ฮีลใจหมอ…ในวันที่ต้องสู้กับระบบ และป่วยซึมเศร้า

แม้กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะร่วมกันหาแนวทางการแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์หมอไม่พอในโรงพยาบาลชุมชน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดยังมีให้เห็น 

The Active ชวนลงพื้นที่โรงพยาบาลแก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ สำรวจปัญหาภาระแพทย์ที่สะสมมานาน กับจำนวนคนไข้ที่สวนทางกับจำนวนแพทย์ ตารางเวรที่แทบจะไม่สามารถหยุดหายใจได้ แรงกดดันจากความคาดหวังของผู้ป่วย เหล่านี้ส่งผลให้แพทย์คนหนึ่งต้องป่วยเป็นโรคซึมเศร้า  

หลังเวลาราชการ 16.30 น. ผู้ป่วยทุกประเภ​ทจะมารวมกันที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแก้งคร้อ ​ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาการวิกฤตหรือไม่วิกฤต​ อย่างเช่นผู้หญิงคนนี้ พาลูกชายวัย​ 2​ ขวบมาที่ห้องฉุกเฉิน​ หลังอาเจียนมาตั้งแต่ช่วงบ่าย 2 

แม้ไม่ใช่อาการวิกฤตที่ต้องมาห้องฉุกเฉินตามหลักการแพทย์ แต่เธอไม่มีทางเลือกอื่นเพราะทั้งอำเภอ มีหมออยู่ที่โรงพยาบาลแก้งคร้อ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอเพียงแห่งเดียว​  

เราถามเธอว่ารอถึงพรุ่งนี้ไม่ได้หรือ หญิงวัยกลางคนหัวอกคนเป็นตอบทันทีว่า “ไม่ได้ค่ะ ไม่ไหวแล้วค่ะ แค่เห็นหน้าน้อง อาการน้องก็ไม่ได้แล้วค่ะต้องพามา” เธอยืนยันว่า “แถวนี้ไม่มีหมอแล้วค่ะ ต้องมาพาที่นี่ที่เดียว” 

ในมุมของผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ทุกความเจ็บป่วยคือคำว่า “วิกฤต” ขณะที่โรงพยาบาลก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้ผู้ป่วยมาหาหมอหลังเวลาราชการ ที่นี่ไม่เคยเก็บเงิน และไม่เคยปฏิเสธคนไข้ 

นายแพทย์อดิศวร์ ศรีผล แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป หรือ GP ที่อยู่เวรห้องฉุกเฉินคืนนี้บอกว่า​ ทั้งคืนเขาอาจไม่ได้นอน และเช้าวันต่อมา​ต้องทำงานต่อเนื่องในเวลาราชการด้วยการตรวจผู้ป่วยนอก​โดยที่ยังไม่ได้พัก 

นายแพทย์อดิศวร์ ศรีผล

“ให้ผมสวมหมวกเป็นผู้บริหารผู้ก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันในการจัดการเรื่องแบบนี้ แต่ที่ทำได้คือทนไปก่อน ทนทำไปก่อน เพราะอย่างที่บอกสงสารน้อง สงสารคนไข้เวลามารอ”

นายแพทย์อดิศวร์ กล่าว

เขาเสนอว่า ถ้ามีหมอ GP มาอยู่เวรมากกว่านี้ ไม่ใช่เฉพาะเวรนอกเวลาราชการที่จะมีคนมาสับเปลี่ยนหมุนเวียนมากขึ้น แต่ในเวลาราชการ ก็จะช่วยเกลี่ยคนไข้ เกลี่ยเวลาการทำงานให้ดูคนไข้คนหนึ่งได้นานมากขึ้น  

โรงพยาบาลแก้งคร้อ ขนาด 120 เตียง ปัจจุบันมีแพทย์เฉพาะทาง 8 คน และแพทย์ทั่วไป 5 คน เฉพาะแพทย์ทั่วไปที่มีอยู่ 5 คนต้องแบ่งไปให้บริการงานประจำ 4 จุดในโรงพยาบาล ทำให้การจัดเวรแพทย์นอกเวลาราชการค่อนข้างแน่นและต้องทำงานต่อเนื่อง

จุดแรกคลินิกผู้ป่วยนอกทั่วไป จะมีคนไข้มารออย่างน้อย 100 คนต่อวัน อาจต้องใช้หมอถึง 2 คนช่วยกันตรวจ

จุดที่ 2 คลินิกโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน มีคนไข้วันละ 80-150 คน

จุดที่ 3 คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ ไว้รองรับคนไข้โควิด-19 

จุดที่ 4 คือห้องฉุกเฉิน 

แพทย์หญิงจตุพร ดวงเพชรแสง กุมารแพทย์ โรงพยาบาลแก้งคร้อ หนึ่งใน Staff หรือแพทย์พี่เลี้ยงที่ดูแลแพทย์ทั่วไป (GP) ยอมรับว่าแพทย์ทั่วไปยังขาดแคลน และยังรอการจัดสรรแพทย์ทั่วไปที่จบใหม่ใช้ทุนมาเติม เพื่อให้การจัดเวรคล่องตัวมากขึ้น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้ ก็คือใช้แพทย์เฉพาะทางลงมาตรวจผู้ป่วยนอก กับแพทย์ทั่วไปด้วย  

แพทย์หญิงจตุพร ดวงเพชรแสง 

“ในเวลาราชการพี่ก็มาช่วยออกตรวจโรคทั่วไปด้วย เพราะเรารู้แล้วว่าเขาเหลือน้อยแต่ประชาชนที่มารับบริการยังเท่าเดิม เราก็จัด setting ให้เพิ่มขึ้นในส่วนของตรวจทั่วไป และให้แพทย์ GP สามารถปรึกษาพูดคุยกับแพทย์เฉพาะทางได้ง่ายขึ้น” 

แพทย์หญิงจตุพร กล่าว

​แต่วงจรภาระแพทย์ที่สะสมมานาน ส่งผลใน นพ.อดิศวร์ ซึ่งเป็นแพทย์ทั่วไปที่อยู่หน้างาน มีภาวะซึมเศร้า และต้องกินยาต้านเศร้ามาระยะหนึ่งแล้ว ความเครียด ความกดดันจากการดูแลคนไข้จำนวนมาก จนไม่มีเวลาพักผ่อน ทำให้เขาคิดอยากลาออก แต่ก็เป็นห่วงทีมงานที่ต้องรับภาระหนักขึ้นไปอีก 

“มันมีความเครียดความกดดันจากทุก ๆ อย่าง เอาโทรศัพท์วางให้ข้าง ๆ หูแล้วรู้สึกระแวงว่าจะมีเคสเข้ามาอีกไหมช่วงตี 3 ตี 4 วันที่ไม่ได้อยู่เวรก็ต้องกินยานอนหลับ เป็นแบบนี้มา 2-3 ปี แล้วครับ”

นายแพทย์อดิศวร์ บอกความในใจ …

เขาบอกว่ากินยาต้านซึมเศร้ามาปีกว่าอาการก็ยังไม่ดีขึ้น แต่ก็ไม่แย่ลง คุยกับแฟนคุยกับพ่อแม่ แต่พ่อแม่ก็คนละเจนเนอเรชัน ทั้งยังปลอบใจกลับมาว่าเป็นหมอได้ช่วยคนก็ดีแล้ว ได้อยู่ในราชการก็มั่นคงดี 

ปัญหาสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์เป็นหนึ่งในปัจจัยสืบเนื่องจากภาระแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และดูเหมือนจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหากบุคลากรทางการแพทย์ลาออกจากระบบ ก็อาจยิ่งกระทบกับการให้บริการในภาพรวม 

เป็นหมอมีความสุขไหม ? 

สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) เปิดเผยผลสำรวจความพึงพอใจของแพทย์ที่จบการศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ระหว่างปีการศึกษา 2559-2561 พบว่าในส่วนของรายได้มีความพึงพอใจเพียง 19% และไม่พึงพอใจ 33.9% ขณะที่รู้สึกปานกลาง 47% ในส่วนของภาระงานพึงพอใจ 19.8% และไม่พึงพอใจถึง 41% ส่วนด้านสุขภาพจิตพึงพอใจมีความสุขกับการทำงาน 34% ส่วน 31% และ 33%  คือไม่พึงพอใจและรู้สึกกลาง

ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แพทย์ที่จบใหม่ไม่พึงพอใจกับภาระงานมากที่สุด โดยในส่วนของสุขภาพจิตที่ไม่พอใจมีอยู่มากถึง 31% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่

แพทย์กับจิตวิญญาณในระบบสุขภาพ 

“แพทย์” เป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพที่เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุดข้อมูลนี้ยืนยันโดยโฆษกกรมสุขภาพจิต ปัจจัยเสี่ยงคือความกดดัน และความคาดหวังต่อการรักษาคนไข้ในทุก ๆ วัน ทั้งยังอาจถูกซ้ำเติมจากระบบที่ไม่เป็นธรรม 

ที่ผ่านมามีความพยายามเยียวยาจิตใจหมอที่มีความเครียดจากการทำงานด้วยกระบวนการแนวคิดเกี่ยวกับ “จิตวิญญาณในระบบสุขภาพ”  

ในวงการแพทย์ Rachel Naomi Remen, MD นักเขียนและอาจารย์แพทย์ทางเลือกในรูปแบบของการแพทย์ผสมผสาน กล่าวว่า การช่วยเหลือ (helping) การแก้ไขซ่อมแซม (fixing) การรับใช้หรือการปนนิบัติ (serving) เป็นหลักการสำคัญสามประการในการที่แพทย์จะได้เห็นอย่างถ่องแท้และสัมผัสถึงชีวิตจริงของผู้ป่วย เมื่อคุณช่วยเหลือผู้ป่วย คุณจะได้สัมผัสจุดที่อ่อนแอในชีวิต ของเขา 

“เมื่อคุณได้ซ่อมแซมหรือช่วยแก้ไข คุณจะสัมผัสถึงชีวิตที่แตกสลายของผู้ป่วย และเมื่อคุณได้ได้รับใช้หรือปรนนิบัติผู้ป่วย คุณจะได้สัมผัสชีวิตจิตวิญญาณ ของผู้ป่วยโดยอย่างเป็นองค์รวม ดังนั้นการช่วยเหลือและการแก้ไขอาจจะเป็นภาระหน้าที่หนึ่งในการทำงานในขอบเขตของตน แต่การได้รับใช้ปรนนิบัติผู้ป่วยเป็นการทำงานเพื่อจิตวิญญาณ” 

Rachel Naomi Remen, MD

การรับใช้ปรนนิบัติ (serving) หมายความถึงการให้เวลาผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น การสนทนาและรับฟัง ด้วยดวามเข้าใจการสนทนาเพื่อรับรู้สิ่งที่มีความสำคัญในชีวิต อะไรที่มีคุณค่าของผู้ป่วย การสัมผัส (human touch) เช่น การจับมือ เป็นการบริการที่เกิดจากการที่ผู้ให้บริการหรือบุคลากรทางการแพทย์จะเกิดจิตใจที่เป็นสุข มีความยินดี และพร้อมในการช่วยเหลือผู้อื่นตามมาตรฐานวิชาชีพจากแก่นแท้ภายในของตนเอง เชื่อมโยงระหว่างความรู้ที่ทันสมัยมีมาตรฐานกับจิตวิญญาณ จนเกิดการบริการที่มีความประณีต มีคุณสมบัติที่พิเศษเฉพาะที่เรียกว่า “Compassionate care”

Compassionate มาจากการที่บุคลากรทางการแพทย์รับรู้ว่าผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานเกิดความเห็นอกเห็นใจ ดังนั้น compassionate care จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าไปรับรู้จนถึงจุดที่ทรมานที่สุดและมืดมิดของผู้ป่วยได้ ความเข้าอกเข้าใจผู้ป่วยทำให้เกิดความรู้สึกของความเป็นเพื่อน หรือพันธมิตรกับผู้ป่วย (partner) มากกว่าการเป็นผู้เชี่ยวชาญและการให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียว

อาจารย์แพทย์ต้องไม่ทิ้งลูกศิษย์ 

จากกรณี หมอคนหนึ่งที่โรงพยาบาลแก้งคร้อป่วยเป็นซึมเศร้า ดร. ดวงสมร บุญผดุง ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) บอกกับ The Active ในงานเสวนาวิชาการสุขภาวะทางปัญญาว่า เมื่อหมอคนนี้เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ก็ไม่อยากอยู่ไม่อยากทำงาน อยากถอดจิตวิญญาณออกไปกลายเป็นหุ่นยนต์

“เราเคยเจอแบบเคสนี้แหละ เราจึงจัดกระบวนการ ทำยังไงให้องค์กรรับรู้ว่าความทุกข์ของน้องคนนี้คืออะไร เขาต้องการอะไร มีเป้าหมายชีวิตอะไร แล้วปรับระบบใหม่ในองค์กรได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ สรพ. ยินดีที่จะเข้าไปช่วย”​ 

ดร. ดวงสมร กล่าว

เธอได้เล่าเหตุการณ์หนึ่งให้ฟังว่า ในวงโฟกัสกรุ๊ปวงหนึ่ง เจอหมอที่กำลังจะยื่นใบลาออก โดยโรงพยาบาลจะส่งบุคลากรที่หมดไฟมาอบรม 3 วัน เรานั่งคุยกับเขา เชื่อไหมว่าเราค้นพบว่าคนเหล่านี้มีความดีงามอยู่ แต่ระบบต่างหากที่ไปบั่นทอนเขา 

หลังจากที่คุยกัน หมออย่างน้อย 3 คนกลับไปเป็นหมอที่ดีจนกว่าชีวิตจะหาไม่ จากพลังข้างใน เมื่อถอดบทเรียนพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีใครทำให้เขารับรู้ว่าสิ่งที่เขาทำมีคุณค่า, เขาทำงานจนไม่มีความสมดุลกับชีวิต ที่เขาจะมีให้กับตัวเอง ครอบครัว หรือคนที่เขารัก 

สิ่งที่เขาได้รับคือการที่เขาไม่มี Sense of Community (จิตสำนึกร่วมชุมชน)ในองค์กรสิ่งที่เราทำคือเอาวัตถุนิยมเข้ามาใส่ ทำงานมากได้เงินมาก ทำงานน้อยไม่ได้เงิน 

“ถ้าถอดจิตวิญญาณออกไป เราจะกลายเป็นหุ่นยนต์ ความเป็นมนุษย์จะหายไป” 

ดร.ดวงสมร ย้ำ

ปัจจุบัน โรงเรียนแพทย์ยุคใหม่ที่ได้ยินปัญหาเหล่านี้ ตื่นตัวมากขึ้น และพยามจะใส่จิตวิญญาณเข้าไป โดยบทบาทของอาจารย์แพทย์ ถึงแม้ลูกศิษย์จะจบออกไปแล้วก็ควรจะทำหน้าที่รับฟังปัญหาการทำงาน ซึ่งจะช่วยเยียวยาคนเป็นหมอ 

จริง ๆ แล้วหมอเผชิญความกดดันที่มากกว่านั้น เช่นการรักษาคนไข้ไม่หาย หรือการพบเห็นคนตาย ก็กระทบกระเทือนจิตใจเช่นกัน ที่ผ่านมากรณีแบบนี้จะประเมินดูว่าหมอผิดตรงไหน รักษาอย่างไร แต่ที่ต้องเพิ่มเติมคือควรถามหมอด้วยว่า “รู้สึกอย่างไร” 

จิตวิญญาณ Vs ชั่วโมงการทำงาน 

อีกด้านหนึ่งของแนวคิดการฮีลใจหมอด้วยแนวทาง “จิตวิญญาณ” ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อแพทย์รุ่นใหม่ ในนาม สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ออกมาเรียกร้องเรื่องค่าตอบแทน และขอให้กำหนดชั่วโมงทำงาน นิยามของแพทย์หรือวัฒนธรรมบางอย่างจะถูกสั่นคลอนหรือไม่ 

นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนจากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เปิดใจว่า ผมก็เรียนหมออาจารย์ก็บอกให้ผมเสียสละ ในช่วงเริ่มต้องของการออกมาเคลื่อนไหว เราไม่กล้าพูดถึงเรื่องค่าตอบแทนเลย เพราะหมอต้องเสียสละ การจะพูดถึงเรื่องค่าตอบแทนหรือชั่วโมงการทำงานมันเยอะเกินไปมันพูดไม่ได้ ไม่ใช่วัฒนธรรมที่จะพูด

นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร

“ตอนแรกพวกผมก็กังวลว่าจะโดนมองว่าเห็นแก่ตัวหรือเปล่า แต่ด้วยความตื่นรู้ของคนยุคใหม่ มันอาจจะไปเร็วมากประกอบกับโซเชียลมีเดีย ปรากฏว่าเราได้รับความเข้าใจจากประชาชน และคนไข้มากกว่าที่คิด ซึ่งตรงนี้ผมก็ซาบซึ้งใจจริง ๆ ครับ” 

ตัวแทนจากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน กล่าว

ความเข้าใจ และเห็นใจจากสังคม ทำให้ นพ.ณัฐ ยืนยันกับ The Active ว่าจะยังกล้าออกมาพูดถึงปัญหาที่เป็นอยู่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อหวังให้เกิดการแก้ไขเชิงระบบที่ดีขึ้น


อ้างอิง

  1.  รายงานฉบับสมบูรณ์ การศึกษาทางเลือกเชิงนโยบายในการกระจายแพทย์ไปยังหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ขาดแคลนหรือห่างไกลในชนบท สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ
  2. จิตวิญญาณในระบบสุขภาพ (Spirituality in healthcare) ดวงสมร บุญผดุง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS