‘เหมือง’ กำลังเปลี่ยน ‘วิถีชีวิต’ และ ‘จิตวิญญาณ’

การต่อสู้ครั้งสำคัญของชาวบ้าน ‘กะเบอะดิน’

จะเกิดอะไรขึ้น… ถ้าแหล่งน้ำที่คุณใช้มีสารปนเปื้อน พื้นที่ทำเกษตรชั้นดีที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย กำลังจะถูกทำลาย แปรเปลี่ยนสภาพจาก “ตู้กับข้าวขนาดใหญ่” กลายเป็น “เหมือง”  สิ่งนี้เป็นความกังวลครั้งใหญ่ของชาวบ้านกะเบอะดิน ชุมชนกระเหรี่ยงกลางเขาในพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่  

แม้จะมีการอ้างถึงหนังสือรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำ ข้อมูลไม่ครอบคลุม และไม่มีความโปร่งใสในรายงาน ตลอดจนการมองป่าเชิงเดี่ยวให้มีความสำคัญเพียงมูลค่าทางเศฐกิจ รวมไปถึง ข้อมูลความย้อนแย้งของหน่วยงานด้านทรัพยากรเช่นนี้ ทั้งหมดกำลังเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน

ที่สำคัญหากเหมืองเกิดขึ้นย่อมส่งผลให้ชีวิตและวิถีดั้งเดิมของพวกเขาต้องเปลี่ยนไปอย่างไม่อาจหวนกลับคืน นี่เป็นข้อกังวลของชาวบ้าน และนักวิชาการที่ลงไปทำงานในพื้นที่ จนนำมาสู่การฟ้องคดีศาลปกครองเพื่อปกป้องสิทธิของชุมชน

The Active ชวนทุกคนย้อนไปสำรวจความอุดมสมบูรณ์ ดูวิถีชีวิตที่สอดประสานระหว่าง ภูเขา ต้นน้ำ ผืนดิน ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตและจิตวิญญาณมายาวนาน​ แต่วันนี้กำลังสั่นคลอนเพราะเหมือง ไล่เรียงมาถึงเส้นทางการต่อสู้ครั้งสำคัญ ที่อาจไม่ใช่แค่การต่อสู้ของเพื่อ “ชาวกะเบอะดิน” เพียงลำพัง แต่เป็นการยืนหยัดสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับการรับรองสิทธิ ทางสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไปอีกด้วย

“ความพิเศษของพื้นที่ มองแวบเดียวก็เห็นแล้วว่าชาวบ้านที่นี่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ สังคมไทยทำให้พวกเขามีความรู้สึกว่า ตัวของเขาเล็กนิดเดียว ถ้าจะพูดกันอย่างเข้าใจง่าย เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมืองชั้นสอง ซึ่งการลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ การเป็นคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ์ว่ายากแล้ว แต่กลุ่มคนที่อยู่ภายใต้ การกดขี่มาตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดแบบพวกเขา ต้องอาศัยความกล้าหาญคูณสอง”

ศศิประภา ไร่สงวน ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
กะเหรี่ยง กะเบอะดิน

กะเบอะดิน ความหลากหลายในผืนป่าใหญ่

กะเบอะดิน” หากหมายความตามคำกระเหรี่ยงแปลว่า “ดินเหนียว” แต่หากอธิบายตามภูมิประเทศที่นี่คือชุมชนกระเหรี่ยงโปว์ตั้งอยู่กลางหุบเขา ในเขตของป่าอมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ มีการดำรงชีวิตที่หลากหลายในผืนป่าใหญ่  ที่นั่นเต็มไปด้วยความอุดมสมบรูณ์ของฐานทุนทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงประวัติศาสตร์การอยู่อาศัยของชนชาติพันธ์ท้องถิ่นดั่งเดิม  และจุดเด่นสำคัญของคนที่นี่คือวิถีชีวิตที่มีความสัมพันธ์กับการจัดการสมดุลของนิเวศ

ต้นทุนเดิมคือที่ “กะเบอะดิน” มีคือต้นน้ำของชุมชนที่กล่าวได้ว่าสัมพันธ์กับพื้นที่ป่าจิตวิญญานและพื้นที่การทำเกษตรชั้นดี  ภายใต้ระบบเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียน เป็นผลให้คนกะเบอะดินสามารถทำเกษตรได้ทั้งปี มีศักยภาพในการเก็บผลผลผลิตและเมล็ดพันธ์ุไว้เพื่อทำในปีต่อ ๆ ไป มีความหลากหลายของพืชอย่างน้อย 60 ชนิด 

“มะเขือส้ม” หรือ “มะเขือเทศ” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกหลักของอมก๋อยและหนึ่งในแหล่งผลิตสำคัญมาจากบ้านกะเบอะดิน ซึ่งเป็นรายได้หลักให้กับชาวบ้านที่นี่  ด้วยสภาพอากาศ ดิน และน้ำถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผลผลิตจากพื้นที่แห่งนี้มีคุณภาพที่ดีเป็นจนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

‘ป่า’ และ ‘น้ำ’ คือชีวิตและจิตวิญญาณของชาวบ้าน

สายน้ำหลักพาดผ่านแหล่งทำเกษตรของชุมชน และไหลยาวลงไปตามหุบเขาสู่แม่น้ำสายใหญ่อย่างแม่น้ำเมย ข้อเท็จจริงข้างต้นนี้ ได้จากการสำรวจของ เยาวชนในชุมชนร่วมกับ กรีนพีช ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) กรวรรณ บัวดอกตูม ผู้ประสานงานฝ่ายวิจัยด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนขบวนการเก็บและรวบรวมข้อมูลชุมชน เล่าถึงประสบการณ์กว่า 3 ปีในพื้นที่ สิ่งที่สัมผัสได้ชัดเจนคือ น้ำและป่า คือชีวิตและจิตวิญญานของชาวบ้าน 

ความเซ็กซี่ที่สุดในหมู่บ้านคือสาย น้ำ เพราะดูแล้วเรื่องน้ำสำคัญกับคนในพื้นที่มาก ครั้งหนึ่งเราได้มีโอกาสเดินทางลงไปในพื้นที่ สังเกตบริบทในหมู่บ้าน ร้านค้าจะไม่มีน้ำที่เป็นขวดขายเลย กรวรรณ เล่า เพราะทุกคนสามารถที่จะดื่มน้ำจากลำห้วย มีน้ำประปาจากภูเขาใช้ แม้กระทั่งชีวิตในสวนหรือในไร่ล้วนต้องใช้น้ำ 

“พืชผลทางการเกษตรทุกอย่างใช้น้ำ ยิ่งเป็นมะเขือเทศที่ต้องใช้น้ำ ฟักทองถ้าไม่มีน้ำก็ไม่ได้ผลผลิตที่ดี นี่คือต้นทุนในพื้นที่ เขามีน้ำจากในหมู่บ้านเองหรือน้ำจากห้วยมะขาม หรือห้วยผาขาว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติของเขาที่มาบรรจบกันแล้วเกิดการใช้ประโยชน์ในพื้นที”

อีกมิติหนึ่งที่จะมองข้ามไม่ได้เลยคือ การรักษาป่าของคนในชุมชน สำคัญมากถึงขั้นที่ต้องมีการกันพื้นที่ป่าที่พวกเขาเรียกว่า “ป่าจิตวิญญาณ”  เป็นพื้นที่ทำพิธีกรรมทางความเชื่อ ซึ่งสะท้อนถึงการอนุรักษ์ป่า และทำให้เห็นว่าน้ำคือเรื่องสำคัญ เพราะ นั่นคือชีวิตของคนที่นี่

หากต้องเกิดโครงการอะไรขึ้นในพื้นที่แน่นอนต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงของป่าและสายน้ำ และซึ่งคนในชุมชนได้รับผลกระทบแน่นอน ไม่สามารถจินตนาการได้ว่าถ้าสมมติน้ำหายไปหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไรและส่งผลกระทบวงกว้างไป กี่จังหวัดกี่อำเภอ 

อย่างข้อเท็จจริงบอกว่า “อมก๋อย” มาจากคำว่า อำกอย เป็น ภาษาเลอเวือะ แปลว่า ขุนน้ำหรือต้นน้ำ  และปฏิเสธไม่ได้ว่าน้ำจากอมก๋อยจะต้องไหลไปในหลายหลายที่ และอาจจะส่งผลกระทบในมิติของสุขภาพ และวิถีชีวิตเดิมที่ดำรงอยู่อย่างปฏิเสธไม่ได้เหมือนกับพื้นที่ ๆ เคย เกิดเหมืองขึ้น

กว่า 200 ปี วิถีชุมชน  กำลังสั่นคลอนเพราะ “เหมือง”

หากนับย้อนไปแล้ว บรรพบุรุษของคนที่นี่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ. 2382 อาจด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านตั้งถิ่นฐานที่นี่ได้นานเกือบ 200 ปี

กระทั่ง 2517 ชุมชนกะเบอะดิน ได้แยกหมู่บ้านออกจากบ้านบ้านแม่อ่างข่า อย่างเป็นทางการ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457  

ต่อมา ในปี 2518 พื้นที่หมู่บ้านถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอมก๋อย(ป่าอมก๋อย) แต่ชาวบ้านยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินเช่นเดิม

กระทั้ง 2530 มีนายหน้าพาบริษัทเอกชน เข้ามาเจรจากับชาวบ้านเรื่องการขอซื้อที่ดิน พอมาถึงตรงนี้หลายคนคงต้องคิ้วขมวดตั้งคำถามขึ้นมาว่า ที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนซื้อขายได้ด้วยหรอ หากเป็นการซื้อขายตามกฎหมายแน่นอนว่าไม่มีทาง แต่หากเป็นการซื้อใจชาวบ้านมากกว่า 

หลังจากการเข้ามาของคนแปลกหน้าตอนนั้น นำมาสู่การเริ่มสำรวจพื้นที่เพื่อทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมEIA ในระหว่างช่วงปี 2551 และเสร็จในช่วงปี 2554 ซึ่งก็ได้รับการรับรองตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา

แต่สิ่งที่เป็นจุดปลุกชาวบ้านให้ตื่นตัวคือเหตุการณ์ ปี 2562 สำนักงานอุตสหกรรมเชียงใหม่ ได้ปิดประกาศขอทำเหมืองแร่ ที่ว่าการอำเภออมก๋อย ชาวบ้านอ้างว่าไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน ทั้งยังมีเรื่องของรายชื่อ ลายมือของชาวบ้านที่ปรากฎอยู่ในรายงาน EIA ที่ใช้ประกอบการขอใบอนุญาตทำประทานบัตร จึงมีการออกมาต่อสู้คัดค้านของชาวบ้านว่าไม่เอาเหมือง แต่ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าจะมีแต่ฝ่ายคัดค้านเท่านั้น ชาวบ้านจำนวนหนึ่งก็มีเห็นด้วยกับการเข้ามาของเหมือง ความขัดแย้งเริ่มเกิดขึ้นในพื้นที่

ระหว่างนั้นมีการออกมาคัดค้านการสร้างเหมืองของชาวบ้านหลายครั้ง รวมถึงมีนักวิชาการและเครือข่ายกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเริ่มเข้าไปทำงานในพื้นที่ทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย สิทธิ ในการใช้ทรัพยากร และการทำข้อมูลเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการอ้างอิงคุณค่าของพื้นที่ ชีวิต และวิถี จนนำมาสู่การเป็นเครื่องมือสำคัญในต่อสู้คัดค้านการสร้างเหมือง ณ ปัจจุบัน ซึ่งระหว่างทางการต่อสู้ก็มีชาวบ้านและนักศึกษาที่ทำงานในพื้นที่ถูกฟ้องดำเนินคดี

2 ทศวรรษคำขอประทานบัตร 1 ทศวรรษ EIA แต่อาจหมายถึงตลอดไปของชีวิต 

บริษัทเอกชนทำเหมืองแร่ ได้ยื่นคำขอทำประทานบัตร ตั้งแต่ ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน นั่นหมายความว่าระยะเวลา 20 กว่าปีแล้ว  รวมถึงอายุของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ  EIA ก็ตั้งแต่ปี 2554  และได้ความเห็นชอบตั้งแต่ช่วงนั้น ซึ่งก็ผ่านมา 10 ปีแล้ว  คำถามสำคัญจากนักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมคือว่า EIA ประเทศไทย ไม่มีอายุหรอ ?

คุยเรื่องนี้กับ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ในฐานะของนักสิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อมทำงานเพื่อชุมชนในประเด็นสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในทีมนักกฎหมายที่มีบทบาทในการฟ้องครั้งนี้ด้วย ตั้งคำถามสำคัญว่า EIA ประเทศไทยไม่มีวันหมดอายุหรอ เป็นคำถามสำคัญ

20 ปีผ่านมา กับคำขอทำประทานบัตร และ 10 ปี EIA จากการลงพื้นที่ทำงาน ทางชุมชนเล่าว่าข้อมูลในรายงานเมื่อ 10 ปีที่แล้ว กับปัจจุบันข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปเยอะมากในการใช้ประโยชน์บริเวณนั้น  รวมถึงคนที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่นั้น 

“เมื่อ10 ปีที่แล้วเด็ก ๆ เยาวชนในวันนี้ เขาอาจจะอายุ 1 ขวบ 2 ขวบหรือ 5 ขวบ แต่ปัจจุบัน เขาใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้ เขาควรจะมีโอกาสในการมีส่วนร่วมใช่ไหม ว่าเขาจะได้ประโยชน์จากเหมือง หรือว่าเขาไม่เห็นด้วยกับเหมืองว่าเขาจะมีผลกระทบอย่างไร  อันนี้คือการเสียโอกาสของเยาวชนในปัจจุบัน เพรา EIA มันผ่านมา 10 ปีแล้ว เขาไม่มีโอกาสในการมีส่วนร่วมหรือรับรู้ข้อมูลใน EIA ฉบับนั้นเลย ”

อีกทั้งยังมีข้อสังเกต EIA เล่มนี้ พบข้อบกพร่องในการมีส่วนร่วม ชาวบ้านทราบว่าการลงรายมือชื่อที่บางคนที่เขียนหนังสือไม่ได้แต่มีลายเซ็น ย้อนแย้งกับคนที่เขียนหนังสือได้ กลับพบว่ามีการปั้มลายนิ้วมือแทน  และได้มีการไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจแล้ว เพื่อเอามาเป็นข้อเท็จจริง ในการอ้างต่อ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่ากระบวนการมีส่วนร่วมตอนนั้น น่าจะมีปัญหา อีกทั้งชุมชนที่นี่ เรื่องภาษา เขาอาจจะเข้าใจลำบากอยู่แล้ว และการที่มีการเขียนลายมือและรายชื่อไปมันก็อาจจะมีข้อผิดพลาด 

แม้มีการทำหนังสือไปถึง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าขอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการทบทวน EIA ฉบับนี้ใหม่ และให้มีการลงมาศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่อีกครั้ง และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ ทว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อ และคณะกรรมการผู้ชำนาญการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) ก็ยืนยันว่า ได้เรียก บริษัทมาแล้ว และก็ได้ข้อสรุปว่า กระบวนการมีส่วนร่วมตอนนั้นเป็นไปตามหลักการ แล้วก็ยืนยันว่า EIA ฉบับดังกล่าวยังใช้ได้ 

“ระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมประเทศไทยมีปัญหาไหม ในเมื่อชุมชนทักท้วงขนาดนั้นก็ยังไม่มีการมารับฟังเสียงของคนในพื้นที่  และกระบวนการก็เพียงเรียกบริษัท มาชี้แจงเพียงฝ่ายเดียว แต่ไม่ได้ให้ชุมชนเข้าไปชี้แจง คณะกรรมการผู้ชำนาญการอ่านแค่ข้อทักท้วงเรา แล้วก็ตัดสินใจเลยว่ารายงาน EIA ฉบับนี้ยังใช้ได้”  

ไม่เพียงแค่ข้อมูลด้านเอกสารที่ไม่มีความเป็นธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน หากมองในด้านของมิติระบบนิเวศ ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่นั่นเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำนี้ใช้ประโยชน์หลายหมู่บ้าน ไม่ใช่เพียงแค่กะเบอะดินเท่านั้น  เพราะฉะนั้นประชาชนในพื้นที่อื่นเขามีขอบเขตในการใช้ประโยชน์มากแค่ไหน  เขาได้มีส่วนร่วมใน EIA ฉบับนั้นหรือไม่?

ในรายงานก็ไม่ได้เห็นถึงความสำคัญของการอธิบายเรื่องนี้ ส่วนสำคัญคือการเป็นพื้นที่ต้นน้ำตามพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ ระบุไว้ว่า ไม่ให้ทำเมืองด้วยซ้ำไป แต่ว่าเรื่องนี้ก็ไม่ได้ถูกเอามาพิจารณาว่าเป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับ พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่หรือเปล่า? และสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นก็คือว่าชาวบ้านสูญเสียที่ทำกินและถ้าต้นน้ำเสียหายระบบนิเวศที่นี่ก็จะเสียหาย

“ถ้าดูตาม พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่ แล้วบวกกับที่ชุมชนทำข้อมูลของชุมชนเองว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ต้นน้ำที่ต้องห้ามตามมาตรา 17 วรรค 4 บอกว่าพื้นที่ที่เป็นแหล่งแร่ ต้องไม่เป็นพื้นที่ น้ำซับซึมซึ่งแหล่งน้ำซับซึม ของชุมชนก็คือแหล่งตาน้ำ ที่มันมีความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ของชุมชนเพราะฉะนั้นถ้าพื้นที่นี้เป็นแหล่งต้นน้ำ ตามมาตรา 17 วรรค 4 มันต้องการพื้นที่นี้ออกจากเขตแหล่งแร่ เพื่อการทำเหมืองก็คือว่าพอไม่เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง แม้ว่าบริษัทนี้จะออกไปบริษัทไหนก็เข้ามาไม่ได้อีกแล้วเพราะมันไม่ใช่พื้นที่ที่ทำเหมืองได้”

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา ฉบับแล้วฉบับเล่า ไม่แน่ใจว่าบริษัทที่ทำการศึกษาได้ลงมาพื้นที่จริงหรือเปล่า  เพราะว่าส่วนนี้คือสำคัญมากในการลงมาศึกษาข้อมูลในพื้นที่จริง  หรือว่าแค่ดูจากข้อมูลมือสอง ที่หมายถึงข้อมูลที่มีการศึกษาแล้วเผยแพร่ อยู่ในหน่วยงานรัฐระบบการ การประเมินผลกระทบที่มองในเชิงระบบนิเวศ  ในหลายพื้นที่หลายชุมชนเขาสะท้อนนออกมาได้ว่าเป็นข้อมูลเท็จ 

“ช่วงหลังเราทำ CHIA กันเยอะขึ้น ว่าชุมชนใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ๆ จะมีโครงการอย่างไร แล้วคาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไร  ซึ่งตรงนี้เราคิดว่ามันควรจะอยู่ในรายงาน EIA  ที่บริษัทที่จะทำ EIA  ลงมาทำงานกับชุมชนเพื่อที่จะให้ข้อมูลหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมันเกิดจากคนในพื้นที่จริง และมองร่วมกันว่ามันควรจะมีโครงการนั่นหรือไม่อย่างไร  หากมีจะต้องมีมาตราการอย่างไร ที่จะทำให้คนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้นไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และไม่ทำให้คุณภาพเขาแย่กว่าเดิม” 

CHIA (Community Health Impact Assessment) หมายถึง การประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยให้คนในชุมชนจัดทำข้อมูลชุมชนด้วยตัวพวกเขาเอง สุภาภรณ์ กล่าวเสริมว่า ช่วงหลังมีความพยายามที่จะผลักดัน SEA หรือ Strategic Environmental Assessment’ แปลว่า ‘การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ที่เป็นเครื่องมือการประเมินโครงการเชิงยุทธศาสตร์เพิ่มมากขึ้นมาอีกหนึ่งตัว 

“เราคิดว่า EIA และ CHIA มันไม่เพียงพอกับการประเมินในเชิงป้องกันในการทำให้เกิดมลพิษได้แล้ว ในเรื่องระบบนิเวศได้แล้ว”

อำนาจเหนือกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านทวีคูณอย่างไม่ลดละ ชาวบ้านจากทั่วสารทิศเดินทางมาเรียกร้องความเป็นธรรมในเมืองกรุงตลอดปี อย่างไม่ขาดสาย เพียงเพื่อที่จะดูแลทรัพยากรและวิถีชีวิตเขา การประเมินผลกระทบหรือว่าการมีส่วนร่วมที่จะกระทบกับเขา ไม่ถูกให้ความสำคัญ และพวกเขาไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการเบื้องต้นนี้ ทั้งที่รัฐธรรมนูญมีการเขียนไว้กลายเป็นว่าสิทธิชุมชน นโยบายการพัฒนารูปแบบใหม่ มันนำมาสู่ผลกระทบที่จะร้ายแรง ยากแก่การที่จะแก้ไขเยียวยาและนิเวศกลับมาได้

“ถ้าชาวบ้านเห็นว่า EIA มีข้อมูลที่เป็นเท็จบางส่วน และกระบวนการมีส่วนร่วมไม่เป็นการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ก็ใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมเนี่ยแหละในการฟ้องเพื่อเพิกถอนและก็ไม่ให้เอา EIA ฉบับนี้มาใช้ประกอบการตัดสินใจออกไปอนุญาตให้กับเหมืองแร่ที่นี่”

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)

จากปัญหากลางหุบเขา สู่การฟ้องคดีกลางเมือง

เหมืองแร่ที่อมก๋อยมีสิ่งที่น่าสนใจทั้งเรื่องของ EIA ที่เก่าและเนื้อหามีข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ในชุมชน อย่างที่ไล่เรียงก่อนหน้า เรื่องของการปลอมลายมือ ข้อมูลต้นน้ำ สายธาร และการระบุพื้นที่ตรงนี้เป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งย้อนแย้งกับความเป็นจริงชาวบ้านบอกว่า ที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์  นี่อาจจะไม่ใช่คดีแรกที่ชาวบ้าน ฟ้องเพิกถอนรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

การฟ้องคดีปกครองครั้งนี้เพื่อที่จะ พิสูจน์ให้ศาลวินิจฉัยว่า EIA เนื้อหาที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ หากใช้รายงานฉบับนี้ไปประกอบการอนุมัติ อนุญาตใบทำประทานบัตรเหมืองแร่ถ่านหิน อาจจะสร้างความเสียหายให้กับประชาชน หรือทรัพยากรธรรมชาติที่ยากจะ แก้ไขหรือเยียวยาได้ในภายหลัง 

การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่คนอมก๋อยต่อสู้กับบริษัท หรือต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่นี่คือการต่อสู้ ของคนที่ทำงานเพื่อพิสูจน์มาตรฐาน ทางกฎหมายว่าจะเลือกคุ้มครองอะไร ในการทำงานทางกฎหมายวัตถุประสงค์เพื่อที่จะ สร้างมาตรฐานหรือบรรทัดฐาน ทางกฎหมายเกี่ยวกับการรับรองสิทธิ ทางสิ่งแวดล้อมที่ดี

“เรารู้สึกว่านี่เป็นการทำงานร่วมกันของชุมชนกับคนข้างนอก ชาวบ้านเขาก็มีวัตถุประสงค์ต่อสู้เพื่อคัดค้าน เหมืองแร่ถ่านหิน ส่วนตัวเราก็มีอุดมการที่อยากจะพิสูจน์ มาตรฐานทางกฏหมายสิ่งแวดล้อมของไทยเหมือนกัน ว่าจะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติหรือรักษาสิทธิ์ของชุมชน หรือเลือกที่จะคุ้มครองการอนุมัติโครงการ พัฒนาใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะมาจากทางรัฐเองหรือเอกชนเองก็ตาม”

ศศิประภา ไร่สงวน ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และผู้ที่รับมอบอำนาจในการฟ้องครั้งนี้

นี่คือการต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน เมื่อชาวบ้านลงชื่อฟ้องไปแล้ว ถ้าไม่เข้มแข็งพอเราก็กังวลว่าจะมีการเข้ามา คุกคามหรือเข้ามาทำให้กลัว เพราะมีคำถามจากชาวบ้านสะท้อนความกังวลกลับมาว่า ถ้าฟ้องไปแล้วพวกเขาจะโดนฟ้องกลับหรือเปล่า

“โดยหลักฟ้องกลับไม่ได้อยู่แล้วแหละแต่ว่า โดยข้อเท็จจริงชาวบ้านไม่รู้ว่าต่อสู้กับอะไร เราก็มีความกังวลแต่เรื่องนี้ เราก็จะพยายามสื่อสาร กับชุมชนอยู่ตลอดว่าพวกเขามีสิทธิ์อะไร หรือว่าพวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง และอาจจะร่วมกันออกแบบกระบวนการความปลอดภัย”

พื้นที่อมก๋อยนอกจากโครงการเหมืองแร่ถ่านหินแล้วยังมีโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนแห่งนี้ ข้อสังเกตจากนักกฎหมาย ทยนาย และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม คือ ความจำเป็นในการวางแผนพัฒนาของรัฐ เป็นโครงการที่ตอบโจทย์ภาคนิคมอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนที่นี่ แต่มันจะเป็นประโยชน์กับคนที่อื่นมากน้อยขนาดไหนอันนี้ยังไม่ได้มีข้อมูลชี้ชัด แต่ข้อสังเกตที่ ศศิประภา เห็นคือทั้งสามโครงการนี้ไม่มีโครงการไหนเลย ที่เป็นประโยชน์กับคนในชุมชน 


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ