ตลอดปี 2565 ชีวิตของใครหลายคนเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน หลังวิกฤตโควิดผ่านไป บางคนเริ่มกลับมาอยู่ในเส้นทางของตัวเองได้ แต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ฟื้นตัว จมอยู่กับปัญหาที่ถาโถมเข้ามา พร้อม ๆ กับวิกฤตทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ที่สวนทางกับเงินในกระเป๋า กลายเป็นปัญหาปากท้องที่แทบไม่มีใครหนีพ้น ในขณะที่มุมมอง ความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้คน ยังกลายเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สังคมไทย ก้าวไม่พ้นความขัดแย้ง
เมื่อปฏิทินปีใหม่ 2566 เริ่มนับหนึ่ง คนไทยจะผ่านพ้นวิกฤตปัญหาไปได้อย่างไร The Active ชวนสนทนากับ ‘พระครูธรรมรัต’ (ธนัญชัย เตชปัญโญ) พระนักคิด นักปฏิบัติ จาก วัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม พระครูฐานานุกรมของ ‘สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์’ (ป.อ.ปยุตฺโต)
บทชีวิต บททดสอบก้าวพ้นทุกข์
พระครูธรรมรัต สะท้อนมุมมอง ว่า ปัญหาที่คนไทยเจอ ล้วนขับเคลื่อนไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยรอบตัว เพราะจนถึงวันนี้ปัจจัยจากโรคระบาด ทำให้คนไทยปรับตัว อยู่กับปัญหาได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ต้องชื่นชมสังคมไทย ที่เผชิญกับวิกฤตด้วยสติ ปัญญา และความอดทน ซึ่งเป็นพื้นฐานชีวิตที่ผู้คนไม่ใช่แค่ชาวพุทธ แต่เป็นทุกเชื้อชาติ ศาสนา ใช้เป็นหลักให้กับการเผชิญหน้ากับปัญหาที่เข้ามาในชีวิต
ทั้งยังมองว่า ตลอดปีที่ผ่านมา (ปี 2565) คนไทยเจอบททดสอบมาอย่างหนักหน่วง โดยที่บางคนรู้ตัว และไม่รู้ตัว ซึ่งต่างก็พยายามเอาตัวรอด ให้ดีขึ้นกว่าก่อน ไม่ว่าใครที่ผ่านมาอยู่ในจุดที่ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ นั่นเท่ากับว่าได้ก้าวข้ามความจริงในบททดสอบของธรรมชาติโดยใช้ สติ ขยัน อดทน ตั้งใจแน่วแน่ นี่คือหนทางนำไปสู่ ‘การดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ’ หรือที่เรียกว่า ‘อริยวินัย’ โดยผ่านกระบวนการใช้ประสบการณ์ที่เจอ ชวนให้ค้นหาว่าอะไรคือต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้เกิดทุกข์ แล้วค้นต่อไปสู่การแก้ปัญหา รู้จักหนทางดับทุกข์ นี่คือกระบวนการทางพระพุทธศาสนา ทำให้รู้ความทุกข์ของตัวเอง ไม่จมปลักกับความทุกข์ คนหาสาเหตุของทุกข์ และดำนินชีวิตที่มีเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
“อริยวินัย เป็นเครื่องมือนำไปสู่ความเป็นผู้ประเสริฐ ทำให้เกิดกระบวนการที่มองเห็นสาเหตุของปัญหาที่กระทบต่อชีวิต ซึ่งการจะไปสู่ความเป็นผู้ประเสริฐได้ คือ การวางระเบียบ วางระบบ กำหนดชีวิต ด้วยสติ คิดไตร่ตรองให้รอบคอบ ถ้าเราสร้างวินัยให้กับตัวเองได้ดีแล้ว ทุกอย่างจะช่วยขับเคลื่อนชีวิต ขับเคลื่อนสังคมต่อไป”
‘รักตัวเอง’ นับหนึ่ง สร้างคุณค่าให้ชีวิต
สำหรับคนที่ยังก้าวไม่พ้นความทุกข์ เพราะปัญหาที่เข้ามากระทบจนยังมองไม่เห็นทางออกนั้น พระครูธรรมรัต เน้นย้ำว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การมีเมตตาให้กับตัวเอง เพราะไม่ว่าคน ๆ นั้น จะเผชิญกับความตกต่ำในชีวิตแค่ไหน ก็ต้องเข้าใจว่านั่นคือปัญหาที่เกิดจากวัตถุภายนอกกาย จากที่เคยกินอิ่ม ตอนนี้อาจกินไม่อิ่ม เคยนอนสบาย ตอนนี้ก็อาจนอนจมกองทุกข์ ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่มากระทบกับชีวิตคือเรื่องวัตถุทั้งสิ้น หากกายภายนอกทุกข์ จะทำให้กายภายในแย่ไปด้วย เท่ากับว่าความทุกข์ข้างนอก เข้ามาถาโถมภายในใจ สิ่งที่ต้องทำคือ ต้อง ‘รักตัวเอง’ ให้อภัยตัวเองให้ได้ ไม่ว่าปัญหาเกิดมาจากอะไร
อารยวิถี 2-5-6-6 สู่เป้าหมายชีวิตรับปีใหม่
เมื่อมองเห็นแนวทางให้ก้าวข้ามความทุกข์กาย ทุกข์ใจแล้ว เนื่องในโอกาสปีใหม่ พระครูธรรมรัต จึงชวนให้ประชาชนคนไทย เดินหน้าต่อไปในปีนี้ ด้วยสูตร อารยวิถี 2-5-6-6 ‘งานรุ่ง เงินเสิศ รักปัง พลังล้น’ เพื่อเป็นแนวทางการใช้ชีวิต
2 – งานรุ่ง
เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายชีวิตการงานที่ดี ต้อง 1. ‘ไม่สันโดษ’ คือ สร้างความพึงพอใจ ทำสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเอง เพื่อทำงานให้ดีขึ้น 2. ‘ไม่ท้อถอย’ คือ มีความเพียร พยายาม กับบทบาทหน้าที่ของตัวเอง
5 – เงินเลิศ
เพื่อไปสู่การบริหารทุนทรัพย์ที่มีให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น เริ่มจาก
1. ‘รู้จักดูแลตัวเอง’ คือ มีความสุขจากสิ่งที่มี แล้วดูแล เลี้ยงดูตัวเองให้สุขสบายก่อน
2. ‘รู้จักดูแลคนอื่น’ คือ เมื่อดูแลตัวเองแล้วก็ต้องแบ่งปันความสุข เพื่อดูแลคนที่ตัวเองรัก เช่น พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง
3. ‘รู้จักใช้เงินเพื่อปกป้องตัวเอง’ คือ ต้องใช้ประโยชน์จากเงินไปกับการสร้างความมั่นคง หาเครื่องมือมาป้องกันตัวเองให้ก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น มีเงินออม ทำประกันชีวิต เพื่อเป็นหลักประกันยามเกิดปัญหา
4. ‘รู้จักสงเคราะห์’ คือ การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนเท่าที่กำลังตัวเองจะช่วยเหลือได้
5. ‘รู้จักอุปถัมภ์’ คือ ทำนุบำรุง ศาสนาของตนให้ดำรงค์อยู่ได้
6 – รักปัง
เพื่อเป้าหมายการเผื่อแผ่ความรักไปสู่สังคม ประกอบด้วย
1. มีเมตตา กายกรรม
2. มีเมตตา วจีกรรม
3. มีเมตตา มโนกรรม ทั้ง 3 ส่วน คือ การขยายความรักออกไปกับคนทุกคน ด้วยความปรารถนาดีต่อกัน ทั้งกาย วาจา ใจ
4. มีโอกาสต้องแบ่งปัน คือ การเกื้อกูลกันให้สังคมมีคุณภาพ
5. พฤติกรรมที่ดีงามด้วยศีลเสมอกัน คือ ต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น
6. มีทิฐิ ความคิดถูกต้องเสมอกัน คือ ต้องมองเห็นเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน แม้มีความคิดแตกต่างกันได้ แต่ทุกคนก็มีศักยภาพการพัฒนาตนเองเหมือนกัน และควรต้องมองว่าทุกคนเปลี่ยนแปลง พัฒนาได้ ความเชื่อที่เคยคิดผิด ๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ สิ่งนี้ทำให้เข้าอกเข้าใจเพื่อมนุษย์มากขึ้น
6 – พลังล้น
เป้าหมายการเพิ่มพลังให้กับชีวิต นำไปสู่ ‘ปากทางแห่งการพัฒนาความเจริญในตัวเอง’ ประกอบด้วย
1. ไม่มีโรค สุขภาพดี ต้องเกิดจากกระบวนการดูแลตัวเอง รักตัวเอง เพราะพลังกายที่ดี ต้องมีจุดเริ่มต้นมาจากการดูแลสุขภาพ
2. มีวินัยในตัวเอง ด้วยการพัฒนากาย วาจา ใจ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมบูรณ์แบบ
3. มีแบบอย่าง คือ การมองหาบุคคลต้นแบบการใช้ชีวิต เพื่อศึกษาแนวทางของคนที่ประพฤติปฏิบัติดี มาปรับใช้กับตัวเอง
4. แสวงหาความรู้ตลอดเวลา คือ ขวนขวาย ศึกษา เพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ให้สามารถใช้ชีวิตได้ทันต่อเหตุการณ์ ความเปลี่ยนแปลง
5. ดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ตามครรลอง และเกื้อกูลสังคมอย่างแท้จริง
6. มีความเพียร คือ มีกำลังใจ ไม่ย่อท้อ พยายามเดินหน้าชีวิตให้ไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้
พระครูธรรมรัต ทิ้งท้ายว่า ความทุกข์ที่ผ่านมาเพียงพอแล้ว จึงไม่ควรโทษตัวเอง แต่ต้องกลับมาเมตตาตัวเอง รักตัวเองให้ได้ และจงพอใจกับการมีชีวิตอยู่ พร้อมทั้งต้องมีความหวังอยู่เสมอว่าชีวิตเปลี่ยนแปลงได้ ที่สำคัญคือจงภูมิใจ ว่า การมีชีวิตอยู่ ยังนำไปสู่ประโยชน์ ได้อย่างแน่นอน
“เราต้องเก็บเกี่ยวความทุกข์ที่เข้ามาให้เป็นประสบการณ์ เพื่อที่ต่อไปจะไม่ใช้ชีวิตอย่างประมาท ต้องวางแผนชีวิตให้มากขึ้น ต้องกลับมาระลึกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีกำลังดำเนินชีวิตต่อ แต่ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องรักตัวเองให้เป็นก่อน”