เผย 3 ปรากฏการณ์ “โลกในห้องเรียน” หมุนไม่ทัน “โลกนอกห้องเรียน”

คณะทำงานวิจัย SAT แนะ สร้างสมดุลให้ “การศึกษา = การเรียนรู้” ปฏิรูปให้กลับมาเป็นเรื่องเดียวกัน สร้างการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น อยู่ในชีวิตคนทุกคน สู่อาชีพที่สอดรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ด้าน รมว.ศึกษาฯ รับนำข้อเสนอจากวงไปสานต่อ เพื่อพัฒนาการศึกษา 

วันนี้ (23 มี.ค. 2567) ในเวทีเสวนาวิชาการ “Thailand Education Forum ครั้งที่ 1” “ทอผ้าผืนใหม่ สู่ การศึกษาไทยไร้รอยต่อ” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยนวัตกรรม (สกสว.) คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไทยพีบีเอส และภาคีเครือข่าย เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอของการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ ให้การศึกษามีความยืดหยุ่น กลับมาอยู่ในชีวิตคนทุกคน สร้างอาชีพที่สอดรับกับความต้องการและการเปลี่ยนในอนาคต

รศ.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ คณะทำงานวิชาการ SAT หรือ หน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนา วนน. (Strategic Agenda Team) ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ระบุ จากงานวิจัยทั้ง 10 ชิ้น และการระดมความคิด พบว่า ไทยมีการเปลี่ยนแปลงการศึกษาน้อยมาก นับตั้งแต่การพัฒนาการการศึกษาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 

ข้อสังเกตสถานการณ์ปัจจุบัน คือ สังคมเปลี่ยนไปสู่การตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล สวนทางภาครัฐที่มีระบบการศึกษาตอบสนองภาพรวม ไม่สอดคล้องกับผู้เรียน และบริบทพื้นที่ นอกจากนี้ มีระบบการศึกษาที่เติบโตภายนอกภาครัฐ เช่น การศึกษานอกห้องเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย ศูนย์การเรียน คำถามคือจะทำอย่างไรผู้เล่นทางการศึกษาและผู้เรียนที่หลากหลาย เรียนรู้ ตอบสนองผู้เรียน รวมถึงสามารถสร้างให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

รศ.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ

ณิชา พิทยาพงศกร คณะทำงานวิชาการ SAT ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ระบุ ย้อนไป 40 ปีก่อนหน้านี้ ประเทศไทยยังคงพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเรื่องเดิม ยังมีวิกฤตการเรียนรู้ ต่อให้คนได้เข้าเรียนในระบบการศึกษามากขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้เกิดทักษะการเรียนรู้อย่างที่ควรจะมีหรือควรจะได้และไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน “ห้องเรียน ไม่ได้เรียนอย่างแท้จริง” ไปเรียนกันก็จริง ใช้เวลาไปก็เยอะ งบประมาณก็มีแต่ทำไมไม่เกิดการเรียนรู้

“ซึ่งหากเทียบกับประเทศอื่น อย่างสิงคโปร์ ที่มีผลสัมฤทธ์ทางการเรียนระดับต้น ๆ เด็กไทยเข้าเรียนเป็นเวลา10 ปีครึ่ง จะเท่าเด็กสิงคโปร์ที่เรียนในห้องเรียนแค่ 7.3 ปีเท่านั้น สิ่งนี้แปลว่าทั้งประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการเรียนของเราอยู่ในภาวะวิกฤต จะดูแค่จำนวนปีในการเข้าเรียนในระบบการศึกษาไม่ได้แล้ว  “ 

ณิชา กล่าว

เมื่อไปดูการศึกษานอกระบบ พบว่า เมื่อการศึกษาไม่ตอบโจทย์การเข้าไปทำงานจริง ๆ จึงเกิดผู้เล่นใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาให้บริการการเรียนรู้ จัดการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้เรียนที่หลากหลาย และการเรียนรู้ในระบบนั้นเป็นเพียงแค่จุด ๆ เดียว ของภาพใหญ่ทั้งหมด ซึ่งตอนนี้มีการศึกษาที่ยึดหยุ่นมาก ๆ และมีคนขยับเข้ามาทำตรงนี้มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนจึงตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกนอกห้องเรียน เพราะการศึกษาในห้องเรียนถูกจำกัดผูกติดกับแกนกลาง อิงตำราควบคุมโดยภาครัฐเป็นหลัก แต่การเรียนรู้ของคนจริง ๆ ยืดหยุ่นและลื่นไหลมาก ข้ามศาสตร์และกลั่นจากประสบการณ์ เมื่อโลกนอกห้องเรียนหมุนเร็วมาก แต่ในห้องเรียนตามไม่ทัน ก็เกิดรอยต่อเส้นแบ่ง ช่วงนี้จึงได้ยินบ่อยมากว่า การศึกษา ไม่เท่าการเรียนรู้

สิ่งที่เกิดขึ้น จึงสรุป เป็น 3 ปรากฏการณ์ของการศึกษาและการเรียนรู้ในประเทศไทย 

  1. คือการแยกตัวออกจากกัน ของทักษะและวุฒิการศึกษา คนมีวุฒิไม่ได้แปลว่าจะมีทักษะที่เป็นที่ต้องการ คนที่มีทักษะที่เป็นที่ต้องการ ก็ไม่จำเป็นต้องถูกรองรับด้วยวุฒิใด ๆ 
  2. คือภาวะเสื่อมถอยการศึกษาในระบบ หลายปัจจัย ทั้งการเกิดน้อยลง ก็เข้ารับการศึกษาน้อย จึงมีโรงเรียนขนาดเล็กมากขึ้นเรื่อย ๆ และค่านิยมพ่อแม่ครูให้ความนิยมโรงเรียนเอกชนมากกว่า และการปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่ถูกชะลอด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่สะท้อนการเสื่อมถอยของการศึกษาในระบบ
  3. ส่วนนอกระบบ เกิดผู้เล่นการเรียนรู้จัดการใหม่ ๆ วุฒิแบบใหม่ ๆ สะท้อนการศึกษาไม่เท่าการเรียนรู้อย่างชัดเจน 
ณิชา พิทยาพงศกร

“ดังนั้นโจทย์สำคัญของการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ จะทำอย่างไร ให้การศึกษาและการเรียนรู้ กลับมาเป็นเรื่องเดียวกัน ทำยังไงให้การศึกษาในโรงเรียน เป็นธรรมชาติ มีความยืดหยุ่น กลับมาอยู่ในชีวิตคนทุกคนได้”

ณิชา กล่าว

รมว.ศึกษาฯ รับนำข้อเสนอจากวงไปสานต่อ เพื่อพัฒนาการศึกษา

พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า การศึกษาไร้ร้อยต่อ เป็นสิ่งที่ดี อยากให้ทลายกรอบของการศึกษา โดยนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการในวันนี้ คือ “เรียนดี มีความสุข” 

“คาดหวังจะได้ข้อสรุปให้กระทรวงศึกษาธิการนำมาสานต่อในการทำงาน และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของการศึกษาในอนาคต นอกจากนี้ ยังต้องการให้ทุกภาคส่วน มีความอยากรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ และเป็นพลังขับเคลื่อนที่จะทำให้การศึกษาของไทยดียิ่งขึ้น” 

พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ

ผอ.สกสว. ชี้ ความสำคัญของคณะทำงาน SAT ด้านการศึกษา

ด้าน รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ระบุว่า การจัดการในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของภาคีการศึกษาที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบจากหลายภาคส่วน เช่น หน่วยงานภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ภาคการเมือง สื่อมวลชน กสศ. เด็ก และเยาวชน รวมถึง ภาคีทางการศึกษาที่เป็นหุ้นส่วนสำคัญในมิติการศึกษาของ สกสว. 

โดยบทบาทสำคัญของ สกสว. คือ มีกองทุนสนับสนุนด้านการศึกษา และการเรียนสนับสนุนการทำงานวิจัย และติดตามประเมินผล โดยการจัดสรรงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมด้านการศึกษาและเรียนรู้ จะเน้นไปที่การเพิ่มพื้นที่ นวัตกรรมการเรียน สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ สนับสนุนการจัดทำข้อมูล และขจัดความยากจน และเหลื่อมล้ำ 

โดยมีหน่วยงานหลักอย่าง คณะทำงาน SAT หรือ ชื่อเต็มคือ หน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนา วนน. (Strategic Agenda Team: SAT) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำงานวิจัยด้านการศึกษาและเรียนรู้โดยเฉพาะ เพื่อหาคำตอบให้กับการพัฒนาการศึกษาไทยให้ไร้รอยต่อ และเกิดความยั่งยืน


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active