More Than Art อำนาจของศิลปะ และธรรมชาติ

หลังจากเราขึ้นเขา ลุยป่ากันมาหลายสัปดาห์ “ห้องเรียนและธรรมชาติ” ครั้งนี้ เลยปรับให้เบา และโหดน้อยลงกว่าทุกครั้ง

แม้จะเป็นช่วงหน้าฝน แต่สภาพอากาศช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ฝนทิ้งช่วงห่างไปหลายวัน ความร้อนอบอ้าว ทำให้เราต้องหาพื้นที่เย็น ๆ ธรรมชาติสีเขียว ผ่อนคลาย หายร้อน คลายเครียดจากการเรียนออนไลน์ และช่วยเกาะเกี่ยวนักเรียนที่ไม่ชอบออนไลน์ให้ได้ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือช่วยเยียวยาตัวครูเอง และนักเรียนของเรา

“ลำน้ำพอง” คือห้องเรียนธรรมชาติของพวกเรา โดยมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนมากขึ้นกว่าครั้งก่อน ๆ มีรองผู้อำนวยการต่างโรงเรียน อดีตครูศิลปะร่วมเป็นนักเรียน และแลกเปลี่ยนกับพวกเราด้วย

สนทนากับสิ่งที่ตาเห็น

หลังจากที่ทุกคนทานอาหารมื้อกลางวันเสร็จ สมาชิกผู้ร่วมชั้นครบแล้ว ก็ได้เวลาเคลื่อนพลด้วยกระบะสองคันรถ ห้องเรียนธรรมชาติวันนี้ห่างออกไปประมาณ 15 กิโลเมตร ระหว่างทางนั่งรถจากชุมชนเราไปยังเป้าหมายของบ่ายนี้ ครูชวนนักเรียนสังเกตและช่วยกันนับพืชพรรณ และพืชผลทางการเกษตรของแต่ละชุมชนว่าเขาปลูก หรือทำอะไรกันบ้าง

“ครูครับ ถ้าเปลี่ยนจากป่าอ้อย มาเป็นแปลงนาข้าวคงจะสวยนะครับ”

“ทำไมหละ ถึงคิดอย่างนั้น” ผมถาม และอยากฟังมุมมองของนักเรียน

“ที่บ้านผมพ่อกับแม่ก็ปลูกอ้อยเยอะมากครับครู แต่ผมก็งงว่าทำไมเราไม่แบ่งปลูกข้าวบ้าง ที่บ้านผมยังซื้อข้าวกินอยู่เลย”

“แล้วนายคิดว่าเพราะอะไร ทำไมพ่อกับแม่ถึงทำแบบนั้น” ผมถามกลับ เพื่อให้นักเรียนได้ลองสวมแว่นตาหรือใช้มุมมองแบบพ่อกับแม่


“การทำอ้อยน่าจะง่ายกว่า สภาพดินบ้านเราก็ไม่ค่อยมีน้ำขังที่จะเหมาะทำนาได้”


“น่าจะมีอย่างอื่นอีกไหม… เอ้าคนอื่น ๆ ช่วยให้ความเห็นเรื่องนี้กันหน่อย” ผมโยนประเด็นให้คนในรถมีส่วนร่วมกับบทสนทนานี้

“หนูว่าอ้อยมันทำง่ายและเก็บเกี่ยวได้หลายรอบค่ะครู น่าจะดีกว่าทำข้าว”


“โซนนี้ใคร ๆ เขาก็ทำอ้อยกันค่ะ เลยทำเหมือน ๆ กัน ถ้าเป็นอีกหมู่บ้านมันเป็นที่ลุ่ม น้ำดีเขาก็จะทำนา”


“ทำนาใช้เงินและแรงเยอะกว่าไหมแก อันนี้ฉันไม่รู้แม่ฉันเป็นแม่ค้า ไม่รู้จริง ๆ ค่ะครู”

“นั้นดิ ครูก็ไม่รู้เหมือนกัน ต้องช่วยกันหาคำตอบ เอาจริงครูเห็นด้วยกับเพื่อนเรานะ ถ้าเรามองในแง่ของความสวยงาม ทุ่งนาสีเขียวกว้าง ๆ แล้วมีภูเขาอยู่ด้านหลังคงสวยดี แต่ในมุมของเกษตรกรหรือพ่อแม่เรา เขาอาจจะไม่ได้ทำเกษตรเพื่อความสวยงาม แล้วให้คนมาเที่ยวถ่ายรูป แต่เขาทำเพื่อการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หรือทำเพื่อเอาตัวรอด วิธีคิด การจัดการก็จะทำอีกแบบหนึ่ง เดี๋ยววันหลังจะพาไปเยี่ยมสวนเพื่อนครูที่เขาทำทุกอย่างเลย ไม่ใช่เกษตรเชิงเดี่ยวที่ปลูกแต่อ้อยหรือทำแต่นาอย่างเดียว สนใจไปเที่ยวไหม”

ดูเหมือนเราจะได้บทเรียนครั้งต่อไปแล้ว แอบนึกในใจ ก่อนที่เราจะถึงเป้าหมาย จากทุ่งนา ป่าอ้อย ตอนนี้รถกระบะของเราวิ่งทะลุผ่านป่ายางพาราและทุ่งข้าวโพดของชุมชน ที่แตกต่างจากพื้นที่เกษตรของชุมชนบ้านเราช่วงต้นทาง

ต้นน้ำ ลำพอง ของเรา

ครูทอม ขวัญยืน เกตุนอก ศิลปินที่ลาออกจากการเป็นครูมาวาดรูปขายเป็นอาชีพหลัก และรวมกลุ่มกับคนหนุ่มสาวในพื้นที่ทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน

ครูทอมยืนรอพวกเรา กลางลำน้ำพอง ที่เรามองเห็นแต่ไกล

คณะของเราค่อย ๆ เดินลงจากจุดจอดรถกระบะที่สูงจากระดับน้ำ ลาดชัดอยู่ไม่น้อย แม้จะเป็นช่วงบ่าย แดดแรง แต่เมื่อเดินเข้าใกล้น้ำ ความเย็นสดชื่น และเสียงน้ำไหล ก็ทำให้ใจของเราผ่อนคลายแม้เพียงสัมผัสแรก


น้ำวันนี้สีเหลืองขุ่น ไม่ใสเหมือนช่วงหน้าร้อน เราเริ่มต้นยืนล้อมเป็นวงกลมแนะนำตัวให้ได้รู้จักกัน เพราะมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนหน้าใหม่เก่า ก่อนที่ผมจะแบ่งปันข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับลำน้ำพองให้นักเรียนได้รู้จัก

“ไหนใครเคยมาที่นี่บ้าง ขอดูมือหน่อย” มีนักเรียน 3 คน ยกมือขึ้น
“มาทำอะไรกันครับแถวนี้ ช่วยเล่าให้ครูและเพื่อน ๆ ฟังหน่อยครับ”


“ผมขี่มอเตอร์ไซค์หลงเข้ามาครับ แต่ไม่กล้าขี่รถข้าม ตอนนั้นไม่รู้ว่าเราสามารถเดินข้าม หรือขี่รถข้ามได้”

“ผมมากับพี่ข้างบ้านครับ พี่แกเคยพามางมหอยกาบขวานครับครู” จากนั้นครูทอมและผมได้แชร์ประสบการณ์ และความทรงจำในอดีตให้นักเรียนฟังบ้าง


“ครูมาครั้งแรกจุดนี้ตอนอายุประมาณพวกเรา คือ ม.2 ม.3 ก็ขี่มอเตอร์ไซค์มาเล่นน้ำกับเพื่อนที่นี่แหละ สมัยก่อนน้ำประปายังไม่ดีเหมือนทุกวันนี้ จุดนี้เลยมีฝ้ายน้ำล้นที่ทำด้วยกระสอบทรายกั้นเพื่อพักชะลอน้ำเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง… จุดนี้นอกจากชาวบ้านทั้งสองฝั่งจะได้ใช้ประโยชน์ทำน้ำประปาใช้ มันก็เป็นจุดที่วัยรุ่นและทุกวัยแหละได้มาเล่นน้ำพักผ่อนหย่อนใจ เป็นจุดแลนด์มาร์กของคนระแวกนี้ ที่สำคัญจุดนี้ก็เป็นจุดที่น้ำตื้นเขินมาก รถเลยสามารถวิ่งข้ามผ่านไปได้เลยเพราะพื้นข้างล่างเป็นหิน สมัยก่อนยังไม่มีสะพาน คนสองฝั่ง สองอำเภอ สองจังหวัด (อำเภอสีชมพูของจังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย) ใช้จุดนี้ เป็นจุดสัญจรไปมาหากันที่ต้องข้ามจุดนี้เป็นหลัก พอมีสะพานข้าม จุดนี้ก็ถูกลดบทบาทไปโดยปริยายตามกาลเวลา”

“แล้วลำน้ำพองนี่ มีต้นกำเนิดมาจากไหนครับครู” เสียงนักเรียนถามขึ้นในจังหวะที่เหมือนนัดหมายกันไว้ สะท้อนให้เห็นว่านักเรียนของเรามีความสนใจและเกิดการตั้งคำถามกับธรรมชาติตรงหน้า

ลำน้ำพอง มีต้นน้ำเกิดจากน้ำตกขุนพองบนภูกระดึง จังหวัดเลย ไหลผ่านจากทางตะวันตกมาทางตะวันออกเข้าเขตจังหวัดขอนแก่นบริเวณผานกเค้าทิวเขาภูเปือยเขตติดต่อระหว่างอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น กับอำเภอภูกระดึงจังหวัดเลย ผ่านอำเภอสีชมพู อำเภอหนองนาคำ อำเภอภูเวียง ก่อนจะไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และไหลต่อไปในเขตอำเภอน้ำพอง อำเภอเมืองขอนแก่น ไปบรรจบกับแม่น้ำชี แม่น้ำที่ยาวที่สุดของประเทศไทยที่อำเภอโกสุมพิสัยจังหวัดมหาสารคาม ลำน้ำพองมีความยาวจากต้นน้ำถึงปลายน้ำที่บรรจบกับน้ำชี ประมาณ 275  กิโลเมตร

ณ จุดที่พวกเรายืน คือต้นน้ำของลำน้ำน้ำพอง ลำน้ำที่ถือเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงคนหลายอำเภอของจังหวัดขอนแก่น ทั้งจากการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม การประมง การคมนาคม โรงงานอุตสาหกรรม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจจากการใช้ประโยชน์จากเขื่อน เช่น ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ การประปาที่ดูแลคนในตัวเมืองขอนแก่น

หลังจากยืนล้อมวงสนทนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้ข้อมูลเบื้องต้นของลำน้ำพองแล้ว ครูทอมก็ชวนพวกเราใช้สองมือกวาด และโกยเศษหินด้านล่างลำน้ำ เอาขึ้นมาดูด้วยกัน

วิทย์ จิต ศิลป์


ครูทอมชวนนักเรียนสังเกตว่าเห็นหินอะไรบ้าง แต่ละก้อนมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร

สี ขนาด รูปทรง ผิวสัมผัส น้ำหนัก กลิ่น คือสิ่งที่นักเรียนช่วยกันบอก ก่อนที่ครูทอมจะชวนพวกเราเลือกหินที่ชอบ แล้วเอามาถูกับหินอีกก้อนที่ใหญ่และแข็งแรงกว่า เพื่อทดลองว่าหินแบบไหนเมื่อเอามาถูแล้วจะให้สีโดยการให้นักเรียนค่อย ๆ ค้นพบสี และค่อย ๆ ทำความรู้จักชนิดของหิน เหมือนเรียน “วิทยาศาสตร์” จากประสบการณ์ตรงด้วยตัวเองโดยการเอาหน้าแขนอีกด้านเป็นจานรองสี และท้าทายให้นักเรียนสนุกกับการค้นหาสีได้หลากหลายเอามาอวดกัน

แขน หรือ จานรองสีของแต่ละคน เต็มไปด้วยสีธรรมชาติเอิร์ธโทนเต็มแขน หลายคนสนุกเริ่มมีสีไปปรากฏที่หน้าหรือปากบ้าง บรรยากาศการเรียนเล่นที่สนุก เห็นการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนหินสี เวลาแห่งความสนุกในการค้นหาสี เสียงพูดคุย ตื่นเต้น หรือวิ่งเล่น ค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนเป็นความเงียบสงบ ให้โอกาสเสียงธรรมชาติของลำน้ำ แมลง นก เป็นพระเอกอีกครั้ง

ครูทอมค่อย ๆ ส่งมอบอุปกรณ์ในการทำงาน “ศิลปะ” วันนี้ ที่มีพู่กัน กระดาษขนาดครึ่ง A4 และ Gum Arabic หรือ เม็ดกาวกระถินที่ได้จากยางไม้ชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับผสมสีที่ได้จากหินเพื่อช่วยในการเกาะติดกับพื้นผิว คือกระดาษ

ใต้ร่มไม้ โขดหินบริเวณรอบ ๆ ถูกจับจองด้วยสมาชิกห้องเรียนธรรมชาติของเรา เมื่อทุกคนได้วัตถุดิบที่ให้สีและอุปกรณ์แล้ว ก็จดจ่อและสุนทรียภาพกับการทำงานศิลปะที่ไร้โจทย์ในการทำ ทั้งครูและนักเรียนต่างเรียนรู้และทำงานที่เวลาไหลผ่านไปกับสายน้ำและธรรมชาติอย่างรวดเร็ว

เวลาผ่านไป 1 ชั่วโมงแล้ว หลายคนยังง่วนกับการทำงานศิลปะต่อไป บางคนขอทำเพิ่มเป็นชิ้นที่สอง หลายคนขอวางจากงานที่เสร็จแล้ว ปล่อยตัวปล่อยใจ เล่นไปกับสายน้ำและธรรมชาติตรงหน้า และหนึ่งในนั้นคือตัวครูเอง

หลังจากทุกคนทำงานเสร็จกันถ้วนหน้า และผ่อนคลายเล่นอิสระกันพอสมควรแล้ว ครูทอมชวนพวกเรากลับมาล้อมวง พร้อมด้วยผลงานของตัวเองที่ถูกจัดวางเรียงรายเป็นแกลเลอรีริมน้ำ งาม ง่าย และเชื้อเชิญให้ทุกคนได้แบ่งปันความรู้สึกจาก “จิตใจ” สื่อสารถึงความคิด และความหมายจากผลงานที่ถูกสร้างสรรค์จากหินสีในวันนี้ทีละคนจนจบ

“ผมรู้สึกสนุก และมีความสุขมาก ที่ได้หาหินสี เล่นน้ำ และวาดรูปครับ งานที่ผมวาด ผมวาดหน้าเพื่อน เพราะมองเห็นหน้ามันแล้วก็มีความสุข เลยอยากวาดบันทึกเอาไว้”

“หนูวาดภูเขา ป่าอ้อย ป่ามัน ที่มองเห็นระหว่างทาง รู้สึกผ่อนคลาย และเห็นใจตัวเองมีสมาธิมาก และชอบผลงานตัวเองมาก”

“ผมรู้สึกสงบ และสบายครับ ภาพที่วาดไม่ได้ใช้ความคิดอะไรมาก ก็วาดไปเรื่อย ๆ แล้วแต่อารมณ์ตอนนั้นครับ”


ครูทอมชื่นชมผลงานของทุกคน และชวนพวกเรากลับมามองเห็นความงามเล็ก ๆ ที่อยู่รอบตัว ความงามของดอกหญ้า ต้นไม้ แมลงเล็ก ๆ หรือแม้แต่ก้อนหินที่อยู่ในลำน้ำวันนี้ก็มีความงามและมีคุณค่าที่ซ่อนหลบอยู่ จะถูกเผยตัวก็เมื่อเรามีสายตาของนักสังเกต และละเอียดกับสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า ครูทอมทิ้งท้ายเป็นมุมมองกับพวกเรา

ความงาม ความดี ความจริง ที่เป็นคุณค่าในจิตใจของมนุษย์ สะท้อนออกมาจากน้ำเสียง แววตา การกระทำ การใช้เวลา ใช้ชีวิตในช่วงบ่ายวันนี้ และการทำงานศิลปะร่วมกัน โดยมีครูเป็นธรรมชาติเชื่อมโยงเป็นวิชาบูรณาการ วิทย์ จิต ศิลป์ เป็นองค์รวมที่มีความหมายกับการเรียนรู้วันนี้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ครูสอยอ | สัญญา มัครินทร์

ครู นักเรียน นักพัฒนา ผู้ชอบนอนกลางวัน แต่ขยันสร้างสรรค์ประสบการณ์เรียนรู้สนุก ๆ กับผู้เรียนผ่านงานศิลปะ และปรากฏการณ์ทางสังคม