‘ของดี’ (ชุมชนชาติพันธุ์) ไม่ได้อยู่หลังเขา เพียงแค่เรา..มองไม่เห็น

“ซื้อของในห้างแต่ละที ไม่มีต่อราคาสักคำ แต่พอเป็นสินค้าที่ชาวบ้านทำต่อแล้วต่ออีก”

คำพูดนี้คงเป็นความจริงที่น่าเจ็บปวดไม่น้อย จนอดคิดและตั้งคำถามไม่ได้ว่าจริง ๆ แล้ว การติดสินใจซื้อสินค้า ผลิตภัณฑ์สักชิ้น วัดคุณค่าจากอะไร ?

สถานที่วางจำหน่าย อาจมีผลให้สินค้าแพงขึ้น โดยที่เรายอมควักเงินจ่ายแต่โดยดี แล้วทำไม ? ผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านทำเอง ขายเอง มีที่มาที่ไป เต็มไปด้วยเรื่องราว จึงถูกลดทอนคุณค่ามาตลอด

จะเป็นไปได้ไหม ? ถ้าวันหนึ่งผลิตภัณฑ์จากชุมชน มีโอกาสได้ยกระดับสู่ตลาดสากล

The Active อยากชวนสำรวจแบรนด์สินค้าชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เตรียมยกแผงมาไว้ใจกลางกรุง เนื่องในกิจกรรม Open Market & Public Forum “แบรนด์ชุมชนชาติพันธุ์สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลก” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์นี้ (17 มี.ค.67)

เพื่อให้คนเมืองได้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนชาติพันธุ์ว่าจริง ๆ แล้วของดี ๆ จากในป่าหลังเขา บนดอย และชุมชนชาวเลมันมีอยู่จริง เพียงแต่พวกเราได้เคยหันกลับไปมองสินค้าชุมชนเหล่านี้บ้างหรือเปล่า ?

ก่อนได้เจอ ได้ช้อปในวันจริง จึงอยากขอหยิบยกเรื่องราวของบางผลิตภัณฑ์ มาให้คนเมืองได้ทำความรู้จักกันก่อน

ของดี ‘ดาราอาง’ ความลงตัว ด้วยกลิ่นอายชุมชนดั้งเดิม

‘กลุ่มวิสาหกิจหัตถกรรมย้อมสีธรรมชาติ’ บ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ นี่คือผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่า ‘ดาราอาง’ โดยมี ‘มะปราง – ลักขณา เหียง’ เป็นคนถ่ายทอดที่มาที่ไป เธอบอกว่า วัฒนธรรมของดาราอางมีหลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น หวายคล้องเอว

มะปราง – ลักขณา เหียง

นั่นเป็นที่มาให้ตั้งกลุ่มผลิต ผ้าพันคอ, ย่าม, เสื้อ ซึ่งรูปแบบก็นํามาปรับให้ทันยุคทันสมัย โดยแบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิม คือ เสื้อดาราอางสีสดใส พร้อมเครื่องแต่งกายแบบจัดเต็มมี ผ้าซิ่น ที่นุ่งในชีวิตประจำวัน ซึ่งการผลิตเน้นสีธรรมชาติ นำมาประยุกต์โดยใช้กับผ้าฝ้าย จากเดิมที่ใช้การปักมือทั้งตัว แล้วก็ย้อมด้วยสีธรรมชาติ เน้นสีเอิร์ธโทน เช่น สีชมพูอ่อน, สีเขียวอ่อน, สีเหลือง

ขณะที่เครื่องแต่งกายส่วนใหญ่ จะใช้ของตกแต่งเยอะมาก เมื่อต้องวางขายก็ต้องนํามาประยุกต์ใหม่ โดยเป็นแบบเสื้อคลุมธรรมดา ๆ ที่สามารถใส่ทํางาน หรือใส่ในชีวิตประจำวันได้ แต่ลายที่ปักก็ยังคงเน้นลายปักโบราณ

“คืองานเราเป็นงานแฮนด์เมด มันใช้เวลาหน่อย แต่สมาชิกเราก็มีอยู่เยอะอยู่เหมือนกัน คิดว่าอนาคต งานพวกแฮนด์เมด งานชนเผ่าอย่างนี้ น่าจะตีโจทย์ตลาดนอกได้ค่ะ”

มะปราง ยอมรับว่า แม้จะตั้งเป้ายกระดับผลิตภัณฑ์ แต่ก็ยังไม่ได้ศึกษาตลาดนอกเท่าที่ควร ก่อนหน้านี้เคยส่งผลิตภัณฑ์ไปฮ่องกง เขาสั่งไปแต่สั่งไม่ได้เยอะ

ส่วนในประเทศ ก็มีขายหลายช่องทาง เช่น ร้านค้าในชุมชน ซึ่งจะตอบโจทย์ลูกค้าที่มาเที่ยวชุมชน ทั้งคนไทย คนต่างชาติ คณะที่มาดูงาน หรือว่ามาท่องเที่ยวในชุมชน ก็จะแวะมาเยี่ยมชมในร้ายอยู่เป็นประจำ

แน่นอนอีกช่องทางขายสำคัญคือ ตลาดออนไลน์บนเพจเฟซบุ๊ก ตอนนี้มีลูกค้าประจำที่ชื่นชอบและติดตามงานมาตลอด นอกจากนั้นก็มีออกบูธสินค้าตามงานต่าง ๆ

มะปราง ยังเชื่อว่า การผสมผสานกันระหว่างคนรุ่นเก่า กับคนรุ่นใหม่ ทำให้สินค้าเกิดความลงตัว และดูมีคุณค่าที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของวิถีชุมชนดั้งเดิม

“เราเป็นคนรุ่นใหม่อยู่แล้วก็น่าจะเข้าถึงเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ด้วยกัน โดยเรื่องงานปัก งานทอ แม่ ๆ ในชุมชนเขาเก่งอยู่แล้ว เราก็มาช่วยเสริมเรื่องการตลาด และหาช่องทางการขายในออนไลน์ด้วย เป็นที่ปรึกษาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน”

ถามว่าอยากยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนหรือไม่ แน่นอนนี่คือสิ่งที่มะปราง และสมาชิกในกลุ่ม ตั้งความหวัง และอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อจะได้เพิ่มมูลค่า แล้วเจาะจงลงไปที่กลุ่มของลูกค้าที่มีกำลังจ่าย ที่สำคัญคืออยากให้ผลิตภัณฑ์ที่มี สร้างรายได้ให้กับชุมชน และต้องเป็นรายได้หลักให้ได้

“ตอนนี้ทั้งชุมชนมีคนร่วมกันทำงานนี้ 77 คน กลุ่มสตรี และผู้สูงอายุมากขึ้น รายได้อาจจะไม่เพียงพอเลี้ยงชีพ”

เธอบอกว่า ขณะนี้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำกับชุมชนมาตลอด แต่สิ่งที่อยากได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมคืออยากให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณการจัดแสดงสินค้าชุมชนนอกประเทศ เพื่อทำให้ต่างชาติรู้จักสินค้าของชุมชนชาติพันธุ์มากยิ่งขึ้น และอยากให้สินค้าจากชุมชนชาติพันธุ์ทุกพื้นที่ ได้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศบ้าง

ผลิตภัณฑ์จากต้นทุน-คุณค่าการดูแลรักษาป่า

กลุ่มเล่อชอ ชุมชนแม่นิงใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่นี่เป็นอีกชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ โดยเฉพาะการเป็นชุมชนดูแลรักษาผืนป่า พร้อมทั้งมี Signature ของชุมชน คือ ‘ต้นชาอายุนับพันปี’ จนทำให้ชุมชนแห่งนี้มีองค์ความรู้การผลิตชาในแบบฉบับของคนปกาเกอะญอที่ไม่เหมือนใคร

พัฒนา พนาใสจันทร์แจ่ม

คำบอกเล่าจากปากของ ‘พัฒนา พนาใสจันทร์แจ่ม’ ตัวแทนกลุ่มเล่อชอ ชุมชนแม่นิงใน ยืนยันเรื่องนี้ได้ดี เพราะต้นชาพันปี ถือเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรษ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้เรียนรู้ ไม่ค่อยนำไปใช้ประโยชน์ ปล่อยทิ้งไว้ในป่า แต่ตอนนี้ได้ศึกษา และนำต้นชามาแปรรูป พอปรับมาเป็นชา และได้เผยแพร่ออกไป คนที่ได้ดื่ม ก็ชมว่าเป็นรสชาติที่ดีมาก

“ตอนแรกเราไม่ได้สร้างเพจออนไลน์ เราก็แค่ทำเป็นสินค้า แล้วก็นำมาขายให้กับคนที่อยู่ใกล้ ๆ หมู่บ้านเราได้มาลองชิม แล้วก็ซื้อกินกัน หลังจากมีเพจเราก็สามารถที่จะเข้าถึงการขายในออนไลน์ได้ ยอดสั่งซื้อออนไลน์ไม่ค่อยเยอะเท่าไร สินค้าของเรา เพิ่งเริ่มทำมา 1-2 ปี สินค้ายังไม่มากพอที่จะโพสต์เผยแพร่ออกไป ส่วนใหญ่ก็จะขายกันในชุมชนใกล้เคียง คนที่รู้จักกัน”

ที่นี่ไม่ได้มีแค่ชา เพราะความสมบูรณ์ของป่า ยังทำให้ชุมชนมีผลผลิตตลอดทั้งปี ส่วนหนึ่งคือ ไร่หมุนเวียน ที่มีทั้ง ข้าวดอย, พริกกะเหรี่ยง ขณะที่บางอย่างก็มีต้นทุนจากในป่า เช่น มะขามป้อม ซึ่งในอดีตชาวบ้านไม่รู้จะเอาไปทำอะไร แต่ตอนนี้ก็นำไปแปรรูปจนกลายเป็นสินค้า สร้างรายได้ให้กับชุมชนกลุ่มเล่อชอ จนเรียกได้ว่า

“ใช้ต้นทุนที่มีในพื้นที่ เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน”

สำหรับสินค้าอย่าง เสื้อ, กระเป๋า ก็เป็นบทบาทของกลุ่มสตรี ที่มีหลายองค์กรเข้ามาให้การสนับสนุน

“ส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่สนใจผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่มีอาชีพเสริม นอกจากปลูกข้าวโพด พอได้เริ่มกลุ่มขึ้น ก็มีอาชีพเสริมเข้ามา ทั้งเรื่องชา หรือกลุ่มสตรีก็ในเรื่องทอผ้า ย้อมสีธรรมชาติ นอกจากอาชีพเกษตรก็มีรายได้จากการขายสินค้าเข้ามาด้วยอีกทาง กลุ่มคนในชุมชนที่ช่วยกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นเยาวชน บางคนจบ ม.3 จบ ปวช. ปวส. ออกไปทำงานที่อื่น ก็กลับมารวมกลุ่มกันทำงานในชุมชนด้วยกัน ดังนั้น กำลังหลักในการผลิตก็คือเป็นคนรุ่นใหม่นั่นเอง”

ถามว่าคาดหวังอยากเห็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้รับการยกระดับหรือไม่นั้น พัฒนา ยอมรับกับเราตรง ๆ ว่า ที่ผ่านมายังไม่เห็นช่องทาง แต่หลัง ๆ ก็มีหลายองค์กร หลายโครงการ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง สร้างเพจ ช่วยต่อยอดการสื่อสาร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ก็มีแนวทาง มีโครงการที่จะสามารถกระจายผลผลิตของชุมชนได้มากขึ้น แต่ว่าถ้ามีเครือข่ายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเสริมอีกชาวบ้านก็ยินดี ที่จะเรียนรู้แล้วก็อบรม เพื่อที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป

“ตอนนี้เราเพิ่งตั้งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ต้นทุนของเรามีไม่มาก งบประมาณของเราก็มีแค่หลักหมื่น แต่เราก็กระจายทำสินค้า เพื่อจะเป็นรายได้ของกลุ่มเรา หลัก ๆ คือเราต้องการงบฯ หรือทุนที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับกลุ่ม เช่น มีพื้นที่ มีสถานที่สำหรับกลุ่มของเราเอง

ของดี ‘ชุมชนลาหู่’ จากวัตถุดิบบนพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร

‘กลุ่มสตรีบ้านแกน้อย’ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จริง ๆ ถือว่าเป็นกลุ่มสตรีที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานรัฐมานาน 20 กว่าปีแล้ว แต่สิ่งที่ ‘กุลสุวารักษ์  ปู่ยี่’ ยอมรับ คือยังไม่ยังยืน เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐก็มาให้ทํา เช่น เย็บย่าม พอทำแล้วมันก็หายไป มาแล้วจบงานก็หายไป บางทีก็ให้เงินทุนไว้บ้าง แต่ว่ามันก็ไม่มีการติดตาม ไม่มีอะไรเลย เงินทุนนี้มันก็สูญสลายหายไปกับรุ่นแม่ ๆ

กุลสุวารักษ์  ปู่ยี่

พอมาถึงช่วงโควิด ที่มีคนรุ่นใหม่หนีเมืองกลับบ้าน ก็มารวมตัวกันและอยากจะสานงานต่อ จนในปี 2562 เกิดไฟป่าในพื้นที่เยอะมาก จนมีปัญหาฝุ่นควัน ดอยหลวงเชียงดาว ได้รับผลกระทบจากไฟป่าอย่างรุนแรงมาก ๆ

“ช่วงนั้นทั้งโควิด ทั้งไฟป่า ก็รุมเร้าในชุมชน เลยคุยกันว่าเราจะต้องทำอะไรสักอย่าง เลยมาทําเรื่องของการสร้างแหล่งอาหารเอาไว้กินในยามวิกฤต โดยการที่เราก็ปลูกพื้นที่สวนครัว พื้นที่สวนในไร่นา แล้วก็ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ เราก็ทํากันกับสมาชิกกลุ่มเล็ก ๆ และเราก็ชวนคณะกรรมการหมู่บ้าน ทำกัน เราก็ทำแผนชุมชนเพื่อจะจัดการไฟป่า ภัยพิบัติ จากนั้นในปีต่อมาก็พยายามจะให้เกิดธนาคารอาหารขึ้น เราก็เลยตั้งใจจะรวบรวมพืชพันธุ์โบราณ พืชพันธุ์ที่หากินได้ยากแล้วของพี่น้องลาหู่ มาเพาะขยายให้มีมากขึ้น”

แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อคือ ‘ป๊อปคอร์นดอย’ ซึ่งตัวแทนกลุ่มสตรีบ้านแกน้อย บอกว่า จริง ๆ สามารถทําได้จากพืชหลายชนิด มีทั้งข้าวโพด, ข้าวฟ่าง ซึ่งในชุมชนยังมีข้าวฟ่างที่หลงเหลืออยู่มี 5 ชนิดที่ยังพอเอามาทำข้าวฟ่างป๊อปคอร์นดอยได้

ส่วนเมล็ดข้าวโพด, ข้าวสาลี ที่ทำป๊อปคอร์น จะมีสีเหลืองแล้วก็สีแดง คนเฒ่าคนแก่ คนที่รักษาเมล็ดพันธุ์ เขาก็จะคั่ว แล้วเวลาไปเที่ยวหา เขาก็จะเอามาให้กิน

“ของกินเล่นเหล่านี้ มันไม่มีในชุมชนแล้ว มันไม่มีขายหรอก แต่ว่าในวัฒนธรรมลาหู่เรายังมีอยู่”

สำหรับต้นทุนทางธรรมชาติ วัฒนธรรม กุลสุวารักษ์ ยอมรับว่าชุมชนมีเยอะมาก จนรู้สึกถึงความร่ำรวยในทรัพยากร แต่ที่ผ่านมาไม่มีคนหยิบจับเอาไปสร้างคุณค่า แล้วก็ไม่ได้สร้างความตระหนัก ถึงขั้นไม่ได้สร้างมูลค่า มันก็เลยถูกซุกซ่อนเอาไว้ อย่าง เผือก มัน ก็ใช้ในการประกอบพิธีกรรม ซึ่งก็ต้องปลูกอยู่แล้ว แต่พอมีพืชเชิงเดี่ยวเข้ามา การใช้สารเคมีมันลุกลาม พืชพวกนี้มันจะอ่อนไหวต่อการใช้สารเคมีมาก ก็ทำให้จากที่ปลูกในไร่ ต้องหาที่ปลูกใหม่ ที่มันปลอดภัยมากขึ้น ทีนี้ก็มองเห็นโอกาส จากต้นทุนที่มี ก็เลยช่วยกันลูก

“เราไม่มีตลาดนะ เพราะว่ามันไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาด แล้วบางคนเขาก็กินไม่เป็น”

สำหรับแนวคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เชื่อมโยงกับตลาดภายนอก ปีนี้เป็นปีแรกที่เพิ่งจะนําเสนอตัวตนว่า ชุมชนมีของดี แต่สิ่งที่เราต้องการ คือ การถอดองค์ความรู้จากคนเฒ่าคนแก่ ผู้รู้ที่มีอยู่ในชุนชน เช่นเดียวกัน ชุมชนก็ต้องการองค์ความรู้จากนักวิชาการด้วย

“อีกเรื่องคือการแปรรูป คือเราก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนจะช่วยเราได้ อย่างเช่นเรามีพืชที่คนอื่นเขาไม่กิน เช่น ถั่วแระ มันสามารถแปรรูปอะไรได้บ้าง ต้องไปติดต่อใคร อันนี้เราก็ไม่ค่อยรู้จักใครเลย จึงอยากให้มีหน่วยงานเข้ามาส่งเสริมมากขึ้น”

จะเห็นว่าข้อเท็จจริงที่กลายเป็นข้อจำกัดของการผลักดันสินค้า ผลิตภัณฑ์ อย่างน้อยใน 3 ชุมชนชาติพันธุ์ที่ยกตัวอย่าง ชัดเจนที่สุด คือ ปัญหาการขาดแคลนองค์ความรู้เพื่อต่อยอด แปรรูป การจำหน่าย ซึ่งรู้ดีว่าชุมชนมีต้นทุนทรัพยากรสูงมาก แต่ไม่รู้จะเอาต้นทุนนั้นออกมาใช้อย่างไร

และปัญหาสุดคลาสสิกที่ทุกชุมชนยังคงเผชิญคือเรื่องของงบประมาณสนับสนุน เพื่อให้ชุมชนมีโอกาสคิดต่อยอด ไปสู่การการมีอาชีพที่มั่นคง และยกระดับสินค้า ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จัก

เราในฐานะคนเมือง จึงมีส่วนสำคัญที่พอจะช่วยสนับสนุน และทำให้เห็นว่าวิถีชุมชนชาติพันธุ์ มีศักยภาพล้นเหลือขนาดไหน ถ้าได้รับการหนุนเสริมโอกาสที่เพียงพอ


สำหรับกิจกรรม Open Market & Public Forum “แบรนด์ชุมชนชาติพันธุ์สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลก” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ ที่ 17 มี.ค.นี้ เวลาตั้งแต่ 11.00 น.เป็นต้นไป คุณจะได้พบกับ สินค้า ผลิตภัณฑ์จากหลากหลายชุมชนชาติพันธุ์ เช่น ปกาเกอะญอ, กะเหรี่ยงโผล่ว, ลีซู, อาข่า, มอแกน, มอแกลน, อูรักลาโว้ย, ดาราอาง

ในงานมีสินค้า ผลิตภัณฑ์อะไรน่าสนใจ ลองดูกันได้ ก่อนไปเจอของจริง

  • ผ้าย้อมสีธรรมชาติ, สมุนไพรแช่มือ แช่เท้า, ผ้าทอ, เสื้อ, ย่าม จากกลุ่มสตรีเชซูโม่
  • ช่องทางติดต่อ CHE SU MO
  • เสื้อกะเหรี่ยง, ย่ามผ้าดิบ จาก LALAPOR ชุมชนปะน้อยปู่ จ.ตาก
  • ช่องทางติดต่อ LALAPOR
  • น้ำพริกปลารมควัน, ปลารมควัน, ผงนัวจากผักเหลียง, อามาราคุย (ตุงโมบายคนกะเหรี่ยงโผล่ว), พริกแห้ง, น้ำหมัก, มะม่วงหิมพานต์, มะพร้าวแก้ว จากกลุ่มเหม่ยละ – ไล่โว่ จ.กาญจนบุรี
  • ช่องทางติดต่อ Mei-La
  • โกโก้สด, ช็อคโกแลต, กระเป๋า, ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ จากโกโก้ดอย (ลีซู)
  • ช่องทางติดต่อ โกโก้ดอย เชียงใหม่
  • กาแฟดริป, ย่ามอาข่า จาก สมหวัง Coffee ป่าต้นน้ำแม่ยาว (อาข่า)
  • ช่องทางติดต่อ Somwang Coffee farm
  • ปลาทูเค็ม, ปลาเค็มทอด, น้ำพริกคั่วปลาจื้งจ้าง, ปลาจิ้งทอดสมุนไพร, หมึกผ่าแห้ง, หมึกแห้งกลมอ่อนแห้ง, ปลาเหลนเค็ม, เม็ดมะม่วงคั่ว, ปลาหมึกสามรส จากเครือข่ายชาวเล (มอแกน, มอแกลน, อูรักลาโว้ย)
  • ช่องทางติดต่อ เครือข่ายชาวเล (มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย)
  • ผลผลิตจากไร่หมุนเวียน และผลผลิตตามฤดูกาล จาก ขุนแปะ
  • ช่องทางติดต่อ ขุนแปะ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล