‘แรงงานซอยกีบหมู’ ต้องไม่ติดกับดักทักษะ

Upskill Reskill เร่งด่วน… ก่อนกลายเป็นภาระการคลัง

Upskill และ Reskill เป็นแนวทางที่จำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญ แต่สำหรับแรงงานไร้ทักษะฝีมือ แรงงานนอกระบบที่มีอยู่ในประเทศ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับการพัฒนาทักษะ เพราะหมดเวลาไปกับการทำงานแบบวันต่อวัน The Active สัมภาษณ์ อาจารย์เค-เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ความจำเป็นเร่งด่วนของแรงงานในยุคนี้

ทำความเข้าใจ ซอยกีบหมู แหล่งรวมแรงงานไร้ฝีมือ

ยกตัวอย่างเคสแรงงาน ที่อยู่ ในสารคดีคนจนเมือง ตอน สวรรค์กรรมกร ฉายภาพของแรงงานในซอยกีบหมูราว 5,000-8,000 คน ที่ต้องมายืนรองานตั้งแต่เช้ามืด ตี 5-10 โมง มีทั้งคนสมหวัง และผิดหวังไม่ได้งาน และขาดรายได้

จากการสำรวจของทีมข่าวพบว่าแรงงานที่นี่ส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน และมีแรงงานข้ามชาติรวมอยู่ด้วย ประเภทงานส่วนใหญ่คือ งานก่อสร้าง เช่น ช่างไม้, ช่างปูน, ช่างสี และ ทำความสะอาด ฯลฯ ปัญหาหลักของแรงงานกลุ่มนี้ คือ “ค่าครองชีพ” “ขาดเงินออม” และ “ไม่มีแต้มต่อในชีวิต” ทุกวันจึงต้องรองานในลักษณะเดิม และหากมองในแง่ของทักษะพื้นฐาน ก็จะมีลักษณะงานคล้ายกัน ทำให้แรงงานไม่มีโอกาสพัฒนาทักษะของตัวเอง แต่ไม่สามารถต่อยอดไปสู่อนาคตที่ดีได้

“แรงงานซอยกีบหมู สะท้อนภาพแรงงานที่รองานทุกวัน ลักษณะงานเหมือนเดิม
รายได้คงที่ ขณะที่ค่าครองชีพสูง และภาระมากขึ้น
ความลำบากของแรงงานก็เพิ่มขึ้น ประเด็นสำคัญ คือ ต้องเร่งทักษะให้โตขึ้น เพราะงานเหล่านี้ไม่ได้เพิ่มทักษะเลย…”

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

12 ล้านคน แรงงานไร้ฝีมือ เร่ง Upskill และ Reskill

นักเศรษฐศาสตร์ ระบุ การ Upskill และ Reskill จำเป็นเร่งด่วนในแรงงานกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุด จากกำลังแรงงาน 38 ล้านคนมีสูงถึง 12 ล้านคน ที่กำลังอยู่ในกลุ่มเสี่ยง อายุเพิ่มขึ้น เริ่มมีครอบครัว ทำให้แรงงานแต่ละช่วงวัยที่ความต้องการพัฒนาทักษะที่แตกต่างกัน ข้อมูลนี้มาจากสัดส่วนแรงงานมีฝีมือในไทยที่พบว่าอยู่ร้อยละ 14.4 ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ 4 ประเทศ คือ สวีเดน เยอรมนี สิงคโปร์ ฟินแลนด์ ซึ่งพบว่าทุกประเทศมีทักษะแรงงานฝีมือดีเฉลี่ยร้อยละ 40-50 นั่นหมายความว่าเราจำเป็นต้อง Upskill Reskill แรงงานอีกประมาณร้อยละ 35 หรือราว 12 ล้านคน ถึงจะมีสัดส่วนแรงงานมีฝีมือเทียบเท่าประเทศอื่นนั่น

ทักษะหลักที่ใช้ในการทำงานมี 3 รูปแบบ คือ
1) ทักษะการทำงาน Hard skill
2) ทักษะสกิลอยู่กับคน Soft skill
3) ทักษะการประคองงาน Emotional skill

หากวิเคราะห์เฉพาะเคสที่อยู่ในสารคดีคนจนเมือง ซีซั่นที่ 3 ตอนสวรรค์กรรมกร จะพบว่ามีแรงงานแตกต่างกันอย่างน้อยถึง 3 ช่วงวัย คือ

กรรมกรวัยเรียน : ควรมีระบบ Career Readiness ประเมินทักษะงานวัยเรียน

1) กรรมกรวัยเรียน น้องจีน และ ดา ที่ใช้ช่วงเวลาปิดเทอม ทำงานหาเงินเลี้ยงปากท้อง หากมองแบบพลิกวิกฤตเป็นโอกาสจะคล้ายกับในต่างประเทศ คือ เด็กกลุ่มนี้จะได้สัมผัสกับโลกของงานก่อนวัยทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เปรียบ แต่ระบบการศึกษาต้องการันตีว่า เด็กเหล่านี้ทำงานแล้วมีโอกาสเติบโตในด้านการเรียน ขณะที่โรงเรียนก็ต้องจัดตารางเรียนและทำงานที่เหมาะสมกับเด็กรายบุคคลด้วย

โดยในต่างประเทศเริ่มให้เด็กสัมผัสกับโลกของงาน รู้จักกับอาชีพผ่านระบบ Career Readiness หรือ ระบบการประเมินทักษะด้านอาชีพของเด็กก่อนวัยทำงาน นอกจากจะมีรายได้ เด็ก ๆ ก็จะรู้ได้เลยว่าเขาต้องเพิ่ม ต้องลดทักษะในการทำงานอะไรอีกให้ไปถึงความฝันในอาชีพที่อยากจะเป็น ขณะที่ไทยเองยังคงพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก

กีบหมู

กรรมกรวัยกลางคน : ควรมีหลังพิงให้มั่นคง และเร่งพัฒนาทักษะให้ได้งานดีขึ้น

2) เคสของ โส ที่มีลูก มีครอบครัว แม้เวลานี้เธอจะยังอยู่ในวัยแรงงาน รับจ้างทำงานไปเรื่อย ๆ แต่อายุของเธอจะเพิ่มขึ้น เธอจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า แรงงานวัยกลางคน

กลุ่มนี้ต้องการอัพสกิลรีสกิล การทำงานเป็นหนูถีบจั่นรายวัน จะยิ่งเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะแรงงานแน่นอน จำเป็นต้องมีกลไกสนับสนุนให้พวกเขาวางแผนชีวิตได้ และรัฐอาจจะต้องสนับสนุนงบประมาณ เวลาให้พวกเขาอัพสกิล รีสกิลในช่วงสั้น ๆ ก่อนกลับมาทำงานใหม่

กรรมกรสูงวัย : หางานที่สอดคล้องกับ ทักษะที่แรงงานสูงวัย มีอยู่แล้ว

3) กลุ่มสุดท้าย คือ แรงงานสูงวัย มีข้อจำกัดด้านการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ กลุ่มนี้ไม่ต้องเพิ่มทักษะแล้วค่ะเพียงแต่ต้องหางานให้สอดคล้องกับทักษะให้ได้ ​

จึงมีข้อเสนอให้ Upskill และ Reskill แตกต่างกันเป็นรายกรณี โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ 12 ล้านที่มีความจำเป็นต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้นจะกลายเป็นภาระทางการคลังที่หนักมากขึ้น

“แต่ละอาชีพ ต้องการ Upskill และ Reskill ต่างกัน ควรเจาะเป็นรายคน และจัดเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ 12 ล้านคน จำเป็นต้องเร่งพัฒนาทักษะ ก่อนกลายเป็นภาระทางการคลังที่หนักขึ้น…”

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยกระดับ ซอยกีบหมู เป็นแหล่งฝึกแรงงาน

นักเศรษฐศาสตร์ มีข้อเสนอให้ยกระดับแรงงานซอยกีบหมู ให้เป็นแหล่งฝึกงานของแรงงานระยะสั้น การทำงานรายวัน และมีสัญญาที่ไม่แน่นอน ก็จะยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้ เสียโอกาสในการพัฒนาอาชีพ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่ออนาคตการทำงาน และภาระทางการคลังในอนาคต รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องออกแบบระบบการช่วยเหลือเพราะหากคนกลุ่มนี้ล้มจะเจ็บกว่าคนที่มีฐานเศรษฐกิจเข้มแข็ง

แรงงานไร้ทักษะ มิติหนึ่งเขาเป็นคนที่ช่วยเคลื่อนเศรษฐกิจ เวลาล้ม คนกลุ่มนี้จะเจ็บมากกว่าคนกลุ่มอื่น เพราะล้มทั้งครอบครัว การป้องกันให้ไม่ล้มจึงสำคัญ

ในยุคที่คนเกิดน้อย คนทุกคนที่มีกำลังทำงาน ควรจะได้ใช้ ศักยภาพ ให้เต็มที่

ความเข้มแข็งของบางธุรกิจ ยังขึ้นอยู่กับคน หากเราไม่สร้างคน ธุรกิจไม่โต คนไม่โต เศรษฐกิจประเทศไปไม่ได้ และปัญหาสังคมจะตามมาด้วย”

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้านหนึ่งเวลานี้สังคมไทยกำลังสูญเสียกำลังคน เพราะคนเกิดน้อย หากไม่สร้าง และพัฒนาคนประเทศจะเดินหน้าต่อไม่ได้ การเช็กทักษะแรงงานรายจังหวัด และสร้างฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อดูว่าไทยกำลังต้องการทักษะแรงงานแบบใด และวางแผนรองรับในระดับชาติจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะจนถึงเวลานี้ ไทยเองก็ยังไม่มีข้อมูลด้านทักษะแรงงานที่มากพอ ในขณะที่มิติการศึกษาเพื่อมีงานทำ หรือ Career Readiness คิดเรื่องงาน สัมผัสกับงานก่อนวัยทำงาน ก็ยังไม่ถูกพูดถึงในสังคมไทยมากนัก… ซอยกีบหมูจึงเป็นตัวอย่างของ แหล่งรวมแรงงาน ที่ควรได้รับการยกระดับเป็นโรงเรียนฝึกแรงงาน และจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับแรงงานเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่นของประเทศต่อไป…

“หากให้แรงงาน หรือ นายจ้างแบกรับ ต้นทุนด้านประกันสังคม ก็คงไม่ไหว รัฐอาจจะต้องมาช่วยอย่างมีเงื่อนไข เช่น การช่วยจ่ายประกันสังคม แรงงานต้องกลับไป Upskill Reskill โดยอยู่ใน ซอยกีบหมู-เพื่อตั้งหลักชีวิต และไปต่อที่ตลาดแรงงานอื่น

ไม่ให้แรงงานติดกับดักทักษะ อยู่ในแหล่งงานแบบเดิมไปตลอดชีวิต…

ตลาดแรงงานจึงควรเป็น ตลาดที่ตอบโจทย์ธุรกิจ และการพัฒนาคนควบคู่กัน”

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์