Decent Work : ฝันถึงงานที่มีคุณค่า ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

World Economic Forum ชี้ว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา ราว 1 ใน 3 ของงานทั้งหมดในโลกถูกกดดันให้ปรับตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการมาของนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI)

งานราว 75 ล้านตำแหน่ง กำลังถูกลดความสำคัญลง และมีงานอีกกว่า 133 ล้านตำแหน่ง กำลังเกิดขึ้นใหม่ กลายเป็นปรากฏการณ์สะเทือนโลก สะเทือนขวัญแรงงานอยู่ไม่น้อย จนอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วงานที่พวกเราทำอยู่จะถูกชิงไปหรือไม่ ? อย่าคิดไปเอง ลองไปถาม AI โดยตรงเลยดีกว่า

‘เทคโนโลยี’ จะไม่เข้ามาแทนงานของคุณ
มนุษย์ที่รู้เทคโนโลยีต่างหากที่จะเข้ามาแทนคุณ

คำตอบของ ‘ChatGPT’ Generative AI
File:Work (5383504229).jpg - Wikimedia Commons

สังคมที่เต็มไปด้วยงานไม่มั่นคง (Precarious work) คอยย้ำเตือนแรงงานอย่างเราเสมอว่า สังคมนี้มีตัวเลือกของงานที่ไม่มากนัก หมายความว่า แม้งานจะมีความอันตราย สวัสดิการน้อย ชั่วโมงการทำงานมาก แรงงานส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าออกจากงานที่ตัวเองทำอยู่ เพราะไม่มีทักษะสูงพอที่ตลาดงานจะเปิดรับ และถึงแม้จะอยากพัฒนาตัวเองแค่ไหน ก็ไม่มีเวลาปลีกตัวจากงานที่ทำ ไปหาสิ่งที่ชอบ หรืองานที่รักได้อย่างจริงจัง

แรงงานไทยไม่น้อยจึงต้องทนทำ “งานที่ไม่มีคุณค่า” (Indecent Work) เพราะขาดต้นทุนทักษะที่เพียงพอ

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อธิบายคำว่า ‘งานที่มีคุณค่า’ (Decent Work) ไว้ว่า ’งานที่สามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับชีวิตการทำงานของคนได้’ งานดังกล่าวต้องให้ค่าแรงที่เป็นธรรม, มอบโอกาสใหม่ ๆ, ประกันความมั่นคงแก่ตนและครอบครัว, ส่งเสริมเสรีภาพ, พัฒนาทักษะแรงงาน, ปฏิบัติอย่างเท่าเทียม, และช่วยให้เป็นที่ยอมรับจากสังคม โดยขั้นพื้นฐานสุด คืองานต้องมีความมั่นคงและให้รายได้อย่างเป็นธรรม

The Active ชวนผู้อ่านลองคิดใหม่ว่า แทนที่เราจะแข่งแย่งกันทำงานกับเทคโนโลยีอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำไมเราจึงไม่สร้างเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นผู้ช่วยในการทำงาน ? เพื่อให้แรงงานมี งาน และมี ชีวิต ที่ดีขึ้น

กล่าวคือ เราควรเอางานที่ซ้ำซาก อันตราย และยากลำบากให้เทคโนโลยี หรือหุ่นยนต์ช่วยเราทำ และอนุรักษ์งานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะของมนุษย์ เช่น การสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ขั้นสูง การรับรู้ความรู้สึก ฯลฯ ซึ่งเป็นแก่นทักษะที่มีแค่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้

แต่ปัญหาก็วนกลับมาเป็นงูกินหาง เพราะระบบการศึกษาไทยมุ่งเน้นให้แรงงานเก่งและทนต่อการทำงานที่ซ้ำซาก อันตราย และยากลำบาก มากกว่าการส่งเสริมทักษะหรือสมรรถนะที่สำคัญในยุคนี้

อย่าง ทักษะดิจิทัล, Soft Skill หรือ ทักษะการสื่อสาร จึงไม่แปลกที่เราจะกลัวว่าวันหนึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามาแทรกแซง แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของแรงงานที่เติบโตมาด้วยระบบการเรียนรู้เช่นนั้น เพราะนี่เป็นโจทย์สำคัญของภาครัฐว่าจะต้องออกแบบระบบการสร้างกำลังคนอย่างไร ให้วัยเรียนได้เรียนทักษะแห่งอนาคต และวัยแรงงานยังมีพื้นที่พัฒนา – ต่อยอดทักษะ (Upskill & Reskill) ให้เท่าทันโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกวัน

Good Jobs Economy : ให้ ‘งานที่ดี’ เป็นของมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์

ศัตรูของแรงงานไม่ใช่เทคโนโลยี ตรงกันข้าม เราควรนำเทคโนโลยีมาช่วยทุ่นแรง และลดงานที่ซ้ำซากและน่าเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้แรงงานเอา ‘แรง’ ไปพัฒนางานที่จำเป็นกว่า และมี ‘เวลา’ ยกระดับทักษะตัวเอง สู่ ‘งานที่ดี’ ที่มนุษย์ทุกคนควรเข้าถึงได้

จึงนำไปสู่แนวคิด ‘Good Jobs Economy’ ที่เชื่อว่าเราสามารถสร้างเศรษฐกิจที่เปี่ยมไปด้วย ‘งานที่ดี’ ได้ หรืองานที่ทำให้เรามีชีวิตแบบชนชั้นกลางได้อย่างมั่นคง และไม่ถอยหลังกลับไปยากจนได้โดยง่าย เมื่อแรงงานเข้าถึงงานที่ดีได้ นั่นหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ระดับรายได้ของประชาชนที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

“ระบบเศรษฐกิจจะไปข้างหน้าบนความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รุนแรง จะคิดแต่เรื่องเทคโนโลยีไม่ได้ วิธีคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจในอนาคต จะต้องคิดไปถึงตัวแรงงานและตลาดแรงงานด้วยเช่นกัน”

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ
แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI)

แต่แนวคิดนี้ย่อมเป็นไปได้ยาก หากการศึกษายังพัฒนาคนวัยเรียนอย่างไรทิศทาง และคนวัยแรงงานยังขาดแพลตฟอร์มในการยกระดับทักษะตัวเอง

นี่เป็นสิ่งที่ แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) ได้ให้ความเห็นเอาไว้ มองว่า เมื่อเทคโนโลยีเข้าแทนที่งานของมนุษย์อย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดภาวะ ‘ลำเอียงทางทักษะ’ เกิดขึ้นในตลาดงาน ซึ่งชนชั้นที่เผชิญหน้ากับความท้าทายนี้โดยตรงคือ ‘ชนชั้นกลาง’ ถ้าหากแรงงานเพิ่มทักษะได้ทัน แรงงานก็จะเข้าถึง ‘งานทักษะสูง’ แต่ถ้าพวกเขาตกขบวนเมื่อไร หรือปรับตัว-ปรับทักษะไม่ทัน งานที่เหลือไว้จะมีเพียง ‘งานทักษะต่ำ’ จนเกิดความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในตลาดงาน

ทำอย่างไรให้เกิดเศรษฐกิจที่เทคโนโลยีก้าวหน้าแต่ยังรักษา ‘งานที่ดี’ เอาไว้ได้ ? นี่คือ 3 แนวทางอย่างรวบรัดจาก แบ๊งค์ ที่ภาครัฐสามารถริเริ่มได้ทันที

  1. การศึกษาต้องสามารถผลิตแรงงานที่มีสมรรถนะสอดคล้องกับเทคโนโลยีแห่งอนาคตได้ ปรับหลักสูตร ต้องมองไปถึงเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้านี้

  2. การศึกษาในภาคบังคับอย่างเดียวไม่พอ รัฐจะต้องจัดให้มีกลไกปรับสมรรถนะ (Reskilling Platform) ให้กับแรงงานในตลาดแรงงาน 30 – 40 ล้านคน อย่างรวดเร็ว เพียงพอ และตอบอุปสงค์ตลาดงาน

  3. รัฐไทยเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ รัฐจะต้องมีการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความเป็นเจ้าของอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง และเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับแรงงาน

เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับแรงงาน : เพื่อแรงงานยิ้มได้ นายทุนได้งานดี

เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับแรงงาน (Labor-friendly tech) หมายความว่า เทคโนโลยีนั้นไม่ควรจะมาทำลายตำแหน่งงานอย่างรุนแรงหรือทำให้แรงงานถูกทดแทนไปในสัดส่วนที่รุนแรง แต่ควรจะมาส่งเสริมศักยภาพหรือขีดความสามารถของแรงงาน ให้มีศักยภาพมีผลิตภาพที่สูงขึ้น แรงงานยังไม่เสียงานไป เพียงแต่ตนเองต้องปรับสมรรถนะและต้องทำงานกับเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ผลิตภาพที่สูงขึ้น

อย่าง ประเทศญี่ปุ่น ก็คิดว่า แทนที่จะเอาหุ่นยนต์ทั้งตัวมาทำงานในการยกของหนัก ก็คิดสูท Exo-Skeleton Suit (ภาพด้านซ้าย) ที่ช่วยทำให้คน ๆ หนึ่งยกของหนักได้มากขึ้นหลายเท่าโดยที่ไม่กระทบกับเรื่องสุขภาพ ปัจจุบันถูกนำไปใช้ในหลายแวดวง เช่น ลำเลียงสัมภาระผู้โดยสาร, เครื่องทุ่นแรงด้านเกษตรกรรม, ตัวช่วยในการปีนเขากระตุ้นการท่องเที่ยว ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตสังคมผู้สูงวัย เป็นต้น

หรืออีกอย่างคือ เทคโนโลยีทำงานทางไกล ให้คนสั่งการอยู่ที่ศูนย์ แต่หุ่นยนต์อยู่หน้างาน เพื่อเคลื่อนย้ายหรือจัดการงานจากที่ไกล ๆ ได้ อย่างหุ่นยนต์แขนกลชื่อ YuMi (ภาพด้านขวา) ถูกออกแบบเพื่อช่วยมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันทำงานปลูกป่าในป่าแอมะซอนเพื่อทุ่นแรงของมนุษย์ ผ่านการสั่งการทางไกล จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าแรงงานยังอยู่ในสมการ เพียงแต่มุ่งเน้นไปที่งานที่เป็น Human Skill มากขึ้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ‘ธุรกิจโรงแรม’ ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนขนาดใหญ่ในประเทศไทย โรงแรมจำนวนมากตอนนี้เริ่มใช้หุ่นยนต์ในการเสิร์ฟอาหารเข้ามาที่ห้องพัก ซึ่งอาจจะเป็นงาน Routine ที่ไม่ต้องใช้ทักษะเรื่อง Human Skill หรือการดูแลแขกมากนัก แต่พนักงานโรงแรม ก็ไม่ได้ตกงาน เพราะว่าโรงแรมเลือกใช้แรงงานพนักงานไปทำงานที่เป็นแก่นของงานบริการ ที่ต้องอาศัย Human Skill อย่างมาก พนักงานสามารถยกระดับงานบริการให้มีคุณค่ามากขึ้น แต่ก็มาซึ่งคำถามอีกว่า “แล้วการใช้เทคโนโลยีที่มิตรต่อแรงงาน จะคุ้มค่าในสายตาของนายจ้างไหม?”

แบ๊งค์ เชื่อว่า นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คิดถี่ถ้วนกว่าแค่เรื่องบริหารต้นทุนเสมอ อย่างงานในโรงแรม มีคุณค่าบางอย่างที่เกินไปกว่าเรื่องต้นทุน การใช้หุ่นยนต์เข้ามาทำหน้าที่แทนคนทั้งหมดทั้งโรงแรม ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่เหตุที่ผู้ประกอบการจึงเลือกใส่หุ่นยนต์ลงไปแค่บางงานของโรงแรมก็เพราะว่าแกนคุณค่าของงานโรงแรมอยู่ที่ งานของมนุษย์ ยังต้องมีมนุษย์ตัวเป็น ๆ อยู่ในงานบริการเหล่านั้น

“ส่วนหนึ่งหุ่นยนต์ช่วยบริหารต้นทุน แต่การบริหารคุณค่าของสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจจำนวนมากยังต้องพึ่งพาคน ซึ่งถ้ามองเห็นภาพนี้ก็จะทำให้การเข้ามาของเทคโนโลยีไม่ทำลายตำแหน่งงาน”

แบ๊งค์ งามอรุณโชติ

Prakerja Model : ‘อินโดนีเซีย’ รื้อทักษะแรงงาน 17 ล้านคน ในเวลา 3 ปี รัฐบาลรับบท ‘พี่เลี้ยง’

เมื่องานกว่า 1 ใน 3 บนโลกนี้ กำลังถูกแทรกแซงด้วยเทคโนโลยี อินโดนีเซีย จึงวางแผนสร้างโครงการปรับทักษะแรงงานครั้งใหญ่ในปี 2563 ในชื่อโครงการว่า Kartu Prakerja โดยรัฐจะสนับสนุนการเชื่อมต่อแรงงาน-ผู้สอน-นายจ้าง อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน

General Photos: Indonesia | Family prepares their food in Gu… | Flickr

รัฐจะอุดหนุนเงินให้ประชาชนไปซื้อคอร์สยกระดับทักษะตัวเอง และให้อิสระกับเอกชนในการผลิตหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์นายจ้าง ก่อนจะไปทำความเข้าใจว่าระบบนี้ทำงานอย่างไร แบ๊งค์ ได้เล่าผลลัพธ์โดยสรุปหลังเริ่มโครงการไปได้ 3 ปี ดังนี้

  1. สมรรถนะและทักษะแรงงานเพิ่มขึ้นจริง

  2. คนที่มีงานทำอยู่แล้วมีรายได้เพิ่มขึ้น 10%, ส่วนคนที่ตกงานเมื่อเข้าโครงการและได้งานทำจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 20% ขึ้นไป

  3. 27% ของผู้เรียนที่ตกงาน จะสามารถหางานทำได้สำเร็จหลังเรียนจบ และมีโอกาสความสำเร็จในการเลื่อนตำแหน่งงานมีสูงขึ้น

หัวใจสำคัญของความสำเร็จโครงการนี้ คือ รัฐรับบทเป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้ประสานงาน วางมาตรฐานและช่วยบริหารจัดการให้คนได้เข้ามาร่วมในโครงการอย่างเป็นระบบ กล่าวโดยง่ายคือ รัฐไม่ได้ทำเอง แต่เมื่อรัฐไม่ทำเองแล้วทำอย่างไร? แบ๊งค์ ได้เล่าถึง 5 ขั้นตอนในการสร้างระบบนิเวศในการเรียนรู้และปรับสมรรถนะใหม่ของแรงงาน ดังนี้

  1. รัฐไม่สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้เอง แต่ให้ภาคเอกชนที่ทำอยู่แล้วมามีส่วนร่วม อินโดนีเซียไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ไม่ได้ให้รัฐทำแพลตฟอร์มกลางเอง จัดคอร์สขึ้นมาเอง หรือเป็นคนสร้างวิชาเอง เแต่รัฐเลือกไปเชิญเอกชนที่ทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้มาร่วมโครงการ ซึ่งเขามีวิชาอยู่บนนั้นหลายร้อยถึงหลายพันอยู่แล้ว ดังนั้นเริ่มต้นได้เร็ว

  2. รัฐกำหนดมาตรฐานความรู้ตามความต้องการตลาด ให้เอกชนช่วยคัดเลือกผู้สอน รัฐบาลอินโดฯ จะกำหนดมาตรฐานของวิชาสมรรถนะที่ตลาดอยากได้ วางมาตรฐานของผู้สอน แล้วให้แพลตฟอร์มช่วยคัดสรรเบื้องต้น เพื่อเข้ามาให้รัฐเป็นผู้ประเมินอีกที

  3. คัดเลือกผู้เรียนให้เหมาะสมกับหลักสูตร เพื่อประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ รัฐบาลใช้ฐานข้อมูลเศรษฐสถานะและฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยในการที่หาบุคคลที่เหมาะสม เช่น ผู้มีรายได้ต่ำ แรงงานทักษะต่ำ เป็นต้น โดยเกณฑ์มีความซับซ้อนมากและไม่ได้มีแค่มาตรฐานเดียว เมื่อคัดคนเข้ามา จะมีเป้าหมายดูแลผู้เรียนกี่คนในหนึ่งปี โดยเฉลี่ย กรณีอินโดนีเซีย ได้ราวปีละ 5 ล้านคนขึ้นไป และจะมีการแบ่งทยอยเข้าหลักสูตร เพื่อให้มีการปรับปรุงหลักสูตรอยู่บ่อยครั้ง ไม่เสี่ยงเอาคนทั้ง 5 ล้านคนไปเรียนทีเดียวทั้งหมด

  4. หนุนคูปองการเรียนรู้ และแบ่งเงินอีกก้อนเป็นรางวัลให้เมื่อเรียนจบหลักสูตร รัฐบาลจะแบ่งเงินออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ส่วนแรกเป็นเงินที่ให้ผู้เข้าร่วมโครงการราว ๆ 2,300 บาท เอาไปซื้อบริการทักษะการอบรม แต่จะมีเงินอีกก้อนหนึ่งที่ให้กับผู้ที่มาเข้าร่วมโครงการเก็บไว้เอง เพราะว่าแรงงานนอกระบบ ลูกจ้างรายวัน หากเขาหยุดงานวันไหน รายได้ก็จะหายไป ทั้งที่เป็นแรงงานกลุ่มที่ต้องการการปรับสมรรถนะมากที่สุด เพราะลำบากมากที่สุด จึงต้องอุดหนุนให้เพิ่มไปอีกราว 5,500 บาท

    เมื่อโครงการประสบความสำเร็จได้ระดับหนึ่ง เงินที่รัฐอุดหนุนให้จะกลับด้านกัน เงินคูปองเพื่อเรียนจะเยอะขึ้น และเงินอุดหนุนจะน้อยลง เพราะผู้เรียนมั่นใจแล้วว่า ไปเรียนแล้วรายได้จะเพิ่ม จึงไม่จำเป็นต้องอุดหนุนมากแล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการแบ่งงวดจ่ายเงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ตอนเริ่มเรียนจะได้เงินเพียง 30 – 40% แปลว่าผู้เข้าร่วมต้องต้องใจเรียนและสอนให้จบหลักสูตรจึงจะได้เงินครบจำนวน

  5. ระบบจับคู่แรงงานกับตำแหน่งงานหลังเรียนจบ ซึ่งจะเชื่อมกับระบบการหางาน ซึ่งรัฐไม่ได้ทำเอง รัฐเพียงควบรวมทุกภาคส่วนเข้ามา และคอยการันตีว่าระบบทั้ง 5 ระบบ จะทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ

การขับเคลื่อนเรื่อง Reskilling ในอินโดนีเซียกลายเป็นมาตรฐานที่ถูกอ้างอิงในเวทีนานาชาติ และยังเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ หลักการสำคัญของโมเดลนี้ นอกจากการบูรณาการทุกภาคส่วนแล้ว คือการออกแบบระบบนิเวศของการเรียนรู้อย่างครบวงจร เพื่อให้ทักษะและความรู้ที่มีอย่างไม่จำกัดนี้ แจกจ่ายถึงแรงงานทุกกลุ่มในสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพงาน และยกระดับเศรษฐกิจระดับชาติ

สอน ‘STEM’ ให้เป็นวิชาพื้นฐานที่ใคร ๆ ก็ต้องเรียน

การศึกษา STEM หรือ ‘สะเต็มศึกษา’ คือ แนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ (S – Science) วิศวกรรม (E – Engineering) เทคโนโลยี (T – Technology) และคณิตศาสตร์ (M – Mathematics) โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงาน โดยแนวทางการศึกษาดังกล่าวนั้นถูกนำมาปรับใช้และนำร่องในหลายสถานศึกษาตั้งแต่ปี 2544 เพื่อผลิตแรงงานในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้แต่ละประเทศจึงมุ่งพัฒนาหลักสูตร STEM กันอย่างกว้างขวาง

หากจะสร้างเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วย ‘งานที่ดี’ การหวังยกระดับทักษะแรงงานในขั้นปลายน้ำอาจไม่ทันการ รัฐควรจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์กับตลาดแรงงานเสียตั้งแต่ต้นน้ำ อย่าง การศึกษา STEM ก็เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะผลผลิตของ STEM จะช่วยผลิตกำลังแรงงานที่ต่อยอดนวัตกรรม (เช่น นักวิจัย, ผู้สร้างนวัตกรรม, วิศวกร ฯลฯ) สร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้ทันโลก สร้างบริษัทที่เดิบโตเร็ว ซึ่งเป็นแรงชับเคลื่อนในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

แต่ผลการสำรวจล่าสุดของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บ่งชี้ว่า แรงงานและเยาวชนอายุ 15-64 ปีถึง 74.1% มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่ง (pointing device) และแป้นพิมพ์ (keyboard) บนคอมพิวเตอร์พกพาและไม่สามารถทำงานง่าย ๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์

สถิติข้างต้น สะท้อนมายังปัญหาของการสอนสะเต็มศึกษาบ้านเรา โรงเรียนมักยกให้วิชานี้ถูกแยกสอนจากรายวิชาพื้นฐาน หรือซ้ำร้าย คือการแยกห้องเรียนเป็นอีกโครงการหนึ่งโดยเฉพาะ พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษา TDRI เสริมว่า เพราะการศึกษาบ้านเรามีการแบ่งสายการเรียน กำหนดให้เฉพาะนักเรียนที่ผลการเรียนดี, อยู่ในโรงเรียนเน้นวิจัย, หรือต้องเก่งวิทย์-คณิตเท่านั้นที่จะเข้าถึงวิชาเหล่านี้ได้ ทำให้ไม่ใช่นักเรียนทุกคนที่จะได้เข้าถึงการเรียนรู้ทักษะ STEM ในลักษณะของรายวิชาพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว

“ย้ำว่าไม่อยากให้มองวิชา STEM แยกตัวเป็นเรื่องพิเศษ วิชา STEM มีความเป็นพื้นฐานมากกว่าความเป็นเลิศ คือการสอนให้เด็กใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ มาแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันได้ …แต่ทุกวันนี้ ปัญหาการศึกษา STEM บ้านเรา ไม่ได้มีแค่เรื่องงบฯ แต่หลักสูตรของเราก็ยังไม่ตอบโจทย์การสร้างสมรรถนะ หรือการคิดขั้นสูง ขาดระบบประกันคุณภาพ รวมถึงโรงเรียนไม่มีอิสระในการเลือกครูเข้ามา ต้องคำนึงว่าระบบทุกอย่างมันสอดคล้องกัน”

พงศ์ทัศ วนิชานันท์
พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษา TDRI

พงศ์ทัศ ยืนยันว่า หลักสูตรไทยก้าวตามไม่ทันเด็กและไม่ทันโลก เห็นได้จากการที่ไทยไม่มีการปรับหลักสูตรแบบปรับใหญ่มาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ย้ำว่า แม้รัฐจะต้องใช้เวลาในการปรับหลักสูตร แต่รัฐสามารถสื่อสารเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเวลาเรียนได้ทันที เพื่อให้โรงเรียนกล้าจัดการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์มากขึ้น รวมถึงลดภาระงานครู ให้ครูมีเวลาไปพัฒนาทักษะด้าน STEM ที่ผ่านมามีสัญญาณที่ดีแล้วจาก สพฐ. แต่ก็ยังสามารถทำได้มากขึ้น

ไม่ใช่เพียงการศึกษาในระดับพื้นฐาน แต่ ‘อาชีวะศึกษา’ เป็นเพชรที่ยังไม่ถูกเจียระไน มีศักยภาพอย่างมากในการผลิตกำลังคนทักษะ STEM เพื่อตอบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ จากการศึกษาพบว่าประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง จะมีสัดส่วนแรงงาน STEM ที่มากด้วยเช่นกัน

แต่ปรากฎว่ามีผู้จบการศึกษาอาชีวะสาย STEM เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ทำงานสาย STEM ซึ่งประเด็นนี้ ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยด้านการปฏิรูปการศึกษา TDRI ก็อธิบายไว้ว่า เป็นเพราะหลักสูตร ปวช. ที่ผ่านมา ยังไม่ให้ความสำคัญกับการปูพื้นฐานนักเรียนเท่าที่ควร ซึ่งนักเรียนสายอาชีพเข้าเรียนด้วยพื้นฐานที่ต่ำกว่าสายสามัญ 

การเรียนการสอนในด้านอาชีวะฯ มีการลงทุนค่อนข้างต่ำ ขาดครุภัณฑ์ อุปกรณ์การสอนที่เพียงพอ และยังขาดครูที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง เนื่องจากไม่มีระบบการสอบครูอาชีวะฯ รวมถึงยังขาดการเชื่อมต่อกับภาคเอกชน หรือนายจ้าง ทำให้นักเรียนอาชีวะฯ ยังขาดประสบการณ์ตรง​”

ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์
ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยด้านการปฏิรูปการศึกษา TDRI

นักวิจัยด้านการปฏิรูปการศึกษา TDRI ย้ำว่า การปรับหลักสูตร คือ การติดกระดุมเม็ดแรกของการปฏิรูปการศึกษาไทย เพราะหากหลักสูตรไม่แก้ไข โครงสร้างครูก็จะอิงตามรายวิชาเช่นเดิม งบฯ ลงทุนก็จะคิดบนฐานกลุ่มสาระเช่นเดิม ตนยังหวังเห็นการบูรณาการการสอนข้ามวิชาเรียนมากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงความรู้ เพราะโจทย์ปัญหาในยุคสมัยนี้มีความซับซ้อนกว่าแต่ก่อน

แม้การปรับหลักสูตรแกนกลางต้องใช้เวลา แต่การมีพื้นที่นวัตกรรม หรือ Sandbox จะช่วยจุดประกายแนวคิดการศึกษารูปแบบที่ไม่อยู่ในกรอบเดิม ส่วนอาชีวะฯ ไม่มีหลักสูตรแกนกลาง และมีเงื่อนไขต้องปรับหลักสูตรทุก 5 ปี ด้วยความยืดหยุ่นมากกว่า ก็หวังเห็นภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรด้วยเช่นกัน การเชื่อมโยงสถานศึกษาเข้ากับสถานประกอบการ จะช่วยทำให้แรงงานมีโอกาสพัฒนาทักษะ และเข้าถึง ‘งานที่ดี’ ได้มากขึ้น

บทส่งท้าย : ‘งานที่ดี’ สู่โอกาสใน ‘งานในฝันและมีคุณค่า’

งานที่ดี’ เป็นเพียงเส้นมาตรฐานที่รัฐบาลของประเทศหนึ่ง ๆ จะมอบให้กับแรงงานในสังคมได้ เพื่อให้คนในสังคมสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตอย่างคนชั้นกลาง และไม่ถอยหลังกลับมายากจนได้โดยง่าย แต่เพื่อเติมเต็มคุณค่าในการดำรงอยู่ของมนุษย์สักคนหนึ่ง โจทย์ของงานที่ทำอาจมีมากกว่า ‘ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม’ และ ‘ได้ใช้ทักษะที่ถนัด’ ยังต้องเป็นงานที่ ‘ชื่นชอบ’ และ ‘เป็นประโยชน์ต่อสังคม’ เช่นนั้นแล้ว Good Jobs Economy จะเป็นก้าวแรกไปสู่งานในฝันหรือไม่ สำหรับ แบ๊งค์​ งามอรุณโชติ มองว่า มีหน้าที่อยู่ 3 ประการ ที่รัฐบาลของประเทศหนึ่งสามารถทำได้เพื่อบรรลุความฝันนั้น

  1. รัฐบาลมีหน้าที่ ทำให้ประชาชนมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีงานที่หลากหลายพอ และงานที่หลากหลายพอจะถูกกระจายไปในพื้นที่ทางเศรษฐกิจแบบทั่วถึง ถ้างานที่หลากหลายอยู่แต่ในกรุงเทพฯ แต่ว่าคนที่อยู่ในต่างจังหวัดเข้าไม่ถึงโอกาสของงานที่หลากหลาย ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ก็คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องว่า พวกเขาจะเลือกงานที่ใฝ่ฝันได้ไหม

  2. รัฐบาลมีหน้าที่ ทำให้มั่นใจว่าระบบการศึกษาและระบบ Reskill จะทำให้คน ๆ หนึ่ง ได้ปรับสมรรถนะและค้นพบตัวเอง แล้วเขาสามารถเข้าหางานที่อยากไปได้  

  3. รัฐบาลมีหน้าที่ สร้างระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคมที่พร้อมต่อการค้นหาตัวเอง และสามารถค้นพบตัวเองได้ตลอดชีวิต เพราะในสังคมที่งานมีความเปราะบาง (Precarious Work) คนหางานได้ยาก และกลัวการตกงาน จนบางทีผู้คนอาจจะหยุดฝันไปเลยก็ได้เมื่อเข้าสู่สังคมการทำงาน แต่กลับกัน หากเรามีระบบเศรษฐกิจที่เมื่อทำงานไปสักระยะหนึ่ง แล้วอยากค้นหาตัวเองใหม่ ก็มีโอกาสได้ทดลองค้นหาตัวเองอีกรอบ มีจุดหยุดทบทวนและค้นพบตัวเองได้บ้าง และจะทำให้ทุกคนไม่ต้องเร่งค้นหาตัวเองให้เจอภายใน ม.3, ม.6 หรือภายใน 5 ปีแรกของการทำงาน

“ทั้ง 3 ข้อนี้ ผมคิดว่าอยู่ในวิสัยที่รัฐหรือนักนโยบายออกแบบและขับเคลื่อนได้ สร้างงานที่มันไม่เปราะบาง และทำให้คนมีโอกาสได้คิดหรือทบทวนตัวเอง ถ้าเขาอยากทำเพื่อที่จะค้นหาและปรับตัวเองเข้าสู่งานที่ใฝ่ฝันใหม่ ๆ ก็ทำได้ตลอดเส้นทางชีวิต ย้ำอีกที การได้ทำงานที่ชอบ มันไม่ใช่ One-Shot Game แต่มันเป็นสิ่งที่เราต้องทบทวนตลอดชีวิตการทำงานของเรา

แบ๊งค์​ งามอรุณโชติ

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

อภิวรรณ หวังเจริญไพศาล