ฐานันดรที่ 4 : ชีวิต (งาน) ไม่ง่าย ในวันที่… “ใจป่วย”

“ผมเป็นนักข่าวภาคสนาม ก็ต้องตั้งคำถามกับทุกประเด็นที่ทำ แต่ถ้าวันหนึ่งผมต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่างานแบบนี้ทำไปทำไม ผมว่าเมื่อนั้นก็เตรียมตัวนับถอยหลังให้กับอาชีพนักข่าวได้เลย”

บทสนทนาสะท้อนความรู้สึกจากใจของ ‘อดีตนักข่าว’ ที่ตัดสินใจลาขาดจากวงการสื่อมวลชน อาชีพที่เขารัก และเติบโตมาบนเส้นทางนี้ตั้งแต่เรียนจบนิเทศศาสตร์  

เมื่อต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า…ทำไปทำไม ?

เขาเล่าย้อนว่า เมื่อ 10 ปีก่อน การได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกอง บก. หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ คือความฝันที่เกิดขึ้นจริงของนักศึกษาจบใหม่อย่างเขา โต๊ะข่าวอาชญากรรม คืองานที่ท้าทาย และเขาก็ทำมันได้ดี แต่ชีวิตก็พลิกผัน จากนักข่าวหนังสือพิมพ์ ก็ได้เปลี่ยนไปทำงานทีวี กับสื่อช่องดัง ในฐานะนักข่าวหนุ่ม เวลานั้นจึงสนุกกับการโลดแล่นในสายงานอาชญากรรมอย่างไม่ต้องสงสัย

“ตอนนั้นสนุกกับการทำงานมาก ได้ติดตามคดีดัง ๆ ได้รายงานข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ไปสืบเสาะค้นหามาจากแหล่งข่าว ได้อะไร มีความคืบหน้ายังไง เราก็รายงานไปตามจริง ไม่ต้องปรุงแต่งอะไร นั่นคือข่าวทีวีในช่วงแรก ๆ ที่ได้เข้าไปสัมผัส”

อดีตนักข่าว เผยความรู้สึก

และแล้วความพลิกผัน จนเป็นที่มาของรอยร้าวในอาชีพสื่อมวลชนเกิดขึ้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิทัล มีการเกิดขึ้นใหม่ของสื่อออนไลน์ การต่อสู้กันอย่างดุเดือดในวงการข่าวทีวี ทำให้แต่ละช่องต้องปรับตัว แน่นอนว่า ช่องที่เขาสังกัดอยู่ก็เช่นกัน

เขายอมรับว่า ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด จากข่าวที่เน้นค้นหาความจริง แล้วรายงานจากข้อเท็จจริงไม่ต้องปรุงแต่ง นโยบายช่องก็ปรับให้เน้นข่าวตลาด เน้นหาเรื่องดรามามากขึ้น ซึ่งก็ชัดเจนว่าข่าวอาชญากรรม คดีต่าง ๆ มีเรื่องราวดรามาให้ต้องขุดคุ้ย เล่นกับความรู้สึกของคน ของญาติผู้สูญเสีย นั่นทำให้เขาเกิดคำถามกับตัวเองทันที ว่า สิ่งที่ทำ ทำไปทำไม ?

“พอทุกอย่างเน้นดรามา จากนโยบายช่องที่เปลี่ยนไป ผู้บังคับบัญชา บก. ก็เปลี่ยนตาม การได้มาซึ่งข่าวในยุคหลังมานี้จึงอาจไม่จำเป็นต้องสนใจความรู้สึกของแหล่งข่าว ทำยังไงให้ได้ตามที่ บก. ต้องการแค่นั้นพอ แต่สำหรับผมมันไม่ใช่ อย่างผมเคยถูกส่งให้ไปตามทำข่าวงานศพของผู้สูญเสียจากคดีดังคดีหนึ่ง ก็ได้รับคำสั่งให้ต้องสัมภาษณ์ญาติ ถึงแม้ไม่ใช่การตั้งคำถามว่า รู้สึกอย่างไร ? แต่ก็ให้ถามว่า ผู้สูญเสียเคยมีคุณงามความดีอะไรบ้างตอนมีชีวิต ซึ่งผมคิดว่า การไปทำข่าวงานศพ หรือเหตุการณ์ที่เกิดความสูญเสียแบบนี้ จริง ๆ ก็แค่รายงานบรรยากาศก็พอแล้ว ไม่ควรต้องไปเอาอะไรกับญาติ ไม่ต้องเอาไมค์ไปจิ้มถาม แค่เขาเห็นว่ามีนักข่าวมาทำข่าวที่วัด เชื่อว่าก็กระทบจิตใจญาติ ๆ มากเกินไปแล้ว ทั้งที่งานศพควรเป็นงานส่วนตัวของคนในครอบครัว เมื่อถูกสั่งให้ทำแบบนั้น ผมจึงปฏิเสธ และตั้งคำถามฝาก บก. กลับไปว่า ข่าวแบบนี้คนดูจะได้อะไร”       

อดีตนักข่าว สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้น

นั่นเป็นรอยร้าวที่ทำให้ อดีตนักข่าวคนนี้ เริ่มต้นตั้งคำถามกับตัวเอง จนในที่สุดการปฏิเสธทำงานที่มองว่าไม่ควรทำ กับกลายเป็นแรงกดดันจากฝั่งผู้บริหารช่อง จนสะเทือนถึงผลประเมินประจำปี เงินเดือนไม่ขึ้น ซึ่งต่างกับคนที่ยินยอมทำตามคำสั่ง แต่นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของผลกระทบ

เพราะที่มากกว่านั้น คือ เรื่องจิตใจ ที่ทำให้เขา เริ่มนับถอยหลังให้กับวิชาชีพนี้ และถึงแม้จะไม่ได้ถึงขั้นเครียด หรือเป็นซึมเศร้า แต่การทำงานที่ย้อนแย้งกับความรู้สึก ขัดต่อจริยธรรมของสื่อมวลชนที่ควรจะเป็นโดยเน้นแค่เรตติ้ง เพื่อสนองความต้องการของการแข่งขันกันในอุตสาหกรรมข่าว ก็เป็นสิ่งที่กระทบความรู้สึก กระทบจิตใจ จนช่วงหลังไม่อยากไปทำงาน สุดท้ายก็ตัดสินใจหันหลังให้กับวงการข่าวตลอดไป

“ความสุขของชีวิต เกิดขึ้นทันทีที่ผมตัดสินใจลาออก และวันที่ไม่ต้องเป็นนักข่าว ก็ทำให้รู้ว่า บางทีเราไม่ต้องรู้อะไรบ้างก็ได้ ไม่ต้องคอยเสาะแสวงหา ไม่ต้องคอยปรุงแต่งเรื่องราวอะไร เพื่อตอบสนองการแข่งขัน ให้เป็นดรามา ตอนนี้อยากรู้อะไรก็แค่เปิดทีวี เปิดมือถือดู โดยไม่ต้องไปรับรู้อะไรในวงการสื่อนั้นอีก”

อดีตนักข่าว เผยความรู้สึก

ในวันที่วงการข่าว เต็มไปด้วยภาวะแข่งขัน จนไม่เห็นคุณค่าคนทำงาน

แน่นอนว่าการแข่งขันที่สูงขึ้นในวงการสื่อ ก็เป็นเหตุผลของภาวะกดดันที่ทำให้ ‘อดีตนักข่าว’ จากสำนักข่าวออนไลน์ชื่อดัง อีกคน ตัดสินใจลาออก เขาเล่าว่า ที่ผ่านมาต้องเจอความกดดันจากนโยบายที่ผู้บริหารปรับเปลี่ยนบ่อย ๆ ความพยายามทำข่าวเชิงคุณภาพ สกู๊ปข่าวดี ๆ ถูกปรับเปลี่ยนกลายเป็นข่าวที่วัดกันที่ยอดคนอ่าน คนดู วัดเรตติ้ง ซึ่งตามมาด้วยรายได้ จนทำให้บางครั้งคนทำงานตามไม่ทัน

“ช่วงที่ผ่านมาองค์กรปรับเปลี่ยนบ่อยจนน้อง ๆ ในทีมทยอยลาออกกัน ผู้บริหารจึงพยายามผลักดันให้คนข้างในได้ก้าวขึ้นตำแหน่งสูง ๆ สำหรับผมเองยอมรับว่า ยังไม่มีประสบการณ์มากพอ ก็ไม่อยากขึ้นตำแหน่ง แต่สุดท้ายก็ต้องให้ผมขึ้นไปดูแล ก็เริ่มรู้สึกไม่สนุกกับงาน ไม่มีความสุขกับการขึ้นมาบริหาร ต้องทำยอดวิวให้ดี ต้องสร้างรายได้ต่อเดือนให้ตามเป้าว่ายากแล้ว ในฐานะของนักข่าววัยแค่ 30 ต้น ๆ แต่ต้องมาดูแล บังคับบัญชาเพื่อนร่วมงานที่มีอายุมากกว่า เจอความมีอีโก้ ของคนในทีมที่ต้องดูแล ยอมรับเลยว่ากระทบต่อตัวเองอย่างมาก ทำให้รู้สึกเครียด และก็เริ่มไม่สนุกกับงานอีกแล้ว”

อดีตนักข่าวออนไลน์ ย้อนเรื่องราว

เขา ยังยอมรับด้วยว่า สิ่งที่ต้องเผชิญมาในช่วงหลายปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ต้องสงสัย เจอความกดดันพอมากเข้าทุกวัน ก็ไม่สดชื่น ไม่สดใส ความสร้างสรรค์ในหัวหมดไป คิดอะไรไม่ออก เวลาเครียด แล้วจะป่วยบ่อยมาก รู้สึกว่า ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากไปทำงาน อยากให้เวลากลางคืนยาวนาน ไม่อยากให้เช้า สุดท้ายเลยตัดสินใจพอก่อนดีกว่า

“จริง ๆ วัฒนธรรมองค์กรดีมาก ๆ นะ แต่นโยบายที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนระยะหลังปรับเปลี่ยนรวดเร็ว แบบไม่เห็นหัวคนทำงาน เห็นเราเป็นเครื่องจักร ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าต่อองค์กร คำพูดจากหัวหน้าแม้ไม่มีคำด่า แต่ก็พูดให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีประโยชน์กับองค์กรแล้วนะ จนบางครั้งก็กลับมาคิดว่า หรือเขาจะกดดันให้ออกหรือไม่”

อดีตนักข่าวออนไลน์ สะท้อนสิ่งที่เจอ

เมื่อวันแย่ ๆ ผ่านพ้นไป ในฐานะที่หัวจิตหัวใจยังคงเป็นคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อ แม้ไม่ได้อยู่บนเส้นทางนักข่าวเหมือนที่ผ่านมาก็ตาม แต่อดีตนักข่าวออนไลน์คนนี้ ก็ฝากให้น้องนักข่าวรุ่นใหม่ พยายามจัดการความรู้สึกของตัวเองอยู่ตลอดเวลา คอยให้กำลังใจตัวเองทุกวัน เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่รู้สึกอะไรเลย สิ่งที่ถูกกดดัน ถูกคอมเมนต์ ต้องมาแยกความรู้สึก สิ่งไหนที่ทำไปแล้วก็มาทบทวนดู ถ้ามีประโยชน์ก็ต้องให้กำลังตัวเอง มองเชิงบวกให้มาก

“คนทำงานสื่อกดดันตลอดอยู่แล้ว ทุกระดับโดนกดดันอยู่แล้ว การให้กำลังใจตัวเองจึงสำคัญมาก ๆ”

อดีตนักข่าวออนไลน์ ฝากทิ้งท้าย

ความจริงที่เกิดขึ้นในแวดวงสื่อมวลชน ผ่านคำบอกเล่าของอดีตคนข่าว คือเสียงสะท้อนบางส่วนที่ชี้ให้ความเสี่ยงที่คนทำงานในวิชาชีพสื่อกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะแรงกดดันจากภาวะแข่งขันสูงในตลาดสื่อ

“งานสื่อต้องอุทิศเวลาให้กับการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง หมายความว่า คนทำงานสื่อมีแรงกดดันตลอดในแต่ละวัน เพราะการเป็นสื่อจะตกข่าว หรือตกกระแสไม่ได้เลย”

ประโยคนี้เป็นคำอธิบาย ความเป็นสื่อมวลชน จากปากของ ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อย่างดี เพราะเมื่อเทียบกับการทำงานของหลายวิชาชีพ จะเห็นว่า Time & Space ของอาชีพอื่น ๆ ค่อนข้างแน่นอน ต่างจากคนเป็นสื่อมวลชน ที่ต้องเอาใจไปผูกติดอยู่กับกระแสที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆ ตลอดเวลา

ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แม้ในช่วงเวลาพักผ่อน หรือกลับจากที่ทำงานเองก็จะต้องกลับเข้าสู่โลกโซเชียลเพื่อคอยเช็กสถานการณ์สังคมในทุก ๆ พื้นที่ ตั้งแต่ละดับ Local ถึง Global ซึ่งนี่คือสิ่งที่นักสื่อสารมวลชน ต้องอยู่กับความไร้ซึ่งพื้นที่ที่แน่นอน พร้อมกับเวลาทำงานที่ไม่มีวันสิ้นสุดอย่างปฏิเสธไม่ได้

ความเหน็ดเหนื่อยและการไม่ได้หยุดพักจากการทำงาน มีผลมาถึงสุขภาพกายและจิตใจ โดยเฉพาะในยุคนี้ซึ่ง ชเนตตี ย้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมสื่อตั้งแต่ในอดีต เดิมที ในยุคอนาล็อก มีเพียงสื่อไม่กี่สำนักที่แข่งขันกัน วัดความนิยม หรือรายได้ ต่างจากสื่อยุคออนไลน์ ที่มีแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ จนทำให้ขณะนี้ “คู่แข่งของสื่อไม่ใช่สื่อด้วยกันเองอีกต่อไป” และ “ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้” ไม่ว่าจะมาในรูปแบบ Content Creator หรือ Influencer ก็ตาม

ภาวะเครียดก่อตัว ในสื่อยุคเปลี่ยนผ่าน

ฉะนั้น ความนิยมที่เคยกระจุกตัวอยู่กับสื่อบางสำนัก และการวัดความนิยมที่มีเพียงไม่กี่รูปแบบในยุคอนาล็อกจึงเปลี่ยนไป และทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น สื่อบางสำนักที่เคยครอบครองพื้นที่สื่อเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ

จากปรากฏการณ์นี้ จึงกลายเป็นสภาวะของการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการล้มหายตายจากของสื่อเก่า ๆ อย่างรวดเร็วเช่นกัน เป็นเหตุผลที่ทำให้การทำงานของสื่อในยุคนี้ อยู่ภายใต้แรงกดดันที่แตกต่างและซับซ้อนไปจากโจทย์เดิม ๆ ในอดีต นั่นเป็นที่มาของสุขภาพจิตคนทำงานสื่อ

ไม่เพียงแค่การแข่งขันสูงของอุตสาหกรรมสื่อที่เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่การเข้ามาของเทคโนโลยีก็ทำให้ทุกคนต้องมี ทักษะรอบด้าน (Multi Skills) เพื่อให้การทำงานรองรับกับความเป็นไปของโลก สำหรับ ชเนตตี มองว่า การผลักให้คนทำงานต้องมีความสามารถรอบด้านเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนทำงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนทำงานที่มาจากยุคอนาล็อก เพราะบริบทการทำงานไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

“เมื่อโลกเปลี่ยน ก็จะเรียกร้องให้คนมี Multi Skills มากขึ้น เลยทำให้บางคนรู้สึกไม่มั่นคงหรือไม่ปลอดภัยจากการทำงาน ทั้งเครียดและกดดัน เพราะการผลักให้ทุกคนพัฒนาในหลาย ๆ ด้าน อาจจะไม่ตอบโจทย์กับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ก็ได้ และยังเป็นการบีบคั้นสิทธิ์ในการที่จะเป็นอะไรก็ได้ของมนุษย์มากจนเกินไป”

ชเนตตี ทินนาม

‘ภาวะหมดไฟ’ เมื่ออะไร ๆ ไม่คุ้มที่จะแลก

การที่สื่อมวลชนต้องทำงานหนักอยู่แล้ว หนำซ้ำนักสื่อสารมวลชนยังต้องเป็นผู้รอบด้านทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง กลับสวนทางกับค่าตอบแทนที่ต้องแลกมาด้วยร่างกายและสภาพจิตใจ เพราะจากประสบการณ์ของผู้สอนด้านสื่อก็เห็นว่ามีหลายครั้งที่คนทำงานสื่ออยู่ในภาวะหมดไฟ (Burn out syndromes) เพราะไม่มีขวัญกำลังใจในการทำงานที่ต้องเจอกับความเสี่ยง ผู้คนที่หลากหลาย และเวลาพักผ่อนน้อย

“เอาเข้าจริง งานข่าวเป็นงานที่เสี่ยงในหลายด้านมาก หลายครั้งที่คนทำงานสื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่สถานการณ์เหล่านั้นกลับทำให้คนทำงานถูกลิดรอนสิทธิ์ที่ควรจะได้รับความปลอดภัยในทุกด้านจากการทำงาน… แม้ตามหลักปรัชญาในวิชาชีพ บอกว่าสื่อมวลชนต้องเป็นคนดูแลและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่หลายครั้งสิทธิเสรีภาพของผู้สื่อข่าวไม่ได้ถูกปกป้องเสียเอง”

ชเนตตี ทินนาม

วิถีสื่อ ชีวิตที่ขาดสมดุล

สอดคล้องกับมุมมองจากประสบการณ์ของ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่เคยคลุกคลีอยู่กับสื่อมวลชน พบว่า จริง ๆ แล้ว สุขภาพจิตของสื่อมวลชนไม่ได้ต่างจากอาชีพอื่น ๆ มากนัก แต่สิ่งที่สื่อมวลชนต้องเจออยู่บ่อยครั้งคือ ความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance) เพราะชั่วโมงการทำงานของคนทำงานสื่อเยอะกว่าเวลาส่วนตัว ประกอบกับความคาดหวังที่คนทำงานต้องแบกรับ จึงทำให้การทำงานของสื่อมวลชนมีความเครียดสูง และรู้สึกไม่มั่นคงจากความกลัวในการที่จะถูกให้ออกจากงาน

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ส่วนปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับยุคที่สื่อเปลี่ยนผ่านมาเป็นสื่อออนไลน์ คือ ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Newsroom Shrinkage ซึ่งหมายถึง “ห้องข่าวเล็กลงจากงบประมาณที่น้อยลง” สำหรับ นพ.วรตม์ มองว่า ปรากฏการณ์นี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อไรก็ตาม ที่คนทำงานต้องการหยุดพักหรือลาออก ก็ไม่สามารถทำได้ จึงทำให้การทำงานหนักขึ้นกว่ายุคก่อน

“ผมเคยคุยกับนักข่าว เขาก็บอกว่า แม้ห้องข่าวเล็ก แต่ไม่ได้ทำให้สนิทกันมากขึ้น เพราะทุกคนทำงานหนักกันมากขึ้น พองานเสร็จก็แยกย้าย ไม่ได้มีความสนิทสนมหรือมีเวลาพูดคุยเหมือนเมื่อก่อน”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

การที่ห้องข่าวเล็กลง ไม่เพียงแต่จะทำให้บุคลากรทำงานหนักขึ้น แต่ส่งผลไปถึง ขอบเขตจริยธรรมที่ถูกมองข้ามจากความเครียด เพราะคนทำงานต้องพยายามเอาตัวเองให้รอดก่อน จนไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งรอบข้างหรือสังคม

นพ.วรตม์ เชื่อว่า ขณะนี้เป็นการทำธุรกิจแบบ พระอาทิตย์ตกดิน (Sunset Industry) ที่ทุกคนเน้นความสำคัญแค่เพียงผลงาน และกำไร แต่ไม่ให้ความสำคัญกับบุคลากรผู้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเช่นกัน ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องที่ อันตรายกับคนทำงาน และองค์กรอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้บุคลากรไม่มีโอกาสมีความรู้สึกที่ดี หรือมีความสุขมากพอที่ช่วยให้คนรอบข้างมีความรู้สึกดี ๆ ไปด้วย

ดูแลกาย ใจ คนทำงาน

ฉะนั้นแล้ว ผู้บริหารจึงจะต้องให้ความสำคัญและทำความเข้าใจกับปัญหาสุขภาพจิตของบุคลากร เพราะถ้าผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญในเรื่องสุขภาพจิต ก็จะไม่มีการปรับวิธีการทำงาน และจะไม่เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่ดี รวมถึงไม่มีระบบป้องกันหรือระบบช่วยเหลือ ทำให้สุดท้ายแล้วปัญหาสุขภาพจิตของสื่อมวลชนก็จะยังเป็นเหมือนเดิม

“พอผู้บริหารเข้าใจ ก็จะมีนโยบาย เมื่อนโยบายลงมาสู่คนทำงาน ก็จะมีแนวทางว่า ใครจะช่วยกันยังไง จะลดความเครียดยังไง มีกิจกรรมให้ทำ เชื่อมความสัมพันธ์ให้พูดคุยกันยังไงบ้าง”

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

แม้เรื่องของจิตใจจะเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่แต่ละคน(อาจจะ)ต้องดูแลใจตัวเอง แต่จะดีกว่าไหม ? ถ้ามีกองทุนหรือสวัสดิการในการเข้ามาช่วยเหลือ ทรัพยากรมนุษย์ผู้เป็นแรงงานข่าวให้กับองค์กร

นี่คือสิ่งจำเป็นที่ ชเนตตี มองว่าสำคัญอย่างมาก เพราะความทุ่มเท หรือความรับผิดชอบที่มีต่องานของแต่ละคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสื่อ ควรได้รับการโอบอุ้มและประคับประคองให้สามารถพัฒนาความมั่นคงในเชิงจิตวิญญาณ ตั้งแต่สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกในที่ทำงาน มาจนถึงค่าตอบแทน ที่องค์กรต้องลงทุนเพื่อให้คนทำงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่และมีความสุข



เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างกระบวนการ เยียวยากาย-ใจ ของคนในวงการสื่อมวลชน The Active Thai PBS จึงร่วมกับ กสทช., สสส., หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ), หมู่บ้านพลัมประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา จัดโครงการ The Art of Communicating กับคนทํางานสื่อสารที่ ต้องเสพและผลิตสื่ออยู่ตลอดทั้งวัน ให้ได้มีโอกาสพัก และเรียนรู้ทักษะการฟัง ระหว่างคนทํางานในแวดวงเดียวกัน และต่างอาชีพกันให้มากขึ้น

โดยเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ เดือนการฟังแห่งชาติ (National Month of Listening, NMoL) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2567 เพื่อปลุกกระแส การมีพื้นที่รับฟัง และกระตุ้นให้สังคมไทยเห็นความสําคัญของการฟัง พร้อมผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ การมีประสบการณ์ตรงและฝึกฝนทักษะการฟัง จนเกิดพื้นที่รับฟังในรูปแบบต่าง ๆ ทั่วประเทศ

สำหรับสื่อมวลชน รวมไปถึงผู้คนทั่วไปที่สนใจ ดูรายละเอียด พร้อมสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ ที่นี่

โดยกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นในวันศุกร์ ที่ 22 พฤศจิกายนนี้ เวลา 9.00 – 15.30 น. ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ)