ครูก่อการปั่น สังเกตกายใจ เห็นอะไรที่ซ่อนอยู่

“หมุนวงล้อการเรียนรู้ กับ ครูสายปั่น” บทที่ 1

ถ้าพูดถึง กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ผมคิดว่าหลาย ๆ คน คงจะนึกถึงกิจกรรมที่มีอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียน กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์

แล้ว ปั่นจักรยาน มันเป็นกิจกรรมส่วนไหนของการศึกษาในระบบ มีอะไรซ่อนอยู่ ผมขอชวนผู้อ่านจินตนาการว่ากำลังนั่งบนเบาะ แล้วปั่นจักรยานไปพร้อมกับเรา

“จักรยาน” กิจกรรมทางเลือกโรงเรียนในระบบ

สวัสดีครับ ผม ครูตู้ สราวุฒิ พลตื้อ สอนวิชาเอกคอมพิวเตอร์ ที่โรงเรียนมัธยมประจำตำบลชื่อหัวหินวัฒนาลัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาฬสินธุ์ อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ผมมองตัวเองเป็นครูที่ต้องสนับสนุนให้ผู้เรียนค้นพบตนเอง มีพื้นที่การเรียนรู้ด้วยการผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย ช่วงแรก ๆ ของการเป็นครู นอกจากคอมพิวเตอร์แล้ว ก็ใช้ฟุตบอล และกิจกรรมสิ่งแวดล้อมในการเข้าหาผู้เรียน

ย้อนไปตอนปี 2551 ช่วงนั้นน้องชายของผมพึ่งเรียนจบปริญญาตรี และเป็นช่วง 3 ปีแรกของเส้นทางการเป็นครูของผม เราซื้อจักรยานมือสองญี่ปุ่นมาปั่นเล่นออกกำลังกายกันแบบสนุก ๆ ปั่นรอบชุมชน แล้วขยับเส้นทาง ผมเริ่มรู้สึกดีและชอบกิจกรรมแบบนี้ ช่วงนั้นจึงเริ่มจริงจังกับการใช้เครื่องมือและฝึกทักษะการซ่อมจักรยาน แล้วก็เริ่มมองหาช่องทางที่จะนำแนวคิดการใช้จักรยานมาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงกับผู้เรียน

ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไรมาก เพียงแค่อยากเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ท้าทายวัยรุ่นมัธยมที่ส่วนใหญ่จะให้ความสนใจกับรถจักรยานยนต์ ผมอยากลองสร้างกลุ่มทำอะไรดี ๆ ร่วมกับผู้เรียน

ช่วงแรกเราปั่นไปในเส้นทางของชุมชน 5-10 กิโลเมตร มีผู้เข้าร่วม 11 คน เน้นทำกิจกรรมอาสา ปลูกต้นไม้ ล้างห้องน้ำ กวาดลานวัด ห่อข้าวเที่ยงไปกินด้วยกัน แล้วก็ปั่นกลับ กิจกรรมมีเสียงตอบรับค่อนข้างจะดี มีครู นักเรียนเริ่มสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเราต้องออกหาจักรยานคันใหม่ หรือเร่งซ่อมจักรยานคันเก่าให้เพียงพอ มีการออกแบบเส้นทางใหม่ ๆ ปรับรูปแบบกิจกรรมให้ท้าทายและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

แต่การจะนำผู้เรียนออกนอกห้องไปเรียนรู้ในสิ่งที่เขาสนใจ มันไม่ได้ง่ายนัก เอกสารการขออนุญาตจัดกิจกรรมต้องผ่านการยินยอมจากผู้ปกครองและโรงเรียน แต่เราก็ทำกันได้ และการได้เห็นรอยยิ้ม ความสนุกสนาน ทักษะชีวิตการตัวรอด ความรู้สึกขอบคุณที่ผู้เรียนสะท้อนออกมาเมื่อผ่านกิจกรรม ทำให้ผมอยากผลักดันให้มันเกิดอย่างต่อเนื่อง “Moralbike” หรือ “กลุ่มจักรยานคุณธรรม” ของพวกเราได้เริ่มหมุนวงล้อเคลื่อนการเรียนรู้ผ่านจักรยานนับตั้งแต่ปีนั้น จนกลายเป็นกิจกรรมทางเลือกกับโรงเรียนในระบบของพวกเรา

จุดสตาร์ต “ก่อการปั่นดงระแนง”

ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 จนถึงช่วงกลางเดือนกรกฏาคม โรงเรียนของผมปรับการสอนเป็น Online เต็มรูปแบบ โดยภาพรวมในช่วงนั้น นักเรียนเข้าเรียนไม่ถึงครึ่งจากหลายสาเหตุและปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และภาระที่ต้องช่วยเหลือผู้ปกครอง หลายคนไม่มีโอกาสทำกิจกรรมนอกห้องเรียน จนช่วงเดือนตุลาคมมีการประกาศให้ใช้พื้นที่โรงเรียนได้ ผมและทีมก็เริ่มขยับกิจกรรม แต่ทุกอย่างยังเต็มไปด้วยความกลัวในสถานการณ์โควิด-19 จะมีคนสนใจไหม จะจัดหรือเลื่อน โดยครั้งนี้เรากลับมาใช้การปั่นจักรยานเป็นเครื่องมือในการสร้างสุข เรียนรู้ในบริบทพื้นที่ของดงระแนง หลังจากเกือบ 1 ปีแล้ว ที่เราไม่ได้จัดกิจกรรมแบบนี้

“ก่อการปั่นดงระแนง” คือชื่อกิจกรรมการเรียนรู้ของพวกเรา ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “ครูกาฬสินธุ์ก่อการสุข” ที่ผมและทีมอยากทดลองสร้างสุข ปรับห้องเรียนเชื่อมชีวิตและการเรียนรู้เข้าด้วยกัน โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

  1. โฟกัสความสุขของผู้เรียน ให้เห็นความสำคัญกับความรู้สึก จิตใจ
  2. เรียนรู้อย่างไร ให้มีความหมาย เหมาะสมกับบริบทพื้นที่
  3. เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ แล้วนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร เกิดสมรรถนะที่จำเป็นอะไร วัดผลด้วยวิธีการที่หลากหลาย ตามสภาพจริง

“ดงระแนง หรือ ป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง” มีพื้นที่มากกว่า 5 หมื่นไร่ เป็นป่าเต็งรัง ป่าแดงหรือป่าโคก มีสภาพค่อนข้างแห้งแล้งเป็นดินทรายดินลูกรังสีค่อนไปทางแดงคล้ำ จึงเรียกว่าป่าแดง ไม่สามารถรักษาความชุ่มชื้นไว้ได้เพียงพอในฤดูแล้ง ลักษณะเป็นป่าโปร่ง พื้นป่ามีหญ้าและไผ่แคระจำพวกไผ่เพ็กขึ้นทั่วไป พรรณไม้เด่นในป่านี้ ได้แก่ ยางกราด เหียง พลวง เต็ง และรัง

ส่วนมุมของผม มันคือ ป่าโคกผืนสุดท้ายของอำเภอห้วยเม็ก และอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มี โดยเฉพาะฤดูฝนจะมีเห็ดป่าและของป่าออกเป็นจำนวนมาก และเป็นความทรงจำของถนนที่มีอุโมงค์ต้นไม้ยาว 3-4  กิโลเมตร  ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยถนน 4 เลน

ครั้งนี้ เรารับสมัครนักเรียนและครูที่สนใจผ่านระบบรับสมัคร Online มีนักเรียน 18 คน ครู 9 คน หลัก ๆ มาจากโรงเรียนเครือข่ายของเรา คือ โรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย โรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม และโรงเรียนบ้านหนองแวงบ่อแก้ว มีน้องระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนอื่น ๆ มาปั่นกับผู้ปกครองที่เป็นครู ผมลองถามเหตุผลก่อนไปปั่นของแต่ละคน มันน่าสนใจเลยทีเดียว

“หนูชอบปั่นจักรยานค่ะ”

“ผมว่ามันน่าจะผ่อนคลาย การปั่นจักรยานดูธรรมชาติ ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เเละอยากได้ภาพถ่ายสวย ๆ ด้วย”

“หนูเป็นคนอำเภอห้วยเม็กที่ยังไม่เคยได้ศึกษาดงระแนง และอยากรู้จักเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ โรงเรียนอื่นด้วย”

“หนูอยากเปิดการเรียนรู้ด้านนี้ เพราะไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสจริง อยากปั่นจักรยานกับเพื่อน ๆ และคุณครู”

“หนูอยากออกไปข้างนอกบ้าน ตั้งแต่โควิดมายังไม่ได้ออกไปไหนเลยค่ะ”

เรื่องเล่าระหว่างเส้นทาง “ก่อการปั่นดงระแนง”

เกือบ ๆ 3 โมงเช้า เด็ก ๆ เริ่มทยอยมาถึงบ้านโนนสูง อำเภอยางตลาด ซึ่งเราจะเริ่มปั่นจากที่นี่ ระหว่างที่รอสมาชิกจากโรงเรียนอื่น เราช่วยกันทำความสะอาดใบทองกวาว ห่ออาหารด้วยใบตอง พอเสร็จแล้วหลายคนก็รีบไปลองจักรยาน คันไหนมันดึงดูดเรา ปั่นดี ลองปรับเบาะนั่งดู

ทีแรกผมกับทีมตั้งใจจะเปิดกิจกรรม Check in ก่อนปั่น แต่ดูท่าทางแล้วเด็ก ๆ อยู่บนเบาะตั้งท่าไปปั่นอย่างเดียว พวกเราก็เลยไม่อยากขัดบรรยากาศ แต่ก่อนออกตัวยังไม่ลืมที่จะบอกกติกา เราจะใช้ถนนร่วมกับผู้อื่น สัญญาณมือ หยุดรถ เลี้ยวซ้าย ขวา แล้วเราก็เริ่มปั่นผ่านชุมชน จากนั้นถนนเริ่มแคบลงเปลี่ยนเป็นถนนลูกรัง อุปสรรคเริ่มมาทักทายทุกคนแล้ว

ออกมาได้เกือบ 1 กิโลเมตร เราแวะพักที่อุโมงค์ไผ่ ครูอร เอมอร จันทร์ขุนทด ครูคณิตศาสตร์ จากโรงเรียนบ้านหนองแวงบ่อแก้วที่ถนัดการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย ชวนเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพแบบคูล ๆ ตั้งค่า มองหามุม มองกล้องที่ต่างออกไป ส่วนผมก็เข้ามาเสริมชวนสังเกตกายระหว่างปั่นจักรยานเป็นอย่างไรบ้าง รู้สึกอย่างไร ธรรมชาติรอบกายเป็นอย่างไร

เราปั่นต่อ เด็กชายปั่นมาตีคู่กับผม แล้วพูดว่า “ดีจังเลยครับ บ้านผมไม่เป็นแบบนี้นะครับครู ที่นี่ยังพอมีป่า”  แล้วมันดีไหมครับ  “ผมว่าดีครับป่าเยอะดี” แล้วก็รีบแซงผมขึ้นไป ไม่นานเด็กชายปั่นสวนกลับมา ร้องตะโกนว่า “น้องประถมรถล้มครับ หัวเข่าแตกเลย” ได้ยินเท่านั้น ใจก็สั่นไหว สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดมันเกิดขึ้นแล้ว ผมรีบตั้งสติแล้วเร่งปั่นไปยังที่เกิดอุบัติเหตุ เรารีบปฐมพยาบาล เทน้ำสะอาดล้างแล้วปิดแผลด้วยหน้ากากอนามัยใหม่ ผมให้น้องประถมซ้อนท้าย

ขบวนเราปั่นต่อผ่านไร่มันสำปะหลัง ถนนเป็นทรายปั่นยาก หลายคนยอมแพ้ ลงจูงรถเพื่อให้ผ่านเส้นทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคไปให้ได้ ไม่นานเราก็ทะลุป่าและถนนทรายออกมาสู่ทุ่งนา มองเห็นหนองหญ้าม้า และศูนย์เพาะชำกล้าไม้จังหวัดกาฬสินธุ์ ทุกคนต่างดีใจ เพราะรู้ว่าที่นี่จะเป็นที่พักทานอาหารเที่ยงและทำกิจกรรมต่อในช่วงบ่าย คงได้พักยาว ๆ

น้องที่เจ็บเข่าขอกลับมาปั่นจักรยานอีกครั้ง ถึงที่พัก เราชวนทุกคนจอดรถ ดื่มน้ำ แล้วค่อย ๆ เดินสำรวจพันธุ์ไม้ใหญ่ในศูนย์เพาะชำกล้าไม้จังหวัดกาฬสินธุ์ จากนั้น เราล้อมวงชวนจับคู่เอาภาพที่เก็บมาระหว่างทางโดยเลือกภาพตามคำถาม 5 ภาพ คือ ภาพที่เป็นตัวเราเอง ภาพที่เหนื่อยกายใจ ภาพก่อการปั่นดงระแนง ภาพที่สื่อสารกับธรรมชาติ และ ภาพที่อยากเล่า

สังเกตดูช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพ ทุกคนได้แบ่งปันภาพและเรื่องราวจากการปั่นในช่วงเช้า ว่าได้เจออะไรกันมาบ้าง

ภาพที่เป็นตัวเราเอง  “เห็นตัวเองมาก ๆ ค่ะ เหนื่อย ไม่คิดว่าตัวเองจะผ่านมาได้ ทางมันมีแต่ทราย หนูลงจูงรถเลยค่ะ ดีใจที่ผ่านมาได้”

ภาพเหนื่อยกายใจ “กอไผ่ที่ถูกเผา เหมือนชีวิตเราถ้าไม่ได้เติบโตอย่างที่เราอยากจะเป็น มันก็น่าเศร้าเหมือนกัน”

ภาพก่อการปั่นดงระแนง “ผมว่าภาพนี้ มันบอกถึงความอบอุ่น การปั่นท่ามกลางเพื่อน พี่ น้อง ครู มันรู้สึกดีครับ”

ภาพที่สื่อสารกับธรรมชาติ “หนูกดดันสุด ๆ ค่ะ ช่วงที่เรียน Online อยู่แต่หน้าจอไม่ได้ไปไหนเลย อยากออกมาข้างนอกบ้าง หนูชอบสีของน้ำและท้องฟ้ามาก รู้สึกดี”

ภาพที่อยากเล่า “มีทั้งคนและจักรยาน จักรยานเป็นสื่อกลางของการทำกิจกรรมที่มีคุณค่า และเงาที่คอยขับเคลื่อนให้กิจกรรมดำเนินไปค่ะ”

หลังจากนั้นผมชวนทุกคนอาสา เตรียมอาหาร ทำส้มตำ หาสถานที่ทานข้าวเที่ยงและเตรียมอุปกรณ์สกัดสีจากธรรมชาติ

ช่วงบ่าย เอิร์ธ กฤตเมธ สายเเสน ศิษย์เก่าโรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม ที่เพิ่งจบ ม.6 ปีที่แล้ว แต่ตัดสินใจจะไม่ศึกษาต่อ เพราะอยากเต็มที่กับการเรียนรู้ที่เขาสนใจเรื่องงานศิลปะ และ ครูฝน สายฝน จันบุตราช ครูโรงเรียนบ้านหนองแวงบ่อแก้ว ชวนทุกคนทำสีจากดินแดงจอมปลวก ใบไม้ ดอกไม้ ผ่านบทกวีดงระแนงที่ทีมงานเราขับกล่อม

ช่วงที่เราปั่นมีสิ่งที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ธรรมชาติที่มากระทบกับกายของเรา แล้วอารมณ์กับจิตใจของเราเป็นอย่างไรรับรู้กับมือที่สัมผัสพู่กัน ใจสบายสบาย ระบายสีลงไป ปล่อยเวลาให้ทุกคนได้ทำงาน 2 ชิ้น ทุกคนขยับหามุมเงียบสงบริมหนองน้ำใหญ่ สิ้นเสียงระฆังเราเดินล้อมวงชมงาน ลองให้ใจรับรู้ และลดการตัดสินภาพวาดของเพื่อน ดูว่าใจของเราเป็นอย่างไร

ปั่นไกล ๆ อะไร คือ คำตอบ

เกือบ 4 โมงเย็นแล้ว ตอนนี้ปั่นได้ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่ง เรารีบออกปั่นไปตามถนนรอบหนองหญ้าม้าสู่ทางที่ลัดเลาะไปตามทุ่งนาที่ชุมชนใช้สัญจร ผ่านป่าอ้อย ป่ายูคาลิปตัส เพื่อตัดสู่ถนนหลักของชุมชน หลายคนส่งเสียงร้องดีใจ มีรอยยิ้มเมื่อออกมาถึงแยกถนนลาดยางอีกครั้ง เกือบ 10 กิโลเมตรแล้ว ที่เราไม่ได้เจอถนนแบบนี้ตั้งแต่ออกจากหมู่บ้าน จากนั้นคำถามก็มาเป็นชุด ๆ

“ทำไมครูถึงพามาทางนี้ครับ ทำไมไม่พามาทางดี ๆ หน่อย”

“ทางลัดของครูมันไกลกว่าทางหลักอีก”

ผมเลือกที่จะเงียบไม่ได้ตอบทันที เพียงแค่บอกกับไปว่า

“เดี๋ยวทุกคนก็ได้คำตอบ พอกลับถึงบ้านแล้วค่อยคุยกันต่อ”

สำหรับผมการทำกิจกรรมปั่นจักรยาน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงและเป็นหัวใจของกิจกรรม คือความปลอดภัยในเส้นทาง เราจึงพยายามใช้เส้นทางรองที่เป็นทางเชื่อมระหว่างชุมชน แน่นอนทางเหล่านี้จะไม่ดีนัก เป็นลูกรัง ดินหรือทราย ยังเป็นธรรมชาติอยู่ ทุกคนปั่นได้ช้าลง ต้องใช้กำลังกายมากขึ้น ต้องเพิ่มทักษะการประคองรถ ประคองสติกับการปั่นเสมอ และสามารถใช้พื้นที่ข้าง ๆ ถนน ร่มไม้ หยุดทำกิจกรรมระหว่างทางได้ เส้นทางที่ไกล มันจะท้าทายเราให้อยากเอาชนะหรือผ่านอุปสรรคนั้นไปให้ได้

ส้มตำสนทนา เหนื่อยกาย พักใจ
เห็นอะไรที่ซ่อนอยู่

เราถึงเป้าหมายแล้ว 15 กิโลเมตร ผมก็รู้สึกกังวลกับเวลาที่เกินจากกำหนดไปเกือบ 1 ชั่วโมง ทุกคนดูเหนื่อยมากจาก 8 ชั่วโมงที่เราได้ทำกิจกรรมร่วมกัน

หลังจากพักแล้ว ผมค่อย ๆ ชวนนั่งล้อมวงกัน เริ่มมีเสียงครกส้มตำดังขึ้น ยกมาเสิร์ฟทีละวง จากนั้นวงส้มตำสนทนาก็เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ เราใช้โอกาสนี้เป็นช่วงเวลาในการสะท้อนกิจกรรมด้วยคำถาม 2 ข้อ โดยมีครูคอยโยนคำถามชวนแต่ละวงคุย

1) การเรียนรู้วันนี้ เหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับในโรงเรียน

“ได้ออกเดินทางด้วยตัวเอง ออกมารู้มาเห็นสิ่งใหม่ ตื่นเต้นกับเส้นทางที่ไม่เคยไป เจอพันธุ์ไม้ เจอรุ่นพี่”

“ได้ประสบการณ์มากกว่า ได้ใช้จริง ไม่เหมือนในห้อง เรียนรู้แบบสนุก ได้ออกกำลังกายด้วย”

“ช่วงโควิด เหนื่อยมาก ปวดคอ ปวดหลัง ปวดตา มันรู้สึกแตกต่างมาก ไปโรงเรียนรู้สึกเฝ้ารออยากกลับบ้าน ครั้งนี้แม้พูดไม่เก่งแต่ก็รู้สึกดี สนุก”

“ได้รู้จักถึงเฉดสีจากธรรมชาติ โดยเฉพาะสีจากดินปลวก ในโรงเรียนเป็นคาบเรียนที่มีขอบเขต วันนี้เรามีอิสระทางความคิดจากผู้คนหลายรุ่น เปิดมุมมองใหม่ ๆ”

“ที่โรงเรียนบางวิชามีแต่ถูกกับผิด แต่ครั้งนี้เป็นความคิดของเราเปิดโอกาสให้ถูกผิดได้ ได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน เป็นธรรมชาติ เป็นตัวเองดีค่ะ” 

“ถ้าเป็นการวาดภาพในห้องเรียนจะไม่มีใครอนุญาตให้เราได้ลองอะไรใหม่ ๆ แบบนี้ไม่มีใครมาตัดสินเราเลย”

“ได้ฝึกในสนามจริง ฝึกการเข้าหาคน เข้าสังคม ได้นำมาใช้ชีวิตจริง ๆ ไม่เหมือนในห้องที่จำลอง”

2) ถ้าเราอยากเจอกันอีก เราจะทำอย่างไร อยากให้มีกิจกรรมลักษณะแบบไหนมาเพิ่มเติม

“ตั้งเพจ หรือลงกลุ่ม หนูว่าเราน่าจะเปิดกว้างให้หลาย ๆ โรงเรียนได้เข้าถึง หรืออาจจะแทรกเข้าไปในกิจกรรมแนะแนวก็ได้”

“อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้ อยากให้มีการปั่นไกลขึ้น เราอาจจะช่วยกันทำขนม ห่อไปกินระหว่างทางด้วย”  

“อยากให้มีกิจกรรมเรียนรู้ในชุมชน สิ่งของเครื่องใช้เก่า ๆ ภูมิปัญญา เราน่าจะเชื่อมไปถึงจุดนั้นของชุมชน”

“ไม่ต้องเจอกลุ่มใหญ่ก็ได้ อาจจะเริ่มขยับกลุ่มเล็ก ๆ ที่โรงเรียนของแต่ละคน มีวงแบบนี้ได้ฟังเสียงจากใจของเพื่อน ๆ” 

“หนูสนใจคณิตศาสตร์ อาจจะผนวกกันเลย ศิลปะ คณิตศาสตร์ และธรรมชาติ”

ครั้งนี้เราเห็นอะไรที่ซ่อนอยู่ สำหรับผมได้เห็นเพื่อนครูพยายามออกแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ความสุขของผู้เรียน โดยให้ความสำคัญกับความรู้สึก และให้โอกาสแสดงมันออกมาอย่างอิสระ ผ่านการปั่นจักรยาน การพูดคุยแลกเปลี่ยน การถ่ายภาพ การศึกษาพันธุ์ไม้ การผลิตและระบายสีจากธรรมชาติ การทำกิจกรรมร่วมกัน

เห็นการเรียนรู้ที่มีความหมาย จากพื้นที่และทรัพยากรที่เรามีร่วมกัน โดยเฉพาะครูที่เอาตัวเองเข้ามาเรียนรู้ร่วมปั่นกับผู้เรียน ผู้เข้าร่วมได้พัฒนาสมรรถนะ 6 ด้านที่จำเป็น การแลกเปลี่ยนความคิดความรู้สึกด้วยการสื่อสาร การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้

กิจกรรมนี้อาจเป็นกรณีศึกษาของพื้นที่ที่มีบริบทแตกต่างกัน แต่หัวใจสำคัญคงอยู่ที่การให้ความสำคัญกับคุณค่าที่เราอยากจะเห็น การปรับห้องเรียนให้เชื่อมชีวิตและการเรียนรู้เข้าด้วยกันอย่างมีความหมาย

ครูสายปั่นมองวงล้อการเรียนรู้

หลังจากผ่านการปั่นมา 4-5 วัน ก็ได้เวลาที่ผมจะถามคำถามสำคัญกับตัวเองและผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน “เราได้เรียนรู้อะไรจากการปั่นในครั้งนี้”

“ได้เรียนรู้ จากการรู้จักสังเกต ได้เปิดโอกาสให้ตนเองพบสิ่งใหม่ ๆ”

“การแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้คนใหม่ ๆ (ที่พร้อมรับฟังเรา) ทำให้รู้สึกปลอดภัยและคุ้มค่าที่จะเริ่มต้นพูดคุย”

“ความลำบากหรืออุปสรรคสามารถผ่านไปได้ ถ้าเราพยายาม ก็เหมือนที่เราได้ออกปั่นจักรยานที่ทางมันไม่ดี เเต่เราก็พยายามที่จะขี่มันให้ผ่านมาให้ได้”

“ความรู้สึกเหนื่อยหายไป…สิ่งที่ยังคงอยู่ คือ การเรียนรู้และความสวยงามของธรรมชาติรอบตัว”

มันเป็นคำตอบที่ผ่านการตกผลึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ตนเองมาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทาย การรู้จักสังเกตกายภาพก่อนปั่น ระหว่างปั่น และหลังปั่น สภาวะจิตใจ ความรู้สึกเป็นอย่างไร ความลำบากกับเส้นทางที่เราต้องผ่านไปให้ได้ มันอาจจะเป็นเพียงกิจกรรมทางเลือก แต่เมื่อมีผู้เรียน และครูที่ต้องการให้วงล้อการเรียนรู้แบบนี้หมุนต่อไปเรื่อย ๆ เราก็อยากเห็น อยากผลักดันให้มันเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในห้องเรียนจริง ในระบบการศึกษา

ยังมีเรื่องเล่าอีกมากมายจากการเดินทางของเรา เดี๋ยวมาเล่าต่อในครั้งต่อไปนะครับ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ครูตู้ | สราวุฒิ พลตื้อ

ปั่น ปลูกต้นไม้ เรียนรู้ และพยายามสร้างชั้นเรียนที่มีความหมายกับตนเองและสังคม