เช็ก “ระบบประกันรายได้” กลุ่มไหนเสี่ยงไม่พอใช้หลังเกษียณ

สช.เตรียมจัดเวที ชวนพรรคการเมืองชี้แจงแหล่งที่มา “บำนาญสูงอายุ” เม.ย.นี้

การเลือกตั้ง 66 ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ ด้วยสัดส่วนประชากรสูงวัย ถ้านับกันตั้งแต่อายุ 58 ปี ขึ้นไป เวลานี้ ก็มากกว่า 14 ล้านคน จึงไม่น่าแปลกใจที่ใกล้เลือกตั้งแบบนีั เราจะเห็นบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ทยอยปักธงนโยบายหาเสียงกับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บางพรรคพุ่งไปถึง 5,000 บาท บางพรรคก็ประกาศจะสร้างบำนาญ 3,000 บาทให้เกิดขึ้นให้ได้หลังเลือกตั้ง

แต่หากหวังจะเข้ามาแก้ปัญหาผู้สูงอายุด้วยวิธีเติมเงินเข้ากระเป๋าผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียว อาจไม่ง่าย เพราะในอนาคตหรือแม้กระทั่งเวลานี้ที่เราเริ่มเห็นประเภท และความต้องการของผู้สูงอายุไทยที่มีความหลากหลาย และถ้ามองเห็นแต่ปัญหาแทนที่จะมองให้เป็นโอกาส สังคมสูงวัยอาจจะกลายเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลชุดใหม่โดยเฉพาะด้านการคลังของประเทศ

เวทีสนทนานโยบายสาธารณะ “ไทยพร้อมยัง… ที่จะมีหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ”  โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)  พบว่า ผลกระทบเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ในปี 2566 คือ ด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม ชุมชนสังคม และสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อกำหนดทิศทางสร้างความมั่นคงด้านหลักประกันรายได้ที่ยั่งยืน พร้อมเสนอ 5 เสาหลักเพื่อเป็น “กรอบทิศทางนโยบาย” สู่การสร้าง “หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ” ได้แก่

  1. การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย
  2. เงินอุดหนุนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพที่ผู้สูงอายุทุกคนควรได้รับ และบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ
  3. การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่เชื่อมโยงทั้งการออมของปัจเจกบุคคลและการออมรวมหมู่ ที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน รวมถึงการบริหารจัดการการเงินทั้งระดับบุคคลและครอบครัว
  4. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ในทุกกองทุนให้มีการเน้นการคัดกรองความเสี่ยงและป้องกันภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องการรักษา เช่น มะเร็ง การสำลัก วัคซีน ภาวะสมองเสื่อม การหกล้ม และการเข้าถึงชุดสิทธิประโยชน์ที่ยังไม่ครอบคลุม เช่น ผ้าอ้อม วัสดุสิ้นเปลืองอื่นๆ รวมถึงการบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care)
  5. การดูแล การจัดสรรทรัพยากรร่วม และการบริหารจัดการ โดยครอบครัว ผู้ดูแลผู้สูงวัย ชุมชน และท้องถิ่น

พร้อมเชิญตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กล่าวถึงสถานการณ์ และแนวโน้มนโยบายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดประเด็นถึงนิยามคำว่า สังคมสูงวัยจำเป็นที่จะต้องมองถึงเด็ก และวัยแรงงานด้วย เพียงแต่ปีนี้สัดส่วนผู้สุงอายุแตะที่ 20% หรือสังคมสูงวัยสมบูรณ์ มีวัยแรงงาน 63% วัยเด็ก 16% และอีก 20 ปี หรือ 2583 ผู้สูงอายุไทยจะแตะถึง 30% หรือสังคมสูงวัยขั้นสุดยอด แรงงาน 55% และวัยเด็ก 12% ซึ่งจะทำให้เข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” ที่มีผู้สูงวัยถึง 1 ใน 3 ของประชากรประเทศ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรนี้ ยังทำส่งผลต่อระบบสาธารณสุขเกี่ยวกับภาวะการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และการย้ายถิ่นภายในภูมิภาค 6 แสนคน แสดงถึงนัยยะของหัวหน้าครอบครัวที่ต้องทำงานเลี้ยงดูคนในบ้าน ครอบครัวแหว่งกลาง ที่มีแต่เด็กและผู้สูงอายุลำพัง ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ส่วนในด้านหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุไทย พบว่า รายได้ทั้งหมดมาจากบุคคลอื่นเช่น ลูกหลาน รองลงมาคือการทำงาน และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้สังคมสูงวัย โดยเฉพาะสูงวัยมีพลัง (Ageing society) สามารถที่จะทำงานได้ตามศักยภาพ มีรายได้พอเลี้ยงดูตัวเองได้  

“หากอ้างอิงจากสัดส่วนของผู้สูงอายุในปี 64 จำนวน 13.4 ล้านคน พบกลุ่มที่ได้ทำงาน 30% มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ขณะที่อีก 3% ยังหาโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงาน ไม่นับรวมปัญหาด้านการออม สภาพแวดล้อม นี่จึงเป็นโจทย์ที่แสดงให้เห็นความสำคัญของการสร้างหลักประกันรายได้ เพื่อให้คนมีความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อสูงวัย ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการจัดวางแผนเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว บนหลักการ ‘เกิดดี-อยู่ดี-แก่ดี’ ด้วย

วรวรรณ พลิคามิน

นวพร วิริยานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุลยภาพการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ระบบหลักประกันรายได้ของประเทศไทยที่มีอยู่นั้น อยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของสวัสดิการที่รัฐให้ฝ่ายเดียว เช่น เบี้ยยังชีพ การออมภาคบังคับ และการออมภาคสมัครใจ ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการดำเนินนโยบายมี 3 ด้าน คือ 1. ความครอบคลุม ที่ต้องทั่วถึงประชากรทุกกลุ่ม 2. ความเพียงพอ เป็นจำนวนเงินที่พอใช้หลังเกษียณ 3. ความยั่งยืน ไม่กระทบกับระบบการเงินการคลัง ซึ่งถือว่าทำได้ค่อนข้างครอบคลุม แต่อาจจะไม่เพียงพอหลังเกษียณ ซึ่งควรจะอยู่ที่ 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ โดยกลุ่มที่กังวลมากที่สุดคือแรงงานนอกระบบ เกินครึ่งไม่มีการออมไว้เพื่อใช้หลังเกษียณเสี่ยงต่อการเปลี่ยนสถานะเป็นคนยากจนเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงอายุ

นวพร กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ผลักดันการมีคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อดูแลหลักประกันรายได้หลังเกษียณของประชาชน ภายใต้ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอร่างฯ เข้าสภาฯ หลังการเลือกตั้ง เพื่อบูรณาการทุกกองทุนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรายได้ประชาชนหลังเกษียณ ให้แต่ละกองทุนมีความสอดคล้องกัน เพื่อให้ภาพรวมสุดท้ายประชาชนมีรายได้หลังเกษียณเพียงพอ และไม่เป็นภาระทางการคลังในระยะยาว

นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2545 คนไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตร 30 บาท ที่ช่วยคุ้มครองภาวะล้มละลายจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งนับเป็นการออมในส่วนการดูแลความเจ็บป่วยของผู้คนไปได้มาก แต่ในปัจจุบันที่ไทยเป็นสังคม “แก่ก่อนรวย” เมื่อเจ็บป่วยรัฐจึงต้องรับประกันให้ทุกอย่าง เมื่อวิเคราะห์จากรายจ่ายภายใต้กองทุนบัตรทองที่มีขนาดกว่า 1.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้กลับใช้ในการซ่อมแซมสุขภาพไปถึง 1 แสนล้านบาท และถูกใช้ในการสร้างเสริมสุขภาพเพียง 4 หมื่นล้านบาท เป้าหมายสำคัญจึงเป็นการขยับสัดส่วนให้คนมีสุขภาพดีได้อย่างไร โดยอาศัยท้องถิ่นเป็นฐานซึ่งปัจจุบัน สปสช.มีกองทุนในส่วนนี้กว่า 4 พันล้านบาท

“สถานการณ์แบบนี้ให้เงินเท่าไหร่ก็ไม่พอ การดูแลแบบศูนย์สร้างสุขในชุมชน (community care center) อย่างน้อย ตำบลละ 1 แห่ง ติดเตียงเข้าระบบรักษา ส่วนติดบ้าน ติดสังคม คนในชุมชนช่วยกัน สร้างนักบริบาล กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ สปสช.พร้อมที่จะหนุนเต็มที่”

นพ.อภิชาติ รอดสม

บุญเลิศ อันประเสริฐพร รองเลขาธิการกลุ่มงานปฏิบัติการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า กบข. เป็นกองทุนการออมที่ให้ข้าราชการ 1.2 ล้านคน มีส่วนร่วมในการออมได้สองส่วนคือ การออมภาคบังคับ 3% และการออมภาคสมัครใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ที่มั่นคงหลังเกษียณ ส่งเสริมการออม จัดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับสมาชิก ซึ่งภาพรวมในปัจจุบันมีข้าราชการเป็นสมาชิกทั่วประเทศรวม 1.2 ล้านคน และมีเงินในกองทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

โดยหัวใจสำคัญของการออมกับ กบข. คือ การสร้างผลตอบแทนให้กับข้าราชการ เมื่อเกษียณอายุราชการจะเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลายได้อย่างไร เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อถือเป็นศัตรูของคนหลังเกษียณ ส่วนในเรื่องการส่งเสริมการออมภาคสมัครใจล่าสุดได้มีการแก้ไขกฎหมาย กบข. มีผลบังคับใช้ 20 มี.ค.66 ขยายเพดานการออมสูงสุดที่ 30% มีสมาชิกที่สนใจออมเพิ่มกว่า 20% ข้อสำคัญไม่ใช่แค่การขยายอายุเกษียณราชการแล้วก็จบ เพราะยังหมายถึงภาระงบประมาณที่จะจ่ายเป็นเงินเดือนก็มีมาก ในขณะเดียวกันข้าราชการที่อยู่ในตำแหน่ง การเข้า-เลื่อนตำแหน่ง อาจจะเกิดปัญหากระทบกันเป็นลูกโซ่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รวมถึงการสนับสนุนองค์ความรู้ในการออม และเลือกแผนลงทุนให้กับสมาชิก

“ปัจจุบันเรามีสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพื่อนำมาเป็นเงินยังชีพในแต่ละเดือน แต่กติกาต่าง ๆ ยังมีช่องโหว่อยู่ เช่น ผู้สูงอายุเอาบ้านที่ตัวเองอยู่ไปขอเงินกู้ คำถามคือลูก ๆ ที่รับผลประโยชน์ไม่เคยรู้มาก่อน ก็จะเป็นข้อพิพาทที่ตามมา หลักการสำคัญ จึงต้องสร้างให้เกิดความเป็นธรรมให้กับผู้กู้ และธนาคาร เพื่อให้เป็นกลไกที่จะอยู่ได้ยั่งยืน”

บุญเลิศ อันประเสริฐพร

ขณะที่ความท้ายทายในการปรับรูปแบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามข้อเสนอต่างๆ ที่นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และบางพรรคการเมืองที่นำเสนอก่อนหน้านี้ บุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 นอกจากการกำหนดในเรื่องของกองทุนผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพ เป็นสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัยแล้ว กองทุนนี้ยังสนับสนุนการสร้างรายได้และการประกอบอาชีพ เนื่องจากมีผู้สูงอายุถึง 30% ที่มีศักยภาพและยังสามารถทำงานได้ โดยผู้สูงวัยเหล่านี้จะสามารถนำเงินจากกองทุนไปใช้ส่งเสริมการประกอบอาชีพได้ รายละไม่เกิน 3 หมื่นบาท รวมกลุ่มมากกว่า 5 คนขึ้นไป 1 แสนบาท ในรูปแบบปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 3 ปี และสนับสนุนองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง รวมถึงศูนย์ดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โครงการทุกขนาด ตั้งแต่ 5 หมื่น – 3 แสนบาท

แต่ภายใต้เนื้อหาของ พ.ร.บ. ตั้งแต่ปี 2546 มาถึงปัจจุบันอาจไม่ตอบโจทย์ ขณะนี้ทางกรมจึงอยู่ระหว่างการเสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. เพื่อสนับสนุนสิทธิ การมีงานทำ สวัสดิการ รายได้ต่าง ๆ รวมถึงปรับเบี้ยยังชีพ ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้สูงวัยมากขึ้น

“เห็นด้วยกับพรรคการเมืองว่าผู้สูงอายุจำเป็นต้องสนับสนุนด้านรายได้ แต่อีกด้านคือการทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมจ่ายในการดูแลตัวเองได้ รวมถึงความเข้มแข็งของครอบครัว ที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสังคมสูงอายุที่มีคุณภาพ”

บุษยา ใจสว่าง

กฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า พอช. เป็นอีกหนึ่งกลไกของสวัสดิการที่รัฐจัดให้กับประชาชน ผ่านการสนับสนุนความเข้มแข็งในระดับชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานราก โดยหนึ่งในนั้นคือการเริ่มต้นจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่ปัจจุบันขยายจนมีสมาชิกรวมกันทั่วประเทศกว่า 6.2 ล้านคน มีเงินกองทุนรวมทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท จากเงินของประชาชนที่เก็บสมทบร่วมกันวันละ 1 บาท และถูกนำไปใช้จัดสวัสดิการของคนในชุมชน ดูแลร่วมกันตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

ในวงเสวนายังมีตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งเวลานี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอนโยบายด้านหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวย Think Forward center พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ปัจจุบันเส้นความยากจนของไทยอยู่ที่ 6% หากขยับขึ้นเป็นเดือนละ 2,000 บาท สัดส่วนผู้สูงอายุยากจนจะเหลือ 2% ขึ้นเป็น 3,000 บาท จะเหลือ 1% ทำให้พรรคก้าวไกลเสนอตัวเลขที่ 3,000 บาท เมื่อคูณกับจำนวนผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน ภาระงบประมาณจะอยู่ที่ 4 แสนล้านบาทในแต่ละปี โดยยอมรับว่าต้องใช้เวลา 3-4 ปี ปีแรกขยับจาก 600 เป็น 1,500 บาท และ 2,000 -3,000 ตามลำดับ เพื่อไม่ให้กระทบกับความมั่นคงของการคลัง ส่วนผู้สูงอายที่เหลือ 1% คือ มีหนี้สินโดยเฉพาะจากภาคการเกษตร จำเป็นต้องหาวิธีการในการปลดหนี้ให้ได้ภายใน 4 ปี และผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง เติมเงิน 9,000 บาทต่อเดือน เพียงพอสำหรับการจ้างนักบริบาล การดูแลระยะท้าย ทั้งหมดนี้จะนำงบประมาณจากภาระที่ไม่จำเป็น เพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บภาษีเดิม และภาษีใหม่ เข้ามาสบทบให้เกิดความมั่นคง

ปริเยศ อังกูรกิตติ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การมองเห็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นช่องทางเดียวของรายได้ด้วยการเพิ่มเงินอาจไม่ใช่คำตอบของปัญหาทั้งหมด หากสนับสนุนให้ผู้สูงอายุสร้างรายได้อย่างเป็นระบบจะสร้างให้เกิดความมั่นคงในชีวิต พรรคไทยสร้างไทย เสนอบำนาญแห่งชาติ 3,000 บาท ซึ่งถือเป็นช่วงประคับประคองช่วงเริ่มต้น มีเครดิตประชาชน สามารถกู้เงินได้ 5,000 – 50,000 บาท พอต่อยอดธุรกิจหรือทำกิจการเล็ก ๆ ในชุมชนได้ การออมให้เข้ากับบริบท เช่น หวยบำเหน็จ การลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้วยบัตร 30 บาทพลัส ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล มีศูนย์สุขภาพ ศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในชุมชน

มโนชัย สุดจิตร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางพรรคเสนอแนวทางปฎิรูประบบประกันสังคม สอดคล้องกับบริบทการทำงาน และแหล่งรายได้หลักของประชาชนในปัจจุบัน ให้ระบบรักษาพยาบาล สวัสดิการทางสังคม ของทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ มีความเท่าเทียมกัน ด้วยการโอนภาระด้านค่ารักษาพยาบาลให้กับ สปสช. ทั้งหมด และให้ประกันสังคมดูเรื่องสวัสดิการทางสังคม และนำเงินที่ส่งประกันสังคมเป็นเงินออมเมื่อชราภาพ โดยช่วงแรกจะใช้งบประมาณจากการถ่ายโอนงบประมาณ ส่วนระยะยาวจะใช้วิธีเพิ่มภาษีด้านการบริโภค เช่น จาก 7% เป็น 10% ร่วมจ่ายเพื่อดูแลด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคม

การสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ กำลังเป็นนโยบายที่เกือบทุกพรรคการเมืองใช้เป็นแคมเพนช่วงหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นการขยายเบี้ยยังชีพ การสร้างบำนาญถ้วนหน้า หวยบำเหน็จ ฯลฯ แต่คำถามสำคัญ คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้หรือไม่ และนโยบายที่ถูกนำเสนอออกมามากมายนั้นจะนำงบประมาณมาจากส่วนใด เรื่องนี้ฝ่ายนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองจะเป็นผู้นำคำตอบมาให้กับประชาชน บนเวทีนโยบายพรรคการเมืองที่ สช. เตรียมจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือน เม.ย.66 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตันสินใจในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน