จับตา นโยบายนำเข้าขยะพลาสติกต่างประเทศ สิ้นสุดโควตา 22 ก.ย. นี้ เปิดข้อมูลผลดี – ผลเสีย ทางเลือกที่รัฐบาลต้องวัดใจ
โควตาการนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดของกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 22 ก.ย. 2563
ขณะที่มติเดิมของ อนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ก็จะหมดเวลาผ่อนผันให้นำเข้าเศษพลาสติดก 30 ก.ย. นี้เช่นกัน และต้องเดินหน้าตามมติเดิม คือ ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดหรือไม่
การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ ฝ่ายเลขานุการได้เสนอ “มาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก” ต่ออนุกรรมการ เพื่อพิจารณากำหนดโควตาการนำเข้าเศษพลาสติกให้เหมาะสมกับความต้องการแท้จริงของประเทศ และให้สอดคล้องกับนโยบายที่มุ่งเน้นการใช้เศษพลาสติกจากในประเทศ โดยคำนึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อม
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ สถาบันพลาสติก กรมโรงงานอุตสาหกรรม ประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับปริมาณความต้องการใช้เศษพลาสติกของโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้ข้อมูลในการกำหนดมาตรการการนำเข้าเศษพลาสติก
หลังการประชุม ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ขณะนี้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมและภาคเอกชน ไม่ขัดข้องหากจะยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ หากเศษพลาสติกในประเทศมีเพียงพอ และสะอาด ส่วนปริมาณความต้องการยังไม่สามารถระบุตัวเลขได้อย่างแน่ชัด ต้องรอสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมก่อนจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาในวาระถัดไป ยืนยันว่าจะพยายามรวบรวมข้อมูลให้รอบด้านและให้ทันกำหนดภายในเดือนกันยายนนี้ ก่อนที่จะสิ้นสุดโควตา
“โรงงานเขาไม่ขัดข้องถ้าจะยกเลิก ถ้าขยะบ้านเราสะอาดพอ ตัวเลขตอนนี้ไม่ตรงกัน ระหว่าง โรงงานและสถาบันพลาสติก รอปรับข้อมูลอีกนิด ยังไม่ขอให้รายละเอียดว่าตัวเลขทั้ง 2 หน่วยงานต่างกันมากแค่ไหน”
ผลดี – ผลเสีย ทางเลือกที่รัฐบาลต้องวัดใจ
ก่อนไปถึงเป้าหมายสุดท้าย ว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติก 100 % The Active เปิดข้อมูลสองด้าน เพื่อชั่งน้ำหนักก่อนนโยบายจะเดินหน้า
ประเด็นแรก หากข้อมูลที่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องการใช้ประกอบการตัดสินใจในการยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกภายในประเทศ 100% ในปี 2565
กรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นต้องใช้เศษพลาสติก ถึง 20 ชนิด ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่ชุมชนสามารถป้อนภาคอุตสาหกรรมได้เพียง 3 ชนิด และบางชนิดไม่สามารถหาได้จากชุมชน หรือแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรมเอง
ปัจจุบัน มีโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบภายในโรงงานโดยตรง คือ โรงงานลำดับที่ 44 โรงงานเส้นใยสังเคราะห์ และโรงงานลำดับที่ 53 คือ โรงงานผลิตภัณฑ์พลาสติก ทั้ง 2 ประเภท มีรวมกันทั้งหมด 5,688 โรง กรมโรงงานอุตสาหกรรมยืนยันว่าตั้งแต่ปี 2561 ไม่มีการอนุญาตโรงงานประเภทนี้เพิ่มเติม และมีการแจ้งยกเลิกประกอบกิจการไปแล้ว 178 โรง รวมถึงไม่มีการให้โควตาการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศด้วย
พลาสติกชนิดไหนที่อนุญาตให้นำเข้า
ชนิดพลาสติกที่มีการอนุญาตนำเข้าโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีตั้งแต่ พลาสติกแบบชิ้น แบบบดย่อย เม็ดพลาสติกที่ตกสเปค เรซิน แผ่นฟิล์ม แต่กรมโรงงานฯ ยืนยันว่าถุงพลาสติกที่ต่ำกว่า 35 ไมครอน ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าโดยเด็ดขาด
ขณะที่ความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมในการใช้เศษพลาสติก กรมโรงงานระบุว่า มีถึง 3.875 ล้านตัน ในจำนวนนี้ เข้าโรงงานรีไซเคิลพลาสติก 3.248 ล้านตัน ผลิตเส้นใย 27,000 ตัน และผลิตภัณฑ์พลาสติก 6 แสนตัน (ข้อมูลนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นรายงานในที่ประชุมอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563)
หากดูจากข้อมูลที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมชี้แจง ก็พอจะเห็นภาพว่า หากยกเลิกนำเข้าทั้งหมด จะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกแน่นอน เพราะการผลิตเม็ดพลาสติกในประเทศ มีการส่งออกสูงถึง 80 % มีเพียง 20% เท่านั้น ที่เป็นการผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อหมุนเวียนใช้ภายในประเทศ
แต่ในมุมของภาคประชาสังคม 65 องค์กร ที่ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 เรียกร้อง ให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมด มีหลายประเด็นน่าสนใจ
ข้อสังเกตแรก เดิมทีคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ มีมติไม่นำเข้าขยะพลาสติกและเศษอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว แต่ก็ได้มีการผ่อนผันให้มีการนำเข้าเป็นเวลา 3 ปี ส่วนหนึ่งก็รองรับเหตุผลของภาคอุตสาหกรรมและให้เวลาปรับตัว และสิ้นเดือนกันยายนนี้จะครบกำหนดผ่อนผัน นั่นหมายความว่าหลังจากนี้ก็ต้องยึดตามมติเดิมหรือไม่ ทำไมยังต้องมาพิจารณาเรื่องนี้กันอีกรอบ
ทำไมไม่ควรพิจารณาหรือต่ออายุนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นด้านสิ่งแวดล้อมมีมูลค่ามหาศาลในการฟื้นฟู การสูญเสียสัตว์ทะเลสำคัญ ๆ ในระบบนิเวศ และความขัดแย้งอย่างรุนแรงในพื้นที่ระหว่างโรงงานรีไซเคิลขยะและชุมชน เนื่องจากเศษพลาสติกทั้งหมดที่ไทยนำเข้าและที่มีอยู่ภายในประเทศ เมื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล สิ่งสุดท้ายที่เหลือจากกระบวนการผลิต คือ ของเสียอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่อันตราย
ของเสียเหล่านี้ ถูกส่งต่อไปยังโรงงานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง อีก 3 ประเภท คือโรงงาน 101 โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม 105 คัดแยก หรือฝังกลบ และ 106 รีไซเคิลของเสีย โรงงานเหล่านี้ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้ และสอดรับกับคำสั่ง คสช 4/2559 ที่อนุญาต ให้มีการตั้งโรงงานในพื้นที่สีเขียวและชุมชนได้ การขยายโรงงานประเภทนี้จึงเติบโตอย่างก้าวกระโดด เกินกำลังของเจ้าหน้าที่ในการกำกับตรวจสอบ
พบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม
การกำจัดของเสียอุตสาหกรรมมีต้นทุนสูง จึงพบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
เพราะขยะอันตราย 1 ตัน มีต้นทุนราคาการกำจัดสูงตั้งแต่ 4,000-5,000 บาท ไปจนถึง 150,000 บาท แต่หากทิ้งแล้วจับได้ โทษตาม พ.ร.บ.โรงงาน กำหนดค่าปรับสูงสุดไว้ 200,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งน้อยเกินไป และที่ผ่านมาพบพื้นที่ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม สูงถึง 44 พื้นที่ ต่อเนื่องในภาคตะวันออก และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตกเป็นภาระภาษีประชาชน และที่ผ่านมาการฟื้นฟูก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
ข้อจำกัดการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ การนำเข้าขยะพลาสติก
กฎหมายและการกำกับดูแล ตั้งแต่ต้นทางถึงโรงงาน ศักยภาพในเรื่องนี้ ไทยยังมีข้อจำกัด เช่น
กรมศุลกากรไม่มีระบบการกำกับติดตามเส้นทางการเดินทางของตู้ไปจนถึงโรงงาน
พิกัดกรมศุลกากรขาดความละเอียด ขาดการควบคุม ตรวจสอบกำกับดูแลคุณภาพของเศษพลาสติกที่นำเข้า จึงมีช่องโหว่ในการตรวจสอบว่าเศษพลาสติกมีการสอดไส้ขยะอื่น ๆ หรือไม่ และส่งไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาตจริงหรือไม่
การหลอมพลาสติกก็ยังไม่มีค่ามาตรฐานกำหนดปริมาณสารเจือปนที่โรงงานอุตสาหกรรมประเภทหลอมพลาสติกปล่อยออกสู่อากาศ ทั้งที่เป็นมลพิษกระทบสุขภาพของประชาชน
บทส่งท้าย
จะตัดสินใจยกเลิกหรือไม่ยกเลิกนำเข้าเศษพลาสติก ก็ต้องจับตาดูมาตรวัดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะให้น้ำหนักไปทิศทางไหน รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ที่จะรองรับและการยกระดับศักยภาพต่อการรับมือกับเรื่องนี้