“หมุนวงล้อการเรียนรู้ กับ ครูสายปั่น” บทที่ 2
เรื่องเล่าจากการเดินทางของเราครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาที่ผมและทีมงานก่อการครูได้ขับเคลื่อนกิจกรรมรถพุ่มพวง ชวนเรียนรู้ ณ กาฬสินธุ์ ทดลองให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านบริบทชุมชนของตนเอง แล้วให้ผู้เรียนค้นหาประเด็นที่พวกเขาสนใจในชุมชน จำได้ว่ามีนักเรียน ม.ปลาย คนหนึ่ง สนใจเรื่อง ดินธรรมดา ๆ แต่มาถึงตอนนี้ ดินในวันนั้นได้เปลี่ยนคน ๆ หนึ่ง ไปไกลกว่าที่ผมคิด
มาติดตามกันว่า จุดหมายปลายทางของการศึกษานอกระบบ ที่เขาเลือกหน้าตาเป็นอย่างไร อะไรคือ เสียงจากภายในเเละเเก่นเเท้ ที่เขาเรียกมันว่า “การศึกษาแบบอิสระ หรือ มหาลัยนัยหลืบ” มาติดตามไปพร้อมกันครับ
1. มัธยม วัยก่อร่างสร้างตน กับการเรียนรู้ในระบบ
เช้าวันหยุดผมนัดกับ เอิร์ธ หรือ กฤตเมธ สายแสน มาพูดคุยเรื่องราวชีวิตในช่วงปีที่ผ่านมาและทดลองสูตรสีจากธรรมชาติที่ผมและเขากำลังสนใจ
ระหว่างรอ ผมนั่งคุยกับคุณตาของเอิร์ธที่ใต้ถุนบ้านไม้ ด้านล่างเปิดโล่ง ข้าง ๆ กันเป็นบ้านที่ก่อด้วยอิฐดินกำลังฉาบผนังด้วยดินสีโทนน้ำตาลอ่อน ๆ ชั้นสองเป็นโครงสร้างไม้ไผ่ มุงหญ้าคา ยายกำลังนั่งอยู่ชานบ้านที่เชื่อมตัวบ้านสองหลังเข้าหากัน บ้านดินหลังนี้เป็นผลงานของเอิร์ธที่เริ่มจากอิฐ ดิน ธรรมดา ๆ ก้อนแรกในวันนั้น
เล่าย้อนไปก่อนหน้านี้ ผมมีโอกาสคุยกับ ครูถม ถมทอง เขตร์สินบุญ อดีตครูโรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม จ.กาฬสินธุ์ หลังจาก เอิร์ธ จบ ม.6 และได้ตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง ครูถม เป็นอีกคนที่เฝ้ามองการเติบโตบนเส้นทางการศึกษาช่วงวัยมัธยมของเอิร์ธ ก่อนที่ครูเขาจะย้ายกลับบ้านไปประจำการอยู่ที่โรงเรียนกมลาไสย ซึ่งตอนนั้นเอิร์ธกำลังเรียน ม.6 เทอมสุดท้าย
ครูถม – ถมทอง เขตร์สินบุญ (ซ้าย) ครูตุ๋ม – วิภาวี พลตื้อ (ซ้าย)
ครูถม มีความทรงจำกับเด็กชาย ม.1 คนหนึ่ง ที่เดินผ่านหน้าห้องศิลปะมาแอบมองว่าพี่ ๆ เขาเรียนอะไรกัน จนอดไม่ได้ที่จะเรียกเข้ามาคุย ลงเอยด้วยการชวนเขาเข้ามาเป็นสมาชิกชุมนุมศิลปะ แม้ ครูถม จะไม่ได้สอนระดับชั้น ม.1 แต่ก็ได้พยายามส่งเสริมทัศนศิลป์ขั้นพื้นฐาน การวาดเส้น ด้วยคุณลักษณะเด็กคนนี้เป็นคนชอบเรียนรู้ คิดค้นทำอะไรใหม่ ๆ มุ่งมั่นและไม่ย่อท้อ เลยผลักดันให้ได้ไปต่อในทัศนศิลป์ ประเภทศิลป์สร้างสรรค์ เด็ก ม.1 คนนั้น คือ เอิร์ธ กฤตเมธ สายแสน
ย้อนกลับไปในตอนนั้น ครูถม เล่าว่า เอิร์ธ สนุกกับโจทย์ที่ได้รับและสามารถออกแบบแนวคิดศิลป์สร้างสรรค์ได้ค่อนข้างดี นั่นเป็นครั้งสำคัญที่ เอิร์ธ ได้ผลักดันตัวเองจนสามารถคว้าเหรียญทอง 2 ปีซ้อน ในงานศิลปหัตกรรมนักเรียนระดับภาค ส่วน ม.ปลาย ได้ลองยกศักยภาพตัวเองในการวาดภาพจิตรกรรมไทยประเพณี โดยคว้ามาได้ทั้งหมด 1 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน
สำหรับชีวิตนอกห้องเรียน เอิร์ธ เป็นคนที่ความรับผิดชอบสูง ไม่ทิ้งอะไรไว้ให้เป็นภาระ เมื่อรับปากแล้วไม่ว่าเรื่องส่วนตัว หรืองานส่วนรวมจะทำให้สำเร็จ ส่วนเรื่องที่มักจะพูดคุยกัน นอกจากศิลปะแล้วก็เป็นเรื่องครอบครัว และเรื่องราวของเพื่อน ๆ ที่เขามักจะเก็บรายละเอียดและใส่ใจความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนเสมอ
2. เริ่มจากดินธรรมดา ๆ สู่การเรียนรู้ที่น่าตื่นเต้น
นับตั้งแต่วันที่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในประเทศ ก่อนจะเข้าสู่หลักร้อยช่วงเดือนมีนาคม 2563 โรงเรียนในจังหวัดกาฬสินธุ์ก็เริ่มมีการเลื่อนเปิดเทอมออกไป จนนำไปสู่การล็อกดาวน์ทั้งประเทศ เมื่อห้องเรียนในโรงเรียนถูกปิดลง ผมและเครือข่ายครูของเราเคยมีประสบการณ์จัดการเรียนรู้นอกห้องเรียน จึงชวนครูจาก 3 โรงเรียนเครือข่าย ภายใต้การสนับสนุนของโครงการก่อการครู คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเปิดห้องเรียนริมเขื่อนลำปาว เป็นห้องเรียนใต้ต้นยางนาใหญ่ และใต้ถุนบ้านไม้ยกสูง
กระบวนการ คือ ชวนผู้เรียนมองภูมินิเวศของชุมชน มีการใช้ประโยชน์ มีผลกระทบ และค้นหาประเด็นที่ตัวเราให้คุณค่าและสนใจคืออะไรในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่มิถุนายนถึงสิงหาคม 2563 เราเรียกโครงการนี้ว่า รถพุ่มพวงชวนเรียนรู้ ณ กาฬสินธุ์
เอิร์ธ ที่กำลังขึ้น ม.6 ในปีนั้น ก็สมัครใจเข้าร่วมกับเรา มี ครูตุ๋ม วิภาวี พลตื้อ ครูโรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม เป็นครูที่ปรึกษาโครงการ และเป็นครูในโรงเรียนของเอิร์ธ
บ้านดิน บ้านฉัน บ้านเธอ
ทุกสัปดาห์เราจะสลับไปเรียนในแต่ละชุมชน เมื่อถึงช่วงเวลาที่โรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคมเป็นเจ้าภาพ ครูตุ๋ม และ เอิร์ธ ได้ตัดสินใจที่จะใช้ชุมชนบ้านหาดทรายมูล เป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน บ้านดิน บ้านฉัน บ้านเธอ เป็นชื่อกิจกรรมในครั้งนั้น และใช้ใต้ถุนบ้านคุณตากับยายของเอิร์ธ ไปจนถึงลานดินหลังบ้านเป็นพื้นที่เรียนรู้ เอิร์ธ ได้ออกแบบกิจกรรมที่จะให้ทุกคนได้สัมผัสกับชุมชนบ้านหาดทรายมูลในอดีต ตามภาพวาดที่มีชื่อว่า “นาดง” ที่ถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบด้วยสีอะคริลิกได้แรงบัลดาลใจจากเรื่องเล่าของคุณตา ที่พรรณนาถึงความอุดมสมบูรณ์ของบ้านหาดทรายมูลซึ่งอยู่ในเขตป่าดงมูลในอดีตว่ามีความสวยงาม เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ดินเเละน้ำมีความสมบูรณ์ สรรพชีวิตใช้ทรัพยากรด้วยความเกื้อกูลกันและกัน
ร่องรอยการเรียนรู้จากอิฐดินแห้งเกือบ 30 ก้อน กับเวลา 3 สัปดาห์ ที่เขาลองผิด ลองถูก กับดินหลังบ้านของตัวเอง โมเดลบ้านดินชั้นแรกทำด้วยอิฐดินขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร และชั้นสองทำด้วยไม้ไผ่ มีโครงสร้างหลังคาเปิดที่ซับซ้อน ถูกนำเสนอและเล่าให้ทุกคนได้เห็นที่ไปที่มา และความคาดหวังที่อยากจะให้เป็นที่เรียนศิลปะของเด็ก ๆ ในชุมชน
“อิฐดินที่ดี มันต้องมาจากประสบการณ์ของก้อนที่ผ่านมา พอเราปั้นดู ความรู้สึกของเราจะบอกได้ว่าอิฐก้อนนั้นมันเป็นอย่างไร เหลวไป แข็งไป เมื่อเทลงแบบพิมพ์ แล้วยกไม้ขึ้น มันจะคงรูปเหมือนเดิม นั่นคือก้อนอิฐดินที่ดีสำหรับผม”
เอิร์ธบอก
3. จบ ม.ปลาย กับการตัดสินใจครั้งสำคัญ จากเสียงภายใน
การศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ อะไรกับเอิร์ธ
นอกจากระเบียนแสดงผลการเรียนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ปพ.1) ที่จะต้องผ่านรายวิชาพื้นฐาน 41 หน่วยกิจ รายวิชาเพิ่มเติมตามที่สถานศึกษากำหนด ผ่านการประเมินการอ่าน คิด วิเคราะห์ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนแล้ว เอิร์ธ ได้อะไรกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
“ผมรู้สึกว่าตัวเองได้ความรู้คณิตศาสตร์ การงานอาชีพ ศิลปะ ส่วนภาษาอังกฤษ เป็นอะไรก็ไม่รู้ ครูสอนดี แต่ความกลัวที่จะเผชิญหน้ากับการฟัง พูด อ่าน เขียน เลยรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยได้ความรู้เลยครับ ทักษะการทำงานส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากงานกลุ่มนอกเวลาเรียน นัดกันทำงานกลุ่ม งานอาสาช่วยครู ป้ายคัทเอาท์กีฬาสี หรืองานสร้างสรรค์ของโรงเรียน เกิดทักษะการทำงานเป็นทีม เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน ผมยังเอาทักษะเหล่านี้ไปรับงานข้างนอกเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนด้วยครับ”
“ผมเริ่มเห็นตัวเองตั้งแต่ ม.4 แล้วว่าชอบการลงมือทำงานนอกห้องเรียน มากกว่าเรียนในห้อง นอกห้องมันได้เห็นศักยภาพของตนเองว่าสามารถทำอะไรเพื่อส่วนรวมได้ รู้สึกได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในงานใหญ่ ๆ ของโรงเรียน ผมจะใช้ลักษณะการเป็นผู้นำที่ให้เพื่อน ๆ พี่น้องมีส่วนร่วมกับงานครับ แต่พอกลับมาในห้องเรียน ผมรู้ตัวดีว่าทำได้ไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะเรื่องเรียน อาจจะเรียกว่าเป็นเด็กหลังห้องก็ว่าได้”
การตัดสินใจครั้งสำคัญ จากเสียงภายใน
ด้วยคุณลักษณะของ เอิร์ธ ที่มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องทักษะการทำงาน ความเป็นผู้นำ และศิลปะสร้างสรรค์ มีเหรียญทองระดับงานศิลปหัตกรรมนักเรียนระดับภาค น่าจะเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ได้ไม่ยาก แต่ เอิร์ธ กลับตัดสินใจไม่ไปต่อในระดับอุดมศึกษา โดยมีเหตุผลที่สำคัญ คือ เรื่องครอบครัว การสูญเสียแม่ซึ่งเป็นเสาหลักของบ้านแบบไม่ได้ตั้งตัวในช่วง ม.5 เขาได้ตั้งคำถามกับการมีชีวิตอยู่ต่อไปจะทำอย่างไร ทำเพื่อใคร ความกังวลต่าง ๆ ถาโถมเข้ามา น้องชายตัดสินใจบวชเรียนเพื่อเป็นทางออกสำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เป็นช่วงเวลาที่เอิร์ธได้หันมาใคร่ครวญ ฟังเสียงจากภายในของตัวเอง เราต้องการอะไร เรายังมีตากับยายที่ยังอยู่กับเรา เขารู้สึกว่าแม่จากไปโดยที่ยังไม่ได้ดูแลอะไรท่านเลย การไม่เรียนต่อแล้วมาดูแลตายายคงเป็นโอกาสดีที่จะตอบแทนพระคุณของแม่
ตาของเอิร์ธ ยายของเอิร์ธ
ครูกับมุมมองความรู้สึก ต่อการตัดสินใจของเอิร์ธ
“รู้สึกเสียดายกับการตัดสินใจที่จะไม่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่อีกมุมหนึ่ง เอิร์ธ มีนิสัยชอบตั้งคำถามในใจ ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ เขาจะลงมือทำในสิ่งที่อยากรู้จนได้คำตอบนั้นออกมาด้วยตนเอง เขาถึงจะพอใจและได้ข้อสรุปในการเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ เป็นลักษณะของการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้นอกระบบน่าจะเหมาะกับเอิร์ธ ซึ่งการศึกษาในระบบจะไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้แบบนี้ แต่สุดท้ายแล้วก็เคารพในการตัดสินใจของเอิร์ธ ที่อยากดูแลตายาย”
ครูถม
“ภาคภูมิใจ ที่เอิร์ธได้ค้นพบการเรียนรู้ในรูปแบบของตนเอง สิ่งสำคัญที่สุด คือ อะไรที่ทำแล้วมีความสุขในการเรียนรู้ คนเป็นครูอย่างเราก็มีความสุขไปด้วย ถ้าโลกแห่งการเรียนรู้ทุกวันนี้เปิดกว้าง หัวใจของครูเราก็พร้อมที่จะยอมรับเปิดกว้างด้วย คนเราใช้เวลาทั้งชีวิตในการค้นหาความหมายของการมีชีวิต เช่นกันกับเด็กคนหนึ่งที่ต้องการค้นหาความหมายของการเรียนรู้”
ครูตุ๋ม
4. คืนที่เอิร์ธนอนไม่หลับ กับสิ่งที่หัวใจ มันอยากจะเล่า
หลังจากตัดสินใจที่จะไม่เรียนต่อ เอิร์ธ ก็มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองทำบ้านดินต่อ เขาใช้วิธีการชวนเพื่อนมาเล่นที่บ้าน ย่ำดิน ก่ออิฐ คุยกันไปจนมันเริ่มเป็นรูปร่าง พอตกช่วงค่ำก็จะใช้เวลาไปกับการวาดภาพเขียนสีน้ำมัน หรือสีอะคริลิกในผืนผ้าใบตามที่มีคนสั่งซื้อเข้ามา ตอนเช้าเขาจะปลูกผัก ขยายพันธุ์ไม้ประดับ จากนั้นก็ลงมือทำโครงสร้างชั้นสอง เริ่มเรียนรู้เรื่องต้นไผ่ ศึกษาพันธุ์ไผ่ การปลูก การใช้ การถนอมเนื้อไม้จากมอด ขุดบ่อแช่เกลือที่ใต้ถุนบ้าน ทำโครงสร้างบ้านชั้น 2 ที่ต้องรับน้ำหนักของพื้นไม้ และออกแบบกลไกหลังคาแบบเปิดปิดได้ เอิร์ธ ใช้เวลาเกือบหนึ่งปีกับบ้านดินที่อยากให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ศิลปะของเด็ก ๆ ในชุมชน
เอิร์ธ เป็น 1 ใน 2 คนของห้องที่ไม่ได้เรียนต่อ จากทั้งหมด 37 คน ทุกครั้งที่เพื่อน ๆ กลับมาเจอกัน เขามักจะแลกเปลี่ยนมุมมองการศึกษากับเพื่อน ๆ ผ่านคำถาม “การเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร เข้าไปแล้วเป็นอย่างไร มุมมองที่มีต่อคนที่ไม่เรียนเป็นอย่างไร” ทุกเสียงของเพื่อนที่สะท้อนถึงการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เขาเก็บรายละเอียดเหล่านั้นไว้ มีขอตามเพื่อนไปดูชีวิตนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยในจังหวัดมหาสารคาม ลองศึกษาโครงสร้างหลักสูตร และพยายามออกแบบอะไรสักอย่างหนึ่งที่พร้อมจะนำเสนอ
ค่ำคืนของการวิพากษ์หลักสูตร
ผมยังจำคืนนั้นได้ดี ผมและเครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์ มีวงคุยเล็ก ๆ นั่งล้อมวงกันก่อนเข้านอน เราค่อย ๆ เล่าเรื่องราวของแต่ละคน มีแววตาคู่หนึ่งเฝ้ารอเล่าเรื่องเป็นคนสุดท้าย
เอิร์ธ ขอเล่าสิ่งที่อยู่ในหัวของเขาซึ่งได้ออกแบบไว้ให้กับวงได้รับฟัง เขาแสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่ผสมระหว่างการศึกษาตามอัธยาศัยกับระบบมหาวิทยาลัย มีโครงสร้างของหลักสูตร จำนวนหน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร 170 หน่วยกิต แบ่งระบบแผนการเรียนออกเป็น 10 เทอม ในระยะ 5 ปี เรียนวันละ 4 ชั่วโมง 1 เทอมมี 18 สัปดาห์ เป็นแนวทางที่เขาเอาแนวคิดจากมหาวิทยาลัย ส่วนรายวิชาที่ใส่เข้าไปในโครงสร้างของหลักสูตรนั้น เป็นวิชาที่เขาสนใจ เช่น สถาปัตยกรรม ศิลปะ เกษตร ต่างจากในระบบที่มีหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หมวดวิชาเฉพาะ และหมวดวิชาเลือกเสรี การวัดผลด้วยการตัดเกรด
พวกเราค่อนข้างตกใจกับสิ่งที่เอิร์ธนำเสนอ เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงผ่านไปเร็วมาก เหมือนกับการวิพากษ์หลักสูตร เราช่วยกันเสนอแนะและตั้งคำถามต่อรูปแบบที่มันยึดติดกับคำว่ามหาวิทยาลัยเกินไป อาจจะเป็นเพราะไปดูต้นแบบมา เวลาเรียนควรเป็นวันละ 4 ชั่วโมงไหม ? เราควรให้อิสระในการเรียนรู้เราอย่างไร ? การดึงผู้ที่มีประสบการณ์ทั้ง 3 ด้านมาเป็นที่ปรึกษาและร่วมวัดผลให้ระหว่างปีจะดีไหม ? ควรเอาสิ่งที่สนใจและใกล้ตัวในพื้นที่ชุมชนมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ น่าจะมีวิชาเกี่ยวกับการรู้จักตนเองด้วย และด้านภาษาควรไปมีประสบการณ์ร่วมกับเจ้าของภาษา โดยหวังว่าเขาจะนำข้อคิดไปปรับปรุงให้ตรงตามความต้องการของตัวเองได้อย่างแท้จริง
“ผมมีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองออกแบบไว้ค่อนข้างสูง คาดหวังกับมัน แต่รู้สึกว่าตอนนำเสนอมันเต็มไปด้วยความกังวลใจหลาย ๆ อย่าง เกร็งไปหมด ได้อะไรกลับมาเยอะมากเลย เห็นแนวคิดใหม่ ๆ ที่เป็นตัวตนของเรา ไม่ได้รู้สึกเสียใจกับการวิพากษ์ ความเหนื่อยที่ลงมือทำ รู้สึกได้กำไรมากกว่า ถ้าไม่ได้พูดออกไปมันคงเครียดและติดค้างอยู่ในหัวตลอดไป ประทับใจทุกคนที่รับฟังและเสนอแนะให้กับผม”
5. ก้าวปัจจุบัน กับการศึกษาที่อิสระ “มหาลัยนัยหลืบ”
ผมเดินขึ้นไปบนบ้านของ เอิร์ธ เพื่อสำรวจบ้านดิน และพื้นที่เขาใช้ทำงานศิลปะ ที่ข้างฝามีกระดาษเขียนตารางงานวิชาเกษตร ข้อมูลแปลงพริกที่ทดลองปลูก 2 ไร่ 2 งาน ข้าง ๆ กันนั้นเป็นชุดโต๊ะเก้าอี้ที่เขาทำเองจากไม้จามจุรี ระหว่างนั้น เอิร์ธ เอาสิ่งที่เขาปรับปรุงมาให้ดู มันประกอบขึ้นจากความเข้าใจตนเองมากขึ้น เห็นตัวเองว่าต้องการอะไร ชอบอะไร อยากทำบ้าน อยากใช้ชีวิตผ่านธรรมชาติแบบมีสุนทรียะ อยากมีอาหารดี ๆ จึงเป็นที่มาของ 3 แกนหลัก ที่เอิร์ธให้คุณค่า
- บ้านกับสถาปัตยกร 70 หน่วยกิต การเขียนแบบ การออกแบบโครงสร้าง ตกแต่งภายนอกภายใน รวมถึงการถอดแบบโครงสร้างของบ้านไม้ในชุมชน บ้านดิน บ้านไม้ไผ่ เรียนรู้วัฏจักรของต้นไม้จากการเพาะเมล็ด ไปถึงแปรรูปเพื่อการใช้ประโยชน์
- แก่นศิลปะหลัก 50 หน่วยกิต พฤษาศิลป์ วาดภาพจากแรงบันดาลใจในธรรมชาติ วาดภาพองค์ประกอบของต้นไม้ การใช้สีจากธรรมชาติ ทำบ้านของตายายให้เป็นแกลเลอรีพฤษาศิลป์
- แก่นเกษตร 40 หน่วยกิต เกษตรหลัก การค้า เกษตรเลี้ยงชีพ การทดลองปลูกผัก ผลไม้ การขยายพันธุ์ ปลูกพริกเชิงทดลอง แตงโม ปลูกไผ่นานาชนิด
ส่วนภาษาอังกฤษนั้นตั้งไว้ 10 หน่วยกิต เน้นไปที่การใช้เพื่อการสื่อสารเป็นหลัก ผมขอดูไฟล์เอกสารในโน้ตบุ๊ก มีการแบ่งโครงสร้างของหลักสูตรที่ชัดเจน มีวิชาแกนหลัก 3 สาขา และมีวิชาย่อยอีก 16 วิชา ปรับเวลาเรียนตามความสะดวก แต่ 1 ปี ต้องเรียน 36 สัปดาห์ ให้ได้ปีละ 34 หน่วยกิต
เป้าหมายของหลักสูตรนี้อยู่ที่ 180 สัปดาห์หรือ 5 ปี ปรับการวัดผลเป็นผ่าน-ไม่ผ่าน เน้นการค้นคว้าด้วยตัวเองและลงมือทำชิ้นงานจริง แบ่งการประเมินเป็น 3 มิติ 1) ประเมินตัวเอง 2) คนรอบข้างหรือเพื่อนที่เรียนเรื่องนี้ 3) ครูภูมิปัญญาหรือผู้มีประสบการณ์ด้านนั้น ๆ ถ้ามีการลงความเห็นว่าไม่ผ่านก็ต้องปรับปรุงหรือทำซ้ำจนผ่าน ในช่วงที่ผ่านมาเขายังมาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์ อบรมที่อาศรมวงศ์สนิท และอาศรมธรรมชาติ
เอิร์ธ บอกว่า
“การเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ทำให้ผมเห็นข้างในของตัวเองค่อนข้างชัด รู้ว่าเราเป็นใครทำอะไรได้บ้าง มันพุ่งตรงไปในประเด็นที่เราให้คุณค่า ผมอาจจะไม่ได้เรียนครบทุกวิชาหรอก อาจจะใช้เวลาเร็วกว่า 5 ปีก็ได้ ผมเพียงใช้โครงสร้างที่ออกแบบมาให้เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ผมได้เจอความสุขจากสิ่งที่ผมชอบ”
แล้วเอิร์ธ เรียกสิ่งที่กำลังทำนี้ว่าอะไร ผมถาม
“มหาลัยนัยหลืบ หลืบ ภาษาอีสาน ผมนิยามว่ามันลึก เเคบ ห่างไกลหรือยากที่จะเข้าไปถึง ผมมุ่งเน้นที่จะศึกษาจากภายในตัวเอง ส่วนที่ลึกที่สุด ส่วนที่เเคบที่สุด เเละส่วนห่างไกล ศึกษาสิ่งที่ชอบจากภายในเเละเเก่นเเท้ของสิ่งนั้น เพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ นี่เป็นที่มาของมหาลัยนัยหลืบ มหาลัยอิสระ การศึกษาที่ยอดเยี่ยม มหาลัยที่เเหกกฎ มหาวิทยาลัยของผม”
สไตล์การเรียนรู้ตามความชอบหรือความต้องการ ผ่านการลงมือปฏิบัติ แล้วกลับมาสะท้อนคิด มีการทำความเข้าใจเชิงลึกและสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง เอิร์ธ จัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตในช่วงวัยมัธยมปลาย โรงเรียน บ้าน ตายาย ครู เพื่อน ผู้คนที่ผ่านเข้ามา ล้วนเกื้อหนุนให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ และที่สำคัญหัวใจของ เอิร์ธ เต็มไปด้วยความพยายามที่จะค้นหาความสุขด้วยตัวเอง
ตอนนี้ เอิร์ธ กำลังเรียนปีที่ 1 เขากำลังสนุกกับมหาลัยอิสระ และเส้นทางที่ตนเองได้ออกแบบไว้ เด็ก ๆ ในชุมชนเริ่มมาที่บ้านดินเพื่อเรียนศิลปะ ต่อจากนี้คงจะมีเรื่องเล่าอีกมากมายจากการเดินทางของเรา แล้วพบกันครั้งต่อไปครับ