สร้างพื้นที่สีเขียว กำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง
“เพราะต้นไม้แต่ละสายพันธุ์ มีลักษณะที่ต่างกัน ต้นไม้ต้นเดียวกันอาจไม่ได้เหมาะกับการปลูกทุกพื้นที่” เครือข่ายต้นไม้ในเมือง ภาคีภาคประชาสังคม จึงร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร จัดทำ “คู่มือการปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ฉบับประชาชน” เสนอแนวคิดการปลูกต้นไม้ แนะนำวิธีการปลูก การเลือกสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ วิธีการปลูกให้แข็งแรง และการดูแลให้สวยงาม
The Active คุยกับ ‘พี่ปุ้ม – อรยา สูตะบุตร‘ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Big Trees Project ตัวแทนจากสมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง และนักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ หนึ่งในผู้ร่วมจัดทำคู่มือฉบับนี้ กับข้อเสนอต่อนโยบาย การปลูกต้นไม้ล้านต้น และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ว่าจะทำอย่างไรให้ ‘กรุงเทพฯ เป็นเมืองสีเขียวอย่างยั่งยืน’
อรยา เล่าว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครโดย ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มี 3 นโยบายหลักในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว (ทวนกันอีกรอบ) คือ นโยบายการปลูกต้นไม้ล้านต้น จัดทำสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้ใน 15 นาที และการพัฒนาบุคลาการให้เป็นรุกขกร หรือผู้เชี่ยวชาญในการดูแลต้นไม้ ด้วยความหวังว่า กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น มีต้นไม้ที่สวยงามแข็งแรง นำไปสู่การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยมีการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมทำงานร่วมกับภาครัฐ ผ่านการจัดตั้งคณะทำงาน และนัดประชุมหารือต่อเนื่อง เพื่อจัดทำข้อมูลและแนวปฏิบัติต่างๆ ร่วมกัน
ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า การปลูกต้นไม้ล้านต้นมีความก้าวหน้าสูงที่สุด โดยยอดผู้ลงทะเบียนร่วมปลูกเกิน 1 ล้านต้น ทะลุเป้าหมายแล้ว แต่โจทย์สำคัญคือจะปลูกอย่างไร ปลูกอะไรให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ปัจจัยนี้ทำให้เกิดการจัดทำคู่มือการปลูกต้นไม้ สำหรับประชาชนทั่วไป
“เราทำรายการสายพันธุ์ต้นไม้ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เป็นคู่มือแนะนำผู้ปลูกต้นไม้ โดยร่วมมือกับหลายผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่าง ๆ และหลังจากมีคู่มือ จะมีการแนะนำเพิ่มเติมว่าถ้าเอกชน หรือองค์กรอื่น ๆ จะปลูกต้นไม้ต้องทำอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร รวมถึงชี้ช่องทางในการรับกล้าไม้เพื่อนำไปปลูกด้วย มากไปกว่านั้นจะมีการเชิญชวนให้ประชาชนเพาะกล้าไม้ได้ด้วยตัวเอง เราพยายามผลักดันแนวปฏิบัติที่ชัดเจนให้ได้มาตรฐานของการปลูกต้นไม้ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพราะสิ่งสำคัญคือการดูแลรักษาต้นไม้แลพื้นที่สีเขียวในระยะยาว หากไม่มีการเคร่งครัดในเรื่องนี้ก็เหมือนการกลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ก็จะไม่มีความยั่งยืน”
แนวคิดการปลูกต้นไม้ เพื่อให้ต้นไม้ดูแลเมือง
แนวคิดที่ 1 ปลูกเพื่อลดฝุ่น ลดมลพิษ และดูดซับคาร์บอน (CO2) เน้นการปลูกในพื้นที่ที่มีกิจกรรมของประชาชนหนาแน่น เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการดักจับมลพิษ และฝุ่น ก่อนที่ฝุ่นจะลอยไปกระทบกับประชาชน
แนวคิดที่ 2 ปลูกให้เกิดร่มเงาในการใช้ชีวิต ควรปลูกในพื้นที่ที่มีกิจกรรมกลางแจ้งของประชาชนหนาแน่น เช่น พื้นที่บริเวณการเชื่อมต่อการขนส่ง เป็นต้น
แนวคิดที่ 3 ปลูกเพื่อส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศ เลือกใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นหลากชนิด เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหรือแหล่งอาหารของสัตว์ อีกทั้งยังลดโอกาสในการเกิดโรคระบาดในพืชชนิดใดชนิดเดียว
แนวคิดที่ 4 ปลูกให้ชุมชนมีรายได้ โดย กทม. สามารถสนับสนุนให้ชุมชนเกษตรกรรมในกรุงเทพฯ เพาะกล้าไม้ โดย กทม. หรือเอกชนเป็นผู้รับซื้อ สร้างรายได้ให้กับชุมชน
แนวคิดที่ 5 ปลูกให้คนและต้นไม้โตไปพร้อม ๆ กัน ผ่านการแจกกล้าไม้ให้กับนักเรียนและประชาชนที่สนใจปลูก เพื่อให้ ‘คนและต้นไม้เติบโตไปพร้อมกับเมือง’ พร้อมกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันปลูกต้นไม้กรุงเทพฯ
ปลูกอะไร? ที่ไหน? อย่างไร?
ปลูกที่ไหนดี ก่อนดำเนินการปลูกจำเป็นต้นพิจารณา ลักษณะกายภาพพื้นที่ปลูก ทั้งบริบทและองค์ประกอบทางกายภาพเดิมของพื้นที่ ด้วยการวัดระยะ และถ่ายภาพเพื่อนำมาวางแผนการปลูกต่อไป สามารถแบ่งเป็น 6 ประเภทหลักๆ ตามองค์ประกอบ ดังนี้
- พื้นที่ว่าง ไม่มีอาคาร หรือในสวน ให้ต้นไม้ได้รับแสงแดดเต็มวัน เหมาะแก่การปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ ให้ร่มเงา ให้ความร่มรื่น มีไม้ดอกสวยงาม หรือมีกลิ่นหอม
- พื้นที่ว่าง มีอาคารใกล้เคียง พิจารณาขนาดพื้นที่ปลูก ทิศทางแดด และการได้รับแดดต่อวัน ควรเลือกจุดปลูกที่ไม่ใกล้กับแนวที่ดินข้างเคียงเกินไป เหมาะแก่การปลูกต้นไม้ที่มีความร่มรื่นให้ร่มเงา มีดอกสวยงาม มีคุณสมบัติช่วยกรองฝุ่น
- ทางเท้า หรือเกาะกลาง พื้นที่ที่มีความกว้างมากกว่า 3 เมตรขึ้นไป ให้พิจารณาปลูกต้นไม้ยืนต้นให้ร่มเงา และมีคุณสมบัติช่วยกรองฝุ่น (พื้นที่ที่น้อยกว่า 3 เมตร ให้พิจารณาปลูกไม้พุ่ม ไม้เลื้อย)
- ริมทางรถไฟ เหมาะแก่การปลูกต้นไม้ที่ชอบแดด มีคุณสมบัติช่วยกรองฝุ่น และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ
- ใต้ทางด่วน หรือรถไฟฟ้า เหมาะแก่การปลูกไม้ยืนต้น ไม่พุ่ม หรือไม้เลื้อย ที่รับแดดไม่เต็มวันหรือทนร่ม และมีคุณสมบัติช่วยกรองฝุ่น
- ริมน้ำ เหมาะแก่การปลูกต้นไม้ชายน้ำ หรือต้องการน้ำมาก ในพื้นที่น้ำท่วมถึงอาจเลือกชนิดที่ทนน้ำท่วมขัง หรือไม้ป่าชายเลนเพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ
ปลูกอะไรดี ในการพิจารณาชนิดและพันธุ์ไม้ที่จะปลูกนั้น ควรพิจารณาเลือกใช้ชนิดที่เสริมภูมิทัศน์ที่ดีให้แก่กรุงเทพมหานคร และชนิดที่ทนทานดูแลรักษาง่าย รวมถึงควรพิจารณาคุณสมบัติที่ช่วยพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมืองใน 4 หมวดดังนี้
- เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และมลพิษในอากาศ ปลูกต้นไม้เพื่อ 1 ต้นสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้น 9-15 กิโลกรัมต่อปี ต้นไม้ที่ดูดซับมลพิษได้ดี เช่น พิกุล เสลา จั๋ง เล็บมือนาง เป็นต้น
- เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ ดอก ผล ใบ ราก และลำต้นของต้นไม้ เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ในเมือง เช่น แคนา ตะแบกนา ปีบ ทองอุไร สร้อยอินทนิล พวงคราม เป็นต้น
- ให้ร่มเงา ร่มเงาของต้นไม้ช่วยลดอุณหภูมิได้ 2-4 องศาเซลเซียส ต้นไม้ที่ให้ร่มเงาได้ดี เช่น ประดู่บ้าน ประดู่ป่า สารภี ปีบ มะเกลือ เป็นต้น
- ดักจับฝุ่น ต้นไม้สามารถดูดซับฝุ่นละอองผ่านทางใบ และเปลือก หรือลำต้น นอกจากนั้นการปลูกต้นไม้เพิ่มยังเป็นการพัฒนาคุณภาพอากาศ ซึ่งการปลูกต้นไม้เพิ่ม 1 ต้น สามารถเพิ่มการผลิตออกซิเจนได้สำหรับ 2 คนต่อปี ต้นไม้ที่ดักจับฝุ่นโดยเฉพาะ PM2.5 ได้ดี เช่น พิกุล แปรงล้างขวด สะเดา ลำดวน แคนา โมก ตีนตุ๊กแก การเวก พวงคราม เป็นต้น
ปลูกอย่างไรดี ต้นไม้แต่ละประเภท และที่มาของต้นไม้มีข้อกำหนดการปลูกที่ต่างกัน
ไม้ยืนต้น กรณีไม้กล้า มีวิธีดังนี้ 1. ขุดหลุมปลูกขนาดกว้างอย่างน้อย 0.50 x 0.50 เมตร 2.ใช้กล้าไม้ที่มีความสูงระหว่าง 0.50-1 เมตร 3.ใช้ไม้ค้ำยัน เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ยาว 3 เมตร จำนวน 3 ท่อนต่อต้น 4.วัสดุปลูก ประกอบด้วย ดินผสมไม่น้อยกว่า 10 กิโลกรัม ต่อต้น ปุ๋ยอินทรีย์ 1.25 กิโลกรัม ต่อ ตารางเมตร และวัสดุคลุมดินหนาไม่น้อยกว่า 0.20 เมตรต่อต้น
ไม้ยืนต้น กรณีไม้ล้อม มีวิธีดังนี้ 1. ขุดหลุมปลูกขนาดกว้างอย่างน้อย 1 x 1 เมตร หากตุ้มดินใหญ่กว่า 1 เมตร ให้ขุดหลุมขยายให้กว้างพอดีกับตุ้มดิน (ไม่ควรตัดตุ้มดิน) 2.ใช้ไม่ล้อมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ไม่เกิน 3 นิ้ว (วัดที่ระยะสูงจากโคนต้น 1 เมตร) 3.ไม่ค้ำยันเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว ยาว 3 เมตร จำนวน 3 ท่อนต่อต้น 4.วัสดุปลูก ประกอบด้วยดินผสมไม่น้อยกว่า 20 กิโลกรัม ต่อต้น ปุ๋ยอินทรีย์ 1.25 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร และวัสดุคลุมดินหนาไม่น้อยกว่า 0.20 เมตรต่อต้น
ไม้พุ่มไม้เลื้อย มีวิธีดังนี้ 1. ขุดหลุมปลูกขนาดกว้างพอดีกับตุ้มดิน และลึกไม่น้อยกว่า 0.40 เมตร 2.วัสดุปลูก ประกอบด้วย ดินผสมไม่น้อยกว่า 10 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร ปุ๋ยอินทรีย์ 1.25 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร และวัสดุคลุมดินหนาไม่น้อยกว่า 0.20 เมตร 3.ระยะห่าง ระหว่างต้น พิจารณาจากขนาดของทรงพุ่ม โดยเว้นให้พอดีกับทรงพุ่ม แล้วลงปลูกให้ต่อเนื่องเต็มพื้นที่ หากใช้ขนาดถุง 6 นิ้ว หรือกระถางขนาด 10 นิ้ว ให้ปลูก 9 ต้น ต่อตารางเมตร
ไม้เลื้อย มีวิธีดังนี้ 1. ขุดหลุมปลูกขนาดกวว้างพอดีกับตุ้มดินและลึกไม่น้อยกว่า 0.40 เมตร 2. วัสดุปลูก ประกอบด้วยดินผสม ไม่น้อยกว่า 10 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร ปุ๋ยอินทรีย์ 1.25 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร และวัสดุคลุมดินหนาไม่น้อยกว่า 0.20 เมตร 3. ระยะห่างระหว่างต้น พิจารณาจากขนาดของทรงพุ่ม โดยเว้นให้พอดีกับทรงพุ่ม เป็นระยะเท่า ๆ กันต่อเนื่องเต็มพื้นที่ ส่วนของลำต้นที่โตขึ้นมาให้ยึกพันกับโครงสร้างยึดเกาะใกล้เคียง
“ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรตัดกิ่งลิดใบทิ้งก่อนและหลังการปลูก ให้ปุ๋ยเมื่อต้นไม้ต้องการ ไม่ใช้ไม้ค้ำจุนมากเกินไป ไม่พันลำต้นด้วยกระสอบหรือวัสดุอื่น ๆ ใส่วัสดุคลุมดิน หนา 2 เซนติเมตร ปรุงดินและพรวนให้โปร่ง หลุมปลูกกว้างให้รากที่หาอาหารอยู่ใกล้ผิวดิน”
สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้เพียงคลิก! คู่มือปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ฉบับประชาชน รวมถึงดูรายละเอียดในการเข้าโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ทั้งในรูปแบบของหน่วยงาน (ภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ) หรือรายบุคคลก็ได้
ออกแบบพื้นที่สีเขียวให้เป็นพื้นที่บริการเมือง
อรยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องการออกแบบพื้นที่ก็สำคัญ เพราะหากว่าสวนดูรกร้างไม่น่าเข้า อย่างใต้ทางด่วน หรือมีทางเข้าออกที่ลึกลับ ที่ตั้งของสวนบางแห่งก็อาจจะไม่ได้เหมาะกับการใช้งานของคนทั่วไป หรือบางครั้งในพื้นที่เดียวกัน ก็มีฟังก์ชันอื่น เช่น จอดรถขยะ จอดรถขนน้ำของ กทม. เป็นที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ ก็อาจทำให้คนลังเลไม่มั่นใจว่า เป็นพื้นที่สวนให้เข้าใช้งานได้หรือเปล่า ประกอบกับโลเคชันที่อาจจะเข้าถึงไม่สะดวก เลยทำให้ไม่ค่อยน่าใช้ มีคนใช้น้อย นานวันเข้าก็กลายเป็นที่เก็บของโดยสิ้นเชิง
เพราะฉะนั้นสวนที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ในโครงการ สวน 15 นาที ที่คาดว่าจะมีนำร่องอย่างน้อย 30 สวน ตอนนี้มีหลายคนอยากจะเข้ามาช่วย สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ มีความสามารถช่วยได้ เช่น ภูมิสถาปนิก ช่วยประเมินศักยภาพพื้นที่ในเบื้องต้นว่า ถ้าสวนเกิดขึ้นในบริเวณนั้น ๆ จะทำให้ผู้เข้ามาใช้งานจริงแค่ไหน พื้นที่สีเขียวจะได้รับการดูแล นอกจากจะออกแบบให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้ประโยชน์ของคนในละแวก ก็ควรจะเป็นการออกแบบที่การดูแลรักษาไม่ซับซ้อนเกินไปด้วย
“เราอาจจะเคยเห็นหลายพื้นที่ อาจจะไม่ใช่แค่ กทม. ที่ติดป้ายไว้ว่าเป็นสวนสาธารณะ จะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม นาน ๆ ไป กลายเป็นที่ทิ้งร้าง ที่ทิ้งขยะ เราก็หวังว่าด้วยความที่หลายฝ่าย หลายวิชาชีพ ที่อาสาเข้ามาช่วยทำให้เกิด สวน 15 นาที เยอะ ๆ ใน กทม. จะมีการจัดการที่ดีขึ้น เพราะจะมีทั้งสวนและต้นไม้เกิดขึ้นใหม่เยอะมาก แต่จะดูแลอย่างไรไม่ให้มันสิ้นเปลืองงบประมาณไป แล้วสุดท้ายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ต้นไม้ตาย ขาดการดูแล”
เร่งเพิ่มรุกขกร ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลต้นไม้
อรยา กล่าวต่อว่า เรื่องนโยบายการมีรุกขกรประจำในทุกสำนักงานเขต จำเป็นต้นใช้เวลาผลักดัน เนื่องจากการจะเป็นรุกขกรต้องมีความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้เองสมาคมรุกขกรรมไทย สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กำลังจะออกมาตรฐานรุกขกรทั้งประเทศ คนที่จะเป็นรุกขกร และเรียกตัวเองว่าเป็นรุกขกรได้จะต้องมีการรับรองมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการจัดอบรมความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร มาอย่างต่อเนื่องหลายรุ่นอย่างน้อย 6 ปีแล้ว หลายคนสามารถสอบเป็นรุกขกรวิชาชีพได้สำเร็จ ทำให้วันนี้ กทม. มีรุกขกรทั้งสิ้น 5 คน ซึ่งเป็นความหวังของเมือง ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลต้นไม้มาดูแลต้นไม้ให้สวยงามแข็งแรง และคาดว่าจากนี้จะมีรุกขกรมากขึ้นตามลำดับ ที่สุดแล้วหวังว่าจะมีรุกขกร 1 คน 1 เขต หรือเท่ากับ 50 คน กระจายตัวอยู่ในทุกสำนักงานเขตของ กทม.
“เรื่องรุกขกรคิดว่า มีความตื่นตัวสูงในภาคเอกชน เครือข่ายวิชาการในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นับเป็นก้าวที่ใหญ่สำหรับกรุงเทพมหานคร ที่จะมีรุกขกรของตัวเองจำนวนมาก และต้องได้มาตรฐานที่ยอมรับในวงกว้างด้วย อาจจะค่อยเป็นค่อยไป โดยแบ่งเป็นกลุ่มเขต แต่ละกลุ่มก็ค่อย ๆ คัดเลือกคนที่มีศักยภาพ มีความสนใจในการเป็นรุกขกร มาเป็นแนวหน้า เป็นพี่เลี้ยงให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไปได้พัฒนาตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูแลต้นไม้ หรือเป็นรุกขกร ในลำดับถัดไป”