“คนรุ่นใหม่” ไม่อยากย้ายประเทศ เพราะ “แลนด์บริดจ์” ?

“คนรุ่นใหม่เวลาที่จะตัดสินใจทำอะไรกับชีวิต ต้องคิดมิติเชิงลึกมาก ไม่ใช่คิดแค่เรื่องเงินในกระเป๋าอย่างเดียว เด็กจบมัธยมมา อายุ 16 ปี ก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่าเขาอยากเป็นอะไร เด็กสมัยนี้เข้าถึงข้อมูลได้เยอะ และสามารถใช้แรงบันดาลใจจากโครงการใหญ่ ๆ ของรัฐบาล เพื่อเป็นการกำหนดชีวิตเขาได้ จะเรียนอะไร จะทำงานอะไร การคิดว่าจะย้ายประเทศ อาจไม่อยากย้ายก็ได้ เรื่องนี้รัฐบาลต้องสร้างความหวัง และแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่”

เศรษฐา ทวีสิน
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

โครงการขนาดใหญ่ที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หมายถึง คงหนีไม่พ้น “โครงการแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร” ที่นายกฯ เดินสาย โรดโชว์ วาดฝันไว้กับนักลงทุนต่างชาติ จากความพยายามผลักดันให้เกิดพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ หวังให้ช่วยยกระดับรายได้ให้กับประชาชน ไปจนถึงการจ้างในอนาคต

แน่นอนโครงการนี้จะสำเร็จได้ อาจต้องใช้ระยะเวลา ผ่านคนรุ่นใหม่หลาย Generations แล้วการจ้างงาน การสร้างเศรษฐกิจจากโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่(บางคน) เปลี่ยนใจ ไม่อยากย้ายประเทศจริงหรือ ?     

“เศรษฐกิจ” เป็นเรื่องใหญ่ ของคนรุ่นใหม่หรือไม่ ?

The Active พูดคุยกับ เยาวชน (ไม่ประสงค์ออกนาม) เธอเกิด และเติบโตใน จ.ระนอง หนึ่งในพื้นที่ที่สะพัดไปด้วยเม็ดเงินการลงทุนผ่านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่… บทเรียนของคน ๆ หนึ่งที่เติบโตมากับจังหวัดที่เต็มไปด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม สะท้อนมุมมอง หากรัฐบาลทำให้มั่นใจได้ว่า เงิน หรือ ผลตอบแทนที่ได้กลับมาจากโครงการแลนด์บริดจ์ จะตอบแทนประชาชนได้จริง ไม่กระจุกตัว ผูกขาดอยู่ที่กลุ่มนายทุนอย่างที่ผ่าน ๆ มา หรือผลตอบแทนจากโครงการขนาดใหญ่ ถูกนำมาเปลี่ยนเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน อาจจะยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้เด็กไทยไม่อยากย้ายประเทศก็ได้

เพราะต้องไม่ลืมว่าโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ใช้เวลานานกว่าจะได้ผลกำไรกลับมา ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า อนาคตการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ก็ยังคงเกิดขึ้นได้เสมอ จึงไม่มีอะไรการันตีประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างจริง ๆ จัง ๆ

“คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่อยากย้ายประเทศเพราะมองเห็นว่า เศรษฐกิจบ้านเราไม่ดี การมีแลนด์บริดจ์ ก็อาจจะตอบโจทย์การมีงานทำ และการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่หากเป็นแง่ของการมีรัฐสวัสดิการที่ดี การมีสิทธิคุ้มครองในชีวิต ก็อาจจะยังพูดได้ไม่เต็มปาก ว่า จะทำให้เด็กและเยาวชนในวันนี้ อยู่ได้ในอนาคต”

เยาวชน จ.ระนอง

เยาวชนคนนี้ยังเชื่อว่า มุมมองด้านสิทธิ เสรีภาพทางความคิด ที่ยังติดข้อจำกัด คือคำอธิบายสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอยากย้ายไปใช้ชีวิตต่างแดน เพราะค่านิยมยุคใหม่ ไม่ตรงกับหลักคิดเดิม ๆ ของสังคมไทย ที่ยังติดกรอบความเป็นอนุรักษ์นิยม ซึ่งปัจจัยที่เธอคิดว่า จะช่วยทำให้เด็กไทยเปลี่ยนใจไม่อยากย้ายประเทศ ประกอบด้วย

  • อาชีพ : รองรับอัตราเด็กจบใหม่ ไม่ใช่แค่อาชีพ แต่ต้องสอดคล้องกับความต้องการที่อยากจะประกอบอาชีพ
  • รายได้ : ถูกนำไปทำอะไรเพื่อประชาชนบ้าง ทำให้การคุ้มครองครบวงจร
  • ความเชื่อ ทัศนคติ คนในสังคม : ปรับสังคมในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ความหลากหลายทางเพศ เปิดเสรีมากขึ้น เป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้คนรุ่นใหม่อยากอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น

ห่วง “แลนด์บริดจ์” ไม่ตรงปกมิติจ้างงาน หวั่นผูกขาดทรัพยากร

เยาวชนคนนี้ ยังยอมรับว่า หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์การลงทุน ก็อาจสามารถเดินหน้าโครงการได้ แต่ก็ยังมีสิ่งที่กังวล คือ จะบริหารอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียม ทั้งชาวบ้าน ประมงรายเล็ก เพราะที่ผ่านมาชุมพร-ระนอง เป็นจังหวัดขนาดเล็ก ไม่เคยมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้น

จึงกังวลว่าแรงงานข้ามชาติ ที่อยู่ตามแนวชายแดนระนอง จะเข้ามาทำงานมากขึ้น สุดท้ายแรงงานไทยก็อาจไม่ถูกขยับชนชั้น ไม่ถูกจ้างงานอย่างที่รัฐเคยโฆษณาไว้ จึงอยากฝากถึงรัฐบาล ให้บริหารแบบไม่กดทับคนกลุ่มอื่น รวมถึง ควบคุมการใช้ทรัพยากรของประเทศไม่ให้ผูกขาดมากจนเกินไป ที่สำคัญคือต้องทำให้คนในประเทศได้ประโยชน์จริง ๆ

“คิดให้ดี ๆ เพราะคนที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ มีหลาย Generations การวางแผนบริหารงานระยะยาวจึงมีส่วนสำคัญ”

เยาวชน จ.ระนอง

โครงการพัฒนารัฐ “บทเรียน” ที่ไม่เคยมีประชาชน อยู่ในสมการผลประโยชน์

สอดคล้องกับ เยาวชนจากเครือข่ายคนรุ่นใหม่กลับบ้าน อยากเห็นรัฐบาล มองโครงการพัฒนาใหม่ เพราะบทเรียนที่ผ่านมา พบว่า หลายโครงการไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้นับรวมชาวบ้านอยู่ในสมการของผลประโยชน์จากการพัฒนา เช่น แรงงานที่ถูกจ้างก็มักไม่ใช่แรงงานในพื้นที่ ชาวบ้านไม่เชื่อว่าถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นจะทำให้ลูกหลานของพวกเขามีงานทำ เพราะถูกหลอกมาตลอดชีวิต

เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ยังพบว่า จุดผ่านเส้นทางการสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ ยังเป็นบริเวณที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน มีพี่น้องชาวเล และคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่ด้วย กลายเป็นความผูกพัน และเป็นอาชีพของผู้คนในพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น เกาะโต๊ะกีเสม จ.ระนอง ซึ่งเป็น เกาะหนึ่งที่ชาวบ้านผูกพัน และมีความศักดิ์สิทธิ์ หรือ บริเวณปากอ่าวอาง ที่พบว่า ยังคงความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ รวมถึง พื้นที่สงวนชีวมณฑล ที่กำลังถูกเสนอให้เป็นมรดกโลก ขณะที่ จ.ชุมพร ก็ยังมี พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ต้นน้ำ รวมถึงสวนทุเรียน ที่ถือว่า เป็นแหล่งผลไม้สำคัญ

“ปัจจัยที่ทำให้ เด็กไทยไม่อยากย้ายประเทศ จำเป็นต้องใช้หลักการกระจายอำนาจ ให้ชาวบ้านมีสิทธิได้ออกแบบ และจัดการทรัพยากร หรือสิทธิง่าย ๆ อย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเอง การมีผู้บริหารที่มาจากประชาชน เพื่อไม่ให้การแก้ปัญหาอยู่ที่ส่วนกลางเพียงอย่างเดียว และให้การจัดการทรัพยากร มีเสียงของเยาวชนอยู่ในนั้นด้วย”

ช่วงเวลาไหน ? เพราะอะไร ? คนไทย อยากย้ายประเทศ

The Active รวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ Zocial Eye ย้อนหลัง 6 เดือน (เดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน 2566)  พบว่า ประชาชนพูดถึงเรื่องการ “ย้ายประเทศ” มากถึง 19,908 ข้อความ 1,712,160 engages

แต่หากนับเฉพาะข้อความเกี่ยวกับ ความต้องการ “อยากย้ายประเทศ” มีระดับการแสดงความเห็นลดลงมาอยู่ที่ 5,284 ข้อความ โดยพบว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม มีประชาชนที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่อง “อยากย้ายประเทศ” สูงที่สุด คือในวันที่ 19 ก.ค. 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีผลการลงมติรัฐสภา เสียงข้างมาก 394 เสียง เสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” โหวตนายกฯ ซ้ำไม่ได้ และกรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ พิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. พบว่าแค่วันเดียว เรื่องการย้ายประเทศ ถูกพูดถึงมากกว่า 500 ข้อความ

ข้อความบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “ย้ายประเทศ” จากโลกออนไลน์

นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์อื่น ที่คนในสังคมพูดถึงความต้องการย้ายประเทศมากที่สุด เช่น สถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับข่าวหยก, รัฐสภาฯ ลงมติไม่รับ พิธา เป็นนายกฯ, จนมาถึงประเด็นล่าสุดที่นายกฯ เศรษฐา เชื่อว่า คนรุ่นใหม่จะเล็งเห็นโอกาส จากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ และ อาจจะตัดสินใจไม่ย้ายประเทศ

จากข้อมูลที่รวบรวมไว้ ยังพบด้วยว่า ข้อความเกี่ยวกับ “อยากย้ายประเทศ” ทั้งหมด 5,284 ข้อความ มีหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย

  • การเมือง 280 ข้อความ
  • รัฐบาล 262 ข้อความ
  • สังคม 229 ข้อความ
  • รายได้ 138 ข้อความ
  • การศึกษา 126 ข้อความ

ผลการสำรวจในช่วงเวลาเพียง 6 เดือนย้อนหลัง สะท้อนว่า เศรษฐกิจดีเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนใจทำให้อยากย้ายประเทศน้อยลง เพราะปัญหาการเมือง สังคม รวมถึงมิติการศึกษา ยังเป็นเหตุผลที่ถูกพูดถึง และต้องการเห็นรัฐบาลออกมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

ไม่ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ จะเดินหน้าต่อหรือไม่ แต่สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล คือ การรับฟังทุกเสียงสะท้อนโดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ที่ถูกนำมาอ้างอิงถึงการเดินหน้าโครงการนี้ และเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนาขนาดใหญ่อย่าง แลนด์บริดจ์ อีกด้วย…

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน