เปิดปากคำทนาย คดีชุมนุมการเมือง 2563 | กฤษฎางค์ นุตจรัส

การเร่งรัดดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ในนามแนวร่วมของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร 2563” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองร้อนแรงขึ้น

หลายฝ่ายประเมินว่า การจับกุมและดำเนินคดี กลับกลายเป็นเงื่อนไขให้มีผู้ชุมนุมเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในทุกครั้งที่แกนนำถูกจับ ขณะที่กลุ่มประชาชนที่เห็นต่าง ก็เริ่มมีการรวมตัวกันมากขึ้น เกิดเป็นความกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงจากการเผชิญหน้า

แม้มีคำยืนยันจากรัฐว่า การจับกุมและดำเนินคดีทั้งหมด เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำผิดขั้นตอนตามกระบวนการของกฎหมาย เช่น มีการแจ้งข้อหาทุกครั้งที่เข้าจับกุมแกนนำ ญาติหรือทนายความยังสามารถยื่นขอประกันตัวได้ หากศาลพิจารณาอนุมัติ และยังสามารถติดตามได้ว่าแกนนำถูกคุมขังไว้ที่ไหน

แต่ภาพที่ปรากฏว่าผู้ถูกจับกุมมีเพียงฝ่ายเดียว คือ กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น ขณะที่ในการกระทำเดียวกัน แต่อีกฝ่ายสามารถกระทำได้โดยไม่ถูกจับกุม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ากระบวนการทางกฎหมายที่เกิดขึ้นนั้น มีความถูกต้องและยุติธรรมจริงหรือไม่

The Active พูดคุยกับ “กฤษฎางค์ นุตจรัส” ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่กำลังให้ความช่วยเหลือด้านคดีแก่แกนนำเยาวชนหลายคนในขณะนี้ เพื่อรับฟังข้อมูลอีกด้านจากผู้ที่เห็นและเข้าไปร่วมในกระบวนการใช้กฎหมาย ในการจัดการกับความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะนี้

ทนายกฤษฎางค์ เริ่มต้นด้วยการยืนยันว่า แม้แกนนำจะถูกกล่าวหาด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ทั้งหมดมาจาก การเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมือง และการแสดงความคิดเห็นที่เยาวชนต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม โต้แย้งกับความไม่ถูกต้องทางการเมือง ซึ่งแตกต่างจากคดีทั่วไป ที่เป็นเรื่องของการทะเลาะกันระหว่างเอกชนกับเอกชนหรือคดีอาชญากรรม

“พอเป็นคดีทางการเมืองที่เป็นการต่อสู้กับอำนาจรัฐ กระบวนการยุติธรรมมาทีหลังอยู่แล้ว เพราะตำรวจจะจับก่อน ถึงจะไปขึ้นศาลได้ ถึงแม้จะมีคดีเยอะ แต่เชื่อไหมว่าไม่มีคดีไหนถึงศาลเลย เป็นแค่ขั้นการออกหมายจับ การฝากขัง”

เขาระบุด้วยว่า เกือบทั้งหมดที่ทำคดีนี้ พบว่าตำรวจจะใช้คำว่า “นายสั่ง” ยกตัวอย่างคดีที่หนักมาก เช่น ขับรถชนคนตายโดยลูกชายมหาเศรษฐี ซึ่งสังคมก็รู้ว่าปล่อยปละละเลยช่วยเหลือกัน ตามผลสอบของ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ที่เผยแพร่ออกมาแล้ว

“แต่พอนักศึกษาอย่างเพนกวินไปผูกผ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ถูกดำเนินคดีทันที นี่เป็นรูปธรรมที่เห็น เวลาไปคุยกับตำรวจว่าทำไมเรื่องอย่างนี้ไม่ถอยบ้าง ให้คนแสดงเสรีภาพบ้าง ตำรวจก็จะบอกว่า นายสั่ง ซึ่งนายคือใคร ก็ไม่รู้”

ทนายกฤษฎางค์ ยืนยันว่า ทุกอย่างในการทำคดีให้กับนักเคลื่อนไหวหรือเยาวชน มีอุปสรรคทั้งหมด เริ่มตั้งแต่หากเป็นคดีทั่วไปก็จะออกหมายเรียกก่อน แต่ถ้าเป็นคดีพวกนี้ตำรวจก็จะขอออกหมายจับเลย ซึ่งศาลก็มักจะออกให้ แล้วตำรวจก็ไปจับโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว ทั้ง ๆ ที่โดยหลักกฎหมายแล้ว ไม่ว่าโทษจะสูงหรือต่ำก็ตาม แต่ถ้าผู้ต้องหาเป็นเยาวชน หรือเป็นคนมีที่อยู่ที่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีอิทธิพล ก็ต้องออกหมายเรียกมาก่อน

“ในอดีตตำรวจจับได้เองโดยไม่ต้องขอหมาย แต่ปัจจุบันหมายจับต้องออกโดยศาล เพราะต้องการให้ศาลกลั่นกรองก่อน จึงให้ตำรวจออกหมายเรียกก่อน แต่กลายเป็นว่า ทุกคดีการเมืองตอนนี้ โดนจับก่อน เด็กแค่ไปเดินขบวน ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โต อุปสรรคมันมีตั้งแต่ตอนนี้”

นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 83 และ 84 ยังกำหนดด้วยว่า ตำรวจจะจับได้ต้องมีหมาย ยกเว้นเป็นความผิดซึ่งหน้า แต่ความผิดพวกนี้ ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า ชุมนุมไปแล้ว 10 วัน ค่อยไปจับ และเมื่อจับแล้วจะต้องเอาตัวไว้ ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งนั้น และต้องแจ้งให้เด็กสามารถติดต่อญาติได้ แต่คดีนี้จับแล้วก็เอาตัวไปไว้ที่ ตชด.1 (กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1) เลย

“เมื่อจับแล้วก็ต้องพาเขาไปที่ทำการพนักงานสอบสวน ต้องส่ง สน.สำราญราษฎร์ หรือ สน.ชนะสงคราม แต่นี่ส่งไป ตชด.1 เลย และถ้ายังไม่เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็อาจพาตัวไปค่ายทหารเลย ซึ่งทนายเข้าไปตามไม่ได้ กว่าจะไปเจอลูกความได้ เขาโดนอะไรไปแล้วกี่ครั้งก็ไม่รู้”

ยังมีปัญหาในเรื่องการค้านประกัน ทนายกฤษฎางค์ เล่าว่า เมื่อร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวก็จะถูกคัดค้าน อ้างเหตุผลว่ากลัวหนีหรือมีการใช้อิทธิพล ขณะที่คดีฆ่าคนตายบางคดี หรือคดีเช็คที่มีโทษสูงกว่า ยังให้ประกันได้

เมื่อถามว่า การดำเนินการที่แตกต่างกันมาจากสาเหตุอะไร ทนายกฤษฎางค์ บอกว่า เพราะคนเหล่านี้กำลังต่อสู้กับอำนาจรัฐ แม้รัฐจะพยายามบอกว่าให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ให้เสรีภาพในการเคลื่อนไหว แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐกำหนดเท่านั้น ซึ่งจะกำหนดอะไรมาก็ได้ เช่น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ เนื่องจากประเทศไทยใช้กฎหมาย ระบบกล่าวหา ทำให้ตำรวจมีอำนาจมากในการดำเนินคดีอาญา

“เพราะเด็กพวกนี้ไปต่อสู้กับอำนาจรัฐ เขาไม่ได้ต่อสู้กับแค่ประยุทธ์ แต่เขาต้องการเปลี่ยนแปลงระบบ เขาเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ระบบกฎหมายมันชัดเจนกว่านี้ ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจริง ไม่ใช่มีแต่เปลือก เขาก็ต้องการตรงนี้”

ทนายกฤษฎางค์ ยืนยันว่า เขาเห็นความบริสุทธิ์ใจของเด็กและเยาวชนที่ออกมาเรียกร้อง แต่เมื่อต้องมาเจอปัญหาจากการใช้กฎหมายจับกุมพวกเขา  ก็เหมือนกับที่ ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยพูดไว้ตอนเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ว่า เป็นที่น่าเสียใจที่เด็กต้องโดนแบบนี้

“ถ้าเด็กอยากอยู่แบบเรียนจบมีงานทำ มีครอบครัว เขาก็ต้องทิ้งอุดมการณ์ไป แล้วมีชีวิตอยู่อย่างคนธรรมดา แต่ออกมาเรียกร้อง ก็ต้องอยู่ในคุก หรือถูกกลั่นแกล้งจนเสียอนาคต ถ้าเขายังต่อสู้ต่อไป เด็กพวกนี้เรียนเก่ง อย่างเพนกวิน ถ้าไม่ถูกจับเสียก่อน ก็จบแน่ และได้เกียรตินิยมด้วย แต่ก็ต้องแลก”

ทนายกฤษฎางค์ เชื่อว่าพลังใหม่ที่มีอนาคตกำลังเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะสังคมมาถึงยุคที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แม้ไม่มี รุ้ง เพนกวิน หรืออานนท์ คนก็ต้องคิดแบบนี้ ถึงไม่มีคนพวกนี้ สังคมก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย

“เดาไม่ถูกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ สงบ เจรจาได้ หรือนองเลือด แต่คิดว่าพลังของพวกเขาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ต้องเดินต่อไป ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น คนที่รับผิดชอบคือรัฐ ศาล ตำรวจ อัยการ หรือองค์กรของรัฐทั้งหมดที่ร่วมกันกระหน่ำเด็ก ถ้าไม่แก้ไข ก็ต้องรับผิดชอบด้วยกัน”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมรวบสถิติการจับกุม-ดำเนินคดีผู้ชุมนุมคณะราษฎร 2563 ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยอัพเดทล่าสุดจนถึง 29 ต.ค. พบว่า มีผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมแล้วอย่างน้อย 90 คน มีทั้ง นักศึกษา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักกิจกรรมทางสังคม และอดีตนักการเมือง แม้ในจำนวนนี้จะทยอยได้รับการปล่อยตัว ซึ่งพบว่ามี 6 คน ที่ถูกจับกุมไปโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา ขณะเดียวกันก็ยังมีอีก 8 คน ที่ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ

หากจะจำแนกตามเหตุการณ์ เช่น กรณีการชุมนุมวันที่ 13 ต.ค. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถูกจับกุม 23 คน ทั้งหมดถูกปล่อยตัวแล้ว เหตุการณ์การชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 14 ต.ค. ถูกจับกุมไป 27 คน ถูกปล่อยตัวแล้ว 24 คน มีเพียง 3 คน ยังอยู่ในเรือนจำ

วันที่ 16 ต.ค. จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน ถูกจับกุม 12 คน ในจำนวนนี้ มี 2 คน ที่ยังไม่ถูกปล่อยตัว วันที่ 17 ต.ค. ถูกจับกุมอีก 9 คน ถูกปล่อยตัวแล้ว 8 คน มี 1 คน ที่ยังอยู่ในเรือนจำ และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ถูกจับไปอีก 2 คน ปล่อยตัว 1 คน อีกคนยังอยู่ในเรือนจำ

ส่วนแกนนำและผู้ชุมนุม 4 คน ที่จะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 30 ต.ค. เนื่องจากศาลอาญา ยกคำร้องของพนักงานสอบสวนขอฝากขังครั้งที่ 3 ในคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภานุพงศ์ จาดนอก และ “หมอลำแบงค์” ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม

โดยสรุป ตั้งแต่การชุมนุมคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 13 ต.ค. จนถึง 30 ต.ค. หากมีการปล่อยตัว 4 แกนนำ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จะมีผู้ชุมนุมที่ยังอยู่ในเรือนจำ รวม 4 คน คือ 1. อานนท์ นำภา 2. เอกชัย หงส์กังวาน 3. สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ 4. สุรนาถ แป้นประเสริฐ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active