สร้าง ‘โอกาส’ การใช้พื้นที่ ด้วยกลไกที่หลากหลายและการมีส่วนร่วม
ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ให้คนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใน 15 นาที คือนโยบายหลักด้านสิ่งแวดล้อมของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่พูดถึงบ่อยครั้งในช่วงหาเสียง แต่เมื่อกรุงเทพฯ มีพื้นที่จำกัด หนาแน่นไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง แล้วจะทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นได้อย่างไร
กลไกที่ถูกนำเสนอไว้ มีตั้งแต่เรื่องของ การทำ ‘พอคเกตพาร์ค’ หรือ สวนกระเป๋า คือการมีพื้นที่สีเขียวขนาดย่อมในมุมเมืองต่างๆ การนำพื้นที่ของหน่วยงานราชการ เช่น โรงเรียน วัด และพื้นที่เอกชน ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สีเขียว และให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีที่ดินเป็นการทดแทน
รวมทั้งเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ในทางผังเมือง เช่น มาตรการ FAR หรืออัตราการใช้ประโยชน์อาคารโดยรวมต่อที่ดินเพิ่มขึ้น ถ้าเกิดพื้นที่ในอาคารมีการทำประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่การเรียนรู้ และอื่นๆ ตามข้อกำหนดของ กทม. จากเดิมอาจจะสร้างสามารถสร้างตึกได้สิบชั้นก็สามารถที่จะสร้างสูงขึ้นไปได้อีกตามโควต้าที่มี
ทั้งหมดคือมาตรการจูงใจที่ กทม. พยายามจะทำให้เกิดการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กระจายตัวทั่วกรุงฯ
อีกเงื่อนไขหนึ่งที่ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เคยระบุไว้ คือ การกำหนดในผังเมืองรวมว่าพื้นที่แต่ละเขตจะต้องมีพื้นที่สีเขียวเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด เพื่อให้เหมาะสมเพราะทุกวันนี้ แต่ละเขตมีพื้นที่สีเขียวไม่เท่ากัน กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่ง แต่ขณะนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ อยู่ระหว่างหารปรับแก้เพื่อให้สอดรับกับ พ.ร.บ.ผังเมือง ของกรมโยธาธิการและผังเมือง คงต้องรอติดตามในช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณชนอีกครั้ง
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล เคยให้ข้อมูลไว้ว่าพื้นที่รกร้างสีเขียวของ กทม. มีอยู่ประมาน 4,000 ไร่ 7,000 แปลง แต่ถ้าดูข้อมูลในส่วนของประชาชนที่เคยปักหมุดกันไว้ถึงโอกาสในการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างมาเป็นพื้นที่สีเขียว ผ่านเว็บไซต์ we park มีอยู่อย่างน้อย ราว ๆ 50 แห่ง
จากพื้นที่เอกชน สู่การเป็นพื้นที่สาธารณะ
หนึ่งในพื้นที่ที่ปักหมุดแล้วน่าสนใจ คือ บริเวณเขตคลองสาน ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาดราวๆ 2.2 ไร่ เป็นพื้นที่เอกชน ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปัจจุบันมีสภาพรกร้าง หลังจากที่เจ้าของกรรมสิทธิ์นำที่ดินเข้าร่วมกับโครงการ Green Bangkok 2030 นำที่ดินฝากไว้ให้ กทม. ใช้ประโยชน์ สัญญา 12 ปี ยาวถึงปี 2577 โดยเมื่อสองปีที่แล้ว กทม. ร่วมกับ กลุ่ม we park กลุ่มยังธน และภาคีได้จัดกิจกรรม สวนสาธารณะ เปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นสนามฟุตบอล แหล่งเรียนรู้เรื่องเกษตร และกิจกรรมเดินทัวร์ย่าน เป็นการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับการพัฒนาย่าน
ขณะนี้กำลังมีแผนปรับปรุงเพื่อวางแนวทางในการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ พัฒนาพื้นที่ พัฒนาคน และพัฒนาย่านไปพร้อมกัน ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we! Park เล่าว่า การปรับปรุงพื้นที่แต่ละแห่งต้องใช้เวลาดำเนินงาน ไม่ใช่แค่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นหรือออกแบบ แต่เป็นเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะงบจากภาครัฐ จาก กทม. ต้องรอนานนับปี ทำให้โอกาสของการพัฒนาพื้นที่ต้องล่าช้าไป
“เราสามารถย่นเวลาไม่ว่าจะเป็นส่วนของบประมาณจากที่ต้องรอนับปีแล้วไม่รู้เมื่อไหร่จะได้ก่อสร้าง แต่ถ้าเรามีแนวทางสร้างแรงจูงใจ ให้สิทธิประโยชน์กับเอกชน หากว่าเขามาสนับสนุนเราก็ไม่ต้องพึ่งพาเงินของรัฐอย่างเดียว หรือว่างบประมาณจากสำนักงานเขตที่อาจได้ภาษีจากในย่านเข้ามาช่วยก็อาจจะทำให้เราภาครัฐส่วนกลางเพียงฝ่ายเดียว”
ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we! Park
ยศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่รกร้างนั้นมีอยู่เยอะ ในส่วนของรัฐคือ พื้นที่ใต้ทางด่วน ริมทางรถไฟ หรือพื้นที่ที่ยังไม่ได้พัฒนา แต่ที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ของเอกชนรายย่อย ที่ดินเหล่านี้คือโอกาส เมื่อเอกชนทราบเรื่องสิทธิ์ประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี หลายแห่งก็ลุกขึ้นมาปรับปรุงปรับเปลี่ยนพื้นที่ของตัวเอง แต่นอกจากจะเป็นพื้นที่สีเขียวอย่างเดียว หากว่ามีทางเลือกหลากหลายก็สามารถทำให้พื้นที่สร้างสรรค์และสร้างประโยชน์ได้หลากหลายมิติ
“แต่ถามว่าถ้าจะทำให้เกิดอิมแพคมากกว่านั้นคือ ควรมีไกด์ไลน์ที่จะบอกได้ว่า นอกจากทำเป็นสวนเกษตรแล้วยังทำเป็นพอกเกตพาร์ค ทำเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เก็บกักน้ำ พื้นที่อาหารของชุมชน คือถ้ามันมีตัวเลือกการพัฒนาพื้นที่ร้างเป็นเมนูก็ได้ น่าจะทำให้พื้นที่ร้างถูกพัฒนาเพื่อประโยชน์ในหลายมิติ”
ดังนั้น หากคิดอย่างครบมิติมันอาจสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในย่านได้เลย ตั้งแต่ต้นน้ำ ชุมชนช่วยเพาะกล้าพันธุ์ กลางน้ำ ช่วยดูแลรักษา การตัดแต่งต้นไม้ ปลายน้ำสร้างงานอาชีพให้กับชุมชน ทำให้เกิด eco system ทำแล้วได้ประโยชน์กัน เจ้าของที่ดินและคนในย่านแทนที่สวนจะให้บริการอย่างเดียว ผนวกเรื่องธุรกิจด้วยได้ไหม เช่น ที่จอดรถมีพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน หรือที่จอดรถหลังคามีฟาร์มขนาดเล็ก ต้องคิดด้วยว่าจะได้ผลตอบรับในเชิงธุรกิจอย่างไรด้วย จะได้เพิ่งแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการ
ยศพล ทิ้งท้ายว่า ประเด็นสำคัญคือเรื่องการสร้างองค์ความรู้ในย่าน หากว่าองค์ความรู้เรื่องพื้นที่สาธารณะกระจายตัวออกไป ให้ผู้คนรู้เข้าใจ เห็นความสำคัญ และทำกระบวนการได้ ก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนในย่านอื่น ๆ มองหาทรัพยากรของตัวเอง และเชื่อมโยงกันเพื่อพัฒนาพื้นที่ของตน
คืบหน้าโครงการ Green Bangkok 2030
สำหรับ พื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ green bangkok 2030 ตอนนี้มี 12 พื้นที่ ในเขตบางรัก เขตพระโขนง เขตทวีวัฒนา เขตบางกอกน้อย เขตคลองสาน เขตสะพานสูง เขตคลองเตย เขตยานนาวา เขตบางซื่อ เขตจอมทอง เขตสวนหลวง รวม 148 ไร่ 3 งาน 97.7 ตารางวา สำหรับพื้นที่ที่น่าสนใจ มีดังนี้
- เขตบางรัก ขนาด 256 ตารางวา เอกชนให้ขาด ตอนนี้ปรับปรุงเป็นสวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศ
- เขตทวีวัฒนา 98 ไร่ มอบสิทธิ์ 18 ปี ตอนนี้บางส่วนพัฒนาแล้วเป็นโคกหนองนาโมเดล ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร
โครงการนี้อยู่ในความดูแลของสำนักสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เป็นผู้รับเรื่องเสนอพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ ทำกระบวนการสำรวจพื้นที่ ตลอดจนการหาแนวทางการปรับปรุงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้งานร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน
วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ระบุว่าตอนนี้ได้มีนโยบายให้แต่ละสำนักงานเขตสำรวจพื้นที่รกร้างในเขตของตัวเอง เพื่อทำฐานข้อมูล พร้อมกันนี้หากพบว่ามีพื้นที่ไหนมีศักยภาพในการปรับปรุงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้ติดต่อเพื่อประสานงานเชิญเข้าร่วมโครงการ Green Bangkok 2030 เป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อให้มีโอกาสเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้มากขึ้น
การเปลี่ยนพื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สีเขียว คือหนึ่งในกลไกเพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่มใหญ่ของสิ่งแวดล้อมที่ดีของเมือง ที่มีตัวชี้วัดคือ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตร.ม. ต่อคน มีสวนสาธารณะเพิ่มขึ้น ในระดับย่อม ย่าน เมือง เพิ่มการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในระยะ 400 เมตร ในสัดส่วนพื้นที่ 50% ของ กทม. และเข้าถึงได้ง่าย ในระยะ 15 นาที สุดท้ายคือการเกิดพื้นที่ร่มไม้ หรือ ทรี คนูปปี้ร้อยละ 30% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จถึงเป้า ภายใน 2030 นี้