เปิด 9 เหตุผล ค้านนำเข้าขยะพลาสติก

คนดังร่วมติดแฮชแท็ก #คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก โพสต์โซเชียล

ไม่เพียงการรวมตัวเพื่อยื่นหนังสือของตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคม 65 องค์กร ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (10 ก.ย.) เพื่อเรียกร้องไม่ให้ขยายเวลาการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ ยังมีคนดัง ทั้ง นักเขียน พิธีกร และนักวิชาการ ชวนแชร์ #คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียนและพิธีกรชื่อดัง โพสต์ภาพถือกระดาษเขียนข้อความว่า #คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก พร้อมคำอธิบายในโพสต์ว่า

– จีนเลิกนำเข้าขยะ เลยตกมาถึงไทย ซึ่งนำเข้าจำนวนมากติดกันมา 2 ปีแล้ว หลัก ๆ คือ เพื่อเอาไปป้อนโรง Recycle และเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรม

– กระบวนการ Recycle ขยะในประเทศเลยไม่กระเตื้อง เพราะ ขยะ import ราคาถูก และคุณภาพดีกว่า (เพราะเราไม่มีกระบวนการคัดแยกขยะที่ดี) มีผลต่อตลาดขายขยะในประเทศ

– 11 ก.ย. จะมีการพิจารณา ให้มีการต่อให้นำเข้าเป็นปีที่ 3 เลยชวนมาค้านดีกว่า เพราะนั่นคือกระบวนการ recycle ขยะในประเทศจะไม่ได้รับการพัฒนาเลย แล้วเราก็ไปกลายเป็นจัดการขยะให้ประเทศอื่นแทน และการจัดการขยะในประเทศควรพัฒนาดีกว่านี้ได้แล้ว

เช่นเดียวกับเฟซบุ๊กของโครงการบริหารจัดการขยะในระดับองค์กร หรือที่รู้จักกันในชื่อ CHULA Zero Waste ก็โพสต์ข้อความ

“ทีมงาน Chula Zero Waste นำโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาฯ ขอเป็นแนวร่วมในการ #คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก ด้วย หากใครเห็นด้วยและอยากร่วมกันรณรงค์ ทำได้เลยด้วยการถ่ายรูปและโพสต์ลงโซเซียลมีเดีย ติด #คัดค้านนำเข้าเศษพลาสติก ค่ะ”

พร้อมโพสต์ภาพทีมงานถือป้ายกระดาษด้วยข้อความเดียวกัน และลิงก์แถลงการณ์ฉบับยาวของเครือข่ายภาคประชาสังคม

เปิดแถลงการณ์ฉบับเต็ม คัดค้านขยายเวลานำเข้าขยะพลาสติก

แถลงการณ์ ข้อเสนอต่อมาตรการห้าม/ควบคุมการนำเข้าเศษพลาสติก และการพัฒนาระบบคัดแยกขยะในประเทศให้ได้คุณภาพดีขึ้น ของเครือข่ายภาคประชาสังคม ระบุว่า สืบเนื่องจากที่สาธารณรัฐประชาชนจีนประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าสารอันตรายที่ปะปนมากับขยะ พลาสติกและขยะอื่นหลายชนิดที่นำมาเป็นวัตถุดิบเพื่อรีไซเคิลและผลิตสิ่งของในประเทศ จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐบาลจีนจึงออกประกาศห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศเป็นการเร่งด่วน 24 รายการ (ต่อมา ประกาศเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 32 รายการ)

มาตรการนี้ส่งผลให้ขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลไหลทะลักไปสู่ประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย (Interpol, 20201) จากข้อมูลการนำเข้าเศษพลาสติกของประเทศไทย พบว่า ในปี 2561 มีการนำเข้าเศษพลาสติกสูงถึง 552,912 ตัน เทียบกับปี 2559 ก่อนประเทศจีนประกาศห้าม มีการนำเข้ามาเพียง 69,500 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า

นอกจากนี้ ยังพบกรณีการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกปนเปื้อนและขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ดังจะเห็นได้จากข่าวการตรวจจับการนำเข้าอย่างผิดกฎหมายที่ท่าเรือและโรงงานรีไซเคิลหลายแห่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านจากประชาชน และนำมาสู่การเร่งผลักดันให้มีมาตรการควบคุมการนำเข้าขยะอย่างจริงจังในเวลาต่อมา 

คณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ซึ่งรัฐบาลแต่งตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีการประชุมเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2561 และได้มีมติให้ยกเลิก การนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปี โดยช่วงผ่อนผันนี้ มีการกำหนดโควตาการนำเข้าคือ ปีที่ 1 นำเข้าได้ไม่เกิน 70,000 ตัน แบ่งเป็นพลาสติก PET 50,000 ตัน และพลาสติกชนิดอื่นรวม 20,000 ตัน และมีเงื่อนไขให้ใช้เศษ พลาสติกภายในประเทศร่วมด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

ในปีที่ 2 ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 40,000 ตัน และให้นำเศษพลาสติกภายในประเทศมาใช้ร่วมด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และปีที่ 3 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ โดยใบอนุญาตนำเข้าตามโควตาดังกล่าวจะสิ้นสุดทั้งหมดในวันที่ 30 ก.ย. 2563

แต่ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้พยายามขอนำเข้าเศษพลาสติกต่อไปโดยให้เหตุผลว่า วัตถุดิบที่มีภายในประเทศไม่เพียงพอ คุณภาพต่ำ และมีการปนเปื้อนสูง ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ก็สนับสนุนข้อนี้โดยแสดงเจตจำนงในที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 ว่า ผู้นำเข้าต้องการโควตานำเข้าพลาสติกอีก 6.5 แสนตันในปี 2564  อย่างไรก็ดี ที่ประชุม ได้ให้ กรอ. ไปสำรวจความต้องการของโรงงานและนำเสนอข้อมูลว่าผู้ประกอบการต้องการใช้จริงเท่าไหร่ ประเภท ใดบ้าง และจำเป็นต้องนำเข้าเท่าไหร่ เพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 ก.ย. นี้

เครือข่ายภาคประชาสังคมมีความห่วงใยต่อประเด็นดังกล่าวที่อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการแก้ปัญหาขยะ ภายในประเทศ จึงได้ออกแถลงการณ์เพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้ “ยืนยันมติเดิม” ของคณะอนุกรรมการฯ เมื่อปี 2561 ที่ “กำหนดให้ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะหรือเศษพลาสติกและซาก อิเล็กทรอนิกส์ 100% ภายในปี 2564” ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

1. รัฐบาลให้ระยะเวลาผู้ประกอบการนำเข้าเศษพลาสติกมาแล้ว 2 ปี และได้แจ้งเป้าหมายที่จะยกเลิกการนำเข้าในปีที่ 3 ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้น ผู้นำเข้าควรมีการปรับตัวหรือปรับแผนธุรกิจเพื่อลดการนำเข้าและเพิ่ม สัดส่วนการใช้เศษพลาสติกในประเทศให้มากขึ้น หากรัฐบาลเปลี่ยนเป้าหมายที่เคยประกาศไว้จะส่งผล กระทบตอ่ความเชื่อมั่นของประชาชนและจะกระทบกับเป้าหมายตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติก ที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570

2. คณะอนุกรรมการฯ ไม่ควรให้มีการสำรวจโดยอ้างอิงความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมและความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าพลาสติกชนิดใดก็ตาม เพราะผู้ประกอบการสามารถแจ้งความต้องการในปริมาณสูง ไว้ก่อนเพื่อจะนำเข้าได้มากและเพื่อลดต้นทุนของตัวเอง การสำรวจควรจะอิงปริมาณที่เคยนำเข้าในอดีต เช่น ข้อมูลสถิติการนำเข้าเศษพลาสติกรวมก่อนปี 2561 ย้อนหลัง 5 ปี คือระหว่าง 2556-2560 อยู่ที่ 74,421 ตันเท่านั้น และควรให้กรมศุลกากรกำหนดรหัสโดยเฉพาะสำหรับเศษพลาสติก PET ในกลุ่มพิกัด 391590 เพื่อการควบคุมอย่างเข้มงวดในการห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาดเพราะวัตถุในประเทศไทยมีจำนวนมากจนล้นตลาด

3. แม้ในช่วงปีพ.ศ. 2561-2562 จะเป็นช่วงผ่อนผันที่กำหนดโควตาการนำเข้าไม่เกิน 70,000 ตันในปีที่ 1 (2561/2562) และให้นำเข้าได้ไม่เกิน 40,000 ตันในปีที่ 2 (2562/2563) แต่ข้อมูลสถิติการนำเข้าเศษพลาสติก พิกัด 3915 พบว่า ในปี 2562 มีการนำเข้าถึง 323,167 ตัน และในปี 2563 (มกราคม-กรกฎาคม) นำเข้า 96,724 ตัน แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกด้วยการกำหนดโควตาของภาครัฐ

4. หากมีการอนุญาตนำเข้า ให้อนุญาตเฉพาะการนำเข้า “เม็ดพลาสติกใหม่หรือเม็ดพลาสติกรีไซเคิล” เท่านั้น ซึ่งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้เลย โดยห้ามการนำเข้าเศษพลาสติกชนิดอัดก้อนโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าจะต้องมีใบรับรองคุณภาพมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และจะต้องใช้พลาสติกคัดแยกภายในประเทศเป็นวัตถุดิบร่วมในกระบวนการรีไซเคิลด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตที่แท้จริง โดยผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าจะต้องมีหลักฐานในการแสดงเพื่อพิสูจน์ว่าข้อมูลเหล่านี้มีความสอดคล้องกันตามความเป็นจริง ดังนี้ (1) แสดงงบดุลการซื้อ, งบดุลการขาย, งบดุลการเสียภาษีสรรพากร ย้อนหลัง 3 ปีจากปี 2562 และ (2) แสดงตัวเลขการส่งออกและตัวเลขกำลังการผลิตที่แท้จริง ย้อนหลัง 3 ปีจากปี 2562

5. กรอ. และผู้นำเข้าไม่ควรอ้างว่า พลาสติกรีไซเคิลในประเทศมีราคาแพงกว่า เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วง ของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดการขยะให้ได้มาตรฐานมากขึ้น การรวบรวมขยะพลาสติกในประเทศจึงยังขาดระบบที่ดี ทำให้มีต้นทุนการรวบรวมสูง นอกจากนี้ ก็ไม่ควรนำคุณภาพของขยะคัดแยกไทยไปเปรียบเทียบกับเศษพลาสติกจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศเหล่านั้นมีกฎหมายที่ใช้หลักการ Extended Producer Responsibility หรือ EPR ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบจัดระบบเรียกคืนขยะบรรจุภัณฑ์ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งมีการดำเนินการมานานกว่า 20 ปีแล้ว

ยิ่งกว่านั้นประเทศผู้ส่งออกไม่ยอมลงทุนการรีไซเคิลพลาสติกในประเทศตัวเองเพราะค่าแรงงานและต้นทุนการดูแลสิ่งแวดล้อมสูง ปัจจุบันเมื่อจีนห้ามนำเข้าขยะพลาสติก ประเทศผู้ส่งออกจึงต้องหาแหล่งรองรับขยะแห่งใหม่ จึงมีการลดราคาขยะ พลาสติกหรือแม้แต่ลักลอบนำเข้าไปกำจัดยังประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ราคานำเข้าถูกกว่าราคาขยะในประเทศอย่างมาก ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่าพลาสติกรีไซเคิลในประเทศมีราคาแพงกว่า จึงเป็นข้ออ้างเพื่อรักษา ผลประโยชน์ของประเทศผู้ส่งและผู้นำเข้าไม่กี่ราย โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย

6. เนื่องจากขยะพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาถูกมากจนส่งผลกระทบต่อราคาพลาสติกรีไซเคิลใน ประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีราคาที่ต่ำอย่างมากแล้ว (ข้อมูล ณ เดือนส.ค. 2563 ราคารับซื้อ PET แบบไม่แกะ ฉลากอัดก้อน อยู่ที่ 8.48 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับเดือนเดียวกัน ปี 2561 อยู่ที่ 13.05 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น) ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและกำลังใจในการทำงานของกลุ่ม “ซาเล้ง” ประมาณ 1.5 ล้านคน และร้านรับซื้อของเก่าทั้งประเทศที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยอีก 30,000 ร้านค้า

ทั้งนี้ ปัญหาราคารับซื้อขยะคัดแยกในประเทศที่ตกต่ำอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบกิจการซาเล้งและ ร้านรับซื้อของเก่าจำนวนมากต้องเลิกประกอบอาชีพนี้ ดังนั้นการเปิดให้นำเข้าเศษพลาสติกอีกหลายแสน ตันในปีหน้าจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก  

7. จากข้อมูลของสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า พบว่า ปริมาณพลาสติกเพื่อรีไซเคิลที่เก็บรวบรวมได้ใน ประเทศ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.6 ล้านตันต่อปี ปริมาณนี้จึงเพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ในส่วนข้ออ้างเรื่องการปนเปื้อนหรือความไม่สะอาดนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมกันเร่งหามาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากกว่าการเลี่ยงปัญหาโดยการนำเข้าจากต่างประเทศ การแก้ปัญหาด้วยการนำเข้ายังสวนทางกับนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนของประเทศไทยเอง   

8. ที่ประชุมภาคีสมาชิกอนุสัญญาบาเซลฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2562 ได้มีมติกำหนดให้ขยะพลาสติกเป็นของเสียอันตรายที่ต้องมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนตามอนุสัญญาฉบับนี้  ดังนั้น รัฐบาลไทยควรเร่งเตรียมความพร้อมในการเพิ่มเติมรายการที่ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของอนุสัญญาบาเซลฯ และ ควรเร่งการให้สัตยาบันข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ (Ban Amendment) เพื่อเพิ่มมาตรการป้องกันการนำเข้าส่งออกของเสียอันตราย ซึ่งรวมถึงขยะพลาสติกอย่างเข้มงวดมากขึ้น 

9. รัฐบาลควรมีมาตรการตรวจสอบ กำกับ ติดตาม และดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  ตัวอย่างเช่น (1) เมื่อวัตถุดิบเข้ามาในประเทศไทย จะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบทำการ ตรวจสอบทุกครั้งโดยทันทีที่วัตถุดิบมาถึงโรงงาน คือ อุตสาหกรรมจังหวัด, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด, สาธารณสุขจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการอนุมัติรับทราบ, (2) กรณีวัตถุดิบนำเข้าสำแดงเท็จ และถูกจับได้ชิพปิ้งและผู้นำเข้า ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทันที, (3) กรณี วัตถุดิบนำเข้าสำแดงเท็จและถูกจับได้ และสินค้าอยู่ภายในโรงงาน โรงงานอุตสาหกรรมนั้นต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นเวลา 10 ปี, (4) กรณีประชาชนเกิดผลกระทบและเข้าร้องเรียนความเดือดร้อนกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งระงับการดำเนินการหรือระงับการต่อใบอนุญาตโรงงานได้

ข้อเสนอต่อการเพิ่มอัตราการเก็บรวบรวมพลาสติกรีไซเคิลในประเทศ

1. กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และ อปท.ในเมืองใหญ่ที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่นและเป็นแหล่งกำเนิดขยะขนาดใหญ่ต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดระบบ เก็บขยะแบบแยกประเภท โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีแหล่งกำเนิดเริ่มแยกขยะอยู่แล้ว จัดระบบทั้ง drop-off และ pick-up หรือ curbside collection รวมทั้งการจัดกิจกรรมตลาดนัดขยะรีไซเคิลอย่างสม่ำเสมอ 

2. กำหนดให้ อปท. ร่วมกับภาคเอกชนสนับสนุนให้ร้านรับซื้อของเก่ามีการจัดการสภาพร้านหรือแหล่งรับซื้อที่ดี ส่งเสริมให้เข้าระบบ application ที่เชื่อมต่อระหว่างแหล่งกำเนิดกับร้านรับซื้อของเก่าในพื้นที่ (pick-up service)  อปท. มีมาตรการส่งเสริมให้ร้านรับซื้อของเก่าให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมจัดกิจกรรมตลาดนัด ขยะรีไซเคิลและธนาคารขยะในพื้นที่ร่วมกับ อปท. โดยมีการจัดสรรรายได้ที่เหมาะสม    

3. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกกฎหมายพื้นฐานเพื่อสร้างสังคมรีไซเคิลและระบบ เศรษฐกิจหมุนเวียน กำหนดบทบาทหน้าที่ของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวง อุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น และนำหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) มาใช้เพื่อกำหนดความรับผิดชอบของผู้ผลิต ผู้จัด จำหน่าย อปท. และผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์ กำหนด เป้าหมายการเก็บรวบรวมที่ชัดเจนในแต่ละปี เพื่อลดความจำเป็นที่ต้องนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว