ทำไม ? ลอตเตอรี่ 80 บาท หายังไงก็ไม่เจอ

ถ้าถูกรางวัลที่ 1 นะ…จะปิดซอยเลี้ยงเลย

รอถูกรางวัลที่ 1 ก่อนเถอะ…จะลาออกไปอยู่เฉย ๆ

เมื่อไรจะถูกรางวัลที่ 1 กับเขาบ้างนะ ขอให้เป็นเราบ้างเถอะ  

ไม่รู้ว่ายากเย็น หรือฝันไกลแค่ไหน ? แต่ก็คงเป็นอารมณ์ของนักเสี่ยงโชคแทบทุกคน ที่ตั้งความหวังกับ หวย, ลอตเตอรี่ หรือ สลากกินแบ่งรัฐบาล จนต้องมานั่งลุ้นระทึกกันทุกงวด

เพราะรางวัลที่ 1 ที่หลาย ๆ คนปรารถนา คือโอกาสรวยทางลัด ที่ยอมเสี่ยง  

แน่นอนคนส่วนใหญ่ฝันสลาย จนต้องปลอบใจตัวเอง “ไม่เป็นไร งวดหน้าเอาใหม่” เมื่อมีคนผิดหวัง ทุกงวดก็มี คนที่ถูกนิยามให้เป็น เศรษฐีใหม่ ได้จับเงินล้านในชั่วพริบตาเช่นกัน

เอาแค่ที่เป็นข่าวอ้างอิงตามที่ ไทยรัฐออนไลน์ เก็บรวบรวมไว้ดูเฉพาะแค่ปีที่ผ่านมา พบว่า มีผู้โชคดีถูกรางวัลที่ 1 กันทุกงวด ทั้งลอตเตอรี่จากบนแผง และ ออนไลน์ มีตั้งแต่ถูกใบสองใบ ไปจนระดับหลักร้อยล้านก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

เรื่องแบบนี้อาศัยดวง และโชค ล้วน ๆ จนแทบไม่ต้องหาหลักวิทยาศาสตร์มาอธิบาย แต่ใครจะรู้บ้างว่าความรวยจากรางวัลที่ 1 อาจเทียบไม่ได้เลย กับรายได้ที่กองสลากฯ หักเตรียมเอาไว้เป็นเงินรางวัลนับแสนล้านบาท

ไม่เพียงความหวังของผู้ซื้อเท่านั้น สำหรับผู้ขายเอง ว่ากันว่าแต่ละงวดเพียงแค่คุณมีเงินลงทุน และสามารถเข้าถึงโควตาได้ แล้วเอาไปขายต่อให้ ‘ผู้ค้าหวยเร่รายย่อย’  กินส่วนต่างหลักสิบบาทก็ถือว่าได้กำไรเห็น ๆ  

ลองจินตนาการว่าคุณมีเงินลงทุน และได้โควตา งวดละ 1 ล้านฉบับ ปีหนึ่ง ๆ เงินเข้ากระเป๋ามากมายขนาดไหน มากกว่าถูกรางวัลที่ 1 เสียอีก ในแวดวงธุรกิจลอตเตอรี่ นี่ไม่ใช่การยกตัวอย่างภาพฝันที่เลื่อนลอย แต่คือต้นเหตุที่ทำให้ ลอตเตอรี่ ราคา 80 บาท เหลือน้อยเต็มที่ 

การออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะพิมพ์สลากฯ ออกมาแต่ละงวดไม่เท่ากัน หากยึดจากข้อมูลของกองสลากฯ งวดวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 คือ 100 ล้านฉบับ  คาดว่าจะมีเงินสะพัดหลักหมื่นล้านบาทต่องวด

เม็ดเงินในตลาดของธุรกิจสลากฯ มูลค่าสูงเกือบหมื่นล้านบาท แต่ทำไมดูสวนทางกับคุณภาพชีวิตของ ผู้ค้าหวยเร่ ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจนี้ ซึ่งพวกเขาต้องแบกรับความเสี่ยงไว้ทั้งหมด เพราะสินค้าชนิดนี้ ‘ขายขาด’ และยังต้องมีเงินลงทุนในแต่ละงวดที่สูงมาก วงจรของผู้ค้า หวยเร่ หลายคนจึงไม่สามารถลืมตาอ้าปากในอาชีพนี้ได้ และยังต้องเสี่ยงกับการเป็นหนี้อีกด้วย 

ลอตเตอรี่ 1 ใบ ถูกกำหนดสัดส่วน และจัดสรรผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว รวมถึงต้นทุนที่กองสลากฯ ใช้ดำเนินการ จะเห็นว่า ในราคา 80 บาทของลอตเตอรี่ ถูกจัดสรรเอาไว้แบบนี้

  • เงินรางวัล 48 บาท คิดเป็น 60%

  • นำส่งรายได้แผ่นดิน 18.40 บาท คิดเป็น 23% 

  • ค่าบริหารจัดการกองสลาก 2.40 บาท คิดเป็น  3%

  • ค่าบริหารงานสมาคม องค์กร จังหวัด 1.60 บาท คิดเป็น 2%

จากการจำหน่ายสลากฯ ราคา 80 บาท เงินรางวัลเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด ถึง 60% หรือ 48 บาท หากดูข้อมูลภาพรวมตลอดทั้งปี 2565 ที่ระบุไว้ในรายงานประจำปีของกองสลากฯ เงินก้อนนี้มีมูลค่า ถึง 114,912  ล้านบาท เงินนำส่งรายได้แผ่นดินอยู่ที่  44,049.60 ล้านบาท ต้นทุนจำหน่ายและบริการ  159,437.55 ล้านบาท จนทำให้กองสลากฯ เป็นองค์กร ที่สามารถนำรายได้เข้ารัฐมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มรัฐวิสาหกิจทั้งหมด และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ในช่วงสถานการณ์โควิดก็ตาม

ความสำเร็จของกองสลากฯ อาจไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ในธรรมชาติของสินค้าประเภท เสี่ยงโชค ที่มีนักเสี่ยงโชคทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยังเป็นปัจจัยเกื้อหนุน และทำให้มีผู้ค้าหวยเร่ ที่พร้อมกระโจนเข้าสู่อาชีพนี้ ด้วยหวังว่าจะทำให้ลืมตาอ้าปากได้ กินส่วนต่างจากราคาสลากฯ หลักสิบ หลักร้อย จากมูลค่าที่สะพัดหลักหมื่นล้านบาท

สลากฯ ที่ขายเกินราคา ผู้ค้าหวยเร่ มักเป็นกลุ่มแรกที่มองเห็น และถูกตราหน้าว่าขายเกินราคา 80 บาท เพราะเป็นด่านสุดท้าย แต่ความเป็นจริงแล้ว การเดินทางของสลากฯ ยาวไกล นับตั้งแต่วันที่ออกจากกองสลากฯ จนมาถึงมือผู้บริโภค ราคาก็ถูกบวกมาแล้วทอดแล้ว

ปัจจุบันกองสลากฯ กระจายสลากฯ ไปยัง 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรก เรียกว่า ‘ระบบโควตา’ หลายคนเป็นผู้ค้าดั้งเดิม ผูกขาดในระบบมาอย่างยาวนาน ได้แก่ บุคคลทั่วไปรายย่อย, สมาคม องค์กร มูลนิธิ, และคนพิการ

กลุ่ม 2 คือ ‘สลากดิจิทัล’ เป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่าย เพื่อแก้ปัญหาราคาสลากฯ เกินราคาโดยตรง โดยตั้งเป้าว่าจะจัดจำหน่ายในช่องทางนี้ให้เพิ่มมากขึ้น ถึง 50 ล้านฉบับ ในปี 2568

และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่เรียกว่า ‘ผู้ค้าเสรี’ ซึ่งผู้ค้ารายย่อยกลุ่มนี้ จะต้องลงทะเบียนให้ได้ก่อน ถึงจะสามารถเข้าสู่ระบบการจอง และซื้อสลากฯ ล่วงหน้าได้ ซึ่งข้อมูลจากกองสลากฯ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 พบว่า มีผู้ค้าลงทะเบียนทั้งหมด 146,704 คน

ทั้ง 3 กลุ่มนี้ ถือเป็นกลุ่มบุคคล ที่สามารถเข้าถึงสลากฯ ในราคาต้นทุนได้ เนื่องจากรับสลากฯ โดยตรงจากกองสลากฯ หากเป็นสมาคม องค์กร มูลนิธิ จะมีต้นทุนสลากฯ ใบละ 68.80 บาท หากเป็นผู้ค้ารายย่อยทั่วไป จะมีต้นทุนสลากฯ ใบละ 70.40 บาท

หากห่วงโซ่ธุรกิจสลากกินแบ่งฯ จบลงที่ 3 กลุ่มนี้ แล้วสลากฯ วิ่งไปอยู่ในมือผู้บริโภคทันที สถานการณ์การขายสลากเกินราคาก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริง ยังมีการขายต่อกันอีกเป็นทอด ๆ ต่อจากกองสลากฯ ตรงไปที่ ‘ยี่ปั๊ว’

ทำไมผู้ที่ได้รับการจัดสรรตามระบบ ไม่เก็บสลากฯ ไว้ขายเอง ? ‘ราเมศร ศรีทับทิม’ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก บอกว่า เป็นเพราะพวกเขาไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงที่จะขายไม่หมด แถมยังไม่ต้องออกไปเดินหรือตั้งร้านขายเองให้เหนื่อยด้วย ที่ผ่านมาผู้รับสลากจากการจัดสรรตามระบบ ยังถูกตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใสการได้มาซึ่งโควตา และการรับสิทธิ์การจองซื้อ ว่าเกิดการผูกขาดกับใครหรือไม่    

“ยี่ปั๊ว เป็นตัวแปรสำคัญ คนกลุ่มนี้มีกำลังทรัพย์มากพอ มีบทบาทเสมือนพ่อค้าคนกลาง ที่ไปกว้านซื้อสลากฯ ที่ถูกจัดสรรมาตามระบบ และนำมาขายต่อให้กับ ซาปั๊ว ก่อนจะขายต่อกันเป็นทอด ๆ อีกครั้ง กว่าจะถึงผู้ค้าเร่ ต้นทุนของสลากฯ ก็เกิน 80 บาทไปแล้ว และแน่นอนว่าผู้บริโภคก็ต้องซื้อสลากฯ ในราคาไม่ต่ำกว่า 100 – 300 บาท ต่อใบ ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไป”

ราเมศร ศรีทับทิม

ปัจจุบันไทยมีแหล่งรับซื้อสลากขนาดใหญ่อยู่ 3 แห่ง ซึ่งถือเป็นจุดขายส่ง คือ สี่แยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน, ศูนย์การค้าสลากไทย สนามบินน้ำ และตลาดค้าส่งสลากฯ อ.วังสะพุง จ.เลย

ทีมงานสารคดีคนจนเมือง ได้สำรวจตลาดวังสะพุง ช่วงที่เปิดซื้อขายสลากฯ พบว่า มีผู้ค้าเร่จำนวนมากมาเดินเลือกสลากฯ โดยสลากฯ ส่วนใหญ่มีการรวมเลขแทบทั้งหมดแล้ว อธิบายง่าย ๆ ก็คือว่า สลากฯ ที่มาจากกองสลากฯ เป็นเลขเรียงจาก 00 – 99 แน่นอนว่าบางตัวเลขจำหน่ายไม่ได้ หรือที่เรียกว่า เลขไม่สวย 

ดังนั้นจึงมีกระบวนการที่ยังมองไม่เห็นสำหรับการ ‘เขย่าหวย’ ก่อนที่จะส่งมายังจุดจำหน่าย ดังนั้นตลาดส่งของสินค้าประเภทนี้ จึงแตกต่างจากสินค้าชนิดอื่น ๆ เป็นตลาดส่งที่ไม่มีราคาต้นทุนอยู่จริง และยิ่งกว่านั้น การรวมสลากฯ ชุด ยิ่งเป็นเทคนิคปั่นราคา ให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นไปแตะถึงหลักพันบาทต่อใบเลยทีเดียว

ดังนั้นกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจสลากฯ จึงมีองค์ประกอบหลายปัจจัยที่ทำให้ การจำหน่ายสลากฯ 80 บาท เกิดขึ้นได้ยาก เพราะผู้ค้าเร่ ยังจำเป็นต้องพึ่งพาระบบที่มองไม่เห็น

เช่นเดียวกัน คนกลุ่มนี้เป็นคนจัดสรรสลากฯ ให้อยู่ในรูปแบบสินค้าที่พร้อมขายได้ ขณะที่ผู้ค้าหวยเร่หลายคนในประเทศนี้ เป็นคนที่มีเงินทุนหมุนเวียนในบัญชีไม่มากพอ ซึ่งแต่ละงวดต้องมี ทุนไม่ต่ำกว่า 21,130 บาท สำหรับการเข้าถึงระบบจอง ซื้อ สลากล่วงหน้า หรือต่อให้เป็นรายย่อยที่เข้าถึงสลากฯ ในราคาต้นทุนได้จริง แต่จำนวนที่ได้ เพียง 3 เล่ม หรือ 300 ฉบับ มีกำไรจากการขายไม่ถึง  3,000 บาทต่องวด  ซึ่งไม่คุ้มค่าเหนื่อย ท้ายที่สุด ผู้ค้าที่มีโควตา ก็ยังจำเป็นต้องซื้อสลากจากทั้ง 3 แหล่ง หรือรับตรงเป็นเครือข่ายในระบบตรงจากนายทุนอีกที

การแก้ไขปัญหาลอตเตอรี่ราคาเกิน 80 บาท ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของกองสลากฯ ต่อเนื่องยาวนาน เวลานี้การเพิ่มจำนวนสลากฯ ในระบบดิจิทัล จึงกลายเป็นความหวังและส่งผลดีกับผู้บริโภคโดยตรง หากไม่รวมผลกระทบทางการพนัน

แต่อาจต้องแยกมองกลุ่มผู้ค้าหวยเร่ ซึ่งเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีต้นทุนในชีวิตมากมายอะไร การยึดอาชีพ ขายสลากฯ สินค้ายอดนิยม จึงเป็นความหวังของพวกเขาเพื่อหาเลี้ยงปากท้อง

หากวันนี้กองสลากฯ ยอมรับเรื่องนี้ และหันมาสนใจ เจียดกำไรที่ได้ ยกระดับอาชีพหวยเร่ ให้มีหลักประกันในชีวิต มองพวกเขาเสมือนพนักงานของกองสลากฯ คนหนึ่ง ? ถ้าทำได้ก็คงไม่ต่างกับเป้าหมายกองสลากฯ คือการคืนกำไรให้สังคม ไม่ใช่หรือ!  

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล