เปิดสัญญา (ขุมทรัพย์) ขยะข้ามเกาะ

เป็นครั้งแรกของไทย และอาจไม่กี่ครั้งในโลกที่เกิดเหตุเรือขนขยะล่มกลางทะเล จนทำให้ก้อนขยะน้ำหนักรวม 90,000 กิโลกรัม จมอยู่ใต้น้ำ

ก่อนหน้านี้ The Active นำเสนอบทสัมภาษณ์ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ที่ประเมินว่า อุบัติเหตุครั้งนี้อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ทะเล ชายฝั่ง และสัตว์ทะเล โดยเฉพาะลูกเต่าทะเลจากเกาะสมุยกว่า 500 ตัวที่เพิ่งลืมตาดูโลก

ภาพความสวยงามชายหาดด้านตะวันตกของเกาะแตน
ภาพ | Thon Thamrongnawasawat

ผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์ แผนในการสำรวจและเก็บกู้ขยะใต้ทะเลลึก 18 เมตร เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น พร้อมข้อมูลยืนยันจากจังหวัดว่า ขยะที่ขนมากับรถบรรทุก 3 คัน มีทั้งหมด 120 ก้อน เฉลี่ยก้อนละ  700-800  กิโลกรัม น้ำหนักรวม อยู่ที่ประมาณ 90,000 กิโลกรัม หรือ 90 ตัน 

เปิดสัญญาจ้างขนขยะข้ามทะเล : งวดแรกขยะก็จมแล้ว

นอกจากต้องจับตาดูการเก็บกู้ขยะอย่างใกล้ชิด อีกคำถามที่ต้องรีบหาคำตอบเช่นกัน คือ ขยะ 90 ตันนี้มาจากไหน เมื่อไล่เรียงลำดับความพยายามจัดการขยะบนเกาะสมุยที่มีทั้งขยะเก่าจำนวน 3 แสนตัน และขยะใหม่ที่เกิดขึ้นวันละประมาณ 200 ตันต่อวัน

พบว่าขยะที่จมทะเลอยู่ขณะนี้ มีที่มาจากสัญญาว่าจ้างของเทศบาลนครเกาะสมุย ว่าจ้างให้กลุ่มบริษัทค้าร่วมปัญจะ ลัคกี้ คลีน เอ็นไวรอนเมนทอล ขน “ขยะเก่า” จำนวน 1 แสนตัน (จากทั้งหมด 3 แสนตัน) ไปไว้บนฝั่งที่ ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ในพื้นที่ทิ้งขยะ 149 ไร่ ของ บริษัท ลัคกี้ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด

โดยเพิ่งลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา ทำการขนด้วยวิธีการ “อัดขยะมูลฝอยเก่าตกค้างให้เป็นก้อนหรือแท่ง (Waste Baling) และการห่อมัดมูลฝอยเก่าตกค้าง (Wrapping) แล้วขนขยะออกจากสถานที่กำจัดมูลฝอยของเทศบาลนครเกาะสมุย” ซึ่งมีรายงานว่า ขยะที่จมทะเลนี้ “เป็นการขนงวดแรก” ตามสัญญานี้ ที่มีทั้งหมด 20 งวด โดยงวดสุดท้ายสิ้นสุดภายในวันที่ 9 มี.ค. 2565

ถ้ายึดตามสัญญาข้างต้น หมายความว่าขยะที่จมทะเลอยู่ขณะนี้ ก็คือขยะเก่าที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2551-2560 แต่ต่อมามีการเผยแพร่ภาพก้อนขยะบริเวณชายหาดด้านตะวันตกของเกาะแตน ขยะก้อนนี้ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก แต่ที่น่าสังเกต ก็คือ มีหน้ากากอนามัยรวมอยู่ในขยะก้อนนี้ด้วย ทำให้มีข้อสงสัยว่า ขยะที่ขนมากับเรือที่ล่มนั้น เป็นขยะเก่า หรือ ขยะใหม่ กันแน่


ในด้านความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้สัญญาจะระบุความรับผิดของผู้รับจ้างไว้ว่า “จะต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ ความเสียหาย หรือภยันตรายใด ๆ อันเกิดจากการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง” ซึ่งถือเป็นการยืนยันได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทะเลสมุยครั้งนี้มีผู้ที่ต้องรับผิดชอบแน่นอน

แต่แค่เพียงงวดแรก ขยะก็จมลงทะเลก่อนไปถึงปลายทางแล้ว ซึ่งหากข้อมูลปริมาณขยะที่จมลงมีทั้งหมด 90 ตันนี้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ย่อมมีคำถามว่า แล้วขยะเก่าอีกจำนวน 99,910 ตัน ตามสัญญาที่ยังรอขนอยู่บนเกาะสมุย จะมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเหมือนเช่นครั้งนี้หรือไม่

ก้อนขยะจากเรือล่มที่พบลอยในทะเล

ทำไมต้องขนขยะข้ามทะเล

การขนขยะออกไปกำจัดนอกพื้นที่เกาะสมุย เป็นวิธีการหนึ่งที่เทศบาลนครเกาะสมุยนำมาใช้หลังจากพิจารณาทางเลือกจาก 4 แนวทาง ด้วยเหตุผลว่า “เป็นแนวทางเดียวกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีและกรมควบคุมมลพิษได้แนะนำในการอัดมูลฝอยให้เป็นก้อนหรือแท่ง (Waste Baling) และห่อมัด (Wraping) เป็นวิธีที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยที่สุด” โดยเทศบาลนครเกาะสมุยได้รับคำยืนยันจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ว่า แนวทางนี้ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนดำเนินโครงการ

นอกจากนี้ แนวทางนี้ยังได้รับความเห็นชอบจากเวทีประชาคมประชาชนในพื้นที่ โดยพื้นที่รองรับขยะจากเทศบาลนครเกาะสมุยอยู่ที่เทศบาล ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่กำจัดขยะของบริษัท ลัคกี้ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด หนึ่งในสามบริษัทย่อยในเครือของกิจการค้าร่วมปัญจะ ลัคกี้ คลีน เอ็นไวรอนเมนทอล ส่วนอีกบริษัท ได้แก่ บริษัท ปัญจะ ไลน์ จำกัด และบริษัท ลัคกี้ เอ็นไวรอนเมนทอล โซลูชั่น จำกัด

บริษัท ปัญจะ ไลน์ จำกัด เน้นไปที่การเดินเรือทั้งในและต่างประเทศ ส่วนอีก 2 บริษัท เน้นธุรกิจบำบัดและกำจัดของเสีย โดยเฉพาะบริษัท ลัคกี้ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด มีทุนจดทะเบียนสูงสุด 176 ล้านบาท มีนายอนันต์ สุวรรณปาล อดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการบริษัท

บริษัท ลัคกี้ คลีน  เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้เข้าไปเช่าที่ดิน 149 ไร่ในเขตพื้นที่เทศบาล ต.บ้านส้อง ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2558 เพื่อเดินหน้าระบบฝังกลบขยะและต้องการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ แต่เนื่องจากปริมาณขยะในพื้นที่และใกล้เคียงมีไม่เพียงพอ บริษัทฯ จึงตั้งใจประมูลงานขยะที่เกาะสมุยให้ได้ ซึ่งหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ชัด คือ กรรมการบริหารบริษัทได้กล่าวในที่ประชุมสภาเทศบาลตำบลบ้านส้อง เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2560  ว่า หากสามารถประมูลขยะตกค้างจากเกาะสมุยจำนวน 2 แสนตันในสัญญา 20 ปีได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ได้



โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน บริษัท ลัคกี้ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ และบริษัทในกิจการร่วมทุน ได้เข้าไปประมูลทั้งขยะเก่าที่ตกค้างและขยะใหม่บนเกาะสมุย จนถือสัญญาถึง 2 ฉบับ รวมมูลค่ากว่า 521.6 ล้านบาท โดยฉบับแรก วันที่ 27 ก.ย. 2561 เป็นสัญญาขนขยะใหม่จำนวน​ 2.4​ แสนตัน​ ตั้งแต่ปลายปี​ 2561-2565 ทั้งหมด​ 50​ ​งวด​ เป็นเงิน​ 368.4​ ล้านบาท โดยวิธีการขนจะอัดมูลฝอยให้เป็นก้อนและห่อมัดใส่ลงไปในถุงบิกแบ็ค และขนใส่เรือบาร์จ (Barge) ข้ามทะเลไปที่ฝั่ง

ส่วนฉบับที่สอง วันที่ 17 ก.ค. 2563 เป็นสัญญาขนขยะค้างเก่า​ 1​ แสนตัน​ (จาก​ 3​ แสนตัน)​ ระยะเวลา​ 600​ วัน​ ทั้งหมด​ 20​ งวด​ เป็นเงิน​ 153.2 ล้านบาท เริ่มสัญญางวดแรกเดือนสิงหาคม 2563 แต่มาเจออุบัติเหตุเรือเฟอร์รี่ล่มกลางทะเลเสียก่อน


แม้ว่า “การขนขยะข้ามทะเล” จะเป็นหนึ่งในความพยายามแก้ปัญหาขยะล้นเกาะของเทศบาลนครเกาะสมุยที่เป็นปัญหามาช้านาน แต่การแก้ปัญหาหนึ่งก็ไม่ควรกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ที่อาจมีความสูญเสียที่รุนแรงมากกว่า โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อความเปราะบางของระบบนิเวศ และความจำเป็นที่ต้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอันเป็น “ปัจจัย” สำคัญต่อการฟื้นตัวของ “เกาะสมุย” จากวิกฤตโควิด-19

Author

Alternative Text

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว