หลังมรสุม คลื่นชีวิตโนรา

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒธรรม ที่คนสมุยจับต้องได้…

“เกาะสมุย เศรษฐกิจดูเสื่อมโทรม เพราะภัยร้ายโหมลุกลามข้ามดินแดน
เราโนราไม่ได้รำนำคณะ เวทนาตรากตรำลำบากแสน
ผลกระทบท้องถิ่นทั่วดินแดน มันสุดแค้นแสนขมขื่น
พี่น้องเอย…กลืนน้ำตา”

การต้องเอาตัวรอดของคนบนเกาะสมุย ในยามที่โควิด-19 เข้าระบาดและคุกคาม ถูกถ่ายทอดผ่านบทกลอนและจังหวะของมโนราห์

“สวรรค์กลางอ่าวไทย” คำกล่าวขานของเกาะสมุยในยามที่คึกคัก มีการท่องเที่ยวเป็นฟันเฟืองหลักด้านรายได้ของคนบนเกาะ แต่โรคระบาดในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ภาพบนเกาะสมุยอาจไม่ใช่อย่างนั้น…

หาดเฉวง แหล่งท่องเที่ยวยามค่ำคืน ที่เคยคราคร่ำด้วยนักท่องเที่ยว กลับเงียบเหงาไร้ผู้คน สถานการณ์แบบนี้กระทบกับศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างมโนราห์ด้วย เพราะเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้คณะมโนราห์มากที่สุด เมื่อการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ รายได้ของคณะมโนราห์ก็กลายเป็นศูนย์

“ช่วง 1-2 ปี ที่ไม่ได้รับงาน รายได้ไม่เหลือเลย ผมต้องเอาเงินเก็บมาจุนเจือลูกน้อง บางทีลูกน้องบอก ‘พี่อาม ป้าจงดี ขอเงิน 100 บาท กินข้าวหน่อยได้ไหม’ ทักมาขอเกือบทุกวัน ก็จำเป็นต้องให้ เพราะเราต้องให้ลูกน้องอยู่ในวงของเราให้ได้มากที่สุด”

“อาม” โกเมศ พรหมเมศร์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของคณะมโนราห์แม่จงดี รู้จักกันในนาม “อามน้อย ดาวรุ่ง” เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ของคณะมโนราห์ ที่เขาต้องดูแลสมาชิกกว่า 30 ชีวิต ในฐานะหัวหน้าคณะ แม้ช่วงที่ไร้งานจ้าง แต่การดำเนินชีวิตและเรื่องของปากท้องเป็นสิ่งที่รอไม่ได้

เขาถ่ายทอดชะตาชีวิตช่วงมรสุมนี้ ออกมาเป็นบทกลอนมโนราห์ “ต้องใช้ทุนจุนเจือเผื่อลูกน้อง ควักเงินทองลำบากมากปัญหา เกินจะกล่าวมาเสกสรรพรรณนา ชาวประชาก็เป็นทุกข์ ไม่สุขใจ”

“ผมโนราไม่ขอท้อต่อชีวิต ช่วยต่อติดสืบสาน ในงานศิลป์…”

โนรา

ไม่เพียงนำการแสดงศิลปะพื้นบ้านอย่าง “มโนราห์” อวดสายตานักท่องเที่ยว สร้างรายได้เลี้ยงชีวิต แต่ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ยังเป็นความหมายที่ถูกใช้อธิบายการเชื่อมสายสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่นตามวิถีชาวใต้ ที่รวมถึงคนเบาะเกาะสมุยด้วย

การบูชาบรรพบุรุษ โดยผสมผสานความเชื่อต่อสิ่งเหนือธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน อย่าง “โนราโรงครู” จะเกิดขึ้นทุก ๆ 8 ปี เป็นพิธีกรรมที่ญาติพี่น้อง ลูกหลานมารวมตัวกัน เป็นความกลมเกลียวแสดงถึงความกตัญญูกตเวที

มโนราห์เป็นรากเหง้า เป็นวิถีชีวิตของคนบนเกาะ หลักฐานอย่างหนึ่งจากคำบอกเล่าของอามก็คือ ลูกหลานของคนสมุยดั้งเดิมมากถึง 70-80% มีเชื้อสายมโนราห์ ส่วนคณะมโนราห์แม่จงดี ทำหน้าที่ส่งต่อมรดกที่สืบทอดกันมานานกว่า 60 ปี สร้างมโนราห์มาแล้วมากกว่า 200 ชีวิต

“มรดกทางวัฒนธรรม” ต้นทุนสร้างโอกาสทางการศึกษา

เด็ก ๆ หลายคนบนเกาะสมุย ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมเรียนรู้และฝึกซ้อมการรำโนรากับคณะมโนราห์ของอาม พวกเขาจะมีรายได้จากการแสดง ส่วนใหญ่นำเงินส่วนนี้ไปใช้ระหว่างเรียน

ไอซ์ หรือ สิทธิศักดิ์ สมบูรณ์ เป็นหนึ่งในคณะมโนราห์แม่จงดี ร่วมฝึกซ้อมกับน้อง ๆ ด้วย ไอซ์เป็นลูกหลานของคนเกาะสมุย สืบทอดเชื้อสายมาจากครอบครัวมโนราห์เช่นกัน

โนรา

นอกจากความรัก และชื่นชอบในมโนราห์ เขายังใช้เป็นโอกาสในการศึกษาที่สูงขึ้น การรับงานแสดงคืนละ 300 – 700 บาท ได้ช่วยส่งตัวเองเรียนมาตั้งแต่ชั้น ม.3 เพราะอยากแบ่งเบาภาระของยาย ที่ต้องทำงานหนักหาเงินมาส่งเสียให้เขามีโอกาสได้เรียนหนังสือ

ยายของไอซ์บอกว่า แม้การเรียนมหาวิทยาลัยของไอซ์จะมีโครงการกู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ค่าเช่าหอและค่าน้ำค่าไฟ ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ยายต้องช่วยรับผิดชอบ เพราะต้องข้ามเกาะไปเรียนฝั่งสุราษฎร์ธานี แม้ช่วงรอยต่อของการศึกษาก่อนหน้านี้ ยายจะไม่อยากให้เรียนต่อ เพราะไม่มั่นใจว่าจะส่งเสียได้แค่ไหน แต่ความพยายามของไอซ์ทำให้ยายมั่นใจว่าการเรียนและการศึกษาจะช่วยให้หลานรักไม่ต้องลำบากเหมือนยาย

พ่อก็ไม่เอา แม่ก็ไม่เอา มีแต่ยายคนเดียว มึงเรียนไม่จบหรอก…เป็นคำพูดที่เจ็บมาก จนตอนนั้นจบ ม.3 ได้ใบประกาศมาฝากแม่ฝากยาย เป็นอะไรที่ดีใจมาก เป็นการลบคำดูถูกจากคนรอบข้าง”

ไอซ์เล่าทั้งน้ำตา

ไอซ์ ต่อยอดสิ่งที่ตัวเองรัก ไปพร้อม ๆ กับการเรียนในสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี แม้ยังต้องใช้เวลาอีกปีกว่า ๆ จึงจะสำเร็จการศึกษา แต่ความชำนาญในการรำมโนราห์ ทำให้เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยสอนในชั้นเรียนด้วย

“เป้าหมายตั้งใจที่จะเรียนสูง ๆ เป็นครู รับราชการที่มั่นคง เพื่อให้ยายได้อยู่สบาย แต่ถ้าไม่มีโนราในวันนั้น ผมก็อาจจะไม่ได้เรียนต่อเพราะงานบนเกาะค่อนข้างหากยาก การทำงานกลางคืนแบบนี้ทำให้เราเรียนพร้อมกับแบ่งเวลาทำงานได้ด้วย”

“วิถีหมุย” หลังคลื่นมรสุม

หลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย การท่องเที่ยวเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง พร้อม ๆ กับคนเกาะสมุยที่ค่อย ๆ ฟื้นคืนการท่องเที่ยว โดยใช้ต้นทุนที่เป็นรากเหง้าด้านศิลปวัฒนธรรม ต่อยอดเพื่อดึงดูดทั้งคนในเกาะและนักท่องเที่ยวที่มาเยือน เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนที่ทุกคนได้ประโยชน์

โนราริมหาด หรือรำกลางทราย ถือเป็นการแสดงที่สะท้อนกลิ่นอายวิถีชีวิตของชาวเกาะสมุยในอดีต ที่ห่างหายไปจากผืนทรายแห่งนี้มากว่า 20 ปี ถูกฟื้นคืนโดยคณะมโนราห์แม่จงดีอีกครั้ง ภายใต้การส่งเสริมวิถีท่องเที่ยวและเศรษฐกิจใหม่บนเกาะสมุย ผ่านกิจกรรมสัมผัส “วิถีหมุย” ส่งเสริม ให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ กระตุ้นการท่องเที่ยวโดยชุมชน และการสืบสานอนุรักษ์วิถีชีวิต ที่มีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์ ผ่านวิถีการดำรงชีวิต ชุมชนพื้นบ้าน วิถีการกิน อยู่ ในชีวิตประจำวันของคนในเกาะสมุย 

และเป็นโอกาสที่ดีในการย้ำเตือนถึงความสำคัญ หลังยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้โนรา เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

“ผมคิดว่าอย่างน้อย ๆ เด็กรุ่นใหม่จะได้รู้ว่านี่คือโนรานะ นี่คือวิถีชีวิตชุมชนของเกาะสมุยตั้งแต่ดั้งเดิม และสามารถจะนำไปต่อยอดได้ในอนาคต ผมคิดว่าโนราในสมุยไม่สูญหาย ไม่ตายจาก ที่สำคัญวิถีอยู่ได้ เราอยู่ได้ เศรษฐกิจอยู่ได้ เพราะเราอาศัยวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของตัวเอง”

โกเมศ พรหมเมศร์ หัวหน้าคณะมโนราห์แม่จงดี 

“จะยืนหยัดคงอยู่คู่ของเดิม ให้พูลเพิ่มมั่งมีวิถีชน
ตระหนักรู้ให้ลึกซึ้งถึงคุณค่า จะหวนกลับคืนมา พี่น้อง สถาพร
เราต้องสู้เพื่อวันใหม่ ใจอดทน ให้ทุกคนร่วมด้วย ชาวสมุยเรา
แล้วเข้ามาช่วยกัน แล้วให้ทุกคนร่วมด้วย ชาวเกาะหมุย แล้วเข้ามาช่วยเหลือกัน”

การท่องเที่ยว การศึกษา ท้องถิ่น กลไกส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ต้องไม่แยกส่วน

จันทร์พร ช่วงโชติ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงเรื่องราวของคณะมโนราห์แม่จงดี ที่ถูกท่ายทอดในสารคดีคนจนเมือง ซีซัน 3 ตอน “คลื่นชีวิตโนรา” ว่าคือสิ่งที่เกิดขึ้นบนเกาะสมุย ช่วงที่ทุกภาคส่วนในท้องถิ่นจับมือกันฟื้นคืนเศรษฐกิจชุมชน เพราะก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจเน้นส่งเสริมไปที่ธุรกิจรองรับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น ธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยวชายหาด ดำน้ำ หรือ Sea Sand Sun ซึ่งจะมีผู้ประกอบการบางส่วนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ทำให้ธุรกิจ รวมถึงชาวบ้านเอง ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง 

หลาด กิน อยู่ ดู หมุย ถือเป็นจุดเริ่มต้น และความสำเร็จในการที่ชุมชนใช้วิถีชีวิตความเป็นดั้งเดิม มาเป็นจุดขายกับคนในพื้นที่ก่อนรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาหลังสถานการณ์คลี่คลาย ล่าสุดกิจกรรม “หนังฉาย ชายเล” ก็มีการเพิ่มการดูหนังกลางแปลง โนรา หนังตะลุงเข้าไปด้วย พร้อมกับการขายของในท้องถิ่น ก็ได้รับการตอบสนองจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

จันทร์พร บอกอีกว่าโนราเป็นการแสดงที่เด่นชัดมากขึ้นในช่วงนี้ ในการใช้เป็นการแสดงเพื่อต้อนรับคณะท่องเที่ยวต่าง ๆ หรือการแสดงชุดเล็กสำหรับเล่นในร้านอาหาร ทำให้เริ่มมีการแสดงที่มากขึ้น ช่วยให้เด็กที่มีใจรักในศิลปะชนิดนี้ ประกอบกับครอบครัวฐานะยากจน ได้รับประโยชน์ สร้างรายได้มีการศึกษาที่สูงขึ้นจากการส่งเสริมการส่งเสริมการท่องเที่ยวในลักษณะนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา ควรบูรณาการการทำงานร่วมกัน หากอยากให้การท่องเที่ยวรูปแบบที่ประชาชนได้ประโยชน์ กลายเป็นระบบที่ยั่งยืน

“เราเห็นแววตาของเด็ก ๆ ที่ขึ้นแสดงโนราเป็นครั้งแรก ได้รับเงินรางวัลและคำชื่นชมจากแขกที่ร่วมงาน สายตาเขามีประกายและเมื่อกลับไปก็ขยันฝึกซ้อม โดยไม่มองว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเรื่องที่เชย แต่เป็นสิ่งที่เขาภาคภูมิใจโดยที่ไม่ต้องให้ใครมาบังคับให้ทำ แต่ในการทำงานระหว่างเรียนไปด้วย จำเป็นที่การศึกษาต้องสนับสนุน การท่องเที่ยวทำการตลาด อปท. ในพื้นที่สนับสนุนด้านงบประมาณ เชื่อมกันโดยไม่แยกส่วน”

จันทร์พร กล่าวต่อว่า ข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวเกาะสมุย 15 ก.ค. 2564 – 30 เม.ย. 2565 พบว่า มากกว่าร้อยละ 70 เจาะจงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชน สิ่งที่นักท่องเที่ยวโหยหาคือวิถีชีวิตความเป็นดั้งเดิมของพื้นที่ บางครั้งการที่เราคิดมากซับซ้อนเกินไป ไม่ใช่ความต้องการของนักท่องเที่ยว แต่ต้องการรู้ว่าชาวบ้านกินยังไง อยู่ยังไง ดังนั้น แค่สร้างสิ่งที่มีอยู่ให้มีมาตรฐานเพื่อที่จะสามารถบริการให้กับนักท่องเที่ยวให้มีความสุข จากกิจกรรม อาหาร ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน หากเปรียบเทียบงบฯ 100 บาท ชุมชนจะได้กลับมา 250-300 บาท แต่สิ่งที่มากกว่าคือการท่องเที่ยวที่เริ่มจากความสุขของคนในชุมชนจะมีความสุขได้ชุมชนต้องมีรายได้ มีเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน สิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวก็จะมีความสุขกลายเป็นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนจริง ๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน