‘สิทธิบัตรทอง’ ดี แต่… มีหมอไม่พอ?

แพทย์ขาดแคลนหรือแค่กระจุกตัว ?

ปัญหาใหญ่ระบบสาธารณสุขไทย

ยอมรับว่า “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “สิทธิ์บัตรทอง” ที่รักษาฟรี ทำให้ภาระงานของแพทย์เพิ่มขึ้น แต่คงไม่ใช่ประเด็นที่ต้องมาเถียงแล้วว่า ควรมีหรือไม่ เพราะสิ่งสำคัญกว่าคือการแก้ปัญหาให้ตรงจุด นั่นก็คือเรื่องกำลังคน หมอพยาบาล ต้องผลิตและกระจายให้เพียงพอ รองรับสวัสดิการสาธารณสุข

นี่คือจุดยืนของ “สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน” ที่ออกมาทวงถามชั่วโมงการทำงานแพทย์ เพราะหลังจากที่เรียนจบและใช้ทุนเสร็จแล้ว ต้องเผชิญกับปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ขณะที่หมอจบใหม่หลายคนไม่ทนอยู่ต่อในระบบ ลาออกไปอยู่กับโรงพยาบาลเอกชน ส่วนหมอที่อยู่ในระบบต้องควบเวร 24 ชั่วโมงต่อวัน หรือ120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

ขณะที่บรรยากาศโรงพยาบาลตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดบางแห่ง บริเวณบันไดชานพัก ระเบียง มีเตียงเสริม แทบจะเดินผ่านไปไม่ได้ 

“พญ.ชุตินาถ​ ชินอุดมพร” แพทย์อายุรกรรม โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง ตัวแทนสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน เล่าให้ฟังว่า เพราะเราไม่มีเกณฑ์ว่าหมอคนหนึ่งต้องดูคนไข้กี่คน หมอต้องรับผิดชอบทุกราย ทำกันแบบนี้มาหลายสิบปีแล้ว 

และดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องปกติของหลายโรงพยาบาล ที่มีแพทย์เวรเพียงหนึ่งคน ดูแลคนไข้หลายตึกในเวลาพร้อมกัน

ในหอผู้ป่วยเล็ก ๆ มีเตียงเสริมเต็มทางเดิน ผู้ป่วยหนัก ได้แต่นอนบนเตียงเล็กๆ แคบๆ เพื่อรอเตียงว่าง และรอว่าแพทย์ที่จะช่วยชีวิตของเขาซึ่งกำลังวิ่งวุ่นอยู่กับหอผู้ป่วยอื่น กับคนไข้อื่นๆที่หนักไม่แพ้กัน จะมาเมื่อไหร่

“มันเป็นไปได้อย่างไรที่แพทย์หนึ่งคน จะดูแลคนไข้หลายร้อยคนพร้อมกัน ในหนึ่งคืน และทำงานต่อในเช้าวันต่อไป โดยที่ไม่ได้นอนติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง?”

ในปีที่ผ่านมา แพทย์รัฐ 3 หมื่นคน ดูแลผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนอกที่มามากถึง 83 ล้านครั้ง และผู้ป่วยในมากกว่า 6 ล้านคน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นหลายสิบปี และไม่มีแนวโน้มอันใกล้ว่าจะเปลี่ยนแปลง แม้จะผลิตแพทย์เพิ่ม แต่เมื่อตำแหน่งรับยังเท่าเดิม แพทย์ที่รับงานหนักอยู่ลำพัง ก็ไม่มีกำลังที่จะสู้อยู่ต่อในระบบ ต้องลาออกเพื่อเลือกสุขภาพของตัวเองมาก่อน

สอดคล้องกับที่ “หมอริท” นพ.เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช ทวีตข้อความช่วงที่ “โตโน่” ทำกิจกรรมว่ายน้ำข้ามโขง ขอบริจาคเงินเพื่อโรงพยาบาลจนเกิดดราม่าในแวดวงสาธารณสุขว่า ทุกวันนี้หมอไทยยังต้องทำงานเกินเวลาตามระเบียบกำหนดทำให้เกิดภาวะสมองไหล หมอก็ออกนอกระบบโรงพยาบาลรัฐกันหมด หมอก็น้อยลง งานก็ยังหนัก ผลิตหมอเท่าไหร่ก็ไม่พอ วนลูปแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ถึงบอกว่าเงินบริจาคเยอะแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้หมอหายเหนื่อย 

เมื่อดูสัดส่วนแพทย์ในภาคบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดข้อมูลจากแผนปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข แบ่งจำนวนแพทย์ตามสังกัดดังนี้ 

  • แพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 43% 
  • แพทย์สังกัดเอกชน 33%
  • แพทย์สังกัดภาครัฐอื่น 22%
  • แพทย์สังกัดท้องถิ่น 2% 

ขณะที่ข้อมูลจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ชี้ให้เห็นสถานการณ์กำลังคนในกระทรวงดังนี้

  • มีแพทย์ออกจากกระทรวงสาธารณสุข 40% ต่อปี
  • เวลาขอตำแหน่งแพทย์ไปที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) มักจะได้แค่ 80% ของที่ขอไป เนื่องจากปัญหาเรื่องงบประมาณ
  • สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรที่ไม่รวมแพทย์กำลังศึกษาอยู่ที่ 1 ต่อ 3,626 คน
  • สัดส่วนแพทย์ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 1 ต่อ 548 คน แต่บางจังหวัด เช่น ภาคตะวันออกเฉี่ยงเหนือ อาจไปถึง 1 ต่อ 3,500 คน 

แต่เมื่อดูหลักเกณฑ์สัดส่วนแพทย์ที่ควรจะเป็นต่อประชากร พบว่าต้องมีหมอ 1 คน ต่อประชากร 5,000 คน เรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เคยชี้ว่าจริงๆแล้ว “หมอ – พยาบาล” ไม่ขาดแคลน เพราะอัตรารวม 2 วิชาชีพต่อคนไทยเกินกว่าสัดส่วนที่ WHO กำหนด 2.28 ต่อ 1,000 ประชากร แต่มีปัญหาการกระจายตัว

แพทย์ขาดแคลนหรือแค่กระจุกตัว ?

ปัญหาแพทย์ไม่พอ เกินขึ้นจริงในระบบสาธารณสุขไทยหรือไม่ และเกิดจากอะไรยังเป็นข้อถกเถียง แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มแพทย์โดยเฉพาะแพทย์จบใหม่ ต้องออกมาทวงถามชั่วโมงการทำงานแพทย์ 

พญ.ชติมา (คนกลาง)

กลุ่มหมอรุ่นใหม่ อายุไม่เกิน 40 ปีเปรียบเทียบชั่วโมงการทำงานระหว่างคนธรรมดากับหมอและชั่วโมงการทำงานที่หมออยากได้ดังนี้  

  • คนทั่วไป​ 40​ ชม.​/ สัปดาห์​
  • หมอ​ 120​ ชม.​ / สัปดาห์​ 
  • หมอ​ ไม่ขอเท่าคนธรรมดา​ แต่อยากได้​ 80​ ชม./ สัปดาห์  (เฉลี่ย​ 12​ -​13  ชม./วัน) 

“มันคงเป็นไปได้ยากที่จะได้ชั่วโมงทำงานไม่เกิน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ก็อยากจะทำให้รู้ว่าปัญหามันมีอยู่ และไม่ไหวแล้ว หมอที่จบใหม่ใช้ทุนเสร็จก็ออกจากระบบไปเกินครึ่ง คนทำงานน้อยลงคนไข้เท่าเดิม ไม่มีคนมาช่วยผลัดเวร” หมอที่เพิ่งจบใหม่บอก

นั่นจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะเหมารวมว่าหมอทุกคนทำงานหนัก โดยเฉพาะหมอที่มีอายุเกือบถึงวัยเกษียณ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีชั่วโมงในการทำงาน ที่ต้องตรวจคนไข้ น้อยกว่าหมอรุ่นใหม่ ที่เพิ่งจบ

อย่างไรตาม การพูดคุยกันโดยตรงระหว่างแพทย์ผู้ปฏิบัติงานกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผ่านการนัดหมายจากคณะกรรมาธิการแรงงานของสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้พบกันเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา ที่กระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขด้านบริหาร ให้ข้อมูลภาพรวมจำนวนแพทย์ในไทยที่แตกต่างออกไปจาก สช. โดยยอมรับว่า จำนวนแพทย์ยังต่างจากประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก ซึ่งแพทย์ของไทยมีประมาณ 3.8 หมื่นคนหากเทียบกับประเทศอื่นมีประชากรระดับเราแต่มีแพทย์เป็นแสนคน จึงเป็นขั้นตอนของการทำงานที่ต้องทำร่วมกันหลายส่วน ทั้งผู้ดูแลกำลังภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงบประมาณ แพทยสภา มาหารือและแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งจะวางแผนแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป

แผนสำรวจการกระจุกตัวของแพทย์ 

ในระยะสั้นจะให้ ผู้ตรวจราชการ ประจำเขตสุขภาพต่าง ๆ ลงไปดูว่าจำนวนแพทย์ ไปกระจุกอยู่ในโรงพยาบาลใด และจะสามารถกระจายเกลี่ยแพทย์ออกมาอย่างไร ส่วนระยะกลาง และระยะยาว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลกำลังคน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และไปสู่ข้อเสนอนโยบายทั้งแพทย์พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ให้ไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดต่อไป 

ทั้งนี้ปัจจุบันมีข้อแนะนำจากแพทยสภา เรื่องชั่วโมงการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องกว้าง ๆ อยู่ แต่อย่างที่กล่าวคือ การออกกฎใด ๆ ออกมาก็ต้องไม่กระทบต่อการให้บริการประชาชน 

อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน มองว่าหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาจำนวนแพทย์ที่มีไม่เพียงพอได้ ขณะที่ไทยก็เข้าสู่สังคมสูงวัยและอีก 10 ปีข้างหน้าก็จะกลายเป็นสังคมสูงวัยขั้นสุด ซึ่งหากไม่สามารถผลิตแพทย์ได้ตามเป้า  หรือผลิตได้ตามเป้า แต่ว่าหลุดออกนอกระบบ ก็อาจส่งผลต่อความมั่นคงของระบบสาธารณสุขของไทยอย่างปฎิเสธไม่ได้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS