เครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนเกาะสมุย เห็นพ้องเคลื่อนต่อ “หลาด กิน อยู่ ดูหมุย”

ชูอัตลักษณ์ชุมชน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชี้ 2 เดือน เงินสะพัดกว่า 6 แสนบาท ตอบโจทย์รับการท่องเที่ยววิถีใหม่

วานนี้ (1 พ.ค.65) สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอำเภอเกาะสมุย ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม “หลาด กิน อยู่ ดู หมุย” นัดรวม 5 หลาดรอบเกาะ จำหน่ายสินค้าจากร้านค้าชุมชน ณ พำนักสงฆ์แหลมดิน ต.ลิปะน้อย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อวางอนาคตการท่องเที่ยวเกาะสมุยในรูปแบบที่อยากเห็น

สำหรับบรรยากาศตั้งแต่ช่วงเช้าเป็นไปด้วยความคึกคัก ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในชุมชน จากทั้ง 5 ตลาด ที่ชูจุดเด่นด้านอัตลักษณ์ และทรัพยากรในพื้นที่ ประกอบด้วย

  • หลาด Nature & Art บ่อผุด เดิมเป็นพื้นที่เกษตร ชูอาหารดอกไม้กินได้ พร้อมกิจกรรมและฟังดนตรีในสวน
  • หลาดต้นน้ำ The Waterfall farm Café หินลาด ตลาดแห่งความสุขแบบชาวสมุย ลิ้มลองอาหารเคียงยา เช่น ชากุหลาบออแกนิก เมี่ยงไมตรีฉบับคนสมุยแท้ๆ เคล้าเสียงดนตรีในคาเฟ่ริมน้ำตก
  • หลาดมังกี้มาร์เก็ต เขา ป่า นา เล ตลิ่งงาม พื้นที่ทำกิจกรรมสำหรับครอบครัว เช่น วาดภาพ ระบายสี ทำว่าว ทำอาหารริมหาด
  • หลาดกับข้าวกับพร้าว ลิปะน้อย กินกับข้าวคนเกาะยกสำรับฝีมือแม่ หลากหลายเมนูหากินยาก กิจกรรมกวนยาหนมในสวนมะพร้าว ของชาวสมุยแท้ๆ
  • หลาดเชฟในสวน สวนนายแดงหน้าเมือง เก็บผักสู่จาน กับเชฟร้านดังในเกาะ เชื่อมโยงชาวบ้านกับเอกชนแต่อาหารยังดั้งเดิม เช่น เคยจี่ หมูโค

โดยทั้ง 5 หลาด สลับหมุนเวียนจัดกิจกรรมทุกวันเสาร์ ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. – 30 เม.ย.65 ซึ่งในครั้งสุดท้ายถือเป็นการรวม 5 หลาด 7 ตำบล ของเกาะสมุยเอาไว้ในที่เดียวกัน

ปณิธาน บุญสา นายกสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนอำเภอเกาะสมุย

ปณิธาน บุญสา นายกสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนอำเภอเกาะสมุย กล่าวว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมากิจกรรมทั้ง 5 หลาดถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก มีนักท่องเที่ยวระบุว่าต้องการเดินทางไปเที่ยวชมตลาด หรือผลิตภัณฑ์ สินค้า ต่างๆ ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญยังได้เห็นความพยายามเข้ามามีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะมีกำแพงระหว่างกัน แต่ส่วนตัวพยายามจะเป็นสื่อกลางในการรับฟังทุกความเห็น และดึงทุกภาคส่วนเข้าหากัน ซึ่งพื้นฐานคนสมุยเป็นคนรักกันอยู่แล้ว นี่คือข้อดีของคนเกาะสมุย โดยเชื่อว่าหลังจากนี้แต่ละตลาดคงมีแนวทางขับเคลื่อนตลาดของตัวเองหรือเพิ่มตลาดใหม่ๆ มีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น เพียงแต่ต้องไม่ลืมเป้าหมายจริงๆ ของความตั้งใจตั้งแต่กิจกรรมเดินตามครู ก็คือการรักษาความเป็นสมุยเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

ด้าน ศุภกาญจน์ ยอดฉุน ผอ.ททท. สำนักงานเกาะสมุย กล่าวว่า หลาดกินอยู่ดูหมุย เป็นความพยายามเปิดการท่องเที่ยว ให้ใกล้เคียงกับก่อนสถานการณ์โควิด-19 มากที่สุด วัตถุประสงค์เพื่อทดลองจุดขายใหม่ๆ และเกิดโอกาสขับเคลื่อนต่อในอนาคต ซึ่งเพียงแค่ 2 เดือน หลายตลาดมีกรุ๊ปทัวร์หรือจัดงานเล็กๆ ให้กับหน่วยงานเอกชน สะท้อนว่าสามารถต่อยอดกันเองได้ ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก แต่ได้ผลตอบแทนคืนสู่ชาวบ้านอย่างมาก หากเปรียบเทียบงบ 100 บาท ชุมชนจะได้กลับมา 250-300 บาท โดยตลอด 9 ครั้งของกิจกรรม มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่ 5-6 แสนบาท นอกจากนี้ทุกคนยังเข้าใจตลาดโกกรีนเพื่อสุขภาพ แหล่งอาหารปลอดภัยมากขึ้น รู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พิสูจน์ได้จากคำค้นหาอาหารสมุยมากขึ้น แทนที่จะมาเที่ยวและสนใจ ทะเล หาดทราย แสงแดด เพียงอย่างเดียว

จันทร์พร ช่วงโชติ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว

สอดคล้องกับ จันทร์พร ช่วงโชติ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่กล่าวถึงกระแสการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติที่เปลี่ยนไป จากการเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวเกาะสมุย 34,569 คน ตั้งแต่ 15 ก.ค.64 -30 เม.ย.65 มากกว่าร้อยละ 70 เจาะจงหาประสบการณ์ใหม่ๆ เรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชน ทำให้สิ่งที่คนเปรียบเปรยกันว่าท้องฟ้าของสมุยมี 2 ด้าน คือด้านแหล่งเศรษกิจ ทำเงินสร้างรายได้ กับฝั่งวีถีชีวิต ชุมชน หลังจากโควิด-19 และการร่วมกิจกรรมทั้งสองฝั่งผสานเป็นฟ้าแผ่นเดียวกัน

“สิ่งที่นักท่องเที่ยวตอนนี้โหยหาคือวิถีชีวิตความเป็นดั้งเดิมของพื้นที่ บางครั้งการที่เราคิดมากซับซ้อนเกินไป แต่ไม่ใช่ความต้องการของนักท่องเที่ยวเลย เขาต้องการรู้ว่าชาวบ้านกินยังไง อยู่ยังไง ฉะนั้นเราแค่สร้างสิ่งที่เรามีอยู่ให้มีมาตรฐาน เพื่อที่จะสามารถบริการให้กับนักท่องเที่ยวให้เขามีความสุขเป็นลักษณะของการบริหารองค์รวมทั้งกายและใจ ให้เขามีความสุข การเข้าพักโรงแรมก็ส่วนหนึ่ง แต่กิจกรรม อาหาร กลุ่มนี้จะแสวงหาความเป็นวิถีชีวิตในชุมชนมากขึ้น”

จันทร์พร ช่วงโชติ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว
สุภิญญา ศรีทองกุล รองนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย

ด้านหน่วยงานในพื้นที่ สุภิญญา ศรีทองกุล รองนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย กล่าวว่า ทางเทศบาลพร้อมให้การสนับสนุนชุมชนอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องของตลาด ก็เป็นมิติหนึ่งของเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าตั้งคำถามจากสถานการณ์ของโควิด-19 และผลกระทบว่าการท่องเที่ยวของสมุยจะไปในทิศทางไหน ทุกฝ่ายก็มองกันว่าน่าจะเป็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ คือการท่องเที่ยวที่จะรักษาสมดุลของแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ให้เป็นสมัยใหม่ได้อย่างไร ซึ่งหลาดหมุยเป็นการท่องเที่ยวที่เริ่มจากความสุขของคนในชุมชน จะมีความสุขได้ชุมชนต้องมีรายได้ มีเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน เรื่องของสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวก็จะมีความสุขกลายเป็นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนจริงๆ

“ก่อนหน้านี้เราไม่ได้มีโอกาสให้ชุมชนเป็นผู้จัดการการท่องเที่ยว ชุมชนเหมือนผู้ที่ถูกเที่ยวมากกว่า เพราะฉะนั้นการจัดตลาดหมุยในครั้งนี้ เราได้ร่วมกันสร้างการมีส่วนร่วมผลักดันกระตุ้นให้ชุมชนเป็นคนจัดการการท่องเที่ยวของตัวเองซึ่งเรามองว่าเป็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ ไม่ใช่แบบเก่าที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขนาด หรือการท่องเที่ยวที่มีนักลงทุนเข้ามาสร้างการท่องเที่ยว แต่วันนี้เป็นเรื่องของคนในชุมชนที่จะมาจัดการทรัพยากรของตัวเองและโชว์ศักยภาพของแต่ละชุมชน ในส่วนของหน่วยงานรัฐ เอกชน ทั้งภายนอก ภายใน เราต้องมาร่วมมือกันสร้างการมีส่วนร่วมแบบนี้ ทำให้สมุยเป็นที่ที่น่าอยู่ของชุมชน และเป็นที่น่าเที่ยวของนักท่องเที่ยว”

สุภิญญา ศรีทองกุล รองนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย

ขณะที่ภาคเอกชน ห้างสรรพสินค้า และบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ในเกาะสมุย ยืนยันที่จะสนับสนุนให้เกิดการสร้างตลาดยั่งยืน ที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยทั้ง 5 ตลาด เห็นพ้องร่วมกันว่า จะยังคงเดินหน้าเปิดตลาดต่อไปเพื่อให้กลายเป็นที่รู้จัก ซึ่งจะหารือกันอีกครั้งเพื่อกำหนดรูปแบบ และวันเวลา ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน