Authentic Learning เรียนรู้ชีวิต = กระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง

วิธีการสอนที่คุณครูยุคนี้ควรปรับใช้ในห้องเรียน I สิทธิชัย วิชัยดิษฐ

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งในห้องเรียนไม่สามารถเติมเต็มทักษะอนาคตได้ทัน การกลับมาเรียนรู้ และกำหนดเป้าหมายของผู้เรียนเอง น่าจะเป็นวิธีที่เกิดประโยชน์มากที่สุดกับชีวิตของผู้เรียน แต่จะทำอย่างไรเมื่อ กระบวนการเรียนสอนในสังคมไทย ไม่เน้นให้เด็กค้นพบเป้าหมายของตัวเอง หนำซ้ำยังสร้างลู่การแข่งขันที่เล็กลีบตีบตัน บีบให้เด็กทุกคนเก่งในแบบที่ระบบการวัดผล ประเมินผลผ่านการตัดเกรด ลงสนามสอบ

สิ่งนี้เองที่ทำให้ ห้องเรียน กลายเป็นโรงงานผลิตคน มากกว่า แหล่งเรียนรู้ และการทำความเข้าใจชีวิต สุดท้ายชีวิตก็เด็ก ๆ ที่ออกจากโรงงานผลิต ก็ถูกกำหนดด้วยค่านิยมสังคม และความต้องการของนายจ้าง ไม่ใช่ความต้องการในชีวิตของเด็กหนึ่งคนอย่างแท้จริง

The Active อยากชวนผู้อ่านค่อย ๆ สำรวจโลกแห่งการเรียนรู้ และวิธีการสอน Authentic Learning ที่คุณครูยุคนี้ควรปรับใช้ในห้องเรียน กับแนวคิดและวิธีการสอนซึ่งฟื้นคืนชีวิต และเต็มไปด้วยความหวัง โดย อ.เปี๊ยก-สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถ้าเราไม่ควบคุม นำการเรียนรู้ หรือ นำชีวิตของตัวเราเอง จะมีคนอื่นมานำให้

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เราก็จะไม่ได้ใช้ชีวิต หรือเรียนรู้ในแบบที่เราอยากเป็น”

สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.

ความฝันนักวาดการ์ตูน สู่…ครูวิทยาศาสตร์ที่ใช้ศิลปะในการสอนผู้เรียน

สิทธิชัย วิชัยดิษฐ หรือ อ.เปี๊ยก ผู้เชื่อมั่นในแนวคิด Authentic Learning ว่า จะช่วยดึงศักยภาพครู และผู้เรียนออกมาได้ อาจารย์ เล่าว่า ส่วนตัวมีความสนใจด้านศิลปะการวาดภาพตั้งแต่เล็ก ๆ เมื่อเติบโตขึ้น และได้มีโอกาสทำหน้าที่ “ครู” จึงใช้ศิลปะที่ตัวเองสนใจ ออกแบบการเรียน การสอน

Q: อาจารย์ มองเห็นปัญหาอะไรจากกระบวนการสอนในปัจจุบัน ?

A: ผมมองเห็นปัญหาว่า ครู มักจะถูกฝึกให้เป็นครูที่ดี คือ ต้องวิเคราะห์หลักสูตรเป็น รู้ว่ามีเนื้อหาอะไรบ้างที่ต้องสอนนักเรียน รวมถึงการออกแบบการสอนได้ ประเมินผลเป็น ทำให้เชื่อว่าการเป็นครูที่ดีสามารถเปลี่ยนจากสิ่งที่อยู่ในหลักสูตร เป็นแผนการสอน และสอนตามแผน นั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่ระยะหลังแม้ครูหลายคน รวมถึงผมเอง ทำตามแผนการสอน กลับไม่ได้การันตีว่า เราจะประสบความสำเร็จในการสร้างการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้จริง

ครูที่ดี ต้องวิเคราะห์หลักสูตรเป็น และสอนตามแผนการสอนได้ แต่ระยะหลังแม้ครูหลายคนจะทำตามแผนการสอนได้ ก็ไม่การันตีว่า เด็กจะประสบความสำเร็จในการสร้างการเรียนรู้ได้จริง…”

สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.

Q: อะไรที่ทำให้รู้สึกว่า กระบวนการสอนเรากำลังมาผิดทาง ?

A: คิดว่ามีอีกครึ่งหนึ่งของกระบวนการสอน ที่เราให้ความสำคัญน้อย คือ การรู้จัก ทำความเข้าใจผู้เรียน และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี การออกแบบหลักสูตรการสอนมุ่งเชิงเทคนิคว่า จะสอนให้ครอบตามหลักสูตรได้อย่างไร โดยที่ลืมทำความรู้จักกับผู้เรียน หรือลืมสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ๆ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เรียนไม่รู้เรื่อง… เพราะคำพูดของเด็กที่ตอบกลับมา บ่งบอกว่า ครูเอาแต่สอนตามหลักสูตร และไม่ทำความเข้าใจเด็กเลย

เราเน้นการสอนให้ครบตามหลักสูตร แต่เราลืมกระบวนการสอนอีกครึ่งหนึ่ง คือ การทำความรู้จักกับผู้เรียน ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ผู้เรียน เรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.

นอกจากคำตอบของผู้เรียนแล้ว ครูยังสังเกตได้ถึงพฤติกรรม ในชั้นเรียน ความสนใจในสิ่งที่กำลังเรียน ขาดเรียนบ่อย เข้าห้องเรียนแล้วหลับ ทั้งหมดนี้กำลังสะท้อนว่ากระบวนการเรียนการสอนของเรากำลังมีปัญหา… และไม่ต้องกับสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ

Authentic Learning คืออะไร

หลักคิด และวิธีการของ Authentic Learning คือ การกลับสู่การเรียนรู้ที่จริงแท้ของมนุษย์ ด้วยเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อเอาชีวิตรอด และอยู่ในโลกใบนี้ได้ การเรียนรู้ที่จริงแท้ คือ การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้เรียน และสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาใช้ประโยชน์ได้ เห็นความหมายและคุณค่าของสิ่งที่ได้เรียนมา ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะสร้างการเรียนรู้ในโรงเรียน ในห้องเรียนอย่างไร ให้เด็กรู้สึกเห็นคุณค่า เห็นความหมาย แล้วรู้ว่าเรียนเรื่องเหล่านี้ไปเพื่ออะไร?

Authentic Learning คือ วิธีคิดของการกลับสู่การเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์… ประเด็นสำคัญ คือ เราจะสร้างการเรียนรู้ในโรงเรียน ในห้องเรียนอย่างไรให้เด็กรู้สึกเห็นคุณค่า เห็นความหมาย และรู้ว่า เรียนเรื่องเหล่านี้ไปเพื่ออะไร…

สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ.

Q: Authentic Learning หรือวิชาชีวิตมีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร?

A: แนวคิด Authentic Learning มีจุดเริ่มต้นมาจากหนังสือที่ถูกตีพิมพ์มาจากฝั่งตะวันตก (สหรัฐอเมริกา) โดยใช้คำนี้เรียก การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้เรียน แต่ถ้าพูดถึงการศึกษาแบบนี้ฝั่งตะวันออกก็น่าจะมีมานานแล้ว ซึ่งไทยให้การศึกษาที่เชื่อมโยง กับ ชีวิตของผู้คนมาตั้งแต่ยุคโบราณ เช่น การทำหน้าที่ร่วมกันระหว่าง “บ้าน วัด โรงเรียน” หรือ “บวร” สอดแทรกการสอนอาชีพที่บ้าน คุณธรรม จริยธรรม เป็นต้น

Authentic Learning จึงอยู่ในวิถีของมนุษย์มาอยู่แล้ว ทุกชาติ ทุกศาสนา แต่การนิยาม การกำหนดชื่อ กำหนดคำ มาจากฝั่งตะวันตก เพื่อจำกัดขอบเขตให้ชัดว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไร…

สร้างกระบวนการสอนแบบ “Authentic Learning”

Q: สำหรับคุณครูคนไหนที่กำลังอ่านถึงตรงนี้ และสนใจวิธีการเรียนรู้แบบ “Authentic Learning” อ.เปี๊ยก มีคำแนะนำอย่างไร ?

A: ให้เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนวิธีวางแผนการสอน โดยเปลี่ยนจาก “คำถามที่ถามว่าเราจะสอนอะไร กลายเป็น ผู้เรียนจะได้เรียนรู้อะไร จะได้รับประโยชน์อะไรจากการเรียนในคาบนี้” ผู้สอนก็จะเกิดความคิดอัตโนมัติทันทีว่าผู้เรียนคือใคร ชอบอะไร สนใจเรื่องอะไรพอเอาความคิดไปอยู่ที่ผู้เรียน วิธีการออกแบบก็จะเปลี่ยนไป แทนที่จะไปเลือกหาเทคนิคนู่นนี่นั่นมาใส่ในเนื้อหาที่เราจะสอน มันกลายเป็นว่าเรามองไปที่ผู้เรียนก่อนว่าเขาสนใจเรื่องอะไร เขาจะได้ประโยชน์อะไร แล้วค่อยดึงกลับมาเชื่อมกับสิ่งที่เราจะสอน

ผู้เรียน : ต้องคิดก่อนว่า ตอนนี้เขาสนใจอะไรอยู่ มีเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นเป็นประเด็น ผู้เรียนมีเป้าหมายอะไรในชีวิต คิดในบริบทของผู้เรียน วิเคราะห์ผู้เรียนให้เห็นภาพของผู้เรียนให้ชัด

ผู้สอน : ต้องมาดูว่าเนื้อหาที่เราจะเป็นต้องสอนนั้น มีอะไรเชื่อมโยงกับผู้เรียนได้บ้าง เช่น การชวนครูมาร่วมกันออกแบบการสอน โดยหยิบยกเอาประเด็นใกล้ตัว หรือเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม มาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราสอน

ตัวอย่างเมื่อปีที่แล้ว หรือ ก่อนหน้าที่มีการแข่งฟุตบอลยูโร ที่มีนักฟุตบอลล้มลงไปแน่นิ่งกลางสนามแล้วเพื่อนมายืนล้อม และมีการปฐมพยาบาล เหตุการณ์นั้นเป็นการรับรู้ของคนทั่วโลก เห็นภาพของจรรยาบรรณสื่อ เห็นภาพการช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน เห็นภาพการเคารพสิทธิมนุษยชน สิทธิผู้ป่วย เหตุการณ์เกิดในสิบวินาที แต่ทุกคนรู้ตำแหน่งของตน รู้ว่าต้องทำอย่างไร ก็เอาเรื่องนี้มาว่าตั้งคำถามในห้องเรียน

ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ สอนชีววิทยา การทำงานของหัวใจ การช่วยเหลือชีวิต เรื่องทางสังคมพูดถึงสิทธิของผู้ป่วย เรื่องจรรยาบรรณสื่อพูดถึงการไม่ซูมถ่ายเข้าไป เหตุการณ์นี้สามารถนำกลับมาโยงในหลักสูตรการเรียนการสอนได้ เรียกว่า Authentic Learning คุณครูยังสามารถใช้ Problem base ก็ได้ Project base หรือ Inquiry base ฯลฯ ได้ทั้งหมด ขอเพียงให้อยู่ในเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตเด็ก ไม่ได้มองในฝั่งของคุณครูอย่างเดียว

Q: แนวคิด Authentic Learning คล้ายๆ กับวิชาชีวิต อย่าง กพอ., สลน. ของไทย ?

A: ใช่ คล้ายกันมาก Authentic Learning คือ การเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับชีวิต learning and living เกิดขึ้นควบคู่กัน แต่ถ้าเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ บางครั้งอาจจะนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตของผู้เรียน แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องมีบางแง่มุมที่สัมพันธ์กับชีวิตของผู้เรียน

ผลลัพธ์การสอนตามแนวคิด Authentic Learning

อ.เปี๊ยก ยอมรับว่า เด็กไทย มักไม่มีเป้าหมายหลักที่ชัดเจน ครูเองก็ต้องสอนตามระบบ เพราะมีปัญหาหลักมาจาก 2 ส่วน

(1) ความเคยชิน เป็นความเคยชินของระบบโรงเรียนที่ทุกคนเข้าใจว่า บทบาทของตัวเองถูกกำหนดไว้หมดแล้วว่า ตัวเองต้องทำอะไรในโรงเรียนบ้าง เคยชินว่า คุณครูเข้าไปสอนในห้องเรียนตามหลักสูตร เด็ก ๆ ก็เคยชินว่า ต้องมานั่งเรียนตามสิ่งที่กำหนดไว้อยู่แล้ว เคยชินกับสิ่งที่ถูกวางระบบเอาไว้ จนลืมตั้งคำถามว่าเรามีโรงเรียนไว้เพื่ออะไร เด็ก ๆ มาโรงเรียนเพื่อวัตถุประสงค์อะไรกันแน่กับชีวิต

(2) บ้านเราไม่มีทางเลือกมาก ว่าเด็กคนหนึ่งจบการศึกษาแล้วจะมีอาชีพที่มั่นคงแล้วทำรายได้เลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูพ่อแม่ได้ ยังเห็นภาพการเรียนในอาชีพที่มีรายได้แน่นอน เป็นหมอ เป็นข้าราชการ เป็นวิศวกร ซึ่งมีภาพนั้นฝังอยู่ในสังคมเรา โดยเราไม่ได้รู้ความจริงว่าเด็กป.ตรีจำนวนมากจบออกมาไม่ได้ทำงานตรงสายตัวเอง ไม่ได้อยู่ในสายอาชีพหรือสิ่งที่ตัวเองเรียนมา พอมันถูกจำกัดเป้าหมายให้มันอยู่แค่อาชีพบางอาชีพที่ดูมีความมั่นคง มันก็ไม่รู้จะตั้งเป้าหมายชีวิตไปเพื่ออะไร เพราะตั้งไปก็ไม่ได้เป็น ไม่มีอะไรมารองรับหรือการันตีอนาคตของเรา

Q: อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กค้นพบศักยภาพของตัวเอง จัดการกับเป้าหมายของตัวเองได้ ?

A: ตั้งเป้าหมายให้มันย่อยลงมา หมายความว่า ในการเรียนในแต่ละเทอม ในแต่ละปี อาจไม่ได้ตั้งเป้าหมายไกลมาก อาจจะชวนเด็กตั้งเป้าหมายแค่ว่า ในเทอมนี้เราคิดว่าเราอยากจะเรียนเพื่อที่จะไปสู้เป้าหมายไหน เช่น อยากได้เกรดดีขึ้นในวิชาอะไรบ้าง มีอะไรบ้างที่เรายังทำได้ไม่ดี เราอยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมในช่วงนี้ ย่อยให้เป้าหมายเป็นเป้าหมายระยะสั้นลง ยังไม่ต้องค้นพบตัวเองก็ได้ว่าอยากทำอาชีพอะไร ภายในเทอมนี้ปีนี้เราอยากเห็นตัวเราเองเป็นคนยังไง ดีขึ้นในแง่มุมไหนบ้าง จัดการเวลาได้ เกรดดีขึ้น พ่อแม่ภูมิใจขึ้น อะไรที่มันสามารถเห็นเป้าหมายในระยะสั้นได้ แล้วครูอาจจะโยงว่าเป้าหมายนี้จะนำไปสู่อนาคตของชีวิตที่ดีได้ยังไงบ้าง

Q: Authentic Learning จะช่วยทำให้กระบวนการสอนของครูดึงสักยภาพเด็กขึ้นมาได้มากกว่าวิธีที่ผ่านๆมาอย่างไร ?

A: อย่างแรก Authentic Learning มุ่งออกแบบการสอนที่เชื่อมโยงกับผู้เรียน แปลว่าถ้าเราชวนเด็กตั้งเป้าหมายในชีวิต หรือตั้งเป้าในสิ่งที่จะทำ เราก็ดึงสิ่งเหล่านี้เข้ามาอยู่ในการเรียนการสอนของเราได้

อย่างที่สอง Authentic Learning ค่อนข้างพูดถึงการใช้ชีวิต พูดถึงบริบทรอบตัวของเด็กๆ เวลาเราออกแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทรอบตัวของเด็ก ๆ ทำให้รู้สึกว่าการเรียนแต่ละครั้งมันสำคัญกับชีวิต มันช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นยังไงบ้าง

ฝากไว้ให้คิด ก่อนเริ่มเข้าห้องเรียน…

สำหรับคุณครูว่าจะไปเปลี่ยนการเรียนการสอนยังไง ว่าจะไปออกแบบการสอนยังไง ควรเริ่มต้นกับความคิดของเราก่อน และตั้งคำถามว่า คาบหน้าที่เราจะสอน นักเรียนของเราเขาจะได้เรียนรู้อะไร และมันจะมีประโยชน์อะไรกับเขาบ้าง ที่เหลือลองออกแบบกิจกรรมดูนำไปสู่เป้าหมายนั้นให้มากที่สุด กำลังจะบอกว่า “ที่ผ่านมาเราลืมคำนึกถึงประโยชน์ของผู้เรียน” มองแค่ว่าสอนถึงหน้าไหนแล้ว ครั้งต่อไปต้องไปบทไหนต่อเพื่อให้จบ แต่ตอนนี้ขอให้เริ่มจากผู้เรียนก่อน

Authentic Learning ไม่ได้มีขั้นตอนที่ระบุชัดเจนว่าหนึ่ง สอง สาม สี่ต้องทำอะไร แต่องค์ประกอบที่ควรจะมีในการเรียนรู้มี

(1) เป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับชีวิตผู้เรียน
(2) งาน โจทย์ หรือ กิจกรรมที่ให้เด็กทำในห้องหรือนอกห้อง ควรเป็นกิจกรรมที่ open ended problem หรือ ปัญหาปลายเปิด หรือ เป็นคำถามปลายเปิดที่หาวิธีการตอบได้หลายอย่าง เพราะชิวิตจริงไม่ได้มีคำตอบเดียว การสอนที่เชื่อมกับชีวิตจริง โจทย์ปัญหาเหล่านั้นควรเป็นโจทย์ที่มีคำตอบได้หลายอย่าง แต่การตอบคำถามนั้นเด็กต้องอาศัยความรู้กับทักษะที่ฝึกฝนมาเพื่อตอบคำถามนั้นให้ได้
(3) เป็นการเรียนรู้ที่ฝึกฝนให้เด็กนำตัวเอง self directed learning พยายามที่จะนำการเรียนรู้ของตัวเองให้ได้ เด็กสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องมีครูอยู่ตรงนั้นตลอดเวลา ตราบเท่าที่เขาเห็นว่ามันสำคัญกับเขายังไง ก็กลับมาที่คำตอบเดิมของเราว่า มองไปที่เด็กก่อน ทำให้เขาเห็นความสำคัญของมันก่อน แล้วก็สอนเขาว่าเขาจะทำเรื่องนี้ยังไงได้บ้าง แล้วเดี๋ยวเขาไปทำเอง เขาไปเรียนรู้เอง

ถ้าเราไม่ควบคุม หรือ นำการเรียนรู้ของตัวเอง หรือเราไม่นำชีวิตของตัวเราเอง ถ้าเราไม่ทำ จะมีคนอื่นมานำให้ แล้วผลที่เกิดขึ้นก็คือ เราก็จะไม่ได้ใช้ชีวิต หรือได้เรียนรู้ในแบบที่เราอยากเป็น

สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน