 ล้านคน ในปี 2019 และคาดการณ์ว่าจะมีผู้ไม่นับถือศาสนาเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่า คนรุ่นใหม่ หรือคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีทั่วโลก เป็นกลุ่มที่ ไม่นับถือศาสนา มากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ ในทุกมิติ

หากดู 10 อันดับประเทศที่มีผู้ไม่นับถือศาสนามากที่สุด ในเอเชียมีมากถึง 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ

สำหรับ เกาหลีใต้ ประเทศหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ในไทย มีผู้ไม่นับถือศาสนาถึง 23 ล้านคน มีการวิเคราะห์ว่าการที่ประชาชนมีอิสระทางความคิด มีวัฒนธรรมการทำงานหนักและการแข่งขันสูง มีส่วนอย่างมากทำให้พวกเขาตัดสินใจว่าจะนับถือศาสนาหรือไม่

ส่วนในประเทศไทย กลุ่มคนไร้ศาสนา เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความผิดหวังกับบุคคลทางศาสนา ในสังคมออนไลน์ เริ่มมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดกลุ่มคนไร้ศาสนามากขึ้น รวมถึงข้อสงสัยถึงจุดเปลี่ยนของคนที่ปฏิเสธการนับถือศาสนา พร้อมข้อถกเถียงว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร หากไม่มีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ

The Active ชวนสะท้อนมุมมองที่มีศาสนา ท่ามกลางความก้าวหน้าของเทคโนโลยี กับ ‘ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ’ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คนไร้ศาสนา

ศาสนาในเกาหลีใต้ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

โดยภูมิศาสตร์ เกาหลีอยู่ใกล้กับจีน ซึ่งจีนมีวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่มานาน ความคิดเรื่องปรัชญา ศาสนาของเกาหลี จึงรับมาจากจีน ศาสนาพุทธ ขงจื้อ และลัทธิเต๋าได้แพร่เข้าสู่เกาหลีในปี ค.ศ. 342 และศาสนาเหล่านี้ได้เฟื่องฟูในเกาหลี จนมาถึงสมัยโครยอ ปี ค.ศ 900-1300 ที่เป็นพุทธอยู่คู่กับขงจื้อ แต่มีคำถามว่าจะตีกันไหม? ขอตอบว่าเป็นคนละฝั่งกัน ขงจื้อ คำสอนเป็นแนวจริยศาสตร์ โจทย์หลักของขงจื้อไม่ใช่เรื่องของโลกหน้า เป็นเรื่องทำอย่างไรให้สังคมมีความสุข สังคมจะมีความสุขได้เมื่อทุกคนทำตามหน้าที่และบทบาทของตัวเอง

ในมุมของเกาหลี เขามองลัทธิขงจื้อเป็นแนวคิดที่เหมาะสมสำหรับการปกครอง ขณะที่พุทธเน้นเรื่องของการนิพพาน โลกหน้า  ศาสนาพุทธจึงจัดอยู่ในหน้าที่ในเชิงจิตวิญญาณ จึงแยกกันอย่างชัดเจน อยู่ด้วยกันได้ เพราะต่างฝ่ายรู้จักขอบเขตของตนเอง

แต่ปัญหามาเกิดตอนยุคโชซอน ศาสนาพุทธไม่ได้รับความนิยม จริง ๆ อาจไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องศาสนา แต่เป็นเรื่องของการปกครองมากกว่า

“เชื่อว่าการทำบุญเยอะจะทำให้มีบารมีปกป้องประเทศ ซึ่งส่วนตัวเรียกว่า พุทธธูปเทียน ที่ไปในเชิงไสยศาสตร์ ผลาญเงินทองประเทศหมด”

หลังจบยุคโชซอน ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาท และเนื่องจากญี่ปุ่นนับถือพุทธ ทำให้ศาสนาพุธในเกาหลีกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ส่วนศาสนาคริสต์ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมมาก ก็มาจากจีน เพราะจีนติดต่อค้าขายกับทางยุโรป พอพ่อค้าเข้ามาก็นำความคิดทันสมัยเข้ามา ซึ่งศาสนาก็มาด้วย เมื่อเกาหลีส่งคนไปศึกษาที่จีน ศาสนาคริสต์เริ่มแพร่เข้าคาบสมุทรเกาหลี เพราะคนเกาหลีที่เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนที่จีนได้นำเข้ามา ซึ่งศาสนาคริสต์ในปัจจุบันค่อนข้างทรงอิทธิพลมาก

สัดส่วนคนนับถือศาสนา คนไม่นับถือศาสนา และศาสนาใหม่?

จากผลการสำรวจของ Gallup Korea ในปี 2015 ซึ่งเขาจะทำซ้ำทุก 10 ปี พบว่าคนเกาหลีที่นับถือศาสนา อยู่ 44% และไม่นับถือศาสนาอยู่ที่ 56% ที่น่าสนใจคือที่เกาหลีมีกลุ่มที่เรียกว่าศาสนาใหม่ โดยศาสนาใหม่จะนำความเชื่อของเหล่าศาสนาเดิม อย่างคำสอนก็ไม่ได้ต่างจากพุทธหรือคริสต์เท่าไหร่ แต่พยายามทำให้คำสอนของศาสนาเข้าได้กับชีวิตประจำวันของมนุษย์ ศาสนาที่มีคำสอนลึกซึ้ง ไกลจากชีวิต คนเหล่านี้จะไม่ชอบ

“ในเกาหลีที่ดัง ๆ ตอนนี้จะมี Won Buddhism ซึ่งจะไม่ยุ่งการเมือง แนวคิดหลักคือ ศาสนาจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อคำสอนของศาสนาทำให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตคน”

ตอนที่ตั้งศาสนา สิ่งแรกที่เจ้านิกายทำ คือการสร้างเขื่อน กั้นพื้นที่ไม่ให้น้ำท่วมและทำพื้นที่ให้เป็นที่เพาะปลูก ต้องการทำให้ชีวิตคนดีขึ้นด้วยการช่วยเหลือกัน เพียงแต่ไม่ได้สอนในกระดาษแต่ทำให้เห็น

สิ่งที่น่าสนใจ เกาหลีเป็นประเทศที่คนไม่นับถือศาสนาเยอะ เวลาพูดเรื่องไม่นับถือศาสนา ต้องแยกให้ละเอียด ถ้าบอกไม่นับถือศาสนา สามารถแบ่งได้ สามแบบ

หนึ่ง ประจักษ์นิยม (Empiricism) หากศาสนาสอนเรื่องพระเจ้า คนกลุ่มนี้เชื่อว่าหากมีจริงจะต้องสัมผัสได้ หากพระเจ้ามีจริง พิสูจน์อย่างไร ให้ทรงมาตรงนี้หน่อย คนกลุ่มนี้เลยรู้สึกว่า ของที่พิสูจน์ไม่ได้ ไม่มีจริง เราจะเชื่อทำไม หรืออาจจะเรียกว่าพวกวิทยาศาสตร์ก็ได้

สอง กลุ่มบางคนที่ไม่มีศาสนา พอถามว่าทำไมไม่มีศาสนา เขาย้อนถามว่า ประโยชน์ของศาสนาคืออะไร คนกลุ่มนี้เขามองว่าตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาเลย คนกลุ่มนี้มองว่าไม่เห็นจำเป็นต้องมีศาสนา ไม่ได้แอนตี้ว่าต้องพิสูจน์ให้ได้ หากมีประโยชน์ก็รู้สึกโอเค แต่เมื่อไม่ได้มีประโยชน์ในชีวิตเขาเลย ทำไมต้องไปให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ ปัญหาเหล่านี้ทำให้สะท้อนว่า ศาสนาไม่ได้มีนัยสำคัญต่อมนุษย์ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่ศาสนาไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตคน ทำให้ศาสนายิ่งห่างไกลทวีคูณ แต่ไม่ได้หมายความว่า คนที่ไม่มีศาสนาเป็นคนชั่ว

สาม หากยกตัวอย่างเรื่องแฟน คนกลุ่มแรกบอกว่า เขาไม่ต้องการมีแฟน ชีวิตอยู่ได้ด้วยการซื้อแบรนด์เนม การเที่ยวเมืองนอก แฟนไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็น คือเป็นพวกที่ไม่เอาเลย กลุ่มที่สอง ชีวิตต้องการแฟน แต่แฟนต้องเป็นคนนี้เท่านั้น คนอื่นไม่ได้ กลุ่มที่สามคือกลุ่มคนต้องการแฟน แต่แฟนเป็นใครก็ได้ ที่อยู่ด้วยแล้วชีวิตมีความสุข มีประโยชน์ในชีวิต

“มีคำถามว่า ถ้าไม่มีศาสนาแล้วใช้อะไรเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว”

คนที่ตั้งคำถามนี้ เป็นคนที่มีความคิดว่า มีเพียงศาสนาเท่านั้นที่จะเป็นหมุดหมายในชีวิตมนุษย์ได้ สิ่งอื่นในโลกนี้ไม่มีอะไรที่มีค่าเลย คนกลุ่มนี้อาจจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 คือต้องมีแฟนและแฟนต้องเป็นศาสนาเท่านั้น การตั้งคำถามนี้ สะท้อนให้เห็นว่าคนถามมองว่าศาสนาเป็น The only one choice การที่บอกว่าต้องมีศาสนาอันนี้ผิดไหม? คำตอบคือไม่ผิด แต่ว่าถูกไม่หมด อย่าลืมว่ามีตัวเลือกที่ 3 คือต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของฉันเป็นอะไรก็ได้ ปัญหาของเกาหลี เวลาคนบอกว่าไม่มีศาสนาค่อนข้างคาบเกี่ยวกับ 1 ไม่เอาเลย กับ 2 ที่เขาอาจจะมองว่าไม่มีประโยชน์ในชีวิตเขา

ผลการสำรวจของเกาหลีใต้ เด็กรุ่นใหม่มีการศึกษามากขึ้น สังคมเกาหลีมีความเร่งรีบ แข่งขันทำงาน ทำให้ไม่มีเวลาไปทำพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงเด็กรุ่นใหม่รู้สึกว่าศาสนาน่าเบื่อ

ที่คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อศาสนา ไม่ได้มาจากการที่เขาศึกษาปรัชญามาแล้วและรู้สึกว่าไม่ใช่ แต่หากไปถามเขา เขาจะตั้งคำถามกลับมาว่าศาสนาจำเป็นอะไรต่อชีวิตเขา? sense หรือความรู้สึกของการตัดสินว่า NO หรือ YES ไม่ได้อยู่ที่การถกเถียงในเชิงปรัชญา แต่เป็นการตั้งคำถามว่า ถ้ามีสิ่งนี้ แล้วสิ่งนี้มีประโยชน์อะไรกับฉัน

หากไม่ใช่ศาสนาแล้วอะไรจะมาเยียวยาจิตใจ

อะไรก็ได้ที่เขาชอบ บางสิ่งที่เขาให้ค่า คนที่ชอบธรรมชาติก็ไปซื้อเรือ พายเรือเก็บขยะ เขาก็มีความสุขดี เขายึดเหนี่ยวจิตใจด้วยการรักธรรมชาติของเขา

จากงานวิจัย สังคมที่มีระบบสาธารณสุขดี มีความเท่าเทียมกันสูง คนในสังคมนั้นยิ่งมีแนวโน้มที่จะไม่นับถือศาสนาเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม สังคมที่ชีวิตคนไม่แน่นอน คนจะเคร่งครัดศาสนา

สามารถตอบได้เลยแบบไม่ต้องอิงทฤษฎี ศาสนาเป็นการให้ความหวังในโลกหน้า ปัญหาของศาสนาหากไม่ปรับตัว เรื่องของโลกนี้ศาสนาตอบไม่ค่อยได้ ถ้าศาสนาปรับตัวให้คนในสังคมนั้นเห็นได้ว่า ศาสนามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตคุณ การที่นับถือศาสนาอาจจะทำให้สิ่งที่ดีอยู่แล้ว ยิ่งดีขึ้นไปอีก ศาสนาจะได้ไม่ถูกมองว่าไม่จำเป็น แต่ถ้าศาสนาสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ในฐานะของการเป็นการค้ำประกันชีวิตในโลกหน้า ถ้าคนอยู่ในระบบสวัสดิการดีแบบนี้ เจ๊ง

“งานวิจัยโดย พิปปา นอร์ริส และ รอนอลด์ อิงเกิลฮาร์ท เปิดเผยว่า ยิ่งสังคมมีระบบสาธารณสุขดี มีระบบกระจายอาหารดี ที่อยู่อาศัยเพียงพอ ความยากจนต่ำ และมีความเท่าเทียมกันสูง คนในสังคมนั้นก็ยิ่งมีแนวโน้มสูงที่จะไม่นับถือศาสนา ในทางตรงกันข้าม สังคมที่ชีวิตคนไม่แน่นอน ความกินอยู่แร้นแค้น และมีความเสี่ยงจะเสียชีวิตสูง คนก็มักจะยิ่งเคร่งศาสนา”

ถ้าหากมองมาที่ประเทศไทย มีความเป็นไปได้ไหมที่คนไทยจะหันหลังให้ศาสนามากขึ้น

เป็นไปได้ และตอนนี้ก็เป็นอยู่ มีใครตักบาตร สวดมนต์ครบทุกบทบ้าง ถ้าบอกว่าไม่มีศาสนาอาจไม่ถึงขนาดว่า ข้าพเจ้าประกาศตัวว่า ไม่เอาพระเจ้า

“การที่ไม่ได้สนใจศาสนา แค่นี้ก็หมายถึงว่าแทบจะไม่มีศาสนา พูดง่าย ๆ ภาษาชาวบ้าน คือมีศาสนาในบัตรประชาชน” 

พ่อพุทธ แม่พุทธ ฉันก็พุทธ ถามว่าเคยไปวัด เคยศึกษาธรรมมะ เคยอ่านคำสอนมากน้อยขนาดไหนหรือไปตามพิธีกรรม ถ้าหากการไม่มีศาสนาคือการลุกขึ้นมาต่อต้านพระเจ้า คนไทยก็คงยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ถ้าบอกว่านับถือพุทธ คุณเข้าใจอะไรเกี่ยวกับพุทธบ้าง แต่ถ้าเข้าใจว่าพุทธต้องตักบาตร อันนั้นเพียงแค่เปลือก

ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร หรือจะไร้ศาสนา เราควรที่จะมองสิ่ง ๆ นั้นไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรืออะไรก็ตาม ต่อชีวิตอย่างไร

มองว่าศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี (ไม่ใช่วลีที่เขาพูดตาม ๆ กันมานะ) ถ้าไปศึกษาจะพบว่าแต่ละศาสนาจะมีคำสอนในเชิงปรัชญาลึกซึ้งที่ต่างกัน แต่ในมุมจริยศาสตร์ไม่มีศาสนาไหนที่สอนว่าการฆ่าคนแล้วเป็นสิ่งที่ดี ให้อยู่ด้วยกันในสังคม ไม่เช่นนั้นสังคมไปไม่รอด ถ้าจับประเด็นนี้แล้วถามว่าศาสนาจำเป็นไหม อันนี้ก็จำเป็น คืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจให้คน เป็นพลังในเชิงอ่อนทำให้คนตระหนักได้ว่า ความดีงามเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ แต่สิ่งที่ทั้งมนุษย์และศาสนา จำเป็นต้องเปลี่ยนคือทั้งคู่ต้องนั่งนิ่งแล้วตระหนักบทบาทของตัวเองว่าตอนนี้ยังใช่ไหม? ถ้าคนเป็นคนชั่ว สังคมก็เจ๊ง อย่างศาสนาพุทธ เวลาสอนให้คนเป็นคนดี ต้องทำให้เห็น ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้อ่านตำราแล้วยึดติด

สุดท้ายแล้วศาสนายังจำเป็นอยู่ไหม? คำตอบคงเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคงเป็นสิ่งที่เราให้ค่า แม้ว่าจะไร้ศาสนา แต่ก็ยังสามารถนำส่วนที่ดีมีประโยชน์มาปรับใช้ในชีวิตเราได้


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์