ที่ดินรัฐแลกที่อยู่อาศัย? คุณค่า ‘คนจนเมือง’ กับ ความคุ้มค่า ‘เชิงพาณิชย์’

นอกจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น สวนทางค่าแรงแล้ว ถ้าครอบครัวไหนไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยด้วย คงเป็นวิกฤตซ้ำในเมืองใหญ่ ความมั่นคงที่ว่าอาจไม่ได้หมายถึงการเป็นเจ้าของเท่านั้น แต่หมายถึงความมั่นคงที่จะได้อยู่อาศัย ในรูปแบบการเช่าก็ได้ เพื่อใช้ชีวิตและขับเคลื่อนเมือง ต้องยอมรับว่า ‘บ้านเช่า’ กลายเป็นเทรนด์ของเมืองใหญ่หลายประเทศ

ภาคประชาชน เห็นว่าจนถึงเวลานี้มี ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ไม่กี่คนที่ออกมาพูดถึงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยเพื่อคนตัวเล็กตัวน้อย คนจนเมือง จึงมีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยกันอย่างต่อเนื่อง พลิกปมข่าว ตอน สิทธิที่อยู่อาศัยในเมืองเป็นธรรม รวบรวมข้อเสนอเรื่องนี้ รวมทั้งแนวคิดผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. เกี่ยวกับนโยบายด้านที่อยู่อาศัยมาบางส่วน เช่น

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มองที่อยู่อาศัย เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง และเป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. แต่กลับมีชุมชนใน กทม. กว่า 916 แห่ง หรือ ประมาณ 100,000 ครัวเรือน ยังเดือดร้อน จึงเสนอให้ กทม. เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบโครงการบ้านมั่นคง รวบรวมข้อมูลที่ดิน และเป็นคนกลางช่วยเจรจาต่อรองกับเจ้าของที่ดิน เพื่อนำที่ดินไปจัดทำโครงการบ้านมั่นคง

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เปิดนโยบายที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชน ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง มีบ้านใจกลางเมือง โดยเสนอให้ กทม. ขอเช่าที่ดินรัฐ ราชพัสดุ นำมาสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชน ​

น.ต.ศิธา ทิวารี เห็นว่า การไล่รื้อเวนคืนชุมชนแออัด แล้วย้ายชาวชุมชนไปอยู่ที่ห่างไกลจากที่ทำงานหรือให้ไปอยู่บนแฟลต ท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาอยู่เพิงพักในชุมชน เพราะที่อยู่อาศัยไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและอาชีพ ต้องแก้ไขเรื่องนี้ใหม่ ให้สอดคล้องกับการทำมาหากิน

ความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ VS คุณค่าคนจนเมือง

แต่ถ้าเทียบกับสถานการณ์จริงในเวลานี้ จะพบว่า เมืองที่เติบโตขึ้น แต่พื้นที่เท่าเดิม ในขณะที่แรงงานหลั่งไหลเข้ามาทำงานในเมืองจำนวนมาก ช่วยขับเคลื่อนเมือง และพบว่ามีถึงสัดส่วน 1 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้ที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย นอกเหนือจากคนจนเมืองที่ถูกไล่รื้อ และกลุ่มคนไร้บ้าน

ตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาได้ชัดเจน คือ การพัฒนาที่ดินริมทางรถไฟ ย่านมักกะสัน The Active พูดคุยกับ สายหยุด วงศ์ตระกูล วัย 68 ปี ที่ยังไม่รู้อนาคตยามบั้นปลาย ว่าจะต้องย้ายออกจากชุมชนที่เธอเช่าบ้านอยู่นานกว่า 10 ปี ตอนไหน

สำหรับเธอแล้ว บ้านยังเป็นแค่ฝัน เพราะในโลกความจริง ห้องเล็ก ๆ ที่เรียกว่าบ้าน ในชุมชนมักกะสันไม่มีความมั่นคงแต่อย่างใด แม้หวังให้ชุมชนเจรจาขอเช่าที่รายปี แต่จะเป็นไปได้แค่ไหน กับ มูลค่าเช่าที่ดินที่ชาวบ้านขอเช่า เทียบไม่ได้กับ มูลค่าในเชิงพาณิชย์ที่กำลังจะถูกพัฒนาในอนาคต

สายหยุด วงศ์ตระกูล หญิงวัย 68 ปี ชาวชุมชนย่านมักกะสัน

หนึ่งในข้อเสนอสำคัญของการเข้าถึงที่อยู่อาศัย คือ การนำเอาที่ดินรัฐมาใช้ ซึ่งภาคประชาชน มองว่า แม้อาจเทียบความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจไม่ได้ แต่รัฐต้องไม่ลืมว่า ที่อยู่อาศัยถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ ในฐานะที่พวกเขาก็ร่วมขับเคลื่อนเมืองนี้ คนจนเมือง, แรงงาน และคนไร้บ้าน จึงออกมาเรียกร้องเรื่องความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง และยังคงทำหน้าที่อย่างแข็งขันในฐานะฟันเฟืองเคลื่อนเมือง หากพวกเขามีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง ผ่านการมีสิทธิในที่อยู่อาศัยได้ นี่คงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างเมืองที่เป็นธรรมไม่ทิ้งใครให้ตกหล่น

เนืองนิช ชิดนอก ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค

ชุมชนไร้ตัวตน เข้าไม่ถึงสิทธิที่อยู่อาศัย

เนืองนิช ชิดนอก ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค บอกว่า ที่ดินใน กทม. มีทั้งรูปแบบของพื้นที่สาธารณะ ที่ดินเอกชน ที่ดินรัฐ ที่ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัย มีความพยายามแก้ปัญหา แต่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น การชะลอการไล่รื้อ และทยอยออมทรัพย์เพื่อขอสินเชื้อซื้อที่ดินปลูกบ้านกับทาง พอช. ตอนนี้ที่จะเห็นภาพชัด คือ การขอเช่าที่ยังคงสัญญา 3 ปี ชาวบ้านต้องออกค่าบ้าน ค่าก่อสร้างเอง ส่วนที่แก้ไขปัญหาไปแล้วจะมีบางชุมชนที่ทำเสร็จแล้ว แต่บางชุมชนไม่สามารถทำได้เพราะติดระเบียบ กทม. ขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนไม่ได้ เพราะไม่ครบ 100 หลังคาเรือน ทางเครือข่ายสลัมสี่ภาค ผลักดันจนสามารถแก้ไขระเบียบได้

ตอนนี้ปัญหา คือ ยังมีเงื่อนไขการตีความในระเบียบ ทำให้จดทะเบียนชุมชนไม่ได้ มีกระบวนการเดินเรื่องเอกสารซับซ้อน อยากเสนอว่า ไม่ควรมีเงื่อนไขกับชาวบ้านเยอะ ต่อให้แก้ไขบ้านมั่นคงได้แล้ว ช่วงโควิด ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เขาถือว่าเป็นชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนจาก กทม. ทางเครือข่ายสลัมสี่ภาคต้องรับปัญหาหนัก

“ไม่ควรมีเงื่อนไขกับชาวบ้านเยอะ การเดินเอกสารที่ซับซ้อนทำให้จดทะเบียนเป็นชุมชนไม่ได้ และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ”

เนืองนิช ชิดนอก ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค
Image Name

ปรับที่ดินรัฐเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อสิทธิคนจนเมือง

ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค ยังเห็นว่า แม้ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาให้กับคนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน ที่ใช้มาตรการรัฐช่วยจ่าย เพื่อลดภาระให้คนไร้บ้านมีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านในราคาที่ถูกลง ในอนาคตก็อยากเห็นคนกลุ่มนี้ดูแลตัวเองได้ มีงานประจำ มาพร้อมข้อเสนอให้รัฐเป็นตัวกลางประสานผู้ประกอบการ เจ้าของที่ดินว่าควรสนับสนุนด้านใด รวมถึงข้อเสนอให้นำที่ดินรัฐ มาจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัย ลดปัญหาการถูกไล่รื้อ โดยสรุปเป็นข้อเสนอหลัก 4 ประเด็น

  • ต่อยอดโมเดลรัฐช่วยอุดหนุนจ่ายค่าเช่าคนละครึ่งให้กับคนไร้บ้าน
  • สนับสนุนผู้ประกอบการทำห้องเช่า ลดราคาค่าห้องสำหรับผู้มีรายได้น้อย และคุยกับผู้ประกอบการว่าจะมีวิธีคิดคำนวนอย่างไรให้ค่าเช่าถูกลง
  • รัฐเป็นตัวกลางเจรจาต่อรอง ตกลงกันอย่างไรให้สามารถนำที่ดินรัฐมาใช้ประโยชน์ได้
  • หาก กทม.จะทำห้องเช่า ให้คำนึงถึงราคาที่เป็นธรรม ให้คนมีรายได้น้อยเข้าถึงได้จริง และให้คนอยู่อาศัยจริงมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ ออกแบบเมืองไปพร้อมๆ กัน


ที่ดิน ที่อยู่อาศัย เป็นหัวใจหลักการใช้ชีวิตของกลุ่มคนจนเมือง ดังนั้นถ้าไม่มีนโยบายเรื่องนี้ อาจทำให้ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. เสียคะแนนเสียงจากกลุ่มคนจนเมือง อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันพื้นที่รกร้าง ว่างเปล่าของรัฐ เลือกจะให้นายทุนเช่าทำธุรกิจ แต่กลับมองไม่เห็นคนตัวเล็กตัวน้อย”

เนืองนิช ชิดนอก ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค

หวัง ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เข้าใจแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ไม่ให้กระทบระบบเมือง

เนืองนิช ทิ้งท้ายว่า วิถีชีวิตคนจนเมืองมีคุณค่า รัฐแก้ไขปัญหาด้านวัตถุอย่างเดียวไม่ได้ ต้องแก้ปัญหาคนในเมืองด้วย เพราะคนเหล่านี้มาดูแลเมือง เสียสละเพื่อให้คนจนเมืองอยู่ ราคาอาจจะไม่เท่ากับนายทุนใหญ่ แต่แลกมาด้วยคุณภาพชีวิตคนเมืองที่ดีขึ้น คนที่อยู่ใต้การปกครองของคุณก็จะไม่ใช่คนที่ เป็นปัญหา เป็นคนไร้บ้าน นอนเร่ร่อน พวกเขาจะอยู่อย่างเป็นระเบียบขึ้น จึงฝากถึงผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.ให้เล็งเห็นความสำคัญ เพราะที่อยู่อาศัยจะกระทบทั้งระบบของเมือง หากมีที่อยู่อาศัย จะมีแรงทำงาน ดูแลการศึกษาบุตรหลาน ดูแลรักษาสุขภาพตัวเองเบื้องต้นได้

“ถ้ามีที่อยู่ มีงานทำได้ คนจนก็จะมีความสามารถรักษาสิทธิ์ในที่ดินของตัวเองได้ เพราะฉะนั้นอยากให้ ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ อย่าทิ้งนโยบายนี้ เพราะเสียงคนจนเมืองก็มีไม่น้อย”

เนืองนิช ชิดนอก ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัมสี่ภาค

ก่อนหน้านี้ The Active พบข้อมูลว่าแต่ละปี รายได้ของ กทม. มากที่สุด คิดเป็นกว่า 30% มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเก็บจากการซื้อสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นใน กทม.ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประชากรตามทะเบียนราษฎรของ กทม.หรือ เป็นประชากรแฝง คำถามคือ แล้วใครควรจะถูกทิ้งหรือไม่ ถ้าจะสร้างเมืองที่เป็นธรรม คงไม่สามารถมองข้ามคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปได้ เพราะต่างก็มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเมืองนี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายบริหารเมืองจะให้ความสำคัญเรื่องนี้จริงจังแค่ไหน

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน