13 ปี มติ ครม. 3 สิงหา…โอกาสไปต่อ กฎหมายชาติพันธุ์

ย้อนทบทวนจุดเปลี่ยน ยอมรับความหลากหลายในมิติวัฒนธรรม
สู่ร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ภายใต้รัฐบาลใหม่

ย้อนไป 13 ปีก่อน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ปี 2553 คณะรัฐมนตรีขณะนั้น มีมติเห็นชอบ “แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง” ซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นถัดจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ปีเดียวกัน เรื่อง “แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล” ถือเป็นการเปิดประตูสู่การยอมรับความแตกต่างหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรม ผ่านมติคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ฉบับ นับตั้งแต่ปี 2550 ที่มีปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง นับเป็นจุดเปลี่ยนที่ถือว่ามีความคืบหน้าและความก้าวหน้า แม้ว่ารัฐบาลไทยจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตาม

ความคืบหน้าและความก้าวหน้าสำคัญทั้ง 3 ข้อ คือ 1. เปลี่ยนวิธีคิดของสังคมที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ โดยยอมรับเรื่องความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น เริ่มหันมาสนใจว่า กลุ่มชาติพันธุ์เป็นใคร มีตัวตนอยู่ตรงไหนบ้าง เช่น กลุ่มกะเหรี่ยงไม่ได้มีกลุ่มเดียว แต่มีถึง 4 กลุ่ม ชาวเล ก็มีถึง 3 กลุ่ม ทั้ง มอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ย เรารู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ เปลี่ยนวิธีคิดต่อพวกเขามากขึ้น จากเดิมที่อาจจะเคยมองในเชิงอคติเหมารวมว่า ชาติพันธุ์ คือ ภัยคุกคาม ปัญหายาเสพติด แต่มติคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ครั้ง ทำให้หันกลับไปมองว่าการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยเป็นเรื่องของความหลากหลาย เป็นเรื่องของทุนวัฒนธรรม ที่ต้องช่วยหนุนเสริมศักยภาพที่พวกเขามีอยู่ จึงใช้ มติคณะรัฐมนตรีว่า ฟื้นฟูวิถีชีวิต

ชาติพันธุ์

2. เปลี่ยนในเชิงสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นใจว่า มีหลักนโยบายที่เห็นตัวตนและทำให้รู้สึกกล้าที่จะลุกขึ้นมาพูดเรื่องของตนเอง เกิดการรวมตัวกันมากขึ้น เป็นการรวมตัวในเชิงงานเครือข่าย จากที่อาจอยู่อย่างกระจัดกระจาย เช่น กรณีชาวเล เมื่อก่อนต่างคนต่างอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ แต่พอมีมติคณะรัฐมนตรี มีการจัดงาน เช่น การจัดงานวันรวมญาติ ก็สามารถเชื่อมโยง 54 ชุมชน ให้มาอยู่รวมกัน พูดคุยกันถึงเรื่องประวัติความเป็นมา ผลกระทบที่ได้เจอมาแลกเปลี่ยน ทำให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของชาวเลกับกะเหรี่ยงเท่านั้น แต่นำร่องเป็นตัวอย่างให้ชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในไทยด้วย ซึ่งทำให้มีพื้นที่ในการแสดงตัวตนมากขึ้น 

และ 3. การเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย เพราะถ้าหากย้อนกลับไปเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว นโยบายชาติพันธุ์จะถูกกำหนดโดยฝ่ายความมั่นคง เช่น กระทรวงมหาดไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่หลังปี 2553 แนวคิดเรื่องการกำหนดนโยบายชาติพันธุ์ถูกปรับมุมมองมาเป็นมติวัฒนธรรมมากขึ้น กลับกลายไปหนุนให้ชุมชนเห็นคุณค่า และหนุนให้สังคมเห็นความหลากหลาย และสิทธิของชาติพันธุ์ ซึ่งหากย้อนไป ถ้าไม่มีมติ คณะรัฐมนตรี นี้ เรื่องเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่พอมีมติ คณะรัฐมนตรี  เหมือนเป็นโอกาส หรือเป็นพื้นที่ให้มีเวทีคุยเรื่องนี้มากขึ้น และมีพัฒนาการที่จะนำมาสู่การขับเคลื่อนเรื่องกฎหมายชาติพันธุ์

แต่ตลอด 4 ปี ในช่วงรัฐบาลชุดเดิม การขับเคลื่อนกฎหมายชาติพันธุ์ยังไปไม่ถึงฝันในการหยิบยกเข้ามาพิจารณาในสภาและมีผลบังคับใช้ เพราะแม้บางฉบับ เช่น ที่เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จะบรรจุไว้ในวาระการพิจารณาของสภาแล้ว แต่อีก 3 ฉบับ ที่เสนอโดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ, กรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลาหลายทางเพศ และพรรคก้าวไกล ถูกตีเป็นกฎหมายทางการเงิน ต้องใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีพิจารณาเซ็นรับรอง และอีก 1 ฉบับ ซึ่งถือเป็นร่างรัฐบาล ผ่านกระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร (องค์การมหาชน) ก็ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความหวังครั้งใหม่ หลังเลือกตั้ง ของกลุ่มชาติพันธุ์

การประกาศจะผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 40 ร่างกฎหมายเร่งด่วน ของพรรคก้าวไกล ในขณะที่ทำหน้าที่แกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลังได้รับคะแนนสูงสุดจากการเลือกตั้ง ถือว่าได้ใจและกลายเป็นความหวังให้กับกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองและเครือข่ายภาคประชาชนอีกครั้ง เพราะความชัดเจนตั้งแต่การวางนโยบายและการขับเคลื่อนเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงก่อนและระหว่างหาเสียง สู่การประกาศนโยบาย 7 ด้าน เช่น สร้างสวัสดิการถ้วนหน้าเท่าเทียม, ปลดล็อกที่ได้รับรองสิทธิชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์, ปลดล็อกสัญชาติและสถานะบุคคล, เขตนิเวศวัฒนธรรมพิเศษชาติพันธุ์ รวมถึง คุ้มครองสิทธิชาติพันธุ์ตามรัฐธรรมนูญ และการผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล รวมถึงอีก 4 ฉบับ โดยประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ 

พรรคก้าวไกล ยังเป็นเพียงพรรคเดียวที่ลงไปรับฟังปัญหาความเดือดร้อนข้อพิพาทที่ดิน ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล พร้อมเสนอนโยบายในการแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ และเมื่อพรรคได้คะแนนสูงสุดจากการเลือกตั้ง หนึ่งในกลุ่มมวลชนที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตอนนั้น เดินทางไปพบ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมย้ำถึงสิ่งที่จะเดินหน้าตามหลักการปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานนิเวศวัฒนธรรม และการผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ เหล่านี้ล้วนเป็นการจุดประกายความหวังอีกครั้งให้กับกลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย

ชาติพันธุ์

“การที่ชนเผ่าพื้นเมืองฯ ได้พูดคุย ได้นำเสนอปัญหาและแนวทางต่าง ๆ ทำให้เห็นความหวังและเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ข้อเสนอต่าง ๆ เกิดการขับเคลื่อนต่อ ทั้งในระดับพรรค และนโยบายของรัฐบาลในอนาคต ซึ่งเชื่อมั่นเพราะพรรคก้าวไกล มี สส. และคณะทำงานที่เป็นตัวแทนสัดส่วนจากชาติพันธุ์ ทั้งนี้ คาดหวังให้การผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะฉบับที่สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยผลักดันรอในรัฐสภาแล้ง และอีก 4 ฉบับ ที่เสนอโดยภาคส่วนต่าง ๆ จะเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่เดินหน้าทันทีภายใน 100 วันหลังจัดตั้งรัฐบาลตามที่พรรคก้าวไกลประกาศไว้“

ศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 
ให้สัมภาษ์ The Active เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2566

“การที่แกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีพรรคการเมืองที่สนใจกลุ่มชาติพันธุ์ มองไปถึงเรื่องปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง มองถึงสิทธิต่าง ๆ ที่กลุ่มชาติพันธุ์มีในบริบทที่แตกต่าง คือ มองแบบหลากหลาย มองแบบพหุวัฒนธรรม และร่วมผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์มาด้วยกัน จึงคาดหวังต่อรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากประชาชนในการผลักดันเรื่องนี้ให้เดินหน้าต่อ ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ สร้างสิทธิความเท่าเทียมให้กลุ่มชาติพันธุ์ 

วิทวัส เทพสง ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน 
ให้สัมภาษ์กับ The Active เมื่อวันที่  5 ก.ค. 2566

โอกาสและความหวังเดินหน้าต่อกฎหมายชาติพันธุ์ เมื่อสมการตั้งรัฐบาล อาจไม่มีพรรคก้าวไกล ที่ดันร่างกฎหมายนี้

อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะคณะทำงานจัดทำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ กระทรวงวัฒนธรรม วิเคราะห์เรื่องนี้ โดยย้ำว่า กฎหมายนี้ เป็นกฎหมายที่มีฐานมาจากแผนปฏิรูปประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งดำเนินการแบบเปิดเผยมาตลอด ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีกระบวนการ ทั้งรับฟังความเห็นภาคประชาชนและภาคราชการ รวมถึงเป็นกระบวนการที่รัฐบาลให้นโยบายมา และรัฐบาลก็คอยกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปในช่วงการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็พูดประเด็นเรื่องความหลากหลาย เรื่องการยอมรับสิทธิของคน ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง มีหลายพรรคที่พูดลักษณะแบบนี้ ซึ่งคิดว่ากฎหมายนี้ มีนัยเพื่อการส่งเสริมสิทธิ เพราะฉะนั้นแนวโน้มในการที่จะผ่านร่างกฎหมายนี้ในชั้นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็น่าจะมีแนวโน้มที่ไม่น่าเป็นอุปสรรคในการที่จะขับเคลื่อนกฎหมานฉบับนี้  

“เพราะถ้าไปดูในรายละเอียด ไม่ได้มีอะไรที่มันจะไปขัดต่อความสงบความเรียบร้อย หรือว่าจะต้องพิจารณาในชั้นของการที่ต้องออกมารับฟังความเห็นกันอีกรอบหนึ่ง ผมคิดว่า ถ้ารับฟังอีกซัก 10 ครั้ง ก็ได้ความเห็นแบบเดิม ซึ่งผ่านกระบวนการมาอย่างรอบคอบรัดกุมที่สุดแล้ว กระบวนการจากนี้ต่อไป ก็น่าจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งเป็นขั้นของการพิจารณาในสภา ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนทั่วประเทศ จะได้พิจารณากฎหมายนี้กันซักที 

อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ชาติพันธุ์

อภินันท์ยังฝากความหวังต่อรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าสุดท้ายสมการรัฐบาลจะออกมาเช่นไร เพราะกฎหมายนี้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของความหลากหลายในสังคมไทย เพราะฉะนั้น การดำรงอยู่บนความหลากหลายจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สังคมไทยลดความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบไหนมาจากรัฐบาลใหม่ รัฐบาลเก่า กฎหมายนี้ควรจะเป็นกฎหมายพื้นฐานของรัฐ ควรจะมีอยู่ในประเทศที่มีเสรีประชาธิปไตยแบบนี้ คือการยอมรับสิทธิผู้คนที่มีความหลากหลาย 

“เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่เรื่องว่าพรรคนั้นพรรคนี้เสนอ แล้วฉันจะทำหรือไม่ทำ แต่เป็นพื้นฐานของรัฐ ที่ต้องมีกฏหมายฉบับนี้ และสอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญอยู่แล้วในมาตรา 70 ที่บอกว่ารัฐพึงจะคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ ก็เขียนขึ้นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งจะว่าไปแล้วผ่านมา 6 ปี กฎหมายที่จะไปรับรองมาตรานี้ของรัฐธรรมนูญกลับยังไม่เกิดขึ้น คิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล สามารถที่จะผลักดันไปได้ ไม่ได้เป็นเพราะว่าผลักดันเพราะเป็นกฎหมายของรัฐบาลชุดเก่า หรือชุดใหม่  อันนี้ต้องมองความสำคัญว่าเป็นกฎหมายประชาชนชน ถูกเสนอโดยภาคประชาชน โดยกลไกการทำงานวิชาการที่เข้มข้น โดยกลไกรับฟังความเห็นที่รอบคอบ“ 

อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

กฎหมายนี้ยังผ่านกระบวนการมาทุกขั้นตอน ผ่านกระบวนการการศึกษาถึงผลกระทบ ว่าถ้ามีกฎหมายฉบับนี้แล้วจะสร้างผลกระทบอะไรบ้าง ทางเศรษฐกิจ สังคม อย่างไร ซึ่งรายงานอยู่ในเอกสารที่ส่งคณะรัฐมนตรี ไปหมดแล้วและน่าจะเป็นกฎหมายฉบับแรก ๆ ที่ทำครบทุกกระบวนการ เหลือเพียงแต่ว่าจะพิจารณาอย่างไร จึงฝากความหวังยังรัฐบาลใหม่ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ว่าจะรับเอากฎหมายฉบับนี้ไปพิจารณา และเสนอเข้าไปรัฐสภพิจารณาร่วมกันเพื่อให้มีผลบังคับใช้ 

ทั้งนี้ กฎหมายที่เสนอจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง 5 ฉบับ มีหลักการเดียวกัน อาจมีความแตกต่างในเชิงรายละเอียดเล็กน้อย แต่หลักสำคัญคือการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อที่จะทำให้ชาติพันธุ์ได้รับคืนสถานะ หมายความว่าเขาดำรง เขามีสถานะอยู่แล้วในประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถเข้าถึงสถานะนั้นได้ตอนนี้เราเอากฎหมายฉบับนี้ไปคืนสถานะให้พวกเขา ซึ่งต้องย้ำว่า ไม่ใช่การให้สิทธิพิเศษชาติพันธุ์ที่ต้องเหนือกว่าคนอื่น เพียงแต่ว่าเป็นเรื่องที่เขาเคยโดนริดรอนสิทธิไปก่อนหน้านี้ กฎหมายก็แค่ไปคืนสิทธิที่เขาควรมีมีพึงได้ในฐานะเป็นพลเมืองกลับคืนมาเท่านั้น 

และสุดท้าย ไม่ว่าหน้าตารัฐบาลผสมจะเป็นอย่างไร สำคัญคือการวางนโยบาย ขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อคืนสิทธิ สร้างสังคมการยอมรับความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ