ขณะที่ยังไม่รู้ว่าประเทศไทยต้องจ่าย “ค่าโง่” จากกรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร หรือไม่ ก็ปรากฏการปิดประกาศของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เรื่อง ขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ และ จ.จันทบุรี โดยทั้งสองพื้นที่ต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)
ทำให้ คนจันทบุรี ทั้งชาวบ้านในพื้นที่ และตัวแทนองค์กรท้องถิ่น ประกาศคัดค้านเหมืองแร่ทองคำอย่างถึงที่สุด
ปิดประกาศสำรวจแร่ทองคำ จ.เพชรบูรณ์ และ จ.จันทบุรี
ประกาศใน จ.เพชรบูรณ์ มีชื่อ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำในพื้นที่ ต.ชนแดน, ท่าข้าม, ดงขุย, พุทธบาท และบ้านกล้วย อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ รวมพื้นที่ทั้งหมด 239,322 ไร่ จากทั้งหมด 25 คำขอที่ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2546 และปี 2548 ส่วนประกาศใน จ.จันทบุรี มีชื่อ บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด เป็นผู้ยื่นคำขอ เนื้อที่รวม 14,650 ไร่ ในพื้นที่ ต.พวา และ ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ตามคำขอที่ 8/2549 และ 9/2549
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ “ประชาชาติธุรกิจ” ระบุว่า บริษัท ริชภูมิฯ เป็นบริษัทอยู่ในเครือของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มคิงสเกท แคปปิตอล ออสเตรเลีย ซึ่งกำลังมีข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย กรณีการใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 สั่งระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ การต่ออายุประทานบัตรและการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแร่ทองคำของ บริษัท อัคราฯ ในพื้นที่รอยต่อของจังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2559 โดยคดีนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่กลุ่มคิงสเกทฯ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย
โดย บริษัท อัคราฯ และกลุ่มคิงสเกท แคปปิตอล ได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ผ่านบริษัทต่าง ๆ ถึง 3 ทอด โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง ได้แก่ บริษัท อิสระ ไมนิ่ง (ร้อยละ 99.9988) ในขณะที่บริษัท อิสระ ไมนิ่ง ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (ร้อยละ 51) กับบริษัท คิงสเกท แคปปิตอล ออสเตรเลีย (ร้อยละ 49)
รวมทั้งยังมีสถานที่ตั้งบริษัทอยู่ในเลขที่เดียวกันคือ 99 หมู่ที่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร อีกทั้งยังมีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลชุดเดียวกัน คือ นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์, นายสิโรจ ประเสริฐผล, นายเจมี่ ลี กิ๊บสัน และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ เฉพาะ 3 คนแรกยังดำรงตำแหน่งกรรมการ ของบริษัท อัคราฯ อีกด้วย
จากคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำทั้งประเทศ จากการตรวจสอบข้อมูลมีอยู่ประมาณ 13 บริษัท คิดเป็นจำนวนแปลง 167 แปลง เนื้อที่ 1,428,412-2-00 ไร่ เฉพาะกรณีของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง เคยยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษไว้ 4 จังหวัด ประกอบไปด้วย ระยอง-พิษณุโลก-จันทบุรี-ลพบุรี เนื้อที่ประมาณ 127,687 ไร่
“คนจันทน์” ประกาศค้านเหมืองแร่ทองคำ
ด้านชาวจังหวัดจันทบุรี ประกาศค้านเหมืองแร่ทองคำ โดยเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้ร่วมกันเดินทางไปศาลากลางจังหวัดจันทบุรี เพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน 3 ฉบับ โดยเป็นหนังสือคัดค้านของชาวบ้าน ตัวแทนองค์กรท้องถิ่นทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์กรภาคประชาสังคมในนามเครือข่ายเพื่อนตะวันออก
โดยแถลงการณ์ของเครือข่ายเพื่อตะวันออก เรียกร้องให้ยกเลิกคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำทุกพื้นที่ที่เป็นป่าที่ต้นน้ำของจังหวัดจันทบุรีอย่างถาวร, ไม่อนุญาตให้มีการขออาชญาบัตรสำรวจแร่ และไม่ออกประทานบัตรเปิดเหมืองแร่ทุกชนิด ในพื้นที่ทุกจังหวัดของภาคตะวันออก ตราบที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเดิมที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ที่ผ่านมาให้เรียบร้อยเสียก่อน
เรียกร้องให้การตัดสินใจของหน่วยงานผู้อนุญาตในเรื่องใด ๆ เกี่ยวกับการทำแร่ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก จะต้องผ่านความเห็นชอบของประชาคมในพื้นที่ก่อนติดประกาศ โดยจะต้องมีประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แร่ พ.ศ.2560 และ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม และผลกระทบต่อวิถีเศรษฐกิจของประชาชนฐานรากในพื้นที่
ขอให้ดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ที่ประเทศไทยได้ลงนามในสัตยาบันต่อนานาชาติไปแล้ว เนื่องจากพื้นที่จังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่ต้นน้ำและมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ความมั่นคงด้านอาหารต่อชาวจังหวัดจันทบุรี และต่อคนในประเทศไทย รวมทั้งเป็นผู้ผลิตอาหารให้ประชากรโลก และขอให้ตรวจสอบความโปร่งใสในการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ในครั้งนี้ เนื่องจากคำขอเดิมสิ้นอายุไปแล้ว และบริษัทแม่ในประเทศออสเตรเลียกำลังมีข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย
ขณะที่ ก่อนหน้านี้สภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า จ.จันทบุรีเป็นเมืองเกษตรสีเขียวและแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย หากมีการทำเหมืองเกิดขึ้นจะส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเสียหายต่อการที่รัฐต้องข้ามาจัดการด้านสาธารณสุขเหมือนกรณีเหมืองแร่พิจิตร
เสี่ยงกระทบสวนทุเรียน และแหล่งต้นน้ำ EEC
ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภาคตะวันออก กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนในพื้นที่ออกมาคัดค้านคือ มลพิษจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่อาจกระทบต่อพื้นที่ ที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งพื้นที่ป่าสงวน มีพื้นที่ สทก. (สิทธิทำกิน) ที่ชาวบ้านยังใช้ประโยชน์อยู่ เป็นพื้นที่เกษตรที่สำคัญของประเทศโดยเฉพาะสวนทุเรียน ซึ่ง อ.แก่งหางแมว เป็นแหล่งปลูกทะเรียนแหล่งใหญ่ของ จ.จันทบุรี
รวมทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของ EEC จากป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่ผ่านมา มีการทำแก่งหางแมวโมเดล เป็นข้อตกลงการแบ่งน้ำระหว่างพื้นที่ของชุมชนในแก่งหางแมวและพื้นที่ EEC ซึ่งจะปล่อยให้มีการปนเปื้อนไม่ได้
“ถ้าสร้างเหมืองทอง นอกจากส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภค บริโภค น้ำใน EEC ก็จะได้รับผลกระทบด้วย ชาวบ้านเขารู้สึกว่า อุตส่าห์สร้างข้อตกลงแบ่งปันน้ำกับ EEC ได้แล้ว พอเหมืองทองเข้ามาทุกอย่างเสียหายหมด แล้วต่างชาติจะมาลงทุนใน EEC ไหม เพราะน้ำมีโอกาสปนเปื้อน และตอนนี้ทุเรียนโลละ 150 บาท แม้กระทั่งช่วงโควิดก็ยังได้ราคานี้ เพราะคนจีนยังนิยม จึงถือเป็นผลไม้ช่วยชาติ ช่วยเศรษฐกิจจันทบุรีไว้ได้ หมอนทองมันแพงกว่าเหมืองทองมาก”
ดร.สมนึกเห็นว่า รัฐบาลควรรับฟัง เป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจของรัฐบาล เพราะเมื่อชาวบ้านไม่เอา ก็ต้องยกเลิก ซึ่งคงต้องจับตาว่าก่อนวันที่ 28 ก.ย. นี้ ทางภาครัฐจะมีท่าทีอย่างไร ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ชาวบ้านก็จะเดินสายไปบอกตามสถานฑูตว่าอย่ามาลงทุนใน EEC เพราะน้ำอาจปนเปื้อน