I’m a Loser ถึงแพ้ก็แค่…เริ่มต้นใหม่

เหนื่อย ท้อ หมดแรงใจ ไม่อยากทำอะไร อยากยอมแพ้…
อยากดีกว่านี้ อยากประสบความสำเร็จ แต่เราไม่เก่งเหมือนใคร

ในโลกของกีฬา มีผู้แพ้ ผู้ชนะ แต่โลกความจริงของ ‘การใช้ชีวิต’ คำว่า แพ้ หรือ ชนะ อาจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่การแข่งขัน แต่ความรู้สึกที่เรากำลังด้อยค่าตัวเอง จากการเปรียบเทียบกับคนอื่น และการถูกตัดสินจากคนรอบข้าง กำลังทำให้ตัวเองรู้สึกว่าเป็น ‘ไอ้ขี้แพ้’ หรือ Loser อยู่หรือเปล่า..?

เมื่อการพ่ายแพ้ไม่ใช่จุดจบเสมอไป ถ้าแพ้ได้ก็เริ่มต้นใหม่ได้เช่นกัน The Active จึงชวนสำรวจมุมคิดการใช้ชีวิตในแบบที่ ‘แพ้บ้างก็ได้’ กับ สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยความมั่นคงร่วมสมัยศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยความมั่นคงร่วมสมัยศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไอ้ขี้แพ้!

เริ่มต้นด้วย Loser Mindset ที่ สุภาค์พรรณ ชวนทำความรู้จัก ว่านี่คือภาวะที่คน ๆ หนึ่งอยากเป็นเหมือนกับคนอื่นที่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่ยอมลงมือทำอะไรเพื่อให้ตัวเองไปอยู่ในจุดเดียวกับคนเหล่านั้น เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์ ไม่มีความสามารถเหมือนคนอื่น (แต่ไม่อยากพัฒนาตัวเอง) โทษว่ามีอุปสรรคมากมาย (แต่ไม่ยอมลงมือแก้ไข) ถอดใจยอมแพ้ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มลงมือ

“อย่าด่วนตัดสินใคร ถ้ายังไม่รู้ว่าเขา ผ่านอะไรมาบ้าง” จึงเป็นสิ่งที่ สุภาค์พรรณ ย้ำและชวนทำความเข้าใจ ว่าประสบการณ์ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน Loser Mindset จึงอาจเกิดจากประสบการณ์แย่ ๆ จนกลายเป็นปมในใจ อาจเคยพยายามทำงานที่ยิ่งใหญ่ให้ประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายต่อให้พยายามยังไงก็ล้มเหลวอยู่ดี จนสูญเสียความทะเยอทะยานในการทำสิ่งต่าง ๆ

ไม่ทำร้ายใคร…แต่ทำลาย ‘ใจ’ ตัวเอง

แม้การเป็น Loser จะไม่ทำร้ายใคร แต่คนที่เสียหายมากที่สุดก็คือตัวเราเอง การมี Loser Mindset มีโอกาสได้รับความเจ็บปวดทางอารมณ์จากภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนกลุ่มอื่นถึง 25 เท่า งานวิจัยหนึ่งจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พบว่า คนขี้แพ้มีโอกาสที่จะได้รับความเจ็บปวดจากภาพพจน์ทางเพศเชิงลบ (เช่น ไม่หล่อ อ้วน ฯลฯ ) มากกว่าคนกลุ่มอื่นถึง 5 เท่า

นอกจากนี้ ความรู้สึกเชิงลบ หมดอาลัยตายอยาก สิ้นหวัง เกลียดชังตัวเอง ยังเป็นสิ่งที่พบเจอในกลุ่ม Loser ได้บ่อยกว่าคนปกติถึง 3 เท่า และการเป็น Loser ยังทำให้เสียโอกาสจากความไม่มั่นใจหรือไม่เชื่อมั่นในตัวเองด้วย

อ้างอิง

Loser” ไม่ใช่ “คนขี้แพ้” แต่บางทีก็ผ่านอะไรมาเยอะจนไม่อยากสู้แล้ว

อยากดีเหมือนคนอื่น แต่ไม่ยอมลงมือทำ เข้าใจที่มาของภาวะขี้แพ้ และหนทางสู่การเป็นผู้ชนะ

ถึงอ่อนแอ แต่ไม่ได้แพ้ตลอดไป

Loser หรือถ้าแปลเป็นไทย คือ พวกขี้แพ้ เป็นความหมายที่กดทับไปในตัว ว่า เป็นพวกขี้แพ้ ทำอะไรก็แพ้ ถ้าปรากฎคำนี้ ต้องมีอีกคำ คือ ชนะ แต่ถ้าพูดในมุมการแข่งขันกีฬาที่ต้องมีแพ้ มีชนะ และต้องกดดันให้ชนะ การแข่งขันกีฬาจะต้องชนะ อยู่ในบริบทที่จะต้องถูกผลักดัน ถูกกระตุ้นว่าทำอย่างไรให้ชนะ หรืออย่างน้อยต้องก้าวไปมากกว่าจุดเดิม เพราะถ้าอยู่จุดเดิมคือ “พวกขี้แพ้”

แล้ว Loser Mindset ที่ไม่ใช่พวกขี้แพ้ละ ? สุภาค์พรรณ อธิบายว่า Mindset ที่ตัดคำว่าชนะออกไป หากไม่มีคำว่าชนะจะแตกต่างกับแบบแรก ผ่าน 3 สิ่ง คือ สำรวจ, เข้าใจ และยอมรับ (ในแบบที่ตัวเองรับได้และมีความสุข) Mindset นี้ไม่ได้บอกให้ยอมรับว่า เป็นผู้แพ้ ไม่ได้บอกว่าให้ยอมจำนน แต่หมายความว่า ลองคิดดูว่าเราอยู่นิ่ง ๆ ได้ไหม ? คำว่าอยู่นิ่ง ๆ ในที่นี้หมายถึง Loser Mindset แบบที่ 2

“Loser Mindset ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่า ที่คิดว่าจะชนะ อยากชนะใคร หาตัวแสดงได้หรือยังว่า อยากจะเอาชนะใคร สมมุติว่าหาได้ว่าอยากจะเอาชนะเพื่อนคนนี้ ถามต่อว่าเพื่ออะไร สิ่งนี้คือขั้นตอนสำรวจ ชนะแล้วได้อะไร ซึ่งส่วนใหญ่จะจบว่าได้อะไร แต่เรายังขาดไปอีกตัวหนึ่งนั่นคือ เสียอะไร สิ่งนี้สำคัญที่สุด สมมุติว่ามีคนว่า เสนอว่าจะเลื่อนตำแหน่ง ให้ตำแหน่งใหม่ และให้เงินเดือนที่สูง ถ้าคนภายนอกมอง หากเราไม่ไปคงแปลก แต่ถ้าเราสำรวจแล้วมองว่าได้อะไร แน่นอนได้ตำแหน่งใหม่ เงินเดือนสูงขึ้น แต่ถ้าสำรวจว่าเสียอะไร สิ่งที่พบ อาจจะกลายเป็นว่าเวลาในการพักผ่อน เวลาในการอยู่กับครอบครัวหายไป สำรวจทั้ง 2 สิ่งว่าได้และเสียอะไร สุดท้ายพอเปรียบเทียบอาจทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น”

ขณะที่ขั้นตอนการสำรวจ ไปถึงขั้นที่ 2 คือ เข้าใจ ถ้าเข้าใจได้ในที่สุด จะเกิดการยอมรับในแบบที่ตัวเองเป็น แต่ไม่ใช่ยอมจำนน เพราะว่าหากยอมรับในแบบที่ตัวเองมีความสุข อยู่ตรงนี้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ตรงนี้ตลอดไป ถ้าถึงจุดหนึ่งเราอาจเกิดความรู้สึกแรงจูงใจในตัวเองว่าอยากขยับตำแหน่งอีกครั้ง สำรวจได้อะไร – เสียอะไรอีกครั้ง แล้วเปลี่ยนแปลงยอมรับในจังหวะที่ตัวเองพร้อม แบบที่ไม่ฝืนตัวเอง

ถึงไม่เป็น Winner แต่ ไม่ใช่ Loser ที่ซึมเศร้า

ถ้าเราเกิดความเครียดมาก ๆ สามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ หากเป็นประเภทที่มี Mindset แบบพวกขี้แพ้อย่างแบบแรก สุ่มเสี่ยงมากที่จะก่อให้เกิดภาวะเครียดเพราะความคิดที่ต้องชนะ กว่าจะรู้ตัวหรือได้รับรักษาก็ต่อเมื่อมันนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าแล้ว หรือจิตแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นเป็นโรคซึมเศร้านำไปสู่การรักษาก็จะจบแบบนั้น

แต่สมมุติว่าเรา คือแบบที่ 2  อาจจะรู้สึกว่าก็สำรวจเข้าใจยอมรับแล้ว แต่ทุกคนมันก็ต้องมีจุดที่รู้สึกเครียดขึ้นมาบ้าง จะทำอย่างไร ? ไม่ให้เครียดจนไปสู่ภาวะซึมเศร้า จริง ๆ คนรอบข้างมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ก่อนจะไปจบที่จิตแพทย์ก็คือคนรอบข้าง

คนรอบข้างโดยเฉพาะคนในครอบครัวและเพื่อนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะช่วยให้คนที่มี Mindset ว่า เรายอมรับตัวเองแล้ว แต่หากมีความเครียด เราต้องได้รับการ support

หากเป็นมุมมองนักกีฬามันต้องชนะ ถ้าไม่ชนะจะเป็นอย่างไร ? ถ้าดูซีรีส์ Weightlifting Fairy Kim Bok Joo แล้วคงได้คำตอบว่า…ก็แค่ไม่ใช่ที่หนึ่ง

Weightlifting Fairy Kim Bok Joo (ยกใจ ยัยจอมฮึด คิมบ๊กจู)

เรื่องนี้ได้เรทติ้งสูงมากในเกาหลีใต้ เพราะเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวันของทุกคน เรื่องนี้สอนในเรื่อง support system ระบบสนับสนุน  

พระเอกที่ไม่ได้ไปถึงฝัน ไม่ได้เป็นนักกีฬาทีมชาติอย่างที่ตั้งใจ แถมยังมีอาการทางสุขภาพจิตเป็นโรคจิตเวช แต่ปรากฏว่าผ่านมาได้ด้วย support system ทั้งจากตัวนางเอกและเพื่อน ๆ สิ่งสำคัญในเรื่องนี้คือ มีความสุขในแบบที่ตัวเองเป็น และทุกความสุขมีราคาที่ต้องจ่าย ไม่มีโลกแฟนตาซีโลกสวย วิ่งไปในทุ่งดอกไม้ลาเวนเดอร์โดยที่เราไม่เจ็บเท้า สอนให้เราอยู่กับความจริง ให้เรายอมรับกับสิ่งที่เป็น

หรืออย่างเรื่อง Life flower in sand ที่พระเอกอยากลาออกจะไม่เล่นกีฬาชีรึมอีกตลอดชีวิต แต่ความจริงพระเอกไม่ต้องการลาออกหากวินาทีที่พระเอกบอกว่าจะลาออกไม่ได้มีเสียงคัดค้านจากใครคงเหมือนทุกคนบอกว่า จะออกก็ออกไปเลย ซึ่งพระเอกอาจมีความรู้สึกว่าแค่ต้องการแค่ใครสักคนที่พูดกับเราหรือให้กำลังใจเรา ดึงไว้ให้ได้คิด โชคดีมากที่พระเอกมีเพื่อนให้กำลังใจ มี support system

Like Flowers in Sand (ดอกไม้สังเวียนทราย)

สุดท้ายย้อนกลับมาว่า สำรวจ เข้าใจ และยอมรับ ถ้าสำรวจแล้วไม่เข้าใจแล้วข้ามไปยอมรับเลย แบบนั้นจะเรียกว่าฝืน แต่เข้าใจอย่างเดียวก็อาจจะไม่พอ ต้องตระหนักด้วย เพราะคำว่า เข้าใจ กับ ตระหนัก ไม่เหมือนกัน

หากมีเอกสารเรื่องสุขภาพจิต อ่านแล้วอาจจะเข้าใจว่าสุขภาพจิต และโรคทางจิตเวชมีอะไรบ้าง แต่ความตระหนักยังไม่เกิด การตระหนักจะเกิดก็ต่อเมื่อเจอคนที่มีอาการแบบนี้ คนที่ว่าคือคนที่เดินอยู่กลางทางแล้วก็ยืนนิ่ง ๆ เหม่อลอย ถ้าเราตระหนักแล้ว เราจะไม่ทำให้เขาเกิดความอับอายไม่ไปยืนมองเขา หรือถ่ายคลิป

‘สุขภาพจิต’ ไม่ได้มีแค่ ดี หรือ เลว  
โลกของจิตใจ ไม่ได้มีแค่ ขาว กับ ดำ

สิ่งสำคัญสำหรับอาการสุขภาพจิต โดยเฉพาะโรคทางจิตเวชมีเฉดสี ซึ่งไม่ใช่แค่ขาวหรือดำ ไม่ใช่ชั่วหรือดี มีหลายคนเห็นว่าผู้ป่วยซึมเศร้าบางคนมีอาการรุนแรง บางคนก็ไม่ได้มีอาการอะไร เหมือนอย่างในละครที่ตอนจบตัวร้ายจะต้องเป็นบ้า ต้องทำร้ายคน ซึ่งจริง ๆ แบบนั้นก็อาจจะมี แต่อาจไม่ได้เกิดจากการเป็นซึมเศร้า แต่เกิดจากการมีภาวะซึมเศร้าแล้วมีปัจจัยเร้าตัวอื่นไปกระตุ้น ต้องมีเหตุมีผล ซึ่งเหตุผลไม่เกี่ยวกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ แต่ต้องมองที่มาว่าเกิดอะไรขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเฉดสีอื่นที่เป็นแบบที่สามารถใช้ชีวิตปกติได้ เพราะเขาคือคนปกติจริง ๆ โรคจิตเวชก็เหมือนกับโรคอื่น ๆ เมื่อเป็นหวัดก็ไปหาหมอ เพียงแต่จิตเวชก็ไปหาหมอเฉพาะทางเพียงเท่านั้น จริง ๆ เป็นเรื่องปกติมาก ๆ

อยากให้ทุกคนมองว่าอาการป่วยสุขภาพจิตไม่ได้มีแค่ ดำกับขาวชั่วกับดี แต่มันมีเฉด เพราะฉะนั้นไม่สามารถไปตีตราได้ว่าถ้าคนที่เป็นอาการทางนี้เขาจะไม่ดีหรือเขาจะเป็นบ้า แต่เขาคือคนทั่วไปในสังคมเหมือนเรา

ซีรีส์เกาหลีใต้ – ละครไทย การสร้างภาพจำสุขภาพจิตที่ต่างกัน ?

ต้องเริ่มด้วยการทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้ผลิตละครไทยไม่ได้ด้อยกว่าเกาหลีใต้เลย ในบางเรื่อง เราอาจจะเก่งกว่าด้วยซ้ำ จากโครงการวิจัยที่ได้ทำไปจะเห็นว่า ในส่วนของผู้ผลิตไทยไม่ได้มีจุดด้อย นับตั้งแต่ระดับบน นายทุน งบประมาณพร้อม ผู้กำกับ คนเขียนบท ทุกสิ่งทุกอย่างมีพร้อม ไม่ได้ต่างจากเกาหลีใต้ แต่สิ่งที่แตกต่าง คือข้อมูล เนื้อหา ที่จะใส่ลงไปในบท ไม่ว่าจะเป็นบทละครหรือว่าบทภาพยนตร์

คนเขียนบทเราด้อยกว่าคนเขียนบทเกาหลีใต้ ? ก็ไม่เลย ปัจจุบันไทยมีสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ให้ความรู้เรื่องสุขภาพจิตกับนักเขียนบทอย่างจริงจังและเข้มข้น แล้วอุปสรรคอยู่ตรงไหน ?

ในแง่ของความพร้อมคือไทยพร้อมทุกอย่าง แต่ว่า มันขายไม่ได้ หมายความว่า นายทุนเห็นแล้วว่ามีประโยชน์แต่ขายไม่ได้ แล้วทำไมซีรีส์เกาหลีขายได้ ? นั่นเพราะวิธีการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งไทยอาจจะต้องไปดูของเกาหลีใต้ว่าสอดแทรกอย่างไร และยังสามารถขายได้ เราก็ต้องทำแบบนั้นเหมือนกัน

เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถลดการตีตราได้  ทำไม ? อาการออทิสติกในละครไทยกลายเป็นอาการปัญญาอ่อน ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจจะร่วมด้วยได้แต่ไม่ใช่ทั้งหมด พอออกผ่านสื่อแล้วเป็นที่นิยม เป็นละครที่มีคนชมเป็นวงกว้าง ผู้ชมมีภาพจำว่า คนเป็นออทิสติกต้องปัญญาอ่อน ซึ่งมันไม่ใช่เลย คนเป็นซึมเศร้าหรือไบโพลาต้องไล่ฆ่าคนไหม ? ต้องนั่งข้างถนนเสมอไปไหม ? ไม่ใช่เลย  

แต่ทำอย่างไร ? เรื่องของสุขภาพจิตจะไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องวิชาการ มองเป็นสารคดี ทำอย่างไรจะสื่อสารได้อย่างแยบคาย

“Loser” คนที่ขี้แพ้ไม่ใช่คนที่ทำอะไรแล้วล้มเหลว แต่หมายถึงคนที่ถอดใจยอมแพ้ก่อนจะเริ่มต่างหาก…

ความล้มเหลวเป็นหนึ่งในประสบการณ์ชีวิต เพียงแค่เราสำรวจ เข้าใจ และยอมรับ บางครั้ง Loser ก็อาจทำให้เราเติบโตขึ้น เรียนรู้แล้วโอบกอดตัวเองบอกตัวเองว่า… “แพ้บ้าง อะไรบ้าง ก็ได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ภัทวีย์ ศรีหะไตรย์

ผู้ประสาน 10 ทิศ ชอบการติดต่อ-สื่อสารเป็นชีวิตจิตใจ ตัวเราขับเคลื่อนไปได้ด้วยการ "ติ่ง"

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล