เปิดรั้วสถานทูตเนเธอร์แลนด์ เปิดประเด็นสิ่งแวดล้อมเมืองกรุงฯ

‘Orange Green Days’ วันสีเขียวของสถานทูตสีส้ม
กับการส่งต่อองค์ความรู้ จากเนเธอร์แลนด์ถึงประเทศไทย

วัวตัวโตสีสันสะดุดตา ถูกตกแต่งไว้ เติมความสดใสของ ‘สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย’ สะท้อนถึงประเทศต้นทางในฐานะเมืองเกษตรกรรม โดยวัฒนธรรมแล้วหากใครได้มาเยือนจะพกต้นไม้ติดมือมาเป็นของขวัญ ซึ่งไม่แปลกใจเลยเมื่อเห็นต้นไม้ใหญ่แผ่ใบให้ร่มเงา เป็นที่พึ่งพิงของสัตว์น้อยใหญ่ และแขกไปใครมาก็อดชื่นชมไม่ได้ว่าที่นี่บรรยากาศดีจริงๆ หายใจได้เต็มปอดแบบไม่ต้องกั๊ก หรือกังวลเรื่องมลพิษเลย

ในโอกาสที่สถานทูตเนเธอร์แลนด์จัดงาน Orange Green Days’ ช่วงเดือนกันยายน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของวันทำความสะอาดโลก หรือ เวิลด์ คลีนอัพ เดย์ (World Cleanup day) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 17 กันยายน โดยคำว่า Orange หรือ สีส้ม เป็นสีประจำชาติของประเทศเนเธอร์แลนด์ และคำว่า Green หรือ สีเขียว คือจุดประสงค์ของการจัดงาน ด้วยมุ่งพัฒนาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ให้เป็น “กรุงเทพฯ สีเขียว”

The Active ได้รับเกียรติสนทนากับเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย และคณะ ถึงบทบาทของสถานทูตฯ ที่จะช่วยให้สิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

แร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

สารจากสถานทูตฯ ที่ได้รับฉายาว่า ‘โอเอซิสขนาดย่อมของเมือง’

“หนึ่งนิยามของเมืองสีเขียวคือ เมืองที่มีพื้นที่สีเขียวเยอะ อย่างสถานทูตเนเธอร์แลนด์ เชื่อว่าทุกคนที่ได้มาเยี่ยมสถานทูตเนเธอแลนด์ ส่วนใหญ่จะมองว่าสวนแห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่สามารถสูดอากาศได้เต็มที่ เต็มไปด้วยออกซิเจน ซึ่งเมืองใหญ่แทบทุกเมืองต้องการพื้นที่สีเขียว และการจัดการพื้นที่สีเขียวมีความสัมพันธ์กับการจัดการน้ำ สำคัญมากเพราะว่าทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เมืองจึงต้องจัดการน้ำให้ดี ทั้งเรื่องมลพิษทางน้ำ และการแก้ปัญหาน้ำท่วม”

แร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สวนแห่งนี้เปรียบเหมือนของขวัญชิ้นใหญ่ของคนที่ทำงานในสถานทูตเนเธอร์แลนด์ฯ ตอนที่มีการซื้อที่ดินแห่งนี้ ในปี 1949 บ้านรับรองมีมาตั้งแต่เดิม แต่ที่ดิน ต้นไม้ หรือสวน ไม่ได้เป็นแบบนี้ ประเพณีที่ผ่านมาคือเมื่อมาใครมาเยี่ยม จะนำต้นไม้มาด้วย สถานทูตฯ ต้องมีการจัดการสวนแห่งนี้ วางแนวทางการดูแลต้นไม้และพัฒนาสวน พวกเรารู้สึกภูมิใจที่สวนแห่งนี้เป็นที่ปลอดภัยสำหรับนก อีกา งูขนาดใหญ่ (เราเคยเห็นงูเหลือมยาว 4 เมตรในนี้) และมีแมลงมากมาย

สำหรับงาน Orange Green Days นับเป็นครั้งแรกของสถานทูตเนเธอร์แลนด์ที่จัดงานนี้ขึ้นในกรุงเทพฯ เป้าหมายสำคัญคือความพยายามสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องการพัฒนาเมือง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตอย่างการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ด้วยการผลักดันให้เกิดเศรษฐหมุนเวียน

“เรื่องนี้สำคัญกับเนเธอแลนด์เหมือนกัน และเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ที่มีความท้าทายคล้าย ๆ กัน คือการเคลื่อนย้ายของผู้คนเข้ามาอาศัยในเมืองมากขึ้น เกิดกระบวนการขยายความเป็นเมือง (Urbanization) ที่มีการใช้ทรัพยากรในเมืองอย่างหนัก ถ้าไม่ลงทุนในการทำให้เมืองมีการฟื้นฟู เมืองก็จะเป็นพื้นที่ที่ไม่น่าอยู่อีกต่อไป และมันจะมีผลกระทบกับเรื่องการพัฒนามนุษย์ รวมถึงสภาพอากาศโดยรวม ด้วยเหตุนี้ เราสามารถส่งต่อองค์ความรู้ระหว่างประเทศ เพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และพัฒนาเมืองไปด้วยกัน”

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีพลเมืองหนาแน่นและลักษณะภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มเหมือนประเทศไทย มีแม่น้ำสายใหญ่ตัดผ่านประเทศเหมือนกรุงเทพฯ ซึ่งเนเธอร์แลนด์ประสบปัญหาน้ำท่วมมาเป็นเวลากว่า 100 ปี ประสบการณ์และกระบวนการจัดการน้ำ เป็นองค์ความรู้ที่จะนำมาแบ่งปัน ผ่านการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่างผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและผู้เชี่ยวชาญชาวเนเธอร์แลนด์ โดยหวังว่า ข้อมูลที่ต้องการสื่อสารจะถูกเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวางและเป็นประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้มื่อมีกิจกรรมดี ๆ แล้ว ก็ต้องมองต่อไปถึงผลกระทบที่ดีในระยะยาว ด้วยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองของไทยและเนเธอร์แลนด์

“ประเด็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ก็เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทุกคนเอาแต่ใช้รถ คุณจะมีมลพิษมากมาย และทำให้รถติดมาก เราเชื่อในการแก้ปัญหาที่มีความหลากหลาย ทั้งเรื่องการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน ส่วนในเนเธอร์แลนด์ผู้คนส่วนใหญ่ใช้จักรยานในการเดินทาง เราเป็นเมืองพื้นที่ราบเหมือนกับไทย รัฐบาลของเราให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานและขนส่งสาธารณะ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า นี่คือภาพรวมของการลดมลภาวะทางถนน และทำให้เมืองเป็นเมืองสีเขียวมากขึ้น อีกเรื่องหนึ่งคือความหลากหลายทางชีวภาพ แม้แต่ในเมืองก็ต้องรักษาความหลกหลายทางชีวภาพ และสวนในสถานทูตฯ เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และเราก็รู้มาว่า กทม. ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวและความหลากหลายทางชีวภาพเหมือนกัน เราจึงดีใจที่ได้ทำงานร่วมกัน เรื่องการใช้จักรยาน ที่เราอยากทำงานร่วมกับ กทม. ในอนาคต”

เอกอัครราชทูตฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีหลายเรื่องที่ต้องการร่วมมือกับ กทม. และได้มีการพูดคุยกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ เช่น เรื่องโลจิสติกส์ ขนส่งสาธารณะ พื้นที่สีเขียวในเมือง การส่งเสริมการเดินทางโดยจักรยานในเมือง รวมไปถึงเรื่องการจัดการน้ำ สถานทูตฯ อยากจะมีส่วนร่วมในการจัดการน้ำ โดยเฉพาะในสวนลุมพินี เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการหารือและมีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดแผนปรับปรุงสวนลุมพินีฉบับใหม่ รวมไปถึงเรื่องการผลักดันเรื่องการใช้จักรยานในเมือง เพราะสิ่งสะท้อนความเป็นเมืองสีเขียว คือ การพัฒนาด้านคมนาคม โลจิสติกส์ ขนส่งสาธารณะ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างที่ประเทศเนเธอร์แลนด์มีสถานทูตจักรยานโดยเฉพาะ (bicycle embassy) เป็นองค์กรที่ช่วยเหลือทุกคนทุกเมืองทุกประเทศที่อยากได้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการใช้จักรยานในเมือง

“คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เผชิญกับปัญหาการเดินทางที่ใช้เวลานานนับชั่วโมง และค่าใช้จ่ายสูง ตั้งแต่ตัวบุคคล เป็นภาระทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ เราอยากจะร่วมกับ กทม. ในโครงการ car free day และเชื่อว่าเกินครึ่งของสถานทูตฯ จะร่วมแน่นอน เพราะเรามีจักรยานอยู่จำนวนมากที่คนในที่ทำงานสามารถใช้ได้… หาก กทม. อยากส่งเสริมให้มีการสัญจรด้วยจักรยานมากขึ้นในเมือง อย่างแรกคือต้องทำให้การขี่จักรยานปลอดภัย 100% เพราะจะไม่มีใครให้ลูกหลานตัวเองใช้จักรยานถ้ามันไม่ปลอดภัย และไม่มีเลน จักรยานโดยเฉพาะ ไม่ใช่แค่การสร้างใหม่ แต่หมายถึงพื้นที่ทั่วไปของเมืองด้วย ต้องมาดูว่าพื้นที่ส่วนไหนของเมืองสามารถสร้างเลนจักรยานได้ จึงต้องพิจารณาเรื่องโครงร้างพื้นฐานของเมือง”

ที่ผ่านมาสถานทูตเนเธอร์แลนด์ได้ร่วมมือกับสถานทูตอเมริกา ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ในการดูแลพื้นที่สีเขียวให้เป็นผืนเดียวกันมีแหล่งน้ำเป็นจุดเชื่อมต่อ ให้สัตว์น้อยใหญ่สามารถใช้พื้นที่ทั้งสองผืนนี้ได้ โดยทำงานกับเจ้าหน้าที่ชาวไทย มีทั้งคนสวนมืออาชีพ และนักขับเคลื่อนงานของสวนเป็นอย่างดี และมีการปลูกต้นไม้อย่างเหมาะสม ทำให้สวนนี้สวยอยู่ตลอด และถูกใช้ประโยชน์ในการเป็นพื้นที่จัดงานกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย

“คำตอบมาจากใจผมเลยนะ เราอยากจะมีส่วนช่วยเหลือในการจัดการน้ำภายในสวนลุมพินี เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และจะดีใจมากถ้าสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้สำเร็จ เพราะมันคือการทำให้เมืองพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และทำให้ผู้คนในเมืองใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผู้คนต้องมั่นใจว่า เดินทางไปทำงานง่ายขึ้น และการพัฒนาไม่ได้มุ่งเน้นเพียงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องเป็นมีการพัฒนาด้านสังคมด้วย เพื่อให้เด็กในกรุงเทพฯ ไม่ได้เติบโตท่ามกลางมลพิษ ควรทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะใช้ชีวิต มาเที่ยว หรือทำงาน ต้องมั่นใจว่าจะเป็นเมืองกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่พัฒนาต่อไปได้อีกหลายร้อยปีข้างหน้า …และเนเธอร์แลนด์ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความมือร่วมมือกับ กทม. ในการพัฒนาเมืองนี้ให้ดีขึ้นในอนาคต และนั่นคือโอกาสที่ได้จากงาน ออเรนจ์กรีนเดย์”

นสพ. ไค๊ส์ เตอนิสเซิ่น อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเกษตร

สิ่งแวดล้อมกรุงเทพฯ ดีขึ้นกว่านี้ได้… เปิดสูตรลับฉบับเขียวของสถานทูตเนเธอร์แลนด์

นสพ. ไค๊ส์ เตอนิสเซิ่น อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเกษตร สะท้อนว่า จากการสังเกตและประสบการณ์ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ พบว่า กรุงเทพฯ มีสิ่งปลูกสร้างอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น ทำให้ความเป็นสีเขียวในเมืองลดน้อยลง ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก แต่สำหรับกรุงเทพฯ แม้จะมีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เช่น สวนลุมพินี เชื่อมโยงกับสวนเบญจกิติ แต่พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่อยู่ในเขตนอกเมือง ทำให้คนในกรุงเทพฯ ชั้นในต้องเดินทางออกมา และทำให้ต้องมีการก่อสร้างถนน เพื่ออำนวยการสัญจรเข้าสวน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สามารถสร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ใกล้ชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้สะดวกมากขึ้น

“หากเนเธอร์แลนด์สามารถช่วยแชร์ประสบการณ์หรือความรู้ได้ก็ยินดี และอยากเน้นย้ำถึงการมีพื้นที่สีเขียวในเขตเมื่อเพื่อส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการลดอุณหภูมิของเมือง การเป็นพื้นที่ช่วยระบายน้ำหรือซึมซับน้ำ โดยการมีต้นไม้หน้าที่ได้ดีกว่าการมีถนนคอนกรีต พื้นที่สีเขียวจะมีส่วนช่วยในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง และในเรื่องของการวางผังเมือง เนเธอร์แลนด์มีองค์ความรู้ด้านสถาปัตย์ ที่สามารถร่วมออกแบบเมืองให้มีพื้นที่สีเขียว”

อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเกษตร กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายสวน 15 นาที เข้าถึงได้ใกล้บ้าน และการปลูกต้นไม้ล้านต้นในกรุงเทพฯ แต่หากจะมองในมิติความหลากหลายทางชีวภาพ จะต้องมีการวางแผนว่าจะปลูกต้นไม้สายพันธุ์อะไรชนิดไหน มีการคัดลือกพืชบางอย่างให้เหมาะสม เพราะการปลูกพืชไม่สามารถใช้พืชชนิดเดียวกัน ปลูกต้นไม้ชนิดเดียวกัน ในทุกพื้นที่ได้ เพราะต้นไม้แต่ละต้นมีความต้องการเติบโต และการดูแลในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน จำเป็นต้องเลือกชนิดของต้นไม้ใน 1 ล้านต้นให้มีความหลากหลาย จำเป็นต้องเลือกต้นไม้ที่เติบโตในแต่ละพื้นที่ได้อย่างดี ถึงแม้จะสามารถปลูกต้นไม้อัดแน่นในเขตเมือง แต่ถ้าต้นไม้นั้นมีใบล่วงหล่นมากก็ทำให้เจ้าหน้าที่ กทม. ต้องคอยเก็บกวาด ทำงานหนักขึ้นเพื่อทำความสะอาด ก็น่าจะไม่เหมาะกับ กทม. ดังนั้นควรเลือกต้นไม้ที่ไม่ต้องสลัดใบเยอะๆ ดูแลง่ายในเมือง

“นโยบายของผู้ว่าฯ กทม. เรื่องพื้นที่สีเขียวค่อนข้างครอบคลุมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของเมือง แต่สิ่งเดียวที่อยากให้เห็นความสำคัญคือความหลากหลายของต้นไม้ และการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่สีเขียว คือต้นไม้ไม่ควรจะเป็นชนิดเดียวกัน ต้นไม้ในเมืองสามารถโตได้แม้จะต่างชนิดกัน ลักษณะสูงต่ำต่างกัน แต่ละต้นมันสามารถโตไปด้วยกันได้ ในสภาพแวดล้อมที่มันต้องการ”

อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเกษตร อธิบายว่า สัดส่วนของพื้นที่และการดูแลต้นไม้ในสถานทูตเนเธอร์แลนด์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่ 1 คือ ส่วนพื้นที่ดั้งเดิมที่มีต้นไม้อยู่แล้ว เราเพียงแต่ทำให้มันมีสภาพที่ดีขึ้น แข็งแรง และอยู่รอดได้ ส่วนที่ 2 คือ เจ้าหน้าที่หรือผู้ดูแลต้นไม้ จะต้องทราบความต้องการของต้นไม้แต่ละต้น ส่วนที่ 3 คือ การดูแลโดยธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีต่างๆ เพราะจะทำลายแมลง สิ่งมีชีวิต สัตว์ตัวเล็ก และยังทำลายต้นไม้ด้วย 3 สิ่งนี้คือเคล็ดลับในการทำให้สวนในสถานทูตเนเธอร์แลนด์ เขียว ยั่งยืน และอยู่ได้ สุดท้ายสิ่งที่อยากย้ำคือ องค์ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ และคนที่จะทำงานเรื่องนี้ต้องมีองค์ความรู้ ความเข้าใจเรื่องต้นไม้

จากการสำรวจเบื้องต้นของทีมงานสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย พบว่า พื้นที่ภายในสถานทูตฯ มีต้นไม้ทั้งหมด 128 สายพันธุ์ และมีสัตว์อาศัยอยู่ 21 สายพันธุ์ มีแปลงเพาะปลูกต้นไม้ของตัวเอง มีสวนผักสวนครัวไว้สำหรับเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ส่วนขยะจากเศษอาหารที่เหลือจากการจัดงานเลี้ยงจะนำมาเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์ เพื่อนำกลับไปดูแลต้นไม้ในสวนให้มีความอุดมสมบูรณ์ ส่วนพื้นที่น้ำสามารถกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้งานรดน้ำต้นไม้ ยังเป็นพื้นที่ซับน้ำให้กับเมืองอีกด้วย เป็นตัวอย่างของการหมุนเวียนทรัพยากร และรักษาสิ่งแวดล้อมของเมืองได้เป็นอย่างดี

เจ้าหน้าที่ดูแลสวนกำลังดูแลต้นไม้ในเรือนเพาะชำของสถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้