เมื่อ ‘วัฒนธรรม’ มิอาจแยกจากธรรมชาติ ”พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์“ จึงสำคัญ

อคติที่เหมารวมว่า ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในป่าเป็นผู้ที่ทำลายป่า และแนวนโยบายการอนุรักษ์ด้านที่แยก “คน” และ “วิถีวัฒนธรรม” ออกจาก “ธรรมชาติ”  ส่งผลกระทบต่อการรักษาสมดุลระหว่างความหลากหลายทางวัฒนธรรมกับธรรมชาติ และลดทอนศักยภาพชุมชนชาติพันธุ์ กลายเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น 

หลักคิดและแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหา ด้วยการประกาศ “เขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์“ ที่เดินหน้า มาอย่างต่อเนื่อง นำร่องมาแล้ว 21 แห่ง  สะท้อนรูปธรรมของการจัดการแก้ไขปัญหาในกระบวนทัศน์ใหม่  

และทำให้เห็นว่า วิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เป็นวิถีที่มีคุณค่า เกื้อหนุนและสัมพันธ์กับธรรมชาติ เป็นองค์ความรู้ที่มีความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความสมดุล เช่น การทำไร่หมุนเวียน ที่ไม่ใช่การทำเกษตรแบบแผ้วถางเอาพื้นที่ทำกินถาวร แต่หมุนเวียนเพื่อให้มีการพักฟื้นพื้นที่ป่าให้งอกเงยดังเดิม เป็นวิถีการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน หรือหลายชุมชน ที่ลุกขึ้นมาใช้องค์ความรู้ภูมิปัญญาที่พวกเขามี ในการจัดการป้องกันไฟป่า เป็นส่วนร่วมของการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาต่อหน่วยงานรัฐด้วยซ้ำ 

The Active ชวนมองย้อนทบทวนเพื่อเข้าใจที่มาที่ไป ความหมาย และถอดบทเรียนอุปสรรค ไปจนถึงรูปธรรมของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ 21 แห่ง ก่อนการประกาศพื้นที่คุ้มครองเพิ่มปลายเดือนเมษายนนี้ ในชุมชนปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี จ.ตาก

พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์คืออะไร ?  แล้วทำไมต้องคุ้มครอง ?  

คำตอบเรื่องนี้ อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะผู้ที่อยู่ในขบวนการขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยตลอด บอกว่าคงต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างความเข้าใจ ถึงที่มาที่ไปและความจำเป็นที่ต้องมี ‘พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชุมชนชาติพันธุ์’   หรือ ในยุคแรกที่ใช้คำว่า ‘เขตวัฒนธรรมพิเศษ’ กันก่อน

ซึ่งมีความจำเป็น ภายใต้ 3 เหตุผลหลัก

  1. เป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่จะช่วยลดสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่  เพราะต้องยอมรับว่าตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนในเขตป่าเกิดขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด และสถานการณ์ไม่ดีขึ้น แถมดูเหมือนจะเลวร้ายลงไปอีก มีหลายกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่และที่รับรู้ของสังคม เช่น กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย  ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพราะฉะนั้นการมีพื้นที่คุ้มครองจะมาช่วยให้อย่างน้อยที่สุด มีพื้นที่ทางนโยบายที่จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย มีพื้นที่ในการคุยกันมากขึ้น และจะช่วยลดสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ลง
  2. เกิดผลในเชิงสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนชาติพันธุ์ หรือชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ต่าง ๆ ว่าถ้ามีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พวกเขาจะสามารถพัฒนาตัวเอง ดูแลตัวเอง คุ้มครองตัวเองได้ คือให้มีความมั่นใจว่า สามารถดำรงวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ พวกเขาอาจจะทำท่องเที่ยวชุมชน วิสาหกิจชุมชน จากศักยภาพทุนวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น การทำเกษตรดั้งเดิม การเลี้ยงผึ้ง ทำกาแฟ อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็มีความมั่นใจ ว่าทำแล้วไม่เสี่ยง จึงเป็นความสำคัญที่ช่วยทำให้ศักยภาพของพวกเขาเข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่ว่าเขามีศักยภาพอยู่  แต่กลับถูกบีบอัด จำกัดจำเขี่ยศักยภาพพวกเขาลง จนทำอะไรไม่ได้ และต้องมาใช้แนวทางการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์พวกเขาแทน

3. เป็นตัวช่วยให้หน่วยงานรัฐ  เพราะเอาเข้าจริง หน่วยงานรัฐก็อยากมีตัวช่วยใหม่ในการดูแลพื้นที่ ไม่ใช่จะเป็นเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ควรจะเป็นหน้าที่ของชาวบ้าน เจ้าของพื้นที่ที่อยู่มานาน พวกเขาควรมีส่วนร่วมในการที่จะเข้ามามีส่วนในการดูแลกับหน่วยงานรัฐด้วย  ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่า พื้นที่ทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งพื้นที่กว้างขวาง เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายเดียว อาจดูไม่ไหวไม่ทั่วถึง แต่ถ้ามีชาวบ้านมาช่วยดูแล อาจจะทำให้การจัดการดูแลพื้นที่ตอบโจทย์ ทั้ง “ฝั่งวัฒธรรม” และ เรื่อง ”ทรัพยากรธรรมชาติ” มากขึ้น ซึ่งคิดว่านี่จะเป็นโมเดล ที่มีความจำเป็นต้องมีพื้นที่ลักษณะแบบนี้

“ถึงเวลาที่เราต้องยอมรับว่า ไม่ควรแยก ระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรมออกจากกัน   เพราะ 2 อันนี้เกื้อกูลระหว่างกัน เช่น วิถีวัฒนธรรมบางอย่างมันก็ช่วยในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ขณะเดียวกันธรรมชาติแบบนี้แหละ ทำให้เกิดวัฒนธรรมแบบนี้ขึ้นมา เช่น ชุมชนเขาอยู่พื้นที่สูง ก็ต้องทำวัฒนธรรมเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ที่ไม่ใช่การทำเกษตรแบบแผ้วถางเอาพื้นที่ทำกินถาวร แต่หมุนเวียนเพื่อให้มีการพักฟื้นพื้นที่ป่าให้งอกเงยดังเดิมเป็นวิถีการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน 

ของพวกนี้มันเป็น 2 ด้านของเหรียญ เป็นเนื้อเดียวกัน แต่กลับจับมันแยกจากกัน ยังมองว่า ธรรมชาติต้องถูกรักษาความบริสุทธิ์ไว้อย่างเดียว และมองว่าวัฒนธรรม มันเป็นแค่วิถีชีวิตที่ไปทำลายธรรมชาติ ซึ่งผิดมาก ๆ เพราะจริง ๆ แล้วมันมีงานศึกษางานวิจัยที่พูดชัดเจนว่า  มันเป็นเรื่องเดียวกัน คิดว่าอันนี้ต้องเปลี่ยนหลักคิด หรือวิธีการมองใหม่ ในเรื่องเขตพื้นที่คุ้มครอง”

อภินันท์ ธรรมเสนา  ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
อภินันท์ ธรรมเสนา  ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ดังนั้น คำตอบว่า พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  คืออะไร  ก็คือ แนวทางในการคุ้มครอง “สิทธิทางวัฒนธรรม” ของกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริม ให้ชุมชนชาติพันธุ์ ในฐานะ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม”  มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน ได้รับการคุ้มครอง และยอมรับสิทธิทางกฎหมายในฐานะพลเมือง  ส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในชีวิต มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งพาตนเองได้ ด้วยการดำรงชีวิตและวิถีการทำมาหากินบนฐานภูมิปัญญา ควบคู่กับการผสมผสานองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มีคุณภาพชีวิตที่ดี บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม

ถอด ข้อดี-ข้อจำกัด ความท้าทายและก้าวย่าง จากบทเรียนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ในพื้นที่นำร่อง  21  แห่ง

จากหลักคิดสำคัญในมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และ 3 สิงหาคม 2553 แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในการกำหนด พื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ หรือในปัจจุบัน คือ พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มาใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดความสำคัญในการเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม  มาเป็นเวลา 13 ปี ขณะนี้มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมไปแล้ว 20 แห่ง (ตามกราฟิกด้านล่าง)

เส้นทาง 13 ปี ในการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองทั้ง 21 แห่ง ภาคีเครือข่ายที่ร่วมผลักดัน มองเห็นทั้งข้อดี หรือ รูปธรรมที่เกิดขึ้น ไปจนถึงข้อจำกัด ความท้าทาย  สู่ก้าวย่างสำคัญในการเดินหน้าต่อ โดยแบ่งเป็น 3 ยุค

ยุคที่ 1 การประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ฉบับ ในปี 2553 โดยประกาศพื้นที่นำร่อง ในชุมชนชาวกะเหรี่ยง 4 ชุมชน ประกอบด้วย ไร่โว่  จ.กาญจนบุรี, ชุมชนหินลาดใน จ.เชียงราย, ชุมชน เลตองคุ จ.ตาก และชุมชน มอวาคี จ.เชียงใหม่  ซึ่งเห็นข้อดีของการมีกฎหมายเข้ามารับรองสิทธิและคุ้มครองการดำรงวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิม แต่ก็มีข้อจำกัดว่า  ชาวบ้านในพื้นที่ อาจแทบไม่รู้ว่าพื้นที่ของตนเองเป็นพื้นที่คุ้มครองแล้ว บทเรียนในระยะแรก ๆ คือมีการทำการสื่อสารเรื่องนี้น้อยมาก ไม่ได้สร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐ ว่ามีแนวทางนี้ ในการแก้ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์หรือเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติ ครม. ประกอบกับความเข้าใจว่า ที่มองว่า แนวทางนี้ไม่ได้มีฤทธิ์มีเดชอะไร เป็นแค่มติ ครม. ด้วย ซึ่งในระยะหลังจึงต้องขับเคลื่อนยกระดับเป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ที่กำลังพิจารณากันอยู่

ยุคที่ 2 เป็นการประกาศตามผลพวงมติ ครม. ของกระบวนการภาคประชาสังคมที่ช่วยกันขับเคลื่อน คือเห็นว่าชุมชนนี้มีความพร้อมแล้ว ก็เดินหน้าประกาศ ซึ่งก็มีกระบวนการหลายแบบ โดยยุคที่ 2 มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ อย่างน้อยมีความพยายาม ที่จะทำงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น เจ้าหน้าที่ อบต. เจ้าหน้าที่อุทยานในพื้นที่ มาพูดคุยทำความเข้าใจ พร้อมทั้งทำข้อตกลงร่วมกัน แต่อีกด้านก็เห็นข้อจำกัด เพราะเป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราว หมายความว่า ณ จังหวะเวลาในขณะที่ประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ องค์ประกอบดี คือ ผู้นำในชุมชนดี เจ้าหน้าที่เข้าใจดี ก็เดินหน้ากันได้ แต่พอเปลี่ยน หรือย้ายหัวหน้าอุทยานคนนี้ไป คนใหม่มา ก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ คล้าย ๆ กับเป็นข้อตกลงเฉพาะกิจ แต่หลังจากนั้นไม่มีกระบวนการทำต่อ เช่น ไม่สามารถเอาข้อตกลงเฉพาะกิจนั้น กลายมาเป็นข้อตกลงมาตรฐานกลาง ที่ไม่ว่าใครจะอยู่ใครจะไป หรือราชการ เช่น หัวหน้าอุทยานคนเก่าไป คนใหม่มา ก็ต้องยึดถือตามกติกานี้ แต่ในยุคนี้ข้อดีที่เริ่มเห็นชัดเจน ก็คือกระตุ้นให้ชุมชน ทำงานกับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น

3. ยุคระยะหลังของการประกาศถึงปัจจุบัน เริ่มมีกระบวนการที่ทำให้เป็นกรอบนโยบายใหญ่ มีการตั้งกรรมการหลาย ๆ ชุด เช่น คณะกรรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง และเรื่องปัญหาชุมชนชาติพันธุ์ แนวทางพื้นที่ของการคุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ ถูกเสนอเข้ามาในคณะกรรมการชุดดังกล่าวมากขึ้น อันนี้ชัดเจนในกรอบของกฎหมายและ กรอบนโยบายใหญ่ ๆ

“มันเริ่มเป็นระบบมากขึ้น คือ พื้นที่เสนอปัญหาความเดือดร้อนมา ก็ถูกเสนอเข้ากลไกนี้ คณะกรรมการนี้รับรอง เป็นมติที่ประชุม ทำให้มีความศักดิ์สิทธิพอจะอ้างอิงได้  ว่า ก็มีมติการประชุมของคณะกรรมการชุดนี้ เมื่อวันที่นี้ ให้พื้นที่นี้ เป็นพื้นที่คุ้มครองแล้ว  หรือว่ามีฝ่ายนโยบายไปอยู่ด้วยในกิจกรรมการเปิดพื้นที่ ก็เป็นการเพิ่มพละกำลังให้กับประชาชนในการอ้างอิงเรื่องนี้ได้” 

อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

แต่ข้อจำกัดสำคัญก็คือ ไม่ได้ไปทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ซึ่งยังเป็นปัญหาตั้งแต่ยุคแรกที่ยังไม่คืบหน้านัก คือ ยังไม่รู้ฤทธิ์รู้เดช ของแนวคิดหรือหลักการนี้ ว่าเป็นอย่างไร  ซึ่งอันนี้ต้องทำความเข้าใจต่อไป

“เราคิดว่าปัญหาสำคัญมากของพื้นที่คุ้มครอง คือ พอคนในพื้นที่ ด้วยความที่เป็นชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ หรือเจ้าหน้าที่เอง ไม่เข้าใจว่าแนวคิดนี้มันคืออะไร ทำให้ความเข้าใจต่อคำว่าพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นความเข้าใจแบบตาบอดคลำช้าง คือ เธออยู่มุมนี้เธอก็เห็นแต่ฝั่งนี้ แล้วก็พอเข้าใจคนละทิศคนละทาง ไม่ตรงกัน ความคาดหวังก็ไม่ตรงกัน คือ คนนี้อาจคาดหวังพื้นที่คุ้มครองจะดีมาก ๆ แต่พอไม่ได้แบบนั้น ก็เลิกศรัทธาในพื้นที่คุ้มครอง แต่ขณะที่บางคนเขาเข้าใจ เห็นกระบวนการ ก็ยังศรัทธามันอยู่ คือความเข้าใจยังเป็นแบบคนละทิศคนละทาง”

ประกอบกับความท้าทายที่ 2 ที่เข้ามาอีกว่า นโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาสวนทางและบีบรัดชุมชนเข้าไปอีก คือขณะที่หน่วยงานรัฐเองมีความพยายามจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ก็ออกมาตรการโดยไม่รู้ว่ามีมติ ครม.นี้ หรือ อาจจะรู้ แต่คิดว่า มติครม.ดังกล่าวไม่มีฤทธิ์เดช หรืออาจมีข้อจำกัด ก็ไปออกมาตรการใหม่ ที่มีศักดิ์สูงกว่า มติ ครม. เช่น มาตรา 64, 65 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ สำรวจการถือครองที่ดินประชาชนในอุทยานแห่งชาติ รวมไปถึง กลไกคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.)  ก็เกิดปัญหาตามมา คือ ชาวบ้านก็เริ่มเขว เพราะไม่รู้ว่าพื้นที่คุ้มครองคืออะไร อยู่ตรงไหน  ก็กลายเป็นความขัดแย้งในชุมชนตามมาอีก 

“ต้องย้ำว่า แนวทางพื้นที่คุ้มครอง เป็นแนวทางที่เราจะคุ้มครองชุมชน ด้วยเรื่องสิทธิชุมชน เป็นความยั่งยืนในฐานวัฒนธรรม  ต่อให้คุณจะมีประชากรเพิ่มขึ้น หรือลดลงยังไงก็แล้วแต่ แต่พื้นที่ที่คุณประกาศทั้งหมด คุณจะสามารถจะบริการจัดการเข้ามามีส่วนร่วมได้ แต่วิธีการที่หน่วยงานรัฐพยายาม คือหน่วยงานรัฐก็มีเจตนาดี แต่ด้วยความเขาไม่เข้าใจวิถีวัฒนธรรมอย่างตรงไปตรงมา เขาก็มองว่างั้นวิธีการของเขา คือปัญหาชาวบ้านเดือดร้อนเรื่องที่ดินใช่ไหม ก็ให้เรื่องที่ดิน แต่จริง ๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย  มันมีเรื่องจิตวิญญาณ มันมีเรื่องความเชื่อประเพณี  ซึ่งพื้นที่คุ้มครองตอบโจทย์มากกว่า ”

อภินันท์ ธรรมเสนา  ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ด้าน สุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ  มองว่า ข้อจำกัดสำคัญ คือ พื้นที่คุ้มครองชาติพันธุ์จะไม่สามารถประกาศได้ในป่าอนุรักษ์ เหมือนกรณีป่าชุมชน ที่ไม่ยอมให้ชุมชนประกาศป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ ทั้งพื้นที่อุทยาน พื้นป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พื้นที่เขตห้ามล่าต่าง ๆ   คือปัญหาจะไม่ถูกแก้ไขและกระทบหมด เพราะชุมชนเกินร้อยละ 80 อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์  

“นโยบายและกฎหมายที่มีอยู่ตอนนี้ ติดขัดหมด ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.อุทยานฯ  พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  หรือป่าชุมชนที่ไม่ได้ประกาศในเขตอนุรักษ์ สุดท้ายคือว่า ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งหลายคนก็อยากมาหนุนเสริมชาวบ้านแต่ว่า เครื่องมือที่เขามี บางทีเขาไม่สามารถใช้เครื่องมือหลากหลายได้  มันถูกบังคับให้ใช้เครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ซึ่งถ้าเขาใช้กฎหมาย มติ ครม.ทุกฉบับที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกัน ก็จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ทั้งที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยของชุมชนดั้งเดิม การพัฒนาคุณภาพชีวิต การเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค และสิทธิด้านต่าง ๆ ไปจนถึงลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนด้วย”

สุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ 
สุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ 

ข้อดี รูปธรรม การประกาศเขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

10 กว่าปี ของการขับเคลื่อนมติครม. และเดินหน้าเรื่องเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์  ที่เห็นเป็นรูปธรรมสำคัญที่สุดในพื้นที่ที่ประกาศไปแล้ว อย่างน้อย ๆ ทำให้ชุมชนมีข้ออ้างหรือหลังพิง ที่จะใช้ในการเจรจาต่อรองได้  ชุมชนตระหนักรู้ในคุณค่าศักยภาพบนฐานวิถีวัฒนธรรมของตนเอง  เท่าทันสถานการณ์มากขึ้น  พวกเขาได้มีพื้นที่แห่งโอกาส ทดลองลองโมเดลอะไรใหม่ ๆ เช่น พื้นที่ ชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ หมู่ที่ 7 ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอ  ที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าบ้านโฮ่ง และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบ้านโฮ่ง ซึ่งชุมชนได้จัดการดูแลทรัพยากรในพื้นที่จิตวิญญาณ 21,034 ไร่ โดยการทำแนวกันไฟความยาว 36 กิโลเมตร   รอบแนวเขตชุมชนทุกปี 

มีการติดตั้ง ‘ถังน้ำแนวกันไฟ’ โดยใช้ถัง 200 ลิตรติดตั้งรองรับน้ำฝน รวมถึงยังมีการทำแนวกันไฟป่าเปียก และสร้างบ่อน้ำกักเก็บน้ำฝนที่มีความจุ 400,000 ลิตรทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนสามารถดับไฟป่าได้อย่างทันท่วงที

ชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ จึงเป็นหนึ่งรูปธรรม ‘พื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม’ ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สะท้อนว่า หากรัฐเอื้อให้ชุมชนสามารถมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมสมัยใหม่ จะมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของหน่วยงานรัฐในการดูแลผืนป่า ป้องกันไฟป่า เป็นพื้นที่ต้นแบบการทำงานร่วมกันของชุมชนและหน่วยงานรัฐ

ชุมชนนี้ ยังสามารถยังสามารถดำรงอยู่ได้ด้วยฐานเศรษฐกิจจากต้นทุนของชุมชนเอง โดยต่อยอดพัฒนาผลผลิต เช่น น้ำผึ้ง กาแฟ ที่มาจากภูมิปัญญา องค์ความรู้ในการจัดการดูแลรักษาทรัพยากรให้มีความสมบูรณ์  ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน

“อันนี้ชัดในเชิงของการทลายข้อกังวลว่าคนที่อยู่กับป่าจะทำให้ป่าหายไปแต่ตรงกันข้ามรัฐมีคนมาช่วยดูแลเพิ่มขึ้นอีกไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่แต่ชุมชนก็ช่วยดูแลด้วยอันนี้แหละคือรูปธรรมที่ชัดเจนมาก ๆ” 

เตรียมประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ แห่งที่ 22 ชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคี ชูเป็น Role Model ต้นแบบพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์

ด้วยจุดเด่นของชุมชนปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี จ.ตาก ที่จะประกาศ ต่างจากพื้นที่อื่นๆที่เคยประกาศมา คือมีกระบวนการที่พัฒนาจากปัญหาข้อจำกัดต่าง ๆ เรียกว่า เป็นกระบวนการแบบหัวกลับ คือจากเดิม ด้วยพื้นที่บางแห่งมีความขัดแย้งรุนแรง และกำลังจะสูญเสียที่ทำกินที่อยู่อาศัย วิถีชีวิตวัฒนธรรมกระทบกำลังสูญหาย ต้องชิงประกาศไปก่อน แล้วค่อยทำฐานข้อมูลประกอบตามมา  

แต่กรณีบ้านแม่ปอคี ทำตามกระบวนการ คือ มีการทำความเข้าใจในชุมชนก่อนว่าการประกาศพื้นที่คุ้มครองเป็นยังไง มีการตกลงกันในชุมชนแล้วว่า ได้เลือกเอาการประกาศพื้นที่ แล้วเริ่มทำข้อมูลพื้นที่ ว่ามีขอบเขตตรงไหนบ้าง อาณาบริเวณทั้งหมดในเชิงกายภาพว่า ตรงไหนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน มีการทำข้อมูลพื้นที่เหล่านี้หมดเลย และสุดท้ายคือว่า มาสร้างพื้นที่ทางสังคม คือสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน ออกกติการ่วมกัน

นอกจากภายในชุมชนแล้ว  ยังมีการตั้งกรรมการที่เรียกว่ากรรมการของจังหวัดด้วย คือเข้าใจรับรู้แนวทางนี้ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด  นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นกลไกในความพยายามทำให้เห็นว่าชุมชน มีกระบวนการในการจัดการร่วมกัน เพราะฉะนั้นพื้นที่นี้ จึงเป็นแบบอย่าง หรือ Role Model ที่ดีในการประกาศพื้นที่คุ้มครอง

“คือเมื่อทำความเข้าใจในชุมชนทำข้อมูลสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระดับจังหวัดแล้วก็ผลักดันสู่นโยบายซึ่งพื้นที่นี้ถูกเสนอในคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยงที่มีนายสมศักดิ์เทพสุทินรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนอกจากนี้ยังมี MOU หรือ ข้อตกลงร่วมของภาคส่วนต่างที่เกี่ยวข้องกำกับเข้าไปอีกอีกก็จะเป็นพื้นที่ต้นแบบของชุมชนชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่จะมีการประกาศต่อเนื่องหลังจากนี้”

แนวทางและกลไกต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ป่า และการคุ้มครองสิทธิและวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนดั้งเดิมต่างกำลังเดินหน้าเพื่อหาทางออก แต่สิ่งสำคัญคือภาคส่วนต่างๆและสังคมต้องเรียนรู้เข้าใจไปพร้อมกัน คือมุมมองและความคิด อคติ  ถ้าในสังคมยังไม่ปลดล็อค มองว่าชาติพันธุ์ หรือ ชุมชนที่อยู่ในป่าเขายังเป็นอุปสรรค หรือมองเหมารวมเป็นคนตัดไม้ทำลายป่าอยู่ ก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดส่วนร่วมในการพัฒนา ด้วยศักยภาพชุมชนที่จะเข้ามาช่วยจัดการดูแลทรัพยากร ซึ่งหากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐเอื้อให้ชุมชนสามารถมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ จะมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระหน่วยงานรัฐในการดูแลทรัพยากร

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล