บทบาทหมอ ในกระบวนการยุติธรรม #ตะวันแบม

“เมื่อเจ้าตัวยืนยันว่าเลือกปฏิเสธการรักษา ขณะที่หมอเห็นความตายอยู่ข้างหน้า หมอจะทำอย่างไร” 

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ให้สัมภาษณ์ระหว่างทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ปล่อยนกพิราบ เมื่อวันเสาร์ที่ 28 มกราคม 2566 ที่ด้านหน้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ สถานที่พักรักษาตัวของ 2 นักกิจกรรม ตะวันและแบม หลังอดข้าวอดน้ำ จนมีความเสี่ยงต่อสุภาพ 

เป็นคำถามที่เธอเองก็มองว่าเป็นเรื่องซับซ้อนที่จะหาจุดสมดุล  และบอกว่ามันคงไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่การถกเถียงกันในกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องวงใน อาจจะเป็นคำตอบที่ชี้ขาด

“จริง ๆ ต้องไม่มีใครตายจากการต่อสู้เรื่องการมีชีวิตที่ปลอดภัยในสังคม เราต้องอย่าปล่อยให้เขาตาย 

เพราะฉะนั้นการตอบสนองต่อเจตนาของเขาในลักษณะที่เข้าอกเข้าใจในระดับหนึ่ง

น่าจะทำให้เขากลับมาใช้ชีวิตร่วมกับเราได้ และการต่อสู้ของเขาก็เป็นไปตามวิถีปกติ ไม่ได้ใช้สิทธิเกินสิทธิ ไม่ใช้เสรีภาพเกินเสรีภาพ ดิชั้นยืนยัน” 

ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก

ต่อมา วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566 มีคำชี้แจงจากทนายความของตะวันและแบมอัพเดตอาการว่าทั้งคู่ยอมจิบน้ำจากคำร้องขอ “อาจารย์หมอทั้งห้าคน” และมีการอ้างรายงานของแพทย์ ระบุ

มีความตั้งใจในการอดอาอาหารเพื่อเรียกร้องตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ได้ปรารถนาจะจบชีวิตตนเอง ซึ่งรับทราบว่าการอดอาหารมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ไม่ได้แสดงความกลัวต่อความเสี่ยงนั้น

อย่างไรก็ตามเป้าหมายสูงสุดไม่ใช่การตาย และเห็นว่าการมีชีวิตต่อเพื่อการต่อสู้กับสิ่งที่เป็นเป้าหมายหลักสำคัญ ยังเป็นประเด็นที่สำคัญอยู่ระหว่างการพิจารณา

พร้อมทั้งขอบคุณไปยังคณะแพทย์หรือ “อาจารย์หมอ” ทั้งห้าท่านผู้เข้าตรวจอาการของตะวันและแบม ในวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา 

ปฎิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของแพทย์ในกระบวนการยุติธรรม กรณีตะวันและแบมกำลังถูกจับตาและมองเป็นกรณีศึกษาที่ละเอียดอ่อน ที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในสังคมไทย ภายหลังจากที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่งตัว ตะวันและแบม มายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 

เพราะหากดูตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข สภาวิชาชีพอย่างแพทยสภา เรื่องสิทธิผู้ป่วย ข้อ 3 บัญญัติว่า “ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือรีบด่วน จากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยทันทีตามความจําเป็นแก่กรณี โดยไม่ต้องคํานึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความ ช่วยเหลือหรือไม่”

The Active สัมภาษณ์พิเศษ​ รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในฐานะประธานกรรมการแพทย์ ที่ดูแลกรณี “ตะวัน-แบม” ในขณะนี้ 

กรรมการแพทย์ 5 คนมีบทบาทอย่างไรบ้าง

การตั้งกรรมการแพทย์โดยทั่วไปมีขึ้นกับกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่นโรคมะเร็งจะต้องมีแพทย์สหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับกรณีอดอาหาร เราก็ตั้งทีมแพทย์ที่มาดูแลแบบองค์รวม ทั้ง กาย จิต สังคม ซึ่งประกอบด้วยแพทย์สหสาขาวิชาชีพ 5 คนได้แก่ 

  1. อายุรแพทย์ เพื่อดูแลโรคทางกายโดยเฉพาะความผิดปกติหลังจากอดอาหารอดน้ำ
  2. จิตแพทย์ เพื่อประเมินในเรื่องของสุขภาพจิต ความคิดเห็นของนักกิจกรรมทั้งสองท่าน 
  3. แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ดูเรื่องของสังคม 
  4. นิติเวช มองเรื่องกฎหมาย หลักจรรยาบรรณ และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับกรมราชทัณฑ์ 
  5. ผอ.ฝ่ายการแพทย์ ดูแลในแง่การบริหาร ประสานงานอำนวยความสะดวกทุก ๆ ฝ่าย 
ยุติธรรม

รูปแบบการดูแลเป็นอย่างไร

1. มีแพทย์เจ้าของไข้เข้าไปดูแลทุกวันเช้าเย็น ติดตามอาการความผิดปกติต่าง ๆ และ  2. คณะกรรมแพทย์ที่เข้าไปพูดคุยในบางวันหรือเวลา โดยแพทย์แต่ท่านจะเข้าไป รวมถึงการสื่อสารกับญาติ หรือผู้ที่มาเยี่ยม ที่มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วย 

การสื่อสารอย่างตรงประเด็นและเป็นกลาง  

บทบาทหนึ่งที่สำคัญคือการสื่อสารของแพทย์ ซึ่งเป้าหมายแรกเป็นการสื่อสารภายในเพื่อภาพรวมของการบริหารจัดการ ส่วนการสื่อสารต่อสังคมภายนอกอาจมีข้อกำจัดที่ทั้ง 2 คนยังอยู่ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์

การสื่อสารมี 2 กรณีที่ต้องเฝ้าระวัง คือ 1.ต้องได้รับการยินยอมหรืออนุญาตจากผู้ป่วย 2.ต้องได้รับการยินยอมจากผู้ดูแลกำกับ 

เราพูดคุยกันจนตกผลึกแล้วควรมีการสื่อสารต่อสังคม ให้ได้รู้อาการ ทางราชทัณฑ์ก็ทราบและเห็นชอบให้ออกเป็นเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ ทุกวันเวลา 10.00 น. ผ่านทางเฟซบุ๊กของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ​ เพื่อรายงานอาการของน้องทั้ง 2 คน

การสื่อสารอย่างตรงประเด็นและเป็นกลาง หมายถึงรายงานก็รายงานอย่างตรงไปตรงมา หากเราสื่อสารอย่างเป็นกลาง และเป็นข้อเท็จจริง ก็จะช่วยให้เราสินตัดสินใจอะไรได้ง่ายขึ้น เช่น เมื่อเกิดปัญหาสุขภาพ ซึ่งอาจจะพยากรณ์ไปล่วงหน้าได้ อันนี้อาจจะช่วยเรื่องกระบวนการตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งกรมราชทัณฑ์และศาล อาจจะทำให้การตัดสินใจนั้นเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วย หรือนักกิจกรรม ก็ถือเป็นประโยน์ของชาติต่อไปได้

‘ตะวัน-แบม’ เป็นกรณีแรกของ รพ.ธรรมศาสตร์

สำหรับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ก็เคยรักษาดูแลผู้ที่อยู่ในความควบคุมของกรมราชทัณฑ์ มีทั้งนักโทษ มีที่ถูกคุมขังที่ถูกส่งเข้ามา นี่เป็นบริบทปกติเนื่องจากเป็นโรงพยาบาลระดับตติยะภูมิ ที่รับคนไข้เข้ามาดูแลต่อจาก โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ อย่างโรงพยาบาลราชทัฑณ์ เคยมีการขอความร่วมมือมาอย่างกรณีโควิด-19 รับ “รุ้ง-เพนกวิน” มารักษาที่นี่

ส่วนกรณี “ตะวัน-แบม” อดอาหาร ก็ต้องยอมรับว่าเพิ่งดูแล บริหารจัดการเป็นครั้งแรก แต่ก็มั่นใจเพราะเราที่รับส่งต่อ และมีอาจารย์แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชาชีพ

 

ข้อมูลวิทยาศาสตร์ อาจนำไปสู่ทางออก

การที่เราดูแลในเรื่องของสุขภาพของน้องทั้ง 2 คนซึ่งยังเป็นเยาวชนด้วยกรณีนี้ไม่ได้เป็นโรคภัยไข้เจ็บโดยตรง แต่เป็นสิ่งที่น้องยืนหยัดที่จะทำตามข้อเรียกร้อง 

ผมก็คิดว่าแง่ของแพทย์ที่เกี่ยวกับกระบวนการนี้ ถ้าเราสามารถที่จะทำให้นักกิจกรรมทั้ง 2 คน ทั้งผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจมองเห็นว่าถ้าอดอาหาร อดน้ำต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น ผู้คนก็น่าจะสามารถตัดสินใจอะไรบางอย่าง หรือมีข้อเสนออะไร เพื่อเป็นทางออกให้ทั้ง 2 ท่าน 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์