Hotspot เสี่ยงขัดแย้งหลังเลือกตั้ง กับ ส.ว.ผู้กุมชะตาประเทศ ?

วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงหลังเลือกตั้ง ทางออกไม่ใช่ “งดออกเสียง” แต่เคารพ”เจตนารมณ์ประชาชน”

ท่ามกลางบรรยากาศคึกคัก นับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่หลายฝ่ายกลับกังวล มองข้ามช็อต เห็นภาพความขัดแย้งหลังเลือกตั้ง โดยเฉพาะกติกาโหวตนายกฯ ที่ต้องอาศัยเสียง 250 ส.ว.

การเมืองไทยจะวนกลับสู่ความขัดแย้งอีกหรือไม่ ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องความขัดแย้งรุนแรงในการเลือกตั้ง ที่เกิดขึ้นทั้ง ก่อนวันเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง รศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยอมรับว่า กังวลกับสถานการณ์หลังเลือกตั้ง 2566 แต่เขายังคงมีความหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะเมื่อรู้ว่า Hotspot หรือ ปัจจัยเสี่ยงอยู่ตรงไหน สังคมก็ต้องร่วมกันหาทางป้องกัน

“ผมก็ยังมองอย่างมีความหวัง… เราต้องมีความหวัง ถ้ารู้ว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความรุนแรง หรือเลือกตั้งไม่สงบก็ต้องช่วยกันป้องกัน เพราะการเลือกตั้ง ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นประตูบานแรก… ไปสู่การแก้ปัญหายาก ๆ ร่วมกัน แต่ถ้าเราทำได้ไม่ดี ทำให้การเลือกตั้งไม่สงบ ก็จะลำบากในการเดินไปข้างหน้า“

การเลือกตั้ง กลไกเชิงสันติภาพในการเปลี่ยนผ่านอำนาจ

การเลือกตั้งทำหน้าที่ 2 อย่าง ในสังคมสมัยใหม่ อย่างแรก  คือ เลือกว่าใครควรจะขึ้นมามีอำนาจบริหารประเทศ อีกหน้าที่ ที่คนอาจไม่เข้าใจนัก คือ การคัดสรรคนขึ้นสู่อำนาจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือด แทนการตัดสินด้วยผู้มีกำลังมากกว่าเหมือนในอดีต การเลือกตั้งถูกนำมาใช้เพื่อให้ประชาชนตัดสิน สู้กันด้วยการนำเสนออุดมการณ์แข่งขันกันอย่างสงบ ให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมกันตัดสินผ่านวิธีการที่เรียบง่ายมาก  คือหย่อนบัตรคูหาเลือกตั้ง นับคะแนน ใครได้เสียงข้างมากก็จบ สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องความขัดแย้ง หน้าที่สำคัญของการเลือกตั้ง คือ กลไกเชิงสันติภาพ ที่ทำให้สังคมไม่ต้องขัดแย้งรุนแรงในการเปลี่ยนผ่านอำนาจ

แม้จะมีข้อกังวลกับความขัดแย้งหลังเลือกตั้ง แต่ รศ.ประจักษ์ ยังคงมีความหวังกับการเลือกตั้ง 2566 ว่าจะทำหน้าที่สำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านอำนาจได้ เพราะเมื่อรู้แล้วว่า มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความรุนแรง หรือ เลือกตั้งไม่สงบ สังคมก็ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดปัจจัยเหล่านั้น เพื่อมีทางออกร่วมกัน เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นประตูบานแรก ไปสู่การแก้ปัญหายาก ๆ ร่วมกัน แต่ถ้าเราทำได้ไม่ดี ทำให้การเลือกตั้งไม่สงบ ก็จะลำบากในการเดินไปข้างหน้า

3 ช่วงเวลาเสี่ยง ความรุนแรงในการเลือกตั้ง

ปกติเวลาเรามองความรุนแรงในการเลือกตั้ง จะง่ายที่สุด ถ้าเรามองในช่วงเวลาเสี่ยง ซึ่งมี 3 ช่วง คือ ก่อนการเลือกตั้ง วันเลือกตั้ง และ หลังเลือกตั้ง

ในอดีต ช่วงเวลาเสี่ยง คือ ช่วงเวลาก่อนเลือกตั้ง ที่กำลังสู้กัน ส่วนใหญ่นักการเมืองขัดแย้งกันเอง และใช้ความรุนแรงตัดสิน สมัยที่การเมืองยังไม่ค่อยมีกติกาเท่าไหร่ สื่อยังไม่ค่อยจับจ้อง หัวคะแนนลอบยิงกันเอง บางครั้งนักการเมืองโดนลอบยิงเองก็มี สมัย 14 ตุลา 6 ตุลา มีปาระเบิดใส่เวทีปราศรัย แต่ความรุนแรงรูปแบบนี้ค่อย ๆ ลดน้อยลงแล้ว ตามกาลเวลา

เพราะสังคมเปลี่ยน คนไม่ชอบใช้ความรุนแรงแบบนี้ ฝ่ายไหนใช้ ก็มักจะเสียคะแนน และแพ้การเลือกตั้ง เพราะไม่ได้สู้กันในเชิงนโยบาย และสื่อก็จับตามากขึ้น แต่เราเจอรูปแบบใหม่ ซึ่งค่อนข้างน่ากังวลจากการศึกษาวิจัย คือ การเลือกตั้งปี 2557 ตอนนั้นรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภาฯ และจัดการเลือกตั้งใหม่ ครั้งนั้นถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ เพราะมีกลุ่มมวลชนไปล้อมคูหาเลือกตั้งทั่วประเทศ ไม่ให้ประชาชนเดินทางไปหย่อนบัตรได้ จนบางคนต้องปีนรั้วเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ครั้งนั้นเป็นรูปแบบใหม่ คือ ความรุนแรงเกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง จัดการเลือกตั้งไม่ได้ เกิดความวุ่นวาย จนการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

การเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ เรื่องความรุนแรงก่อนการเลือกตั้ง ของนักการเมืองด้วยกันเอง เริ่มเห็น 1-2 เหตุการณ์แล้ว ที่ไปลอบยิงหัวคะแนน ที่เคยสนับสนุนนักการเมืองคนหนึ่ง แล้วย้ายขั้ว ไปสนับสนุนอีกคน ก็โดนยิง หวังว่าจะไม่เกิดเหตุมากกว่านี้ สื่อต้องช่วยกันจับตา และไฮไลท์ให้เห็นว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดี เพื่อป้องปราม ครั้งนี้กังวล เพราะย้ายขั้ว ย้ายพรรคกันเยอะ และหัวคะแนนก็ย้าย จะเกิดความไม่พอใจกันมากขึ้น

พอแข่งขันกันดุเดือด พื้นที่เสี่ยงที่สุด จากการศึกษาวิจัย คือ พื้นที่ที่ผู้มีอิทธิพลมาชนกันเอง คือ ช้างชนช้าง บ้านใหญ่ชนบ้านใหญ่ บิ๊กเนมมาชนกันเอง ต่างฝ่ายต่างรู้สึกแพ้ไม่ได้ มีศักดิ์ศรีเข้ามาเกี่ยวข้อง สื่อก็อาจจะต้องช่วยจับตา จุดเหล่านี้เราเรียกว่า Hotspot ต้องช่วยกันจับตา แต่ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันเฝ้าระวัง ประชาชน สื่อ กกต. ความรุนแรงรูปแบบนี้ ไม่น่าจะลุกลามบานปลายได้

“แต่สิ่งที่ผมกังวลมากกว่าในครั้งนี้ คือ หลังเลือกตั้งจบไปแล้ว เพราะกติกาในการเลือกนายกฯ และการตั้งรัฐบาลมันเป็นปัญหา มันยังไม่เป็นไปตามกรอบสากล เหมือนนานาประเทศ”

กติกาเลือกนายกฯ จุดเสี่ยง Hotspot ความรุนแรงหลังเลือกตั้ง

สิ่งที่ รศ.ประจักษ์ กังวลสำหรับการเลือกตั้ง 2566 คือ สถานการณ์หลังเลือกตั้งจบไปแล้ว ด้วยเหตุผลกติกาในการเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นปัญหา เพราะยังไม่เป็นไปตามกรอบสากล มันอาจเป็นจุดเสี่ยงที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ประชาชนบางกลุ่ม รู้สึกว่า เลือกไปแล้ว เจตนารมณ์เขา อยากได้รัฐบาลแบบหนึ่ง สุดท้ายเจตนารมณ์เขาไม่ได้รับการเคารพ ตรงนี้จะเกิดความขัดแย้งได้ เพราะปัจจุบันการเลือกนายกรัฐมนตรีของเรา ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้ตัดสินด้วยเสียงของ ส.ส.เท่านั้น ความจริงมันควรจะตัดสินด้วยเสียง ส.ส.แล้วจบ พรรคไหนรวมได้เสียงข้างมาก เกินครึ่ง คือ เกิน 250 คะแนน พรรคนั้นก็ควรได้จัดตั้งรัฐบาล และแคนดิเดตของพรรคนั้น ก็ควรได้เป็นนายกรัฐมนตรี มันควรจะจบแค่นี้ ที่ผ่านมาเราก็ทำแบบนี้มาตลอด และประเทศอื่นที่ทำประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ก็ทำแบบนี้

แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 60 ไปดีไซน์เอาไว้แบบผิดหลักการประชาธิปไตย ให้ ส.ว.ชุดแรก ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอยู่ในอำนาจนานกว่า ส.ส.อีก คืออยู่ถึง 5 ปี ตอนนี้ ส.ส.ยุบสภาฯไปแล้ว ส.ว.ยังอยู่อีก 1 ปี และมีสิทธิ์มาเลือกนายกฯ อีกรอบ ทั้งที่ตัวเอง มาจากการแต่งตั้ง โดยคณะรัฐประหาร คสช.แต่มีสิทธิเลือกนายกฯได้เท่ากับ ส.ส.

“อย่าลืม ส.ส. 1 คนกว่าจะได้รับเลือกตั้งมา ต้องได้เสียงประชาชนเป็นแสน แต่ ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกฯ เท่ากับเสียง ส.ว. 250 คน ซึ่งถูกเลือกมาจากคณะรัฐประหาร ใหญ่กว่าเสียงของผู้เลือกตั้ง 40-50 ล้านคนทั้งประเทศ ตรงนี้แหละเป็นจุดเสี่ยง ให้เกิดปัญหา ประชาชนคงเห็นภาพ ถ้าเลือกไป พรรคหนึ่งได้เสียงข้างมาก และไปรวมเสียงข้างมากในสภาฯ ล่างได้แล้ว แต่ ส.ว.ไม่สนับสนุน แต่ ส.ว.ไปเลือกแคนดิเดตที่ได้เสียงข้างน้อยในสภาฯล่าง ได้เป็นนายกฯ ผมว่า ตรงนี้จะเกิดความขัดแย้ง”

ความรุนแรงทางการเมือง(สีน้ำเงิน) ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์(สีแดง) ความรุนแรงด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม(สีเขียว) จัดทำโดย ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

“ในทางการเมือง เราก็พบว่า ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นทันทีในวันเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ถ้าเราจำได้ การเลือกตั้ง 2562 ผ่านไปได้โดยสงบ แต่พอการเลือกตั้ง กติกาถูกมองว่า ไม่ค่อยแฟร์ และมีปัญหาเสียงข้างมากที่ประชาชนเลือกมาเป็นอันดับ 1 ไม่ได้ตั้งรัฐบาล ด้วยกติการัฐธรรมนูญที่อธิบายไปแล้ว หลังจากนั้นในที่สุด ปัญหาความไม่ชอบธรรมอันนี้แหละ กติกาไม่แฟร์ การตั้งรัฐบาลไม่สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน ก็มาประทุเป็นการประท้วงในภายหลัง”

ซึ่งถ้าเราไปดูทั่วโลก ความรุนแรงในช่วงหลังการเลือกตั้ง จะเกิดขึ้น เพราะปัญหาความไม่ชอบธรรม และไม่แฟร์ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่สุด และมันจะทำให้ประเทศเสียโอกาส ในการเดินไปข้างหน้า เพราะเราต้องมาทะเลาะกันที่เรื่องพื้นฐานว่า กติกาที่เป็นธรรมคืออะไร ใครควรมีความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจ แทนที่จะได้ตั้งรัฐบาลที่แข็งแรง มีประสิทธิภาพ มาแก้ปัญหา เพราะประเทศมีปัญหาอีกเยอะที่รอรัฐบาลใหม่มาขับเคลื่อน แต่ถ้าเรามาสะดุดเพราะตั้งรัฐบาลไม่ได้ เกิดความขัดแย้ง ประเทศก็จะติดหล่มอีกครั้ง

เชื่อ สัญญาประชาคม ส.ว. เป็นไปได้

เห็นด้วยกับข้อเสนอ สัญญาประชาคม ส.ว.ของ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เพราะอาจารย์ศึกษาเรื่องความขัดแย้ง และสันติวิธีมาตลอดชีวิต อาจารย์ท่านเห็นว่า จุดเสี่ยงอยู่ตรงไหน และมองว่า เป็นไปได้ที่จะเสนอให้ ส.ว. เคารพเสียงประชาชน อย่าลืมว่า ตอนผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ปิดสวิตซ์ ส.ว.เคยมีครั้งหนึ่ง ส.ว. กว่า 50 คน หรือ 1 ใน 5 โหวตปิดสวิตซ์ตัวเองแล้ว และตอนนี้กระแสสังคมก็เปลี่ยนแล้ว และ ส.ว.ชุดปัจจุบันก็เหลือเวลาอีกปีเดียวเอง และกลับมาดำรงตำแหน่งอีกไม่ได้แล้ว

“ถ้าคิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ส.ว.อยู่ในสถานะที่สำคัญมาก ที่จะทำให้ประเทศนี้ ออกจากความขัดแย้งนี้ได้ และตัวเอง สามารถปลดชนวนความขัดแย้งตรงนี้ได้ เป็น 250 เสียงที่กุมชะตาของประเทศอยู่ตอนนี้ ถ้าตัดสินใจถูกต้อง ประเทศก็เดินหน้าได้ และ ส.ว.เองก็จะได้รับการชื่นชมด้วย เหมือนเป็นผลงานสุดท้ายที่ฝากไว้ให้สังคม และแทนที่สังคมจะบันทึก ส.ว.ชุดนี้ในทางลบ ก็อาจจะพลิกกลับไปทางบวกได้ ถ้าครั้งนี้ ส.ว.เคารพเจตนารมณ์ของประชาชน”

งดออกเสียง ไม่ใช่ทางออก แต่ต้องเคารพเจตนารมณ์ประชาชน  

และทางออก ไม่ใช่ “ไม่โหวต” เพราะถ้า ส.ว.งดออกเสียงทั้งหมด จะไม่มีใครได้ถึง 376 เสียง ก็จะเป็นสุญญากาศอีก เพราะตามรัฐธรรมนูญระบุว่า คนที่จะได้เป็นนายกฯ ต้องได้รับเสียงจากที่ประชุมทั้งสองสภาฯ เกิน 375 เสียงขึ้นไป แต่ถ้า ส.ว.งดออกเสียงทั้งหมดก็จะทำให้เสียงโหวตไม่ถึง 376 เสียง นึกถึงสถานการณ์ที่หลายพรรครวบรวมเสียง ส.ส.ได้ 300 เสียง เป็นเสียงข้างมากที่ชัดเจน ค่อนข้างมีเสถียรภาพ แต่ขั้นตอนเลือกนายกฯ ส.ว.งดออกเสียงหมดเลย ก็จะนำไปสู่ปัญหาในเชิงรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้นสิ่งที่ อ.ชัยวัฒน์ เสนอให้ ส.ว.ทำสัญญาประชาคม และเริ่มมีเสียงหลายกลุ่มผลักดันให้ ส.ว.เคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่ใช่ให้ ส.ว.งดออกเสียง แต่ให้โหวตไปในทิศทางที่เคารพเจตนารมณ์ของประชาชนเสียงส่วนใหญ่ พูดง่าย ๆ ถ้าพรรคไหนได้เสียงจากสภาฯ ล่างเกินครึ่งแล้ว แล้วเขาชูนายกฯ และ ส.ส.ก็โหวตให้คนนั้นชัดเจนแล้ว ส.ว.ก็มีหน้าที่สนับสนุนไปตามนั้น อย่าไปโหวตค้านเลือกนายกฯ จากพรรคที่มีเสียงข้างน้อย   

กกต.-พรรคการเมือง ปัจจัยร่วมปลดชนวนความขัดแย้ง

ขณะที่ กกต. มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง รายงานผลคะแนน นับคะแนน ถ้า กกต.ซึ่งเปรียบเหมือนกรรมการ ทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม มืออาชีพ ก็ช่วยปลดล็อกชนวนความขัดแย้งแล้ว ก็เหมือนฟุตบอล คู่แข่งเขาแข่งกันดุเดือด ไม่เป็นไร ถ้ากรรมการรักษากติกาอย่างเที่ยงธรรม โปร่งใส ผลออกมา คู่แข่ง และกองเชียร์ของแต่ละฝ่ายก็ยอมรับ เพราะแพ้ชนะ ตัดสินด้วยฝีมือของผู้เล่นเท่านั้น แต่อย่าให้รู้สึกว่ากรรมการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และอะไรที่ไม่ควรเป็นปัญหา ก็ไม่เป็นปัญหา เช่นบัตรจากต่างประเทศมาล่าช้า และไม่ถูกนับ เพราะฉะนั้นต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสด้วย 

พรรคการเมือง ที่เป็นผู้เล่นในสนาม ก็ต้องแข่งกันอย่างแฟร์ อย่าใช้ความรุนแรง ใช้อิทธิพลข่มขู่ อย่าใช้อำนาจรัฐเข้ามาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ถ้าแข่งอย่างแฟร์ จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายเอง

“ถ้าคุณชนะแบบแฟร์ ก็จะไม่มีข้อครหาแล้ว ว่า เป็นนายกฯ หรือ เป็นรัฐบาลด้วยเสียง ส.ว.ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ชนะด้วยคะแนนเสียงอันดับ 1 ใครมาประท้วง ก็ยาก สังคมก็ไม่สนับสนุน แต่ถ้าชนะแบบไม่แฟร์ ความชอบธรรม ความสง่างามก็ไม่มี ปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีคนออกมาประท้วง ต่อต้านและสังคมไทยก็วนลูปแบบนี้มาหลายครั้ง ที่เลือกตั้งแล้วไม่จบ เพราะไปทะเลาะเรื่องกติกา ผมว่า ครั้งนี้ เราควรออกจากความขัดแย้งนี้ได้แล้ว ใช้โอกาสการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจุดนับหนึ่ง และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ แข่งกันอย่างเที่ยงธรรม และทุกฝ่ายยอมรับผลเลือกตั้ง แข่งกันเสร็จก็จบ”

ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ภาพฝันที่อยากเห็นในอีก 10 ปีข้างหน้า

อยากเห็นการเมืองไทยกลับไปสู่ประชาธิปไตยที่ปกติ มีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่มีประชาธิปไตยแล้วจบ แต่เราอยากได้ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพด้วย (Quality of Democracy)  ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบ แม้สำคัญ คือ มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง แต่เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยที่ดี ฝันเห็นว่า เราจะสร้างได้สำเร็จใน 10 ปีข้างหน้า เป็นประชาธิปไตยที่แก้ปัญประชาชนได้ คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม คอร์รัปชันน้อย ไม่ว่า ใครที่มีอำนาจ ไม่สามารถใช้อย่างบิดเบือนได้ เพราะประชาธิปไตยที่มีคุณภาพจะมีการตรวจสอบถ่วงดุลทั้งจากประชาชน และองค์กรต่าง ๆ ในระบบด้วยกันเอง

“ถ้าระบบการเมืองทำงานได้ดี เราไม่ต้องมีความขัดแย้งบนท้องถนน ผมฝันเห็นภาพตรงนั้น ในรัฐสภาเรามีพรรคการเมืองที่หลากหลาย ตอบสนองคนหลากหลายกลุ่ม มีอะไร ก็สามารถไปถกเถียงกันในรัฐสภา แม้กระทั่งเรื่องที่อ่อนไหวมากในสังคม ในอนาคตควรจะไปพูดในเวทีรัฐสภาได้ และหาทางออกร่วมกัน เป็นสังคมที่มีวุฒิภาวะ ผมฝันเห็นอย่างนั้นใน 10 ปีข้างหน้า ให้ประชาธิปไตยทำงานได้จริง และประชาชนรู้สึกว่ามีศรัทธากับระบบการเมือง กับประชาธิปไตยได้อีกครั้ง เป็นพื้นที่ฟังเสียงของทุกคน ไม่ต้องมีใครถูกทำร้าย ถูกดำเนินคดี ถูกจับติดคุกเพียงเพราะฝันเห็น อยากเห็นบ้านเมืองที่ดีกว่า และนำเสนอความคิดเห็นตามเสรีภาพของตัวเอง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พเยีย พรหมเพชร