ในยุคของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ นโยบายทางเท้าคืออะไร เป็นการเริ่มต้นบทสนทนาเพื่อถามย้ำจุดยืนอีกครั้ง ก่อนที่จะลงรายละเอียดกับ จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครผู้รับผิดชอบนโยบายนี้โดยตรง
รองจักกพันธุ์ ไม่ได้ให้คำตอบทันที แต่ถามกลับว่าวัตถุประสงค์หลักของทางเท้าซึ่งมาจากเงินภาษีประชาชนทุกคนควรใช้สำหรับอะไรกันแน่
“ทางเท้าเราทำมาเพื่ออะไร เพื่อให้ประชาชนใช้สอย เดินทางสะดวก ปลอดภัย ไม่ได้ทำเพื่อให้มอเตอร์ไซค์วิ่ง แต่ยอมรับการพัฒนาสตรีตฟู้ดขึ้นมา จุดไหนที่เป็นชุมชน เศรษฐกิจ ก็จะมีการใช้ทางเท้าเพื่อกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย”
รองจักกพันธ์ุ ไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของผู้ค้าริมทางเท้า และเข้าใจความจำเป็นของผู้ค้าว่ากำลังพึ่งพาทางเท้าเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่เมื่อนโยบายชัดเจนว่าทางเท้าต้องมีไว้สำหรับเดินเท้า ปลอดภัย สะดวก ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมาในยุคของผู้ว่าฯ ชัชชาติ จำนวนผู้ค้าริมทางเท้าจึงลดลงจากนโยบายการจัดระเบียบ
หากนับตั้งแต่ที่ผู้ว่าฯชัชชาติ เข้ามารับตำแหน่ง หาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานครทั้งในและนอกจุดผ่อนผันมีรวมกันทั้งสิ้น 792 จุด 21,368 ราย ขณะที่ปัจจุบัน หาบเร่แผงลอยในจุดและนอกจุดผ่อนผัน มีรวมกันทั้งสิ้น 681 จุด 19,414 ราย นั่นแปลว่าการจัดระเบียบทำให้มีผู้ค้าบนทางเท้านอกลดลง 111 จุด 1,954 ราย และทั้งหมดเกิดขึ้นในจุดนอกผ่อนผัน
“ผู้ค้าที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน เราไม่เคยเข้าไปวุ่นวาย แต่ถ้าเป็นถนนหลัก ประชาชนใช้สอยเยอะ เช่น สีลม พหลโยธิน สุขุมวิท ก็เปิดโอกาสให้คนได้ใช้พื้นที่เดินทางเพื่อความปลอดภัยสะดวกด้วยเหมือนกัน”
พวกเขาหายไปไหน?
การหาที่ค้าขายใหม่ให้ผู้ค้าริมทางเท้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ และปัญหาเหมือนกันทุกสมัยคือ ไกล ไม่รองรับวิถีชีวิตเดิมของผู้ค้า เพิ่มภาระ ประเด็นนี้รองจักกพันธุ์ เข้าใจดีและยอมรับว่ามีปัญหาตรงที่ไม่สามารถการันตีได้จริง ๆว่าหากย้ายไปแล้ว พวกเขาจะสามารถค้าขายได้จริงหรือไม่ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในเวลานี้ คือการมองหาพื้นที่ที่ใกล้ที่เดิมมากที่สุดเพื่อลดผลกระทบ ควบคู่จัดหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ค้าสามารถเข้าถึงได้ และช่วยประชาสัมพันธ์ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ค้าถูกย้ายไปอยู่ในจุดเอกชน 39 จุด 2,842 ราย
“เราไปยกเลิกบางจุด อย่างสีลม ช่วงเย็นคนเดินแทบจะเบียดกันเลย หากมีผู้ค้าทำอาหารปรุงสุก จะเดือดร้อนไหม ยอมรับอาหารสตรีตฟู้ด ราคาถูก แต่คนที่เขาต้องการตรงนั้นเขาก็ต้องการความปลอดภัย สะดวกสบายเลยต้องมีการจัดระเบียบเกิดขึ้น จุดที่มีไม่ได้จริง ๆ เราก็ต้องมานั่งคุยกันว่าจะย้ายไปที่ไหน หาที่ให้ ลดราคาให้”
กรุงเทพมหานคร มีกฎเกณฑ์ในการพิจารณาว่าทางเท้า ควรจะอนุญาตให้ค้าขายได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามระเบียบปี 2563 ระบุไว้ว่า ทางเท้าต้องมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 4 เมตร ถนนมีช่องจราจร 4-6 ช่องจราจร มีการทำประชาพิจารณ์ผู้เดินเท้า และชุมชนใกล้เคียง ก่อนจะมีการส่งเรื่องตามขั้นตอนในการอนุญาต ซึ่งมีคณะกรรมการที่ต้องให้ความเห็นชอบหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเขต สำนักเทศกิจ กองบัญชาการตำรวจนครบาล
“จุดนอกผ่อนผัน ที่เขาอ้างค้าขายมานาน หากจะทำให้เป็นจุดถูกต้อง ต้องเข้ากระบวนการที่ว่าไว้ มีกระบวนการในการเข้าสู่ความถูกต้องของมันอยู่”
พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ถือเป็นหนึ่งคนที่ติดตามการแก้ไขปัญหาเรื่องหาบเร่แผงลอย เธออยู่วงในหารือร่วมกับผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ มาหลายยุคสมัย รวมถึงยุคของ ผู้ว่าฯชัชชาติ ด้วย
เธอสะท้อนว่าผู้ว่าฯชัชชาติ มองเห็นปัญหาของกฎเกณฑ์ที่ตึงและมากเกินไป แต่ 1 ปี ที่ผ่านมา การแก้ไขกฎระเบียบเหล่านี้กลับไม่คืบหน้า และสิ่งที่เห็นพบเพียงการใช้อำนาจทางกฎหมายจัดระเบียบและลดจำนวนผู้ค้าลงเท่านั้น กรณีการจัดระเบียบถนนสีลม ยิ่งทำให้เธอรู้สึกผิดหวังกับการทำงานที่เคยคิดว่าจะจัดระเบียบได้ดีกว่านี้
“กรณีสีลม มีการพูดคุยกันระหว่างเขตกับผู้ค้า คุยกันจนสามารถตกลงกันได้ว่าจะอยู่ในพื้นที่เล็กนิดเดียว ผู้ค้าก็ยอม เขตก็โอเค แต่ฝ่ายผู้มีอำนาจทางนโยบายบอกไม่ได้ ต้องย้ายออกไป แล้วก็ย้ายเขาออกโดยที่ไม่ได้ถามผู้ซื้อ ผู้ค้า หรือเบื้องหลังที่ผ่านการเจรจากันมาหลายครั้ง”
เธอย้ำว่าหากฝ่ายผู้มีอำนาจใช้กฎหมายเป็นตัวนำ แน่นอนว่าผู้ค้าก็ไม่มีอะไรต่อรองได้ และผิดจริง ๆ แต่ฝ่ายนโยบายกลับไม่ได้มองอยู่บนพื้นฐานว่า หาบเร่แผงลอยเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และมีงานวิจัยศึกษามากมายมาแล้วว่าคนที่เดินทางเท้าส่วนใหญ่ อยู่ได้เพราะการพึ่งพาอาหารราคาถูกจากหาบเร่แผงลอย
ทางเท้า ที่เดินได้สะดวก ปลอดภัย และยังสามารถรองรับผู้ค้าได้ด้วย หากสำรวจเฉพาะพื้นที่ทางกายภาพของทางเท้าในกรุงเทพมหานคร พูลทรัพย์ยอมรับว่าบางจุดไม่สามารถทำได้ ซึ่งผู้ค้าก็เข้าใจข้อจำกัดนี้และไม่คิดจะขัดขวาง ยอมย้ายปรับเปลี่ยน แต่ที่ผ่านมากระบวนการพูดคุยระหว่างผู้ค้ากับฝ่ายนโยบายไม่เกิดขึ้นจริง การหาความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์ทางเท้าจึงไม่เคยเกิดขึ้น แม้แต่ในยุคที่ ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งก็ตามภาคประชาสังคมจึงรู้สึกผิดหวังกับการจัดระเบียบหาบเร่ของยุค ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทั้งที่เคยมีความหวังว่าความสมดุลจะเกิดขึ้นในยุคนี้ได้
“ความสมดุลของการจัดระเบียบทางเท้า สิ่งที่สำคัญทดสอบความสามารถ ท้าทายผู้นำ คือการทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ สมัยก่อน เห็นหาบเร่วิ่งไล่จับกัน ปัจจุบันมีวิธีคิดใหม่ มองการใช้พื้นที่สาธารณะในเมืองไม่ควรใช้เป็นทางเท้าเพียงอย่างเดียว เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ รื่นรมย์ได้ อันนี้คือกึ๋นของผู้นำ เราคาดหวังว่าผู้นำรุ่นใหม่ จะมีกึ๋นแก้โจทย์ที่ยากซับซ้อนให้อยู่ร่วมกันได้จริง”
ทิ้งทาย ความสมดุลของการใช้ประโยชน์บนทางเท้า อาจเริ่มต้นได้ด้วยการมีพื้นที่พูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและอยู่บนพื้นฐานที่ทุกคนควรได้ประโยชน์ร่วมกัน อย่าให้การเจราจาหารือเป็นเพียงกิจกรรม ที่ทำเหมือนงานรื่นเริง จบงาน แยกทาง และทุกอย่างเงียบงัน