“ป่าพนัง ไม่ใช่ถังขยะ” เรียนรู้ปัญหาขยะในป่าชุมชน

“เรียนแบบธรรมชาติกับครูสอยอ” บทที่ 4

‘การเรียนรู้’ มีหลากหลายมิติ หลากหลายกระบวนการ และหลากหลายเทคนิค เราหวังให้ ‘การเรียนรู้’ สร้างสำนึกความเป็นพลเมือง และสำนึกรักษ์ในชุมชนท้องถิ่นด้วย “เรียนแบบธรรมชาติกับครูสอยอ” บทนี้ เลยเลือกสร้างการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem–based Learning : PBL) โดยใช้ปัญหาที่ใกล้ตัวหรือที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เป็นประเด็นหรือเป็นฐานในการจัดการเรียนรู้กับผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การเห็นปัญหา เข้าใจปัญหา และนำไปสู่การแก้ปัญหาในปัจจุบัน อนาคต

#saveป่าพนัง

#ป่าพนังไม่ใช่ถังขยะ

คือ แคมเปญเล็ก ๆ ที่พวกเราช่วยกันปั้น และปลุกกระแสขึ้นในชุมชน แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่อย่างน้อยเราได้ทำอะไรบางอย่างกับปัญหาที่เราพบเจอก่อนที่จะเรื้อรัง และปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจนกลายเป็นความชินชา

เรียนรู้ปัญหา ขยะ

จากการเที่ยว เล่น เรียน รู้ ที่ทำกันมาต่อเนื่องยาวนานในกิจกรรมห้องเรียนธรรมชาติและชุมชนทุกบ่ายวันพุธ มีธรรมชาติ ป่า เขา ลำธาร วิถีชีวิต ผู้คนในชุมชน เป็นทุนทางทรัพยากร เป็นอุปกรณ์ และห้องเรียนให้กับพวกเราเหล่าครู นักเรียน และสมาชิก ร่วมก่อการเรียนรู้ไปด้วยกัน

ทุกครั้งที่เรานำพาตัวเอง ผู้คน และผู้เรียน ออกไปยังที่ต่าง ๆ ในชุมชน นอกจากความสวยงามของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เราพบเจอแล้ว ยังมีมุมที่ไม่สวย ไม่งาม เป็นปัญหา ปรากฏให้เห็น ให้ได้ยินควบคู่กันไปอีกด้าน เหมือนเหรียญที่มีสองด้านเสมอ

ในฐานะครู และทีมจัดกระบวนการเรียนรู้ ผมมองเห็นโอกาสและความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ให้คนได้รู้สึก ได้มีความรู้ ได้เห็นมุมมอง ได้เข้าใจ และได้ลงมือกระทำอะไรบางอย่างกับมิติที่เป็นปัญหา เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและไม่นิ่งดูดาย หรือเมินเฉยกับปัญหาตรงหน้ากับผู้เรียน และผู้คนในชุมชน

จากจุดเริ่ม ถึงจุดร่วม “การเรียนรู้”

“ขยะ” คือ 1 ในปัญหาที่เตะตา กวนใจ พวกเรามานาน จนต้องทำอะไรบางอย่าง เพราะไม่อยากรู้สึกผิดกับตัวเองที่ได้แต่บ่น แต่ยังไม่ได้ทำอะไรสักที

ครูทอม และ ต้น พร้อมกับ เครือข่ายคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นหนุ่มสาวที่รวมกลุ่มกันสร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ ในชุมชน ทำงานพัฒนาหลากหลายมิติผ่านงานท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า “เที่ยววิถีสีชมพู” หนึ่งในภาคีแกนนำหลักสำคัญที่ขับเคลื่อนพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกับเครือข่าย ก่อการครู3ภูPlus ที่ร่วมก่อการในห้องเรียนธรรมชาติและชุมชนด้วยกันมาตลอด เราชวนนักเรียนและคนในชุมชนมาเห็นปัญหาขยะในชุมชนร่วมกัน โดยครั้งนี้ ป่าพนัง คือพื้นที่แรกที่เรายกเป็นห้องเรียนปัญหาในชุมชน

“เที่ยวสนุกป่าสะอาด ป่าพนังไม่ใช่ถังขยะ” คือชื่อกิจกรรมที่เราชวนผู้คนมากระทำอะไรบางอย่างกับพื้นที่ที่เป็นปัญหา โดยขยายต่อจากห้องเรียนธรรมชาติ และชุมชน โดยเปิดพื้นที่ให้คนทั้งในและนอกพื้นที่กว่า 40 ชีวิต ทั้งครู นักเรียน ชาวบ้าน ผู้นำ และเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ที่ดูแลพื้นที่ มาร่วมเรียนรู้ร่วมกัน เริ่มต้นจากการรวมตัวกันที่ใต้ถุนบ้านยายตาโฮมสเตย์  ที่เหมือนเป็นจุดศูนย์กลางและจุดรวมพลของกลุ่ม หลังเสร็จกิจกรรมแนะนำตัว และบอกเป้าหมายของกิจกรรมจากทีมงานแล้ว เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ได้ให้ข้อมูลป่าพนังกับพวกเรา และเชียร์ให้พื้นที่ป่าถูกจัดการโดยชุมชนต่อไปในอนาคต เพื่อการจัดการป่าที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วม

การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงปัญหาจริงในชุมชน

(Problem based learning)

กระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้ เราออกแบบเป็นรูปแบบของการเที่ยว เล่น เรียนรู้ และปฏิบัติการแก้ปัญหาร่วมกันภายในหนึ่งวัน โดยมีกรอบคิด “อริยสัจ 4”  ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา มาเครื่องมือนำพาตั้งแต่การชวนให้ไปเห็นปัญหาในพื้นที่จริง (ทุกข์ หรือปัญหา) วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาร่วมกัน (สมุทัย หรือสาเหตุของปัญหา) จากหลากหลายมุมมอง ทั้งจากคนในพื้นที่ และคนนอกพื้นที่ซึ่งเพิ่งมาเห็นปัญหา ก่อนจะมานั่งล้อมวงเพื่อกลับมาสะท้อนผลหาทางออก และชวนผู้เรียน และผู้เข้าร่วมการเรียนรู้ “เที่ยวสนุกป่าสะอาด” เก็บขยะ และจัดการขยะร่วมกันในการแก้ปัญหาระยะสั้น ๆ ก่อนจะหาทางออกในระยะยาวที่ยั่งยืน (มรรค หรือทางออกของปัญหา) มองภาพฝันร่วมกันอีกครั้ง (นิโรธ ผลจากการแก้ปัญหา)

เรียนรู้ปัญหา ขยะ

ครูทอม และ ต้น ชวนน้อง ๆ ในชุมชนสำรวจพื้นที่ และประชุมหารือว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง ทั้งระยะใกล้ และระยะยาว จนกลายเป็นกิจกรรมชวนคนมาเห็นปัญหา มารู้สาเหตุ มามองภาพฝันร่วมกัน และช่วยกันหาทางออกต่อไป

กว่า 40 ชีวิต เคลื่อนพลกันมายัง ป่าพนัง ที่อยู่ห่างออกไป 3 กิโลเมตรจากจุดรวมพลด้วยรถอีแต๋น และรถกระบะ เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ชวนเราเดินป่า ให้ข้อมูล จากจุดเริ่มต้นที่เขียวสดงดงาม แล้วค่อย ๆ ถูกคุกคามและปกคลุมด้วยขยะที่มากขึ้น ๆ ตามระยะทางที่เราเดินเข้าป่า

ป่าพนัง เป็นป่าโคก ป่าเต็งรัง หรือที่เรียกกันว่าป่าแดง กินพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลวังเพิ่ม ตำบลบ้านใหม่ และตำบลดงลาน ของอำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น มีขนาดใหญ่ประมาณ  800 ไร่ ลักษณะทั่วไปของ ป่าพนัง เป็นป่าโปร่ง พื้นที่แห้งแล้งดินร่วนปนทราย และกรวดลูกรัง มีชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กราด พะยอม ติ้ว แต้ว มะค่าแต ประดู่ แดง มะขามป้อม มะกอก ผักหวาน สมอไทย ตะแบก เลือดแสลงใจ รกฟ้า ฯลฯ  ส่วนไม้พื้นล่างเป็นหญ้าเพ็ก ปรง กระเจียวเปราะ มะพร้าวเต่า ปุ่มแป้ง โจด และหญ้าชนิดอื่น ๆ

“พี่ บางปีแถวไร่ผมที่ติดป่าพนังนี้ เต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์ของคนที่เขามาเก็บเห็ด ไม่รู้มาจากไหน”

 
“วันไหนที่เดินเข้าป่า อย่างน้อยต้องมีสักอย่างแหละที่ติดไม้ติดมือมาเป็นอาหาร”


“เห็ดตะไค เห็ดระโงก เห็ดแดง เห็ดโคน หน่อไม้โจด ซุ่มนี่หละที่ตาเก็บได้ในป่านี้”

(“ซุ่มนี่หละ” คำพูดภาษาอีสาน แปลว่า “สิ่งเหล่านี้”)

เสียงของคนพื้นที่ เล่าถึงความสมบูรณ์ของ ป่าพนัง ป่าโคกที่เต็มไปด้วยทรัพยากรและแหล่งอาหารมากมาย แม้จะดูแห้งแล้งเต็มไปด้วยไม้ผลัดใบแตกต่างจากป่าสีเขียวที่เราคุ้นชินในภาพจำตามสื่อกระแสหลัก ซึ่งความจริงป่าโคกแห่งนี้จะเขียวสดใสในฤดูฝน มีลำห้วยโกทา ลำน้ำเล็ก ๆ ไหลผ่านด้วย ส่วนฤดูแล้ง ใบไม้จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แดง น้ำตาล และผลัดใบทิ้งในที่สุด เพื่อรักษาน้ำ ทนแล้ง ทนไฟ

สิ่งที่กวนใจ และสงสัยมานาน คือ ป่าพนัง ช่วงหลังมานี้เต็มไปด้วยกองขยะ ที่คนลักลอบเอามาทิ้งมากขึ้น ๆ โดยเฉพาะระหว่างเส้นทางสัญจรที่ต้องเลียบ ลัด ตัดเข้าเขตป่า เมื่อเราเข้าไปลึกเข้า ๆ สิ่งที่เห็นคือ บ่อขยะขนาดใหญ่ที่ค่อย ๆ กินพื้นที่ป่าพนังมากขึ้นเรื่อย ๆ

ถุงมือ และถุงดำ ถูกแจกจ่าย ทุกคนช่วยกันเก็บ แยก นำขยะบางส่วนไปจัดการ บางส่วนทำป้ายสื่อสาร ขอความร่วมมือ งดทิ้งขยะบริเวณดังกล่าว เป็นภาพที่งดงาม เห็นคนหลากลายเพศ หลายหลากวัย และอาชีพ มาร่วมกันดูแล ป่าพนัง วันนี้

ป่าพนัง ที่ถูกแทรกด้วยกองขยะ ค่อย ๆ สะอาดขึ้น แม้จะไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยการเก็บขยะในป่าวันนี้ ได้ทำให้เราได้กลับมาเก็บขยะในใจเราที่เคยบ่น เคยตำหนิ เคยกล่าวโทษ แต่ไม่เคยลงมือทำอะไรสักที

ได้เวลาพักกลางวัน ข้าวเหนียวหมูทอดห่อใบตอง ถูกส่งต่อไปยังเพื่อนพี่น้องที่มาออกแรงด้วยกัน เราใช้โอกาสในวงข้าว ชวนล้อมวงสนทนาระดมหาทางออก และการจัดการกับปัญหาขยะในเขตป่าพนังร่วมกัน

มีข้อเสนอแนะ ไอเดีย และทางออกที่น่าสนใจ จากคนที่มาร่วมกิจกรรมวันนี้ สิ่งหนึ่งที่พวกเราในฐานะคนในพื้นที่มองเห็นร่วมกันว่าต้องช่วยกัน คือสร้างการมีส่วนร่วมกับคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่นี้ให้มากขึ้น ขยับผลักดันเรื่องนี้ด้วยการเป็นเจ้าของป่าร่วมกัน ทำให้ป่าได้รับการดูแล ขยะถูกจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนต่อไป

จากห้องเรียนธรรมชาติ และชุมชน ที่ทำกันเพียงกลุ่มครู นักเรียน และหนุ่มสาวในชุมชนกลุ่มเล็ก ๆ มาวันนี้ ผมเห็นห้องเรียนของเราขยับขยายใหญ่ขึ้นจนไปเตะประเด็นปัญหาของชุมชน ที่พวกเราขออาสาลุกขึ้นมาตั้งคำถาม คิด วางแผน และลงมือทำ แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ  แต่เราเชื่อว่าจากพลังคนเล็ก คนน้อยอย่างพวกเรานี่แหละ จะสามารถสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในอนาคต


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง “เรียนแบบธรรมชาติกับครูสอยอ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ครูสอยอ | สัญญา มัครินทร์

ครู นักเรียน นักพัฒนา ผู้ชอบนอนกลางวัน แต่ขยันสร้างสรรค์ประสบการณ์เรียนรู้สนุก ๆ กับผู้เรียนผ่านงานศิลปะ และปรากฏการณ์ทางสังคม