รสชาติมัธยมปลายของ ‘สมชาย พงษ์ชิน’

: ชีวิตแห้ง ๆ ในโรงเรียนออนไลน์

สมชาย’ มาถึงหน้าร้านขายของชำย่านซอย 7 ตลาดคลองเตยในเช้าวันหนึ่ง หลังคุยโทรศัพท์กันแล้ว ไม่มีวี่แววว่าเราจะเข้าไปหาที่บ้าน ที่อยู่ระหว่างซอย 2 กับซอย 5 ได้เอง 

เขาสวมเสื้อยืด กางเกงขาสั้น ปิดหน้ากากสองชั้นป้องกันตนเองมาอย่างดี แถบนี้มีร้านรวงมากมายและกว้างขวางพอให้ขาจรอย่างเราหลงทางเอาง่าย ๆ

แล้วสมชายก็นำทางถึงจุดหมายที่ไม่ทันเหนื่อย แต่ถ้าให้เดินมาเองก็คงไม่ถึง

ตึกแถว 3 ชั้น ผนังติดกันในซอยเล็ก ๆ ด้านหนึ่งมีโรงน้ำแข็ง รถวิ่งเข้าออกตลอด อีกด้านเข้าใจว่าเป็นร้านค้าเพราะวางน้ำดื่มเป็นแพ็ก ๆ อยู่หน้าบ้านที่ปิดเกือบมิด 

“บ้านของผมอยู่ข้างในครับ” สมชายเริ่มบทสนทนา พลางรูดประตูเหล็กเปิดบ้านชั้นล่างที่เป็นร้านอาหารตามสั่ง ซึ่งเขาบอกว่าจะเปิดตอนเที่ยง

“บ้านผมเป็นบ้านเช่าอยู่กัน 6-7 คน ย้ายเข้าย้ายออกตลอดเวลา” เดินตามเข้าไปข้างใน ขึ้นบันไดไม่ถึง 10 ก้าว ก็ถึงพื้นที่ส่วนตัวของสมชาย เบื้องหน้าของเราเห็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดย่อมที่คนส่วนสูง 164 ต้องก้มหลบฝ้าเพดาน 

ที่นี่เป็นทั้งห้องนอน ห้องครัว และห้องรับแขก แล้วแต่กิจวัตร 

“ผมอยู่กับคุณแม่ 2 คน เช่าเดือนละ 2,500 บาท ส่วนคนอื่น ๆ เช่าอยู่ห้องข้างบน คนละครอบครัวครับ” ตอนนี้สมชายอยู่คนเดียวเพราะแม่ไปทำงานตั้งแต่รุ่งสาง เราทำความรู้จักแม่ของเขาผ่านการบอกเล่าของลูกชาย ว่าเธอเป็นพนักงานดูแลสวนสาธารณะที่มักใช้วันหยุดไปรับจ้างอย่างอื่นหาเงินส่งลูกเรียน

หากย้อนเวลาไปในช่วงที่โรงเรียนเปิดได้ รสชาติมัธยมปลายของ สมชาย พงษ์ชิน ในจินตนาการ คงเต็มไปด้วยความสนุกขั้นพื้นฐานที่เด็กวัยรุ่นมาดผู้นำได้เต็มที่กับทั้งวิชาการและกิจกรรม มีรอยยิ้มเป็นระยะไม่ต่างกับเพื่อน แต่ความเปลี่ยนแปลงก็ทำให้ชีวิตวัยนี้ต้องหุบยิ้มอยู่เรื่อย เมื่อรูปสัมผัสการเรียนรสชาติใหม่ มีเรื่องราวมากมายที่อยากให้ระบบการศึกษาได้รับรู้และแก้ไขในบรรทัดถัดไป


จืดสนิท ชีวิตการเรียนรู้


“ผมเป็นนักเรียนเกือบทั้งชีวิต ก่อนจบ ม.6 ก็อยากมีความทรงจำก่อนสลัดคราบนักเรียนไปเป็นนักศึกษา พอมีโควิดเข้ามาทุกอย่างที่เราแพลนไว้หายวับไปกับตาเลยครับ”

เกิดมาชีวิตหนึ่งมีโอกาสได้เป็นนักเรียน ก็อยากมีภาพจำไปเล่าต่อว่าเคยทำอะไรมาบ้างในช่วงวัยทีน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสมชาย ตื่นนอนเฉียด 8.30 น. ขยับตัวประมาณ 2 ก้าวก็ถึงโต๊ะเรียนที่วางขาตั้งโทรศัพท์ ใช้เป็นยานพาหนะเดินทางเข้าโรงเรียนออนไลน์ เช็กชื่อวิชาแรกในคาบโฮมรูม

ปีก่อน การไปโรงเรียนของเขา ตื่นนอนตอน 7.30 น. เพื่อให้ถึงโรงเรียนก่อน 8.00 น. ค่าเดินทางราววันละร้อยบาทที่ไม่ได้ใช้ช่วงนี้ ถูกนำมาเป็นค่า Internet wifi เดือนละ 800 กว่าบาท ในทางเศรษฐศาสตร์ก็ดูคุ้มค่า แต่ว่าเขารู้สึกขาดทุนในทางสังคม

“คุ้มบ้าง ไม่คุ้มบ้างครับ ตั้งแต่ขึ้น ม. 6 มา เรียน Full online คืออุดอู้มาก เราตื่นมาใช้ชีวิตวนลูปแบบนี้เกือบ 4 เดือน ทำอะไรซ้ำ ๆ ก็ไม่ค่อยโอเค เราอยากออกไปทำอะไรใหม่ ๆ แต่ไม่สามารถไปที่ไหนได้ ก็เหมือนจะมีภาวะ Ignore กลายเป็นเหมือนคนเบื่อโลกเลยครับ”

วันที่เราพบกันอยู่ในช่วงปลายเทอมของสมชาย คาบเรียนที่สองของเขาเริ่มขึ้นตอน 10.00 น. จริง ๆ แล้วเขามีเรียนภาษาไทยคาบสองตอน 9.10 น. แต่ครูไม่สอน คาบชุมนุมวิชาถัดไปก็เหมือนกัน เช้านี้เลยได้เรียนคณิตศาสตร์วิชาเดียว เราแอบได้ยินครูของเขายิงคำถามชวนเด็ก ๆ มีส่วนร่วม สมชายตอบได้เกือบทุกคำถามทีเดียว

“ผมเรียนออนไลน์ครั้งแรก ตอน ม.5 เทอม 1 ตอนนั้นเป็นการเริ่มเรียนออนไลน์ช่วงแรก ๆ ทุกอย่างเต็มเวลา บางทีก็เกินเวลา ทั้งครูและนักเรียนยังไม่คุ้นเคยกับระบบ พอผมขึ้น ม.6 เหมือนมีนโยบายจากผู้บริหาร ครูเองก็เริ่มเข้ากับระบบได้ สมมติต้องสอนคาบละ 50 นาที ก็เหลือ 10-20 นาที หรือครึ่งชั่วโมงก็เรียนเสร็จแล้วครับ เราก็โอเคขึ้น มีเวลาที่จะไปเคลียร์ชิ้นงานในแต่ละคาบ”

แต่ห้องเรียนที่เปิดให้เข้าผ่านสมาร์ตโฟนก็เหมือนรถยนต์ที่มีเสื่อมสภาพ ใช้งานหนัก ๆ ก็หยุดพักงอแงข้างทาง เดิมทีสมาร์ตโฟนของสมชายก็เหมือนรถเก่า รับสายโทรออกไม่ค่อยสู้ดี มีเรียนออนไลน์ทุกวันแบบนี้ เขาเล่านาทีระทึกว่า 3 สัปดาห์ที่แล้วเรียนอยู่ดี ๆ จู่ ๆ เครื่องก็ร้อนฉ่าพังต่อหน้าต่อตา ทำเอาเกือบไปไม่เป็น

“ตอนนี้ผมยืมโทรศัพท์เครื่องเก่าของเพื่อนมาใช้ก่อน ก็อยากเข้าถึงการเรียนที่มีประสิทธิภาพนะครับ อุปกรณ์ไม่ดี ก็ทำทุกอย่างรวนไปหมดเลย อย่างบางวิชาสั่งงานพวกกราฟิกตัดต่อ อุปกรณ์ผมไม่เอื้ออำนวยให้ทำชิ้นงานขนาดนั้นได้ ก็ตกหล่นไปบ้าง ไม่ได้ส่ง หรือส่งช้า ส่วนตัวผมอาจจะชิน แต่คงไม่มีใครอยากชินกับปัญหาที่เกิดขึ้นทุกคนต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาของตัวเอง”

เรียนจบภาคเช้าราว 11.00 น. สมชายได้ขยับร่างกายเพิ่มขึ้นจากการเดินออกมาหาอาหารมื้อแรก ชีวิตพักเที่ยงเริ่มมีหลากรส หลังรัฐบาลอนุญาตให้นั่งที่ร้าน วันนี้ไม่ไปไหนไกล ข้าวกะเพราตามสั่งที่บ้านนี่แหละ เพราะเดี๋ยวต้องเรียนภาคบ่ายประมาณเที่ยงครึ่งจนถึงบ่ายสาม แล้ววันพรุ่งนี้ก็เริ่มเรียนใหม่


ขมปลาย เสียดายโอกาสพัฒนาทักษะ


ชีวิตนักเรียนศิลป์สังคมไม่ได้ทำกิจกรรมก็เหมือนชีวิตขาดรสหวาน อยากหยิบเสื้อแจ็กเก็ตที่เขียนข้างหลังสภานักเรียนมาใช้ให้คุ้ม แต่จะใส่อยู่บ้านก็ร้อนเกินไป วางเอาไว้ที่ราวผ้าหละดีแล้ว

“ปีนี้ผมเป็นประธานสภานักเรียน ถ้าไปโรงเรียนได้ ก็คงจะทำกิจกรรมที่อยากทำ ตอนหาเสียงผมมีนโยบายจะทำให้เพื่อนพี่น้องเราได้รับการศึกษาที่อย่างน้อย ๆ ควรมีความสุขและความสนุกเป็นอารมณ์แบบ Happiness school ร่วมกันประมาณนั้น จะบอกว่าโควิดตัดโอกาสแทบทุกอย่างเลยครับ”

โรงเรียนของสมชายยังไม่มีใครตอบได้ว่านักเรียนอย่างพวกเขาจะได้กลับไปเจอกันเมื่อไร หรือชีวิตช่วงปีสุดท้ายก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยจะมีหน้าจอเป็นความทรงจำ วันนี้ยังพอมีเวลาให้ตั้งความหวังว่ากิจกรรมปัจฉิมนิเทศจะไม่หลุดไปคล้ายว่าตลอดหนึ่งปีไม่ได้ทำอะไรกันเลย “ในครั้งสุดท้ายของการเป็นนักเรียน เราก็อยากจะมีความทรงจำร่วมกัน แต่ด้วยเราเรียนออนไลน์ ความสุขครั้งหนึ่งครั้งสุดท้ายของชีวิตนักเรียนคนหนึ่งคือหายไปเลยครับ ทุกวันนี้มี LINE Chat Messenger แค่นี้จริง  เวลาอยากคุยกับเพื่อน

เมื่อรูปแบบการเรียนเปลี่ยนผัน ความสำคัญของชุดนักเรียนเริ่มลด สมชายแขวนมันไว้ใกล้เสื้ออีกตัวที่เราคุ้นตาว่าเป็นเครื่องแบบร้านสะดวกซื้อ บทสนทนาใหม่จึงเริ่มขึ้น

“อย่างที่เล่าให้ฟังว่าโทรศัพท์ที่ใช้อยู่ตอนนี้เป็นของเพื่อน ผมเลยต้องหางาน Part Time เสาร์อาทิตย์เก็บเงินซื้อเครื่องใหม่แล้วเอาเครื่องนี้ไปคืนเพื่อน ได้ชั่วโมงละ 40 บาท เพิ่งเริ่มไปทำอาทิตย์ก่อน”

ชีวิตสมชายไม่ใช่เพิ่งเคยลำบาก ช่วงนี้คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเกิดขึ้นเมื่อสามปีก่อน ตอนนั้นเขาเรียนอยู่อีกที่เป็นเด็ก ม.5 ครั้งแรก แม่มีเหตุเปลี่ยนที่ทำงาน เงินขาดมือ โรงเรียนก็ไกลบ้าน ไหนจะค่าเทอมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แม้แต่ค่าขนมไปโรงเรียนก็ยังไม่มี ลูกชายรู้ตัวว่าต้องช่วยแม่ประหยัดและคิดหาเงินเข้าบ้าน

“ผมลาออกจากโรงเรียนมาทำงานร้านสะดวกซื้อเหมือนกันนี่แหละ แต่คนละสาขา ออกมาทำงานได้สักพักเหมือนเราหลงระเริงติดใจว่าทำงานหาเงินได้แล้วนะ ไม่ต้องเรียนก็ได้ ออกมายาวเลยประมาณ 7-8 เดือน แต่สุดท้ายเราก็คิดได้จากคำพูดแม่”


หวานปะแล่ม การเรียนเปลี่ยนอนาคต


“ถึงอย่างไร สุดท้ายแล้วคนเราก็ต้องได้รับการศึกษานะ” คำสอนของแม่พูดย้ำซ้ำ ๆ ให้สมชายลาออกจากงานกลับมาเรียนได้แล้ว หลังวิกฤตของแม่เริ่มคลี่คลาย ผนวกกับความคิดตัวเองที่เริ่มสัมผัสได้ว่าถ้าขืนทำงานด้วยวุฒิ ม.3 ต่อไป ความสามารถที่พอมีคงจอดนิ่งแน่ กลับตัวไปสมัครเข้าใหม่คงไม่สาย เขาเริ่มเรียน ม.4 ใหม่ที่โรงเรียนใหม่ แม้ทำใจยากตอนแรก แต่ความเป็นพี่ก็พาเพื่อน ๆ เติบโตมาด้วยกันถึง ม.6 แล้ว วันนี้อายุ 20 ปี ก็ยังสนุกดีเหมือนเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน

“แม่ย้ำมาตลอดเลยว่า อย่างไรก็ต้องมาเรียนนะ เพราะแม่ผมไม่ได้รับการศึกษาเลย ที่บ้านไม่เอื้ออำนวย แม่จะย้ำกับผมตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าต้องได้รับการศึกษานะ อย่างน้อย ๆ เรียนไปก่อนให้ได้รับความรู้ก็ประกอบอาชีพได้เลี้ยงตัวเองได้ ขอให้เรียนจบแค่นั้นพอ แม่จะส่งเสียทุกอย่างขอให้เรียนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ความฝันของแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นเหมือนพลังชุบชูใจให้ลูกชายมีหลังพิงด้านการศึกษา ตอน ม.4 เรียนได้เกรดเฉลี่ย 2 กว่า ๆ ผ่านมาเพิ่มเป็น 3.8 ให้แม่หัวใจพองโต วันนี้ลูกชายของเธอตัดสินใจจะไปคว้าปริญญาใบแรกในสายทางนักพัฒนาการศึกษา เราถามเขาว่าเลือกจากอะไร ได้เหตุผลคาใจคือ 80% มาจากความพร้อมทางการเงิน ก่อนความรู้ความสามารถและความชื่นชอบมาเป็นเกณฑ์คัดเลือกคณะเรียน

“ก็ดูจากความเหมาะสมครับ ถึงผมจะรู้สึกว่าไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไร อย่างที่ผมบอกใครต่อใครว่าทุกคนควรได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาและการสนับสนุนเต็มที่ แต่ในความจริงแม้คุณมีความสามารถคุณก็ต้องไปดิ้นรนขวนขวายเอาเอง ผมรู้สึกว่ามันไม่ Make sense เท่าไร”

เราเห็นสมชายเตรียมตัวเรียนต่อในระหว่างที่หลายสิ่งไม่ค่อยเป็นใจ นักกิจกรรมก็ยังไปต่อไม่ได้ในขณะที่คณะซึ่งจะเลือกสมัครเรียนต้องใช้ความเป็นตัวตนและผลงานไปแสดง เขารู้สึกว่าศักยภาพของตนเองถูกการระบาดของโควิดกัดกิน และความฝันก็คล้ายจะเป็นเหมือนกัน


กลมกล่อม ระบบการศึกษาที่วาดหวัง


เราเองก็เป็นอีกคนที่อยากเปลี่ยนการศึกษาให้ดีขึ้น “ผมรู้สึกว่าการศึกษายังสำคัญ แต่ถ้าเลือกได้ผมคงไม่อยู่ในระบบการศึกษาไทย” ไม่ใช่สมชายคนแรกที่พูดว่านักเรียนของเราถูกตีกรอบให้อยู่ในสายพานการผลิตเดียวกัน เขาเพียงแค่อยากเห็นผู้นำสักคนสนับสนุนความต้องการของผู้เรียนที่แตกต่างบนสนุกและความสุขขั้นพื้นฐานที่เด็กพึงมี

“สำหรับผมจุดที่ควรแก้ไขในตอนนี้คือใส่ใจความสุขและความสนุกของนักเรียน ตอนนี้เราเรียนออนไลน์ ความสุขและความสนุกหายไปเลย บางคนรู้สึกเบื่อกับระบบการศึกษาไปแล้ว ผมรู้สึกว่าระบบควรตอบโจทย์ให้นักเรียนตรงที่ว่าความสุขและความสนุกของการเรียนต้องกลับมา ทำอย่างไรก็ได้ให้นักเรียนรู้สึกว่าการเรียนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน เพราะตอนนี้เพื่อนผมหลายคนเลือกที่จะไม่มีเรียนต่อเพราะรู้สึกว่าเรียนไปก็เท่านั้น”

ไม่ว่าระบบการศึกษาไทยจะตกอยู่ในสถานการณ์ปกติหรือผิดปกติ ใจบันดาลแรงก็คงให้พลังนำแรงบันดาลใจไม่ต่างกัน เราหวังว่าระบบการศึกษาไทยจะสู้ไปกับผู้เรียน ขอบคุณสมชายที่สู้มาถึงวันนี้ นายทำให้เรามีเรื่องมาเล่าให้สังคมฟังเยอะเลย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

ณัฐพล พลารชุน