ค้นหานิยาม ‘ครอบครัวหลากหลาย’ ผ่านรสชาติไอศกรีม ที่ Diversity Café

สำรวจปัญหาสังคมสูงวัย เด็กเกิดน้อย สู่การออกแบบนโยบายด้านประชากร ผ่านนวัตกรรมทางสังคมแบบมีส่วนร่วม

เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเฉลิมฉลองให้กับความภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศ  (Pride Month) แต่แน่นอนว่าการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และความเท่าเทียมในสังคมยังคงต่อผลักดันต่อให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้เราเห็นความร่วมมือกันของภาคประชาชน รัฐบาล เอกชน ในทิศทางที่ดีขึ้น

ล่าสุด The Active มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมสำรวจปัญหาเชิงนโยบาย และค่านิยมของสังคมในการตีโจทย์คำว่า “ครอบครัว” ที่แตกต่างหลากหลายผ่าน “Diversity Café” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คาเฟ่ไอศกรีม ที่จัดโดย Thailand Policy Lab ห้องปฏิบัติการนโยบาย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับภาคีเครือข่าย

บรรยากาศที่นอกจากความสนุกสนานแล้ว ข้อมูลแบบสำรวจยังถูกนำไปบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาประชากรระดับชาติ เพื่อออกแบบนโยบายตอบโจทย์การสร้างครอบครอบครัวที่หลากหลาย ท่ามกลางสถานการณ์สังคมสูงวัยสมบูรณ์ สวนทางกับอัตราการเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์

บริเวณโซนแรก “คาเฟ่ไอศกรีม” ชวนให้ผู้เข้าชมได้ทำแบบสำรวจเกี่ยวกับครอบครัวในฝัน ความสนุกคือเมื่อตอบแบบสอบแล้วจะได้รับไอศกรีม 5 รสชาติที่สะท้อนรูปแบบครอบครัวในฝันของแต่ละคน ประกอบด้วย

  • Family Delight รสชาติที่สะท้อนครอบครัวแบบไร้กรอบจำกัด อาจเป็นเพื่อน อาจเป็นคอมมูนิตี้ หรือ AI ที่เรามองเป็นสมาชิกครอบครัว
  • Parental Bliss รสชาติที่สะท้อนครอบครัวที่มีลูกเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่การมีลูกไม่ได้จำกัดแต่เพศกำเนิดชายหญิง แต่รวมถึงกลุ่ม LGBTI และผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยว
  • Equal WE WE รสชาติที่สะท้อนครอบครัวที่พึงพอใจจะอยู่กับคนรัก โดยไม่ต้องมีลูกตามค่านิยมของสังคม
  • MEJoy รสชาติที่สะท้อนครอบครัวในความหมายของการอยู่คนเดียวแบบมีความสุข ที่สังคมต้องไม่ตีตราและตัดสิน
  • Generations Crunchy รสชาติที่สะท้อนครอบครัวที่เป็นการอยู่ร่วมกันของคนหลายรุ่น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจนเนอเรชัน

ถัดมาเป็นจุดแสดงนิทรรศการเล่าเรื่องราวของ 6 ครอบครัวที่มีนิยามแตกต่าง เพื่อสะท้อนความหลากหลายในสังคม ผ่านการฟังเสียงบอกเล่าของแต่ละครอบครัว เช่น ครอบครัวของ สายสุนีย์ จ๊ะน๊ะ แชมป์วีลแชร์ฟันดาบ ตัวแทนครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวคนพิการ, ครอบครัวแม่-แม่-ลูก เจี๊ยบ มัจฉา พรอินทร์ -จุ๋ม วีรวรรณ วรรณะ และหงส์ ศิริวรรณ พรอินทร์, ครอบครัวคู่รักชาย-ชาย ทอม-อุ้ย จนถึงครอบครัวแบบอยู่คนเดียว และอยู่รวมกันหลายรุ่น ที่นโยบายและกฎหมายยังไม่โอบรับรูปแบบครอบครัวที่หลากหลาย แต่ยังยึดติดกับค่านิยมและกรอบของสังคมที่มองคำว่าครอบครัวในนิยามของพ่อ-แม่-ลูกเท่านั้นรวมไปถึงสิ่งที่พวกเขาอยากให้รัฐช่วยเหลือหรือเปลี่ยนแปลงในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลและสถิติเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย เช่น จำนวนคนอยู่คนเดียวที่เพิ่มสูงขึ้น คนไทยอายุยืนขึ้น แต่งงานช้าลง โดย UNFPA Thailand ระบุว่า พ.ศ. 2507 ผู้ตั้งครรภ์มีบุตรเฉลี่ย 6 คน แต่ปัจจุบันมีบุตรเฉลี่ยไม่ถึง 2 คน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น คนไทยอายุยืนขึ้น วิถีชีวิตคนที่เปลี่ยนไป รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจอย่างหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจาก 59.3% ในปีพ.ศ.  2553 เป็น 80.6% ในปี พ.ศ. 2557

ขณะที่นโยบายด้านประชากรของประเทศไทยต้องก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ต้องตีความนิยามครอบครัวให้หลุดกรอบจากพ่อ-แม่-ลูก เพื่อออกแบบนโยบายให้สอดรับกับวิถีชีวิตครอบครัวที่หลากหลาย ที่รวมไปถึงกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ต้องการและพร้อมจะมีบุตร หรือนโยบายที่ครอบคลุมถึงเยาวชนที่เกิดจากครอบครัวแม่วัยใส เยาวชนไร้สัญชาติ จนถึงเยาวชนที่ผู้ปกครองอยู่ในเรือนจำ เพื่อให้ความสำคัญกับคุณภาพของประชากร พร้อม ๆ กับการรับมือกับอัตราการเกิดที่ลดลง

ทอม ตัน – สุเมธ ศรีเมือง

ทอม ตัน และ สุเมธ ศรีเมือง คู่รักที่ใช้ชีวิตร่วมกันมากว่า 24 ปี และเพื่อแสดงออกต่อความจริงใจที่มีต่อกันให้สังคมได้รับรู้ ในปี 2562 ทั้งคู่ได้จัดงานวิวาห์ในโอกาสครบรอบ 20 ปี รวมถึงอยากเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้ประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่ให้สิทธิและสวัสดิการกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย จนถึงการสร้างครอบครัวตามนิยามของตน

“เราทั้งคู่เชื่อว่ามุมมองของคนในสังคมเปลี่ยนไปมากกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เรามีการจัดขบวนไพรด์พาเหรดตามท้องถนน มีคนที่มีชื่อเสียงเปิดเผยตัวตนแบบที่มีคนยอมรับมากขึ้น และในมุมมองของคนต่างชาติก็มองว่าประเทศไทยเป็นมิตรกับ LGBTQIAN+ มาก เราคิดว่ากฎหมาย นโยบาย ก็น่าจะตามมาพร้อม ๆ กัน เพราะหลายเรื่องสำคัญมาก เช่น สิทธิในการตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาลของคู่รัก การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน ที่จะเติมเต็มความรักของเราให้สมบูรณ์เท่ากับครอบครัวชายหญิง”

ทอม ตัน – สุเมธ ศรีเมือง

Thailand Policy Lab นวัตกรรมทางสังคม ต่อยอดนโยบายด้วยงานวิจัยที่มีชีวิต

Thailand Policy Lab เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กร คือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) จากแนวคิดที่ว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ล้วนกำลังเจอความท้าทายที่หลากหลาย ซับซ้อน และผันเปลี่ยนไปเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่แนวทางดำเนินนโยบายแบบเดิมดูเหมือนไม่เพียงพอที่จะพาประเทศไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ ได้อีกต่อไป

ขณะเดียวกัน พลเมืองก็มีความคิดก้าวหน้ามากขึ้นเพราะมีการศึกษาที่ดีขึ้นและได้เห็นโลกภายนอกกว้างขึ้น พวกเขาต้องการที่จะเห็นประเทศมีการพัฒนามากขึ้นด้วย เมื่อสองปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นพร้อมกัน การมีหน่วยงานที่สามารถคิดค้นหาแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถึงแก่น และสอดรับความต้องการประชาชน จึงต้องเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด

กานท์กลอน รักธรรม Communication and Engagement Officer Thailand Policy Lab และ UNDP เล่าว่า ถึงจุดเริ่มต้นของ  Diversity Café คือความต้องการเก็บข้อมูลเชิงลึกของโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการใช้วิธีเคาะประตูบ้าน แจกแบบสำรวจ ยังไม่สามารถช่วยให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่อาจเกิดขึ้นทุกๆ 5-10 ปี ข้อมูลที่อยากได้จริง ๆ ที่มาจากนวัตกรรมทางสังคม จึงไม่ใช่แค่การเก็บตัวเลข แต่ต้องรวมถึงความรู้สึกของผู้คนในขณะนั้น เช่น ความกลัว กังวลต่อการมีบุตร ความหวังที่จะมีครอบครัวที่สมบูรณ์ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้ในการออกแบบนโยบายแบบมนุษย์มองมนุษย์

“ถ้าเรายังแก้ปัญหาสังคมสูงวัย เด็กเกิดน้อย ด้วยการมองแบบแบน ๆ แน่นอนเราอาจจะได้นโยบายที่กระตุ้นให้คนมีลูกด้วยปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งในต่างประเทศพิสูจน์แล้วว่าสำเร็จในระยะสั้น ๆ แต่ถ้าเรามองอย่างเป็นระบบแบบที่ Thailand Policy Lab เก็บข้อมูลมา จะเห็นว่าจริง ๆ ยังมีกลุ่มประชากรจำนวนไม่น้อยที่อยากมีลูก เช่น LGBTQIAN+ แต่ว่ากฎหมายยังไม่มี หรือในกลุ่มที่ไม่ได้มองครอบครัวแบบ พ่อ แม่ ลูก อีกต่อไป นโยบายแบบไหนที่จะไปทั้งองคาพยพเพื่อรับมือกับปัญหาอย่างเป็นระบบ”

กานท์กลอน รักธรรม

ข้อมูลจากการทำสำรวจกว่า 700 ตัวอย่างเกี่ยวกับครอบครัวหลากหลายของ Thailand Policy Lab เมื่อเดือน ม.ค. 66 พบว่า 22% ของผู้ทำแบบสอบถามยังมองนิยามครอบครัวแบบพ่อ-แม่-ลูก 18.2% มองนิยามครอบครัวแบบอยู่กับสัตว์เลี้ยง 13.4% มองนิยามครอบครัวแบบครอบครัวขยาย 11.9% มองนิยามครอบครัวแบบอยู่คนเดียวอย่างมีความสุข 11.8% มองนิยามครอบครัวแบบอยู่กับคนรักที่ไม่ต้องการมีลูก 7.6% มองนิยามครอบครัวแบบคู่ LGBTI ที่ต้องการได้รับการรับรองทางกฎหมาย 5.5% มองนิยามครอบครัวแบบครัวแบบคู่ LGBTI ที่ต้องการมีลูกและได้รับการรับรองทางกฎหมาย ขณะที่ 9.6% มองนิยามครอบครัวในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า 78% มองนิยามครอบครัวต่างออกไปจากนิยามครอบครัวแบบเดิมคือพ่อ-แม่-ลูก นอกจากนี้ยังพบว่ากว่า 800 ตัวอย่าง คนตัดสินใจจะไม่มีลูกถึง 51.5%

สำหรับผู้ที่สนใจอยากมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายครอบครัวหลากหลาย Diversity Cafe by Thailand Policy Lab ยังจัดถึงวันที่ 30 มิ.ย. 66 เวลา 10.00 – 22.00 น. ที่สยามเซ็นเตอร์ ชั้น G บริเวณ Atrium 2

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน