ปลูกเมืองตามใจผู้อยู่: ส่วนร่วมออกแบบมหานคร ด้วย ‘สภาเมืองคนรุ่นใหม่’

‘กรุงเทพมหานคร’ เติบโตมาอย่างไม่หยุดพักเป็นเวลา 200 กว่าปี ถูกขับเคลื่อนและส่งต่อจากคนหลายช่วงวัย คับคั่งไปด้วยประชากรที่หลากหลายที่มา ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเสมือน ‘ประเทศ’ ที่ถูกย่อขนาด จำเป็นต้องอาศัยรูปแบบการปกครองที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้มหานครนี้ตอบโจทย์ต่อผู้อาศัยให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และกลไก ‘สภาเมืองคนรุ่นใหม่’ จะเป็นอีกหนึ่งพลังใหม่ ช่วยขับเคลื่อนให้เมืองนี้เติบโตอย่างมีส่วนร่วมของคนทุกวัย

“เพราะคนที่จะอยู่อาศัยในเมืองนานที่สุด คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่
เราจึงต้องฟังเขา และให้โอกาสเขาพัฒนาเมืองร่วมกัน”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.

อย่างน้อยนี่คือคำพูดยืนยันจากผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ที่ยอมรับว่า ทิศทางการพัฒนาเมืองนับจากนี้ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ มาร่วมออกแบบ นั้นทำให้ สภาเมืองคนรุ่นใหม่ กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนรุ่นใหม่ อายุตั้งแต่ 15 – 35 ปี โดยไม่จำกัดภูมิลำเนา เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอนโยบาย ที่ส่งผลต่อภาพรวมของ กทม. และผลักดันร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของ กทม. ได้

สภาเมืองคนรุ่นใหม่ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2566 จนถึงเดือนสิงหาคม 2567 มีทีมคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมนำเสนอนโยบายในสภาแล้ว 31 ทีม และนับเป็นสมาชิกสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ทั้งสิ้น 676 คน

ผลลัพธ์อาจไม่ได้มีเพียงนโยบาย แต่ยังหมายถึงโอกาสของการได้แลกเปลี่ยนความคิดระหว่างคนรุ่นใหม่และข้าราชการในหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งคนรุ่นใหม่ก็ช่วยเติมพลังใหม่ให้กับพี่ ๆ ข้าราชการ กลับกันข้าราชการเองก็ได้ช่วยเติมประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ได้อีกด้วย

สิ่งสำคัญคือเราจะนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาตีแผ่ และแก้ไขให้ตรงจุดได้อย่างไร ? พื้นที่สภาเมืองคนรุ่นใหม่จึงเป็นหนึ่งในคำตอบของปัญหาเหล่านั้นได้

ภายใต้เมืองที่ซับซ้อนนี้ยังมีเสียงของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง The Active ชวนพูดคุยกับ เก๋ – ดวงรักษ์ เลิศมั่งมี ผู้อำนวยการมูลนิธิวายไอวาย ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสภาเมืองคนรุ่นใหม่ เมื่อเธอนิยามตัวเองเป็น ‘เจ๊ดัน’ ให้กับบรรดาเยาวชนที่มีไอเดีย ตบเท้าเข้ามาเสนอนโยบายเก๋ ๆ ให้ กทม. และเธอเชื่อในพลังศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองไปได้ไกลกว่าที่ใครคิด

เปิดเวทีสะท้อนปัญหา สร้าง Empathy ทั้ง ‘คนรุ่นใหม่’ และ ‘คนรุ่นใหญ่’

การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองผ่านสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่การให้เสียงพวกเขาได้ดังในที่สาธารณะ แต่ยังเป็นการสร้างบทเรียนร่วมกันระหว่างเยาวชนและกลไกของข้าราชการใน กทม. ที่สำคัญคือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างช่วงวัยที่มีวิธีคิดและประสบการณ์ต่างกัน เพื่อให้เกิดการปรับจูนและทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นการสร้างพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างคนรุ่นใหม่และผู้บริหาร กทม. ในมุมมองของ ดวงรักษ์ เห็นว่ามีความสำคัญมาก เธอเชื่อว่า คนรุ่นใหม่มีพลังมีศักยภาพที่จะมามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเมือง และคนรุ่นใหญ่เองก็มีประสบการณ์ในการบริหารเมืองมาด้วย

ดวงรักษ์ เลิศมั่งมี

“เราเพียงหวังว่ามันอาจจะต้องมีช่องมีโอกาส แล้วก็อาจจะมีบทเรียนที่คนละมุมมองที่เขาเคยทำมาแล้ว มันเวิร์ค ก็อยากให้ผู้บริหารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาเรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน”

ดวงรักษ์ เลิศมั่งมี

แต่การเปิดพื้นที่ลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ดวงรักษ์ ยอมรับว่า ความท้าทายเกิดขึ้นทั้งในแง่ของการทำนโยบายสำหรับคนรุ่นใหม่ และการให้คนรุ่นใหม่ได้ทำนโยบายเอง

เธอเล่าว่า คนรุ่นใหม่บางกลุ่ม มีพลังใจที่ดี แต่ยังริเริ่มไม่เป็น กลับกันทางทีมผู้บริหารเขามีทรัพยากรที่พร้อม มีโมเดล มีกลไกขับเคลื่อนนโยบายแต่ยังขาดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่คนรุ่นใหม่จะเป็นคนเข้ามาเสริม มันจึงเป็นเรื่องที่ต้องสมดุลกันและกัน

การเปิดพื้นที่สภาเมืองคนรุ่นใหม่ ไม่ได้มีแค่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้าง Empathy หรือ ความเห็นอกเห็นใจกัน จากที่ตอนแรกต่างคนต่างมีมุมเป็นของตัวเอง เป็นเส้นทึบที่มองไม่เห็นอีกฝ่าย แต่พื้นที่ของสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ทำให้เส้นทึบ มีความโปร่งใสมากขึ้น

“คนรุ่นใหม่ก็เห็นอุปสรรคของพี่ข้าราชการ
และบรรดาหน่วยงานก็เห็นไอเดียใหม่ ๆ ของเยาวชน
ความเข้าใจที่เกิดขึ้นนี้ ช่วยลดอุปสรรค
และเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานร่วมกัน”

ดวงรักษ์ เลิศมั่งมี

ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ โครงการของสำนักการศึกษา และสำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว ซึ่งได้นำแนวคิดของสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ไปปรับใช้ในโครงการต่าง ๆ และทำให้เกิดกระบวนการที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของเยาวชนก่อนการจัดงาน หรือการเพิ่มตัวชี้วัดในเรื่องของการมีส่วนร่วมของเด็ก และเยาวชน ซึ่งแต่ละสำนักลงมือทำก่อนที่จะมีใครสั่งการมาเสียอีก

สร้างเมืองตามใจผู้อยู่: ให้คนรุ่นใหม่อยู่คู่บ้านเกิดเมืองนอน

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นผลดีต่อ กทม. แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชนต่าง ๆ เช่น เยาวชนจากพื้นที่กรุงเทพฯ​ ตะวันออก อย่าง เขตหนองจอก ได้ฟอร์มทีม ‘Fourflowers’ เพื่อสะท้อนปัญหาการเข้าถึงพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในหลายเขตชานเมือง

พวกเขามองเห็นถึงศักยภาพของหนองจอก ล้วนเต็มไปด้วยเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชน มีปราชญ์ชาวบ้านที่คอยให้ความรู้อยู่เสมอ จึงเชื่อว่า เขตหนองจอกจะสามารถเป็นศูนย์กลางย่านแห่งการเรียนรู้ของกรุงเทพฯ ตะวันออกได้ 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของพื้นที่ชานเมืองหลวงเท่านั้น ที่เยาวชนล้วนอยากให้บ้านเกิดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นพื้นที่แห่งโอกาสใหม่ ๆ และก็เป็นเหตุผลเดียวกันกับ ดวงรักษ์ เมื่อเธอเชื่อว่า หากโมเดลสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ถูกนำไปใช้ในจังหวัดอื่น ๆ ก็จะช่วยให้คนรุ่นใหม่รักและอยากอยู่ในบ้านเกิดของพวกเขามากขึ้น

“ถ้าพื้นที่บ้านเกิดตนเองมีครบถ้วน เต็มไปด้วยโอกาส ในแบบที่คนรุ่นใหม่คิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญ แน่นอนก็จะมีผลทำให้คนรุ่นใหม่อยู่กับชุมชนได้นานมากขึ้น”

ดวงรักษ์ เลิศมั่งมี

การเปิดสภาเมืองคนรุ่นใหม่จึงเป็นมากกว่าแค่การฟังเสียงเยาวชน แต่เป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกันกับข้าราชการใน กทม. และเป็นการเชื้อเชิญให้เยาวชนร่วมทบทวนว่า ละแวกใกล้บ้านตัวเอง มีของดีใดบ้างที่อยากพัฒนา หรืออยากแก้ไขให้ดีขึ้น กลไกนี้จะช่วย กทม. ตรวจสอบปัญหาในเมือง เพราะผู้อยู่อาศัยได้เป็นผู้ลงมือออกแบบเมืองที่เขาอยากอยู่ด้วยตัวเอง

ถ้าหากท้องถิ่นอื่นต้องการที่จะนำโมเดล สภาเมืองคนรุ่นใหม่ ไปปรับใช้ ก็สามารถเริ่มได้เลย แต่ ดวงรักษ์ ย้ำว่า อย่าเอาโมเดลของ กทม. ยกไปใช้ทั้งหมด โดยขอให้เริ่มจากการรับฟังเสียงคนในพื้นที่ ฟังเสียงเยาวชน เพื่อสร้างพื้นที่ในการออกแบบนโยบายให้เหมาะกับท้องถิ่นนั้น ๆ เพราะโจทย์ของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

ทิ้งท้าย ดวงรักษ์ ให้คะแนน กทม. 7 เต็ม 10 สำหรับการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีส่วนร่วม เธอยังต้องการเห็นการลงมือทำร่วมกันของทุกภาคส่วนในกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่การฟังเสียงหรือแจ้งปัญหาเท่านั้น แต่ยังต้องมีการร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้ กทม. เป็นเมืองที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง