ความขัดแย้งรอบใหม่ บนแผ่นดิน “ทองคำ”

จับสัญญาณ “เปิดเหมือง” จากปมสุขภาพ ผังเมือง และกฎหมายแร่ฉบับใหม่

ผลกระทบทางสุขภาพที่ยังไร้คำตอบ กับเบื้องหลังการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับบริษัททุนข้ามชาติที่ไม่เคยเปิดเผย

…สู่การเดินหน้า นโยบายเหมืองแร่ทองคำรอบใหม่ 

อนาคตของพื้นที่ศักยภาพแร่ ที่อาจกลายเป็นเหมืองทองคำ จึงเต็มไปด้วยความหวาดกลัว

เด็กโลหะหนัก 

คำกล่าวที่ว่า “ความสุขมักอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ” คงจะจริงสำหรับ “รำไพวรรณ  ธรรมพเวช” เด็กหญิงวัย 11 ปี ที่ตรวจพบสารหนู แมงกานีส และไซยาไนด์ ในร่างกายมาตั้งแต่อายุ 4 ปี

ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ แต่ การปิดเหมืองทองอัครา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สุขภาพของเธอค่อย ๆ ดีขึ้น สารโลหะหนักในร่างกายลดลง

เหมือง ทองคำ
(ซ้าย) ด.ญ.รำไพวรรณ  ธรรมพเวช, (ขวา) จิรฐา ธรรมพเวช

ย้อนกลับไป เด็กหญิงเล่าว่า ช่วงดึกเธอมีอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา และบางวันก็ไข้ขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลทางการแพทย์ที่ระบุว่า อาการพิษเรื้อรังที่พบในคนได้รับสารหนูในปริมาณไม่มาก จะมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 

“จิรฐา ธรรมพเวช” แม่ของเธอเชื่อว่าสารโลหะหนักที่พบในร่างกายของลูกสาว ปนเปื้อนจากฝุ่นและกองสินแร่บนเหมืองทอง ซึ่งห่างจากบ้านไปเพียง 1 กิโลเมตร และยังมีเด็กรอบเหมืองคนอื่น ๆ ที่พบสารในร่างกาย ไม่ต่างจากลูกของเธอ แม้สุขภาพของเด็ก ๆ จะดีขึ้น แต่สิ่งที่จริฐายังกังวล คือพัฒนาการของลูกในการเรียนรู้ที่ช้าลง

“ตอนนี้ลูกพี่ การพูดจาฉลาดมากนะ แต่การเรียนเหมือนอ่านหนังสือไม่ได้ ท่องจำเอามากกว่า”

ปี 2559 “นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำ ได้รับมอบหมายให้ตรวจปัสสาวะและพัฒนาการของเด็กรอบเหมือง

ผลตรวจปัสสาวะเด็กรอบเหมือง 205 คน พบ 73 คน หรือ 35% ที่มีสารหนูเกินค่ามาตรฐาน แต่สามปีต่อมา หลังปิดเหมือง สารหนูในเด็กกลุ่มชั้นเรียนเดิมลดลงถึง 12 เท่า 

ขณะที่เมื่อนำกลุ่มเด็กที่พบสารโลหะหนัก มาตรวจสอบความสามารถในการเรียนรู้ การอ่านและคำนวณ พบว่า เด็กชายมีภาวะการเรียนรู้ล่าช้า 56% และเด็กหญิงมีภาวะการเรียนรู้ล่าช้า 43% 

“ต่อให้สารหนูในร่างกายลด แต่ IQ (ความฉลาดทางปัญญา) กับ LD (การเรียนรู้บกพร่อง) ซึ่งบ่งบอกถึงสมองที่เสียฟังก์ชันไป ทำงานไม่เต็มที่กว่าจะฟื้น รัฐบาลมีข้อมูลแบบนี้ เป็นห่วงประชาชนก็ต้องหยุดไว้ก่อน อันนี้ก็ถูกต้องไหมล่ะ หากอาจจะมีเหตุให้ไปทำลายสมองเด็ก ควรจะหยุดไว้ก่อนไหม แล้วพิสูจน์ให้ชัดก่อน”

ข้อมูลเหล่านี้เป็นหลักฐานที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มอบให้กับคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้ในการต่อสู้ในชั้นศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ที่ “บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด” บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ฟ้องรัฐบาลไทย เรียกค่าเสียหายเกือบ 3 หมื่นล้านบาท หลัง คสช. สั่งปิดเหมือง

การตรวจสุขภาพในเด็กช่วยลบหลายข้อกังขา โดยเฉพาะพฤติกรรมสุขภาพของผู้ใหญ่ที่อาจเสี่ยงสารพิษ จากชีวิตการทำงานประจำวัน การดื่มกิน จึงมองว่าเป็นหลักฐานที่หนักแน่นมากพอที่จะชี้ผลกระทบในระดับหนึ่ง และเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นของการสั่งปิดเหมืองทองครั้งนั้น 

การเจรจาลับ 

ทว่า สัญญาณล่าสุดจากศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศใน “คดีเหมืองทองคำ” ระหว่างรัฐบาลไทย กับ บริษัท คิงส์เกตฯ เลื่อนการชี้ขาดไปจนถึง 31 ธ.ค. 2565 โดยไม่ได้บอกเหตุผล ขณะที่บริษัท อัคราฯ กำลังเริ่มระดมทุน เตรียมการต่าง ๆ เพื่อเปิดเหมืองอีกครั้ง

คดีเหมืองทองคำ
เอกสารเผยแพร่ต่อสาธารณะของบริษัท คิงส์เกตฯ ระบุความคืบหน้าศาลอนุญาโตตุลาการ ระหว่างประเทศ เลื่อนตัดสินชี้ขาดไปเป็นวันที่ 31 ธ.ค. 2565

ระหว่างที่ศาลเลื่อนการตัดสินออกไปเรื่อย ๆ เกิดการเจรจา ระหว่าง “รัฐบาลไทย” กับ “บริษัทเหมืองทอง” สัญชาติออสเตรเลียหลายครั้ง นำมาสู่ข้อสังเกตว่า เป็นการนำทรัพยากรทางธรรมชาติและเงินแผ่นดินไปแลกกับการใช้อำนาจพิเศษที่ผิดพลาดของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในขณะยังเป็นหัวหน้า คสช. กรณีใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปิดเหมืองทอง เมื่อปลายปี 2559 หรือไม่ 

ในที่สุด บริษัท อัคราฯ ได้รับการต่ออายุใบประทานบัตร 4 แปลง จำนวนกว่า 4 แสนไร่ไปอีก 5 ปี ในจังหวะที่ศาลเลื่อนชี้ขาดออกไปหลังซ่อมบำรุง รับสมัครพนักงาน ก็คาดว่าจะกลับมาพร้อมเดินเครื่องถลุงแร่ 100% ราวเดือน ก.ค. 2565 การกลับมาเปิดเหมืองครั้งใหม่ทั้ง ๆ ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ผลกระทบได้ จึงกลายเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่ในพื้นที่…

“นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เคยรับเรื่องร้องเรียน คดีเหมืองทองคำ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีความเห็นว่าก่อนจะเดินหน้าทำเหมืองกันอีกครั้ง จะต้องเคลียร์ปัญหาและพิสูจน์ผลกระทบให้ชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่ารัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการนำผลประโยชน์ของชาติไปแลกกับการต่อสู้คดีความในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

“มีการเจรจากันถึง 3 ครั้ง แต่ละครั้งยิ่งขยายผลประโยชน์ให้กับเหมืองทอง ตรงนี้มันเป็นดีลที่หากรัฐบาลทำถูกต้อง มันต้องเปิดเผยโปร่งใส จึงเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นปัญหาที่ซ้อนปัญหา รัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาให้ถูกแล้วทำวิธีการที่ไม่ถูกต้องซ้ำเติมไปอีก คุณว่ามันโจทย์ยากหรือง่ายล่ะ” 

ปมสุขภาพไร้คำตอบ

การที่ บริษัท อัคราฯ จะกลับมาเดินหน้าเหมืองทองอีกครั้ง ท่ามกลางหลายคำถาม “คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ” (กมธ. ป.ป.ช.) ลงพื้นที่เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สนใจประเด็นผลกระทบทางสุขภาพมากที่สุด

“สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร” รายงานต่อ กมธ. ป.ป.ช.​ ว่า จากปี 2557 ถึงปี 2564 มีการตรวจเลือดประชาชนรอบเหมืองไปแล้วถึง 8 ครั้ง แบ่งเป็นการตรวจก่อนเหมืองปิดกิจการ 3 ครั้ง และตรวจหลังเหมืองปิดกิจการแล้ว 5 ครั้ง พบว่าสารโลหะหนักกลุ่มแมงกานีสและสารหนูในเลือดของประชาชนรอบเหมืองลดลงหลังเหมืองปิด แต่ปริมาณไซยาไนด์ ยังพบมากขึ้น 

“นพ.พนม ปทุมสูติ” รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ยอมรับว่า ตัวอย่างการตรวจในแต่ละครั้งเฉลี่ยเพียง 200 คน ซึ่งไม่มากพอที่จะชี้ชัดถึงผลกระทบ 

แม้จะยังไม่ชี้ชัดถึงผลกระทบว่ามาจากเหมืองหรือไม่ แต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากเหมืองทอง นำโดย “สื่อกัญญา ธีระชาติดำรงค์” ก็รวมกลุ่มกันจำนวน 400 คน ไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง โดยขอให้บริษัท อัคราฯ ในฐานะผู้ก่อมลพิษจ่ายค่าชดเชยเยียวยาและค่ารักษาพยาบาล คนละ 1.5 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด ศาลเลื่อนนัดไต่สวนพยานหลักฐานออกไปจนถึง เดือน ก.พ. 2566 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 

สื่อกัญญา ธีระชาติดำรงค์
สื่อกัญญา ธีระชาติดำรงค์ แกนนำผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ แสดงหลักฐานที่ยื่นต่อศาลแพ่ง ทั้งผลตรวจเลือดและแผนที่ชุมชน

“สมพร เพ็งค่ำ” นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่านโยบายเหมืองแร่ทองคำต้องมีการทบทวนใหม่ทั้งหมด โดยเสนอว่า ควรรอคำพิพากษาจากศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินออกมา ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะควรเปิดเผยคำตัดสินสู่สาธารณะ โดยในระยะยาวควรสร้างระบบการเฝ้าระวังแบบมีส่วนร่วม ออกแบบวิธีการพิสูจน์ร่วมกันให้ข้อมูลมีชุดเดียว เพราะระบบที่ผ่านมาสร้างให้เกิดความขัดแย้ง

“รัฐจะเปิดให้เขาทำเหมืองต่อ หน่วยงานที่อนุญาตต้องชี้แจงต่อสาธารณะว่า ที่คนสงสัยว่าที่ผ่านมาเกิดผลกระทบคืออะไร และคือเหตุผลสำคัญที่ให้เขาทำต่อ” 

เดินหน้าบนความไม่ชัดเจน

อะไรทำให้บริษัทมั่นใจที่จะเดินหน้าทำเหมืองทองคำต่อไป? 

การที่ไม่มีหน่วยงานราชการใดกล้าฟันธงว่าผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดกับคนรอบเหมืองมาจากเหมืองหรือไม่ กรณีนี้กลายเป็นหนึ่งในข้อต่อสู้ในคดีความระหว่างประเทศอีกด้วย 

“นโยบายการทำเหมืองแร่ทองคำ” เคยยุติไปจากคำสั่ง คสช. แต่กลับมาเดินหน้าอีกครั้ง หลังมีพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหม่ บริษัท อัคราฯ ใช้ช่องทางนี้ในการเข้ายื่นขอต่ออายุใบอนุญาตประทานบัตรในพื้นที่เดิม นำไปสู่การเปิดเหมืองอีกครั้ง

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หน่วยงานอนุญาตมีหนังสือชี้แจงยืนยันว่าบริษัท อัคราฯ ได้ต่ออายุประทานบัตรในพื้นที่เดิมจึงไม่ต้องประกาศเขตแหล่งแร่และเปิดประมูลใหม่ตามที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่กำหนดไว้

ขณะที่ “กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ” หรือ ปปท. พบข้อสังเกตในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 19 และมาตรา 21 ซึ่งเป็นกติกาในการทำเหมืองตามกฏหมายฉบับใหม่ ที่เพิ่งออกมาเมื่อปี 2560 ที่ให้ ตั้งต้นการขออาชญาบัตรและประทานบัตรใหม่ทั้งหมด 

กรณีเหมืองอัครา กลับมาเปิดได้อีกครั้งยังมีข้อถกเถียงในเชิงกฎหมายที่เขียนไว้ว่า บรรดาคำขอต่าง ๆ ให้ยึดหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายใหม่กำหนด คือต้องมีการทำ “แผนแม่บทกำหนดเขตแหล่งแร่” 

แผนแม่บทนี้เป็นการทำร่วมกันระหว่าง “กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” กับ “กระทรวงอุตสาหกรรม” แต่จนถึงตอนนี้แผนแม่บทดังกล่าวยังทำไม่เสร็จ ซึ่งหลังจากแผนแม่บทกำหนดแหล่งแร่เสร็จแล้ว จึงจะสามารถนำพื้นที่ที่กำหนดในแผนแม่บทฯ และมาประมูลให้กับเอกชนที่ต้องการทำเหมืองได้

“วันเพ็ญ พรมรังสรรค์” รองประธานกลุ่ม ปปท. ยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่า อาชญาบัตรและประทานบัตรของบริษัท อัคราฯ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะมีการตัดสินตีความกฎหมายกันอย่างไร 

แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคงต้องจับตาดูปฏิกิริยาในพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นเขตแหล่งแร่ หากแผนแม่บทดังกล่าวทำเสร็จ พร้อม ๆ กับคำถามที่ตามมาว่าการกำหนดเขตแหล่งแร่ เปิดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน เพราะนั่นหมายถึงอนาคตในพื้นที่ต่าง ๆ ที่อาจกลายเป็นเหมือง…

การต่อสู้ของประชาชน 

เหมืองอัครา
(ซ้าย) สุรชาติ​ หมุนสมัย ผอ.ฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บริษัท อัคราฯ​ 
ขณะพาเจ้าหน้าที่รัฐ ใน กมธ. ป.ป.ช. ลงพื้นที่เหมืองทองอัครา

นอกจากจะได้รับการต่ออายุใบประทานบัตร 4 แปลง พื้นที่กว่า 4 แสนไร่  จนถึงปี 2571 และเตรียมเดินหน้าทำเหมืองต่อในช่วงกลางปีนี้แล้ว “สุรชาติ​ หมุนสมัย​“ ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บริษัท อัคราฯ​  ยืนยันกับ The Active ว่าเพิ่งได้รับอาชญาบัตรสำรวจแร่ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์เนื้อที่อีกกว่า 600 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหากพบว่ามีศักยภาพในการทำแร่ทองคำก็พร้อมจะขอใบอนุญาตประทานบัตร เพื่อขยายพื้นที่ทำเหมืองต่อ

The Active ลงพื้นที่บ้านเนินสวรรค์ ตำบลวังหิน อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งปรากฏในเอกสารคำขออาชญาบัตร ของบริษัท อัคราฯ​ 

“ภัทรศยา จรรยาเกษตรกร” ชาวตำบลวังหินเล่าว่าครอบครัวถือสิทธิ สปก. มาแต่เดิมตั้งแต่ปี 2537 แต่เมื่อเธอไปขอเปลี่ยนสิทธิการถือครองจากแม่สู่ลูกเมื่อปี 2563 กลับไม่สามารถเปลี่ยนสิทธิได้

เธอรู้ภายหลังจากเอกสารต่าง ๆ ว่ามีการปรับผังเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ กลายเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์เมื่อปี 2560 ก่อนที่บริษัท อัคราฯ จะยืนคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ในพื้นที่เดียวกันในปี 2563

แม้เป็นเพียงการสำรวจแร่ แต่ดูเหมือนจะสั่งคลอนอาชีพชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก ที่ได้ชื่อว่าปลูกบนดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุมากที่สุดแห่งหนึ่ง ทำให้มะม่วงที่นี่มีรสชาติดี ต่างจากที่อื่น 

“วันเพ็ญ มั่นมา” ตัดสินใจทิ้งชีวิตที่กรุงเทพมหานครกลับมาเป็นชาวสวนมะม่วงที่บ้านเกิด เพียงเพื่อต้องการจะใช้ชีวิตอย่างสงบและเรียบง่าย มีรายได้อยู่อย่างพอเพียง แต่กลับต้องมาต่อสู้ร่วมกับกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ หลังพบความไม่ชอบมาพากลหลายเรื่อง 

“รู้สึกไม่วางใจ เพราะมีความเสี่ยงในที่ดินทำกินของตนเอง รู้สึกถึงความมั่นคงในที่ดินทำกิน และอาจนำไปสู่การเหมืองทอง เราไม่ต้องการเหมืองทอง” 

สวนมะม่วง เพชรบูรณ์

มีข้อมูลจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ว่ามีคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำค้างอยู่ 177 แปลงในพื้นที่สายแร่ทองคำพาดผ่าน เช่น จังหวัดเพชรบูรณ์ สระบุรี ลพบุรี และจันทบุรี เป็นต้น รวมพื้นที่ 1​ ล้าน​ 6​ แสนไร่  

กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ซึ่งเป็นประชาชนใน 5 จังหวัด ที่พบอาชญาบัตรขอสำรวจแร่​ มารวมตัวคัดค้านการให้ประทานบัตรบริษัท อัคราฯ โดยจับตาการเดินหน้าเหมืองทองคำในพื้นที่ของตนเองอย่างใกล้ชิด 

กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ
(ซ้าย) วันเพ็ญ พรมรังสรรค์ (ขวา) อารมย์ คำจริง แกนนำกลุ่มปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ
มักปรากฏตัวท่ามกลางการโบกธงชาติ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คัดค้านการเดินหน้าเหมืองทองคำ

ที่ผ่านมา ภาคประชาชนกลุ่มนี้รวบรวมหลักฐาน ยื่นเรื่องร้องเรียนไปในหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษและ ป.ป.ช. เป้าหมายสูงสุดคือต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ประกาศแหล่งแร่ เพื่อกำหนดทิศทางว่าชุมชนควรจะมีเหมืองแร่หรือไม่ 

สรุปคดีเหมืองทองคำ

  • คดีเหมืองทอง ใน DSI
ปีคดีสถานะคดี
2559ถือครองหุ้นแทนบุคคลต่างด้าว ในลักษณะนอมินี แจ้งข้อกล่าวหา
2559ทำเหมืองนอกเขตประทานบัตรอัยการสั่งสอบเพิ่ม 5 ประเด็น 
2559เลี่ยงภาษีสำแดงเท็จรอผลจากคดีทำเหมืองนอกประทานบัตร
2559บ่อเก็บกากแร่รั่ว อยู่ระหว่างสอบสวน
2559ขยายโรงงานโลหกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต อยู่ระหว่างสอบสวน 
2564ฮั้วประมูลอาชญาบัตรอยู่ระหว่างพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ 
2565ต่ออายุประทานบัตรมิชอบอยู่ระหว่างพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ 
  • คดีเหมืองทองใน ปปช. 
ปีข้อกล่าวหาผู้ถูกร้องความคืบหน้า
2560อนุญาตเปลี่ยนผังเหมืองแร่ผิด ก.ม.– สมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดี กพร.ชี้มูลความผิด ส่งฟ้องศาล
2560อนุญาตโรงงานโลหกรรมมิชอบด้วย ก.ม. เพราะไม่มีอำนาจอนุญาต– สมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ อธิบดี กพร.สอบสวนพบมีมูลเบื้องต้น 
2562-2565ละเว้นไม่เพิกถอนประทานบัตร กรณีบริษัทขุดถนนทำเหมืองนอกประทาน/บ่อกากแร่รั่ว/เปลี่ยนผังเหมืองแร่ – สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อก.
– วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร.
– นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดี กพร.
อยู่ระหว่างสอบสวน
2563อนุญาตอาชญาบัตร จ.เพชรบูรณ์ ขัดมติ ครม. 10 พ.ค. 2559– สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อก.
– วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร.
อยู่ระหว่างสอบสวน
2564เดินหน้าอนุญาตประทานบัตร ผิด ก.ม.– สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อก.
– นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดี กพร.
อยู่ระหว่างสอบสวน
2565ฮั้วประมูลอาชญาบัตร/ประทานบัตร– สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อก.
– นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดี กพร.
อยู่ระหว่างสอบสวน

The Active รวบรวบ (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค. 2565)

บทส่งท้าย 

มหากาพย์เหมืองทองอัคราเริ่มขึ้นเมื่อ 4 กรกฎาคม ปี 2530 กระทรวงอุตสาหกรรม ออกประกาศกำหนดพื้นที่เพื่อพัฒนาเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการใหญ่เพื่อเชิญชวนให้ผู้ลงทุนยื่นขอสิทธิ์สำรวจและทำเหมืองแร่

กระทั่ง ปี 2536 บริษัท คิงส์เกตฯ จากออสเตรเลียเริ่มลงทุนในไทยผ่านบริษัท อัครา ไมนิ่ง ชื่อในขณะนั้น เพื่อทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ จน ปี 2544 บริษัท อัคราฯ เริ่มดำเนินการผลิตทองคำเชิงพาณิชย์ พร้อมกันนั้น เริ่มมีปัญหาความขัดแย้งและผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่

ปี 2557 กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง ยื่นร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรี นำไปสู่การตรวจเลือดชาวบ้านรอบเหมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังมีความเป็นไปได้ว่า บ่อทิ้งกากแร่ อาจรั่วซึมออกมาปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก 

กระบวนการพิสูจน์ผลกระทบอย่างจริงจัง เริ่มนับตั้งแต่ ปี 2557 เป็นต้นมา ปัจจุบัน ยังเป็นปริศนาไม่สามารถชี้ชัดได้ กระทั่งปี 2559 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปิดเหมืองทอง กลายเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ยืดเยื้อจนถึงเวลานี้ 

การฟ้องรัฐบาลไทยในศาลอนุญาโตตุลาการ นำมาสู่การเรียกค่าเสียหายหมื่นล้าน และเวลานี้กำลังจะมีการเปิดเหมืองอีกครั้งใน ปี 2565 ภาพของประชาชนในหลายพื้นที่ ที่เตรียมลุกฮือคัดค้าน นับเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ ที่ยังไม่มีตอนจบ

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS