บำนาญถ้วนหน้า : ความมั่นคงวัยเกษียณ ความฝันคนวัยเยาว์

#ให้หนี้มันจบที่รุ่นเรา เมื่อ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ฉบับถ้วนหน้า ไม่ใช่เรื่องของ ผู้สูงอายุ เท่านั้น

“รัฐสวัสดิการ” เป็นหนึ่งในเป็นประเด็นสำคัญ ที่ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา หยิบยกมาปราศรัยในเวทีการชุมนุมฯ สะท้อนว่า พวกเขาเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนในสังคมควรได้รับอย่างเท่าเทียม และหนึ่งในรูปธรรมของรัฐสวัสดิการที่ว่า คือ การผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ” ฉบับถ้วนหน้าของภาคประชาชน ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

The Active ชวนมองผ่านแว่น รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ไม่เพียงออกมาปราศรัยเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในอุดมคติ และไม่เพียงออกมาปราศรัยตามแนวคิด หรือทฤษฎีตะวันตก แต่กำลังพูดในสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต เช่น ออกมาตั้งคำถามว่า…

ทำไมต้องจ่ายค่าเรียนแพง ๆ

เรียนฟรีไม่มีอยู่จริงหรือ?

หรือแม้แต่ ปรากฏการณ์ติด #ถ้าการเมืองดี ในสื่อสังคมออนไลน์

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี | วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“สิ่งที่ผมอยากย้ำ คือ แฮชแท็ก #ถ้าการเมืองดี มันเป็นเรื่องไม่ไกลตัว เพราะถ้าการเมืองมันคือ การศึกษาดี ขนส่งสาธารณะดี และทำให้คนรอบข้างเขาปลอดภัย และคนที่ใกล้ตัวเขามากที่สุดก็คือ พ่อแม่ ของพวกเขา แต่ทุกวันนี้จะเห็นว่า พ่อแม่แทบจะเอาความฝัน ความหวัง ชีวิตตัวเองมาฝากไว้กับลูก มันเลยเกิดความเครียดระหว่างวัย เสมือนคนรุ่นใหม่ กับ คนรุ่นเก่า ไม่เข้าใจกัน”

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ อธิบายว่า เพราะเด็กรุ่นใหม่ต้องแบกรับภาระที่หนักหน่วง ทั้งความฝันของตัวเอง ความคาดหวังของครอบครัวและสังคม โซ่ตรวนที่ติดอยู่เหล่านั้นทำให้พวกเขาไม่สามารถวิ่งตามหาความฝันและความต้องการในชีวิตที่แท้จริงของตัวเองได้

“เด็กที่เป็นลูกคนรวย พ่อแม่มีบำนาญ มี Passive Income  เขาก็ตามหาความหมายของจักรวาลได้ แต่เด็กส่วนมากต้องใช้ชีวิตตามระบบ การไม่สามารถตั้งคำถามได้ นี่คือการเสียโอกาสครั้งสำคัญในการสร้างความสามารถ เพื่อเลื่อนลำดับชั้น เสียโอกาสที่จะทำให้ประเทศนี้มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้”

เขาบอกอีกว่า จากประสบการณ์ที่เคยสัมภาษณ์นักศึกษา ชั้นปีที่ 1 และถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ส่วนใหญ่ตอบคล้ายกันว่า “อยากมีงานที่มั่นคง สามารถดูแลพ่อแม่ได้” แต่ถ้าเปลี่ยนใหม่ คือ มี พ.ร.บ.บำนาญ ดูแลการเงินให้พ่อแม่แทน ก็น่าคิดว่า นักศึกษา เขามีความฝันเปลี่ยนไปหรือเปล่า ?

หนี้สิน และปัญหาเงินออมหลังวัยเกษียณของสังคมไทย

“ให้หนี้มันจบที่รุ่นเรา” คงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ยุคนี้พยายามดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตของลูกไม่มีหนี้สิน หลายครอบครัวยอมเป็นหนี้บัตรเครดิตที่ต้องเสียดอกเบี้ยแพงกว่า กยศ. หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หลายสิบเท่า เพียงเพราะอยากให้ลูกหลุดพ้นวงจรหนี้สิน และเริ่มต้นชีวิตการทำงานอย่างสดใส พ่อแม่พยายามทุ่มเทให้ลูกวิ่งได้ตามฝันแล้ว แต่อะไรที่ทำให้เด็กหลายคนยังไปไม่ถึงฝัน และไม่หลุดออกจากวงจนหนี้สิน?

“ประเทศไทยเหลื่อมล้ำติดอันดับโลก ทรัพย์สิน ทรัพยากร ที่คนข้างบนผูกขาด ทำให้คนรุ่นใหม่วิ่งไปไหนไม่ได้”

นี่คือสิ่งที่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ อธิบาย เขายังบอกอีกว่า ประเทศไทยมีมหาเศรษฐี หรือมีเงินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35 ล้านบาท อยู่ประมาณ 60,000 คน แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่การครอบครองทรัพย์สินสามารถส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่นลูกได้ ไม่ต่างจากครอบครัวยากจน ก็สามารถส่งหนี้สินไปถึงรุ่นลูกได้

ข้อมูลจากธนาคารโลกพบว่าทรัพย์สินและหนี้สินจากรุ่นพ่อแม่ จะส่งต่อถึงรุ่นลูกได้ราว 38-40%  นี่คือเหตุผลว่า ทำไม หนี้จึงไม่จบที่รุ่นพ่อแม่เราสักที

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ให้ข้อมูลต่อว่า ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 3 แสนบาทต่อบ้าน ถ้าจะไม่ต้องใช้ชีวิตแบบติดลบ ทุกคนในบ้านจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 27,000 บาทต่อเดือน แต่คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 26,000 บาทต่อเดือน และแทบจะไม่ขยับขึ้นอีกในช่วง 4-5 ปีทีผ่านมา

นั้นหมายความ ครัวเรือนไทยราว 60% ต้องใช้ชีวิตติดลบทุกเดือน ก็คือ เป็นหนี้ นั่นเอง

เปรียบเทียบไทย กับ ต่างประเทศ

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่เผชิญปัญหานี้ เพราะการให้ปัจเจกชน รับผิดชอบชีวิตตัวเองมาก ๆ คล้ายกับ สหรัฐอเมริกา ระบบแบบนี้ถูกเรียกว่าเศรษฐกิจทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ แต่รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ มองว่า “ไทย น่าจะเป็นเงื่อนไขที่แย่ที่สุดของ เสรีนิยมใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะมาพร้อมกับ รัฐบาลอำนาจนิยม มาพร้อมกับโครงสร้างจารีตบางอย่างที่สร้างความเหลื่อมล้ำในประเทศที่รุนแรงมาก”

แต่ก็มีหลายประเทศที่ประชาชนไม่รู้จักกับความยากจน โดยเฉพาะแถบสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ที่ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความเสมอภาค ไม่มีเหลื่อมล้ำ สวัสดิการมีความเท่าเทียม คนสามารถวิ่งตามความฝันได้คุณภาพการศึกษาดี เด็กสามารถสร้างเงื่อนไขจินตนาการที่มีความซับซ้อนได้

“คนแก่ที่นอร์เวย์ มีความสุขมากก่อนตาย… จากการสำรวจพบว่า 6 เดือนก่อนตาย พวกเขาจะมีความสุขด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือ ชีวิตไม่ต้องห่วงกังวล ต่างกับอาม่า คุณยายคนไทย จะตาย ก็ยังห่วงไปหมด”

พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ แบบถ้วนหน้า คือ ทางออก?

จากข้อมูลพบว่า หากประชาชนอยากมีชีวิตปลอดภัย พวกเขาจะต้องมีเงินเก็บ
4 ล้านบาท แต่สิ่งที่พบ คือ มีคนไทยเพียง 10% เท่านั้นที่จะปลอดภัยหลังเกษียณ ส่วนอีก 80-90% อยู่ด้วยเงินของลูกหลาน พ.ร.บ.บำนาญ จึงเข้ามาช่วยปิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนแก่ปลอดภัย คนวัยทำงานปลอดภัย ลดความตึงเครียดของคนทุกรุ่นได้มากขึ้น

และเหตุผลที่ต้องผลักดันให้พลเมืองวัยเกษียณทุกคน (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ได้รับบำนาญถ้วนหน้า เพราะปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมผู้สูงวัยทั้งประเทศ

ค่าเฉลี่ยบำนาญของข้าราชการไทยสูงกว่าที่ประชาชนทั่วไปได้รับถึง 40 เท่า (เฉลี่ย 24,000 : 600 บาท/เดือน/คน) คำถาม คือ แรงงานนอกระบบที่ทำงานมากกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จ่ายภาษีเหมือนกัน ควรมีสิทธิได้รับการดูแลเรื่องนี้จากรัฐหรือไม่?  

งบประมาณจะเพียงพอหรือไม่อยู่ที่รัฐให้ความสำคัญแค่ไหน (Mindset)

“มันไม่เกี่ยวว่า คุณใช้เงินเท่าไหร่ มีประสิทธิภาพไหม นโยบายนี้มันสำคัญที่ว่า คุณอยากเห็นอนาคตที่นี่ เป็นอย่างไร”  

หากรัฐจะจัดสรรบำนาญให้ผู้สูงวัยที่มีอยู่มากกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ ได้รับเงิน 3,000 บาทต่อเดือนต่อคน จะใช้งบประมาณปีละ 3-4 แสนล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายขอประเทศ 3.2 ล้านล้านบาท  

ที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนจึงล่ารายชื่อกว่า 10,000 คน เสนอถึง นายกรัฐมนตรี เพื่อผลักดันเรื่องนี้ แต่ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ย้ำว่า หลักการของ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ แบบถ้วนหน้า คล้ายกับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จำเป็นต้องใช้ทุกองคาพยพ ที่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ยื่น พ.ร.บ.ประกอบกับของภาคประชาชน เพื่อกระตุ้นนายกรัฐมตรี และส่งสัญญาณให้สังคมรับรู้ถึงฉันทามติว่า พรรคการเมืองก็เห็นด้วย และสนับสนุนเรื่องนี้เข้าสู่สภาฯ

ล่าสุดก็จะเห็น ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ของ พรรคก้าวไกล ที่ส่งเข้าคู่ขนานกับภาคประชาชน  

“แทบทุกพรรคการเมือง มีพันธสัญญาเรื่องการดูแลชีวิตของประชาชน แต่พอถึงเวลาผ่านมา 1 ปี หลายพรรคเลือกที่จะเมินเฉย ฉะนั้นวันนี้ ถึงวันที่เราจะต้องทวงสัญญาที่จะต้องดูแลพ่อแม่เรา และทำให้เด็ก ๆ ได้วิ่งตามความฝัน”

แต่หากรัฐไม่ทำ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ มองว่า คงเหมือนซีรีส์เรื่อง “Snowpiercer” (ออกอากาศทาง Netflix) ที่ตอนนี้ คนบนรถไฟชั้น 1 มีทางเลือก 2 ทาง คือ จะใช้กำลังทหาร ตำรวจกักขังคนข้างล่างไว้ไม่ให้ขึ้นมา หรืออีกทางคือ การเปิดประตูที่ล็อกแต่ละโบกี้เอาไว้ แล้วให้ทุกคนมาจัดสรรทรัพยากรร่วมกันใหม่อย่างเท่าเทียม

เพราะสวัสดิการที่ดีจะทำให้ ผู้สูงอายุมีชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคง เป็นสุข วัยทำงานไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง เยาวชนได้เติบโตตามฝันในแบบของตัวเอง ไม่ต้องแบกรับความฝันของคนรุ่นก่อนหน้า ประเทศก็จะได้บุคลากรที่มีคุณภาพทุกช่วงวัย

ถ้าไม่ทำ หรือ ทำช้า อาจสายเกินไปที่จะตัดวงจรความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น และ ความขัดแย้งระหว่างรุ่นในสังคมไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์