สีลาภรณ์ บัวสาย | 4 เสาหลัก ฟื้นพิษโควิด-19

การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบมหาศาล ลุกลามไปทั้งสังคมและเศรษฐกิจ ผู้คนยากจน ธุรกิจต้องปิดตัว แรงงานถูกเลิกจ้าง กระเทือนไปถึงการศึกษา ผูกโยงเป็นเงื่อนปมปัญหาที่ซับซ้อน

ทางแก้ จึงต้องมองให้เห็นปัญหาทั้งหมดและแก้ไปด้วยกันทั้งระบบ ไม่อาจแก้เพียงจุดเดียว และเข้าใจว่าได้พยายามแก้ปัญหาแล้ว… เพราะนั่นคือการที่ยังไม่แก้ปัญหาใด ๆ

เพื่อให้เห็นปัญหาและทางแก้ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ชวน “วิเคราะห์เส้นทางผลกระทบ” ที่เริ่มจากการระบาดของโควิด-19 ไปจนถึง “4 เสาหลัก” ที่จะเป็นทางฟื้นจากปัญหานี้

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย

จากผลกระทบโควิด-19 สู่ปัญหาความยากจน

ผลกระทบที่ประเทศไทยได้รับเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากการปิดเมืองภายในประเทศ และการปิดเส้นทางคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศ  พบว่าสิ่งแรกที่รัฐบาลไทยทำ คือ การออกมาตรการทางด้านสาธารณสุข เช่น การรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือ ไปจนถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งก็ทำให้ควบคุมโรคระบาดได้ดี

แต่การปิดเมืองส่งผลทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Over Panic คือ การตกใจจนเกินเหตุ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดหยุดชะงัก ส่งผลกระทบเรื่องรายได้ จากการลดชั่วโมงการทำงานไปจนถึงการเลิกจ้างงาน และโยงรายได้ครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่ยากจนที่ไม่มีเงินสำรอง พอรายได้รายวันหายก็คือการไม่มีเงิน ส่งผลกระทบไปถึงประเด็นความยากจนทันที

“จากปัญหาความยากจน ก็ส่งผลสะเทือนเรื่องอื่น ๆ ทั้งหมดที่เป็นประเด็นทางด้านสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เช่น โรงเรียนปิด อาหารกลางวันเด็กหายไปทันที ซึ่งสำหรับครัวเรือนที่ยากจน อาหารกลางวันที่โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเขาอยู่ แต่เมื่อมันหายไป เด็กก็ได้รับผลกระทบ”

และหากปัญหายืดเยื้อ รายได้ก็จะตกยืดเยื้อ เรื่องปิดเมืองอาจจะเปิดได้ แต่ถ้ารายได้ยังตกต่ำ เด็กอาจจะต้องออกจากโรงเรียนระยะยาว ก็จะมีปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเนื่องจากเกิดความเครียดไม่มีงานทำ เกิดการทะเลาะ แล้วเด็กกับผู้หญิงก็มักจะเป็นคนที่ช่วยตัวเองได้น้อยที่สุด

ขณะเดียวกัน มาตรการด้านสาธารณสุขที่เคยมี เช่น Hot line สำหรับคนร้องเรียน ช่องทางเกือบทั้งหมดนี้ก็ถูกเปลี่ยนมารองรับว่ามีสถานการณ์โควิดที่ไหนบ้าง ดังนั้น ทำให้พวกที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ถูกยกมารองรับโควิดเกือบทั้งหมด

กระทบภาคการผลิต กระเทือนเศรษฐกิจ

การปิดเส้นทางการบินเข้าประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ซึ่งที่ผ่านมา การท่องเที่ยวคิดเป็น 22% ของ GDP ของไทย ในจำนวนนี้ 12% หรือมากกว่าครึ่งมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ 30% เป็นคนจีนอย่างเดียว ดังนั้น เมื่อไวรัสเริ่มระบาดจากจีน แล้วจีนก็ห้ามคนของเขาออกนอกประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปทันที ธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ได้รับผลกระทบรุนแรง

เรื่องโซ่อุปทานระหว่างประเทศ หรือ Global Supply Chain ที่ถูกกระทบ และน่าจะกระทบระยะยาว ทำให้อุตสาหกรรมที่ขึ้นกับการบริโภคของต่างชาติ และโดยเฉพาะการส่งออกกับการท่องเที่ยวที่พึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงถูกกระทบค่อนข้างมาก

ประเทศไทยพึ่งพิงการส่งออกเพียง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของ GDP แต่นี่คือตัวเลขที่ลบกันแล้วระหว่างส่งออกจริงกับนำเข้า แต่เราส่งออกประมาณ 65 – 67% ของ GDP นำเข้า 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทำให้ตัวเลขลบกันก็เหลือ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของ GDP

“ดูเหมือนไม่เยอะ แต่ความจริงก็คือว่าวิกฤตเศรษฐกิจเที่ยวนี้ มันกระแทกลงที่ภาคการผลิตจริง ไม่ได้กระแทกภาคการเงินโดยตรง ไม่เหมือนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์หรือวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดจากภาคการเงินและไม่กระทบการจ้างงานมากนัก แต่เที่ยวนี้เนื่องจากกระแทกที่ภาคการผลิตจริง แรงกระแทกก็เข้าที่การจ้างงานทันที และทำให้ครัวเรือนอยู่ในภาวะช็อก เนื่องจากรายได้หายไป ส่งผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้น”

จากตัวเลข 65-67% ที่เป็นการส่งออก เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ติดลบไป 23% ติดลบมากที่สุด คือ ภาคยานยนต์ -56% เสื้อผ้า -37% เครื่องจักร -32% พวกนี้คือโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ที่จ้างแรงงานจำนวนมาก เมื่อติดลบมากก็ต้องลดกำลังการผลิต แปลว่าก็ต้องลดโอที รายได้คนงานก็ต้องหายไปแล้ว ถ้าอย่างแรง ๆ ก็คือปิดโรงงาน ซึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังคิดว่าจะอยู่หรือจะไปหรือจะย้ายฐานไหม ก็ตัดสินใจปิดเลย

เยียวยาไม่ตรงจุด

จากการประเมินขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) บอกว่า มีคนตกงานประมาณ 3.7 ล้านคน แต่ถ้ารวมประเภทที่ถูกลดจำนวนชั่วโมงการทำงานอาจจะถึงประมาณ 7.5 ล้านคน ปัญหา คือ 54% ของแรงงานไทยอยู่ในภาคไม่เป็นทางการ คือไม่ได้จดทะเบียนบริษัท แปลว่าไม่อยู่ในระบบประกันสังคม แล้วเขาเหลืออะไรบ้างที่เขาจะได้

คนที่อยู่ในระบบประกันสังคม เมื่อตกงานยังได้เงินเยียวยา แต่คนที่ไม่มีเลยต้องพึ่งอย่างเดียวเลยคือเงินเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาล ซึ่งหมดไปแล้ว จ่ายได้แค่ 3 เดือน ปัญหาที่ทับลงไปอีกก็คือว่า เงินกู้ของภาครัฐที่ไปกู้มาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยา จะยิ่งทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณ

แม้รัฐธรรมนูญไทยอนุญาตให้ขาดดุลได้ถึง 60% แต่ตัวเลขวงเงินกู้ก็มากถึง 57% แล้ว หมายความว่ากำลังแตะเพดานแล้ว สะท้อนว่าเรามีเหลือเงินอยู่ในกระเป๋าไม่มากที่จะจัดการ ทำให้การให้เงินเยียวยาไปที่ครัวเรือนแบบเดิมอาจจะให้ได้ไม่มาก

นอกจากนี้ จากข้อมูลของการวิเคราะห์ของ The Economist กับ Oxford ชี้ว่า การให้เงินเยียวยาที่ผ่านมา อาจจะมีบางภาคการผลิตที่ได้รับการเยียวยามากเกินไป โดยเฉพาะภาคเกษตร จากเดิมสัดส่วนความยากจนในภาคเกษตรอยู่ที่ประมาณ 9% แต่ขณะนี้ลดเหลือ 7% เพราะได้เงินเยียวยา ซึ่งหลังจากหมดเงินเยียวยาก็คงจะกลับมาที่ 9% อีก

คือ พูดง่าย ๆ การให้ไปที่ภาคเกษตร เขาไม่ใช่ภาคที่ถูกผลกระทบเดิม แต่กลายเป็นช่วยให้เขาพ้นไปเลย แต่คนที่ถูกผลกระทบคือพวกนี้ พวกธุรกิจและครัวเรือน

“ขณะที่กลุ่มที่โดนผลกระทบมากที่สุด คือ คนจนเมือง กลุ่มที่ทำงานในภาคไม่เป็นทางการ และกลุ่มที่แย่ที่สุด คือ กลุ่มคนที่อยู่ในภาวะมีโรคประจำตัว คนพิการ คนที่ต้องพึ่งพิงคนอื่น คนกลุ่มเหล่านี้ต้องการการคุ้มครองทางสังคม หมายความว่าถ้ารัฐมีเงินจำกัด ก็จะต้องให้การคุ้มครองทางสังคมไปกับคนกลุ่มที่เขาต้องการมากที่สุด”

ในช่วงต้น ๆ รัฐบาลได้ออกมาตรการทางเศรษฐกิจเกือบทุกตัวที่จะทำได้ ทำให้สถานการณ์ปัญหาของด้านนี้ลดแรงกระแทกไปเยอะมาก เด็กยังไม่ออกจากโรงเรียน การปิดโรงเรียนก็เจอปิดเทอมพอดี มีการเข้าไปดูแลเรื่องการคุ้มครองทางสังคมอยู่พอสมควร พวกนั้นก็เลยไม่ค่อยเท่าไหร่

ขณะที่ปัญหาหนักสุดถ้าจะมีในเรื่องสุขภาพก็คือ มีคนฆ่าตัวตายในช่วงแรกเพราะเครียด อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นประมาณ 14% เทียบปีต่อปีในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว แต่ผลกระทบด้านสุขภาพอื่น ๆ ออกมาในเชิงบวกเกือบทั้งหมด เพราะพฤติกรรมการดูแลสุขภาพดีขึ้น การใส่หน้ากากป้องกันช่วยทำให้โรคติดเชื้อจากทางเดินหายใจที่เคยมีในปีก่อนหน้าลดลงไป อุบัติเหตุลดลงเพราะการใช้รถยนต์ลด ความรุนแรงที่เกิดจากการกินเหล้าก็ลดเพราะการบริโภคเหล้าก็ลดลง

ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมก็ดีขึ้น ทะเลฟื้นตัว มีข่าวสัตว์ทะเลกลับมาใกล้ฝั่ง มีทั้งปลาโลมาสีชมพู พะยูน เต็มไปหมด ทั้งในป่าและในทะเล จนคนจำนวนไม่น้อยก็บอกว่า อยากให้เป็นอย่างนี้

เร่งสร้าง “วัคซีน” สังคม

ในแง่ของวิธีการแก้ โจทย์สำคัญ คือ จะแก้อย่างไรบนความซับซ้อนของสถานการณ์ขณะนี้ ที่โรคระบาดก็ยังไม่หายไป แต่จากผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วและส่งแรงกระแทกมหาศาล ก็ทำให้ไม่สามารถปิดเมืองได้อีกต่อไป ต้องเปิดทั้งที่มีความเสี่ยง

แต่ความเสี่ยงนี้ยังสามารถควบคุมได้ เพราะเมื่อดูอัตราการตายของประเทศไทยยังต่ำ ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 58 คนมาหลายเดือนแล้ว สะท้อนขีดความสามารถในการรองรับของระบบสาธารณสุขไทย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มทรัพยากรทางด้านสาธารณสุขเข้าไปจำนวนมาก งบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นประมาณ 2% ของ GDP ซึ่งก็ทำให้สามารถจะไปทำอุปกรณ์เตียงสนาม โรงพยาบาล และบุคลากรให้มีจำนวนมากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงไม่ได้เยอะมาก

แต่ก็ยังต้องระมัดระวังด้วย Social Vaccine เช่น การใส่หน้ากาก การล้างมือบ่อย ๆ การรักษาระยะห่าง หรือการทำงานที่บ้าน พวกนี้จะเป็นมาตรการที่ช่วยทำให้สามารถเปิดเมืองได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินได้ หรืออยากไปสถานที่ท่องเที่ยวก็ยังพอไหว

“เพราะการแก้เรื่องนี้เป็นการสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยง 2 แบบ คือ ความเสี่ยงด้านสุขภาพกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ต้องเอาขึ้นตาชั่ง เลือกข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ เพราะความเสียหายมันรุนแรงทั้งคู่ ความเสียหายต่อเรื่องสุขภาพคือชีวิต ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ คือปากท้องทั้งหมด และส่งผลกระทบทางสังคมจำนวนมาก”

และวิธีแก้คือ สู้กันด้วยความรู้ การให้ข้อมูลกับคนทั้งประเทศว่า เราไหวนะ เรายังไปได้ เราจะไม่ปิด แต่ทุกคนต้องช่วยกัน ดูแลตัวเองและประคับประคอง รวมไปถึงการให้ความรู้ว่าแต่ละคนควรจะดูแลตัวเองอย่างไร เช่น วิธีป้องกัน ทำตัวเองให้แข็งแรง มีภูมิต้านทานควรจะเป็นอย่างไร Social Vaccine มีประสิทธิภาพใกล้เคียงหรือแตกต่างจาก Medical Vaccine แค่ไหน

สร้าง “สมดุล” และ “ภูมิคุ้มกัน”

โควิดอาจจะอยู่กับเราไปอีกนานพอสมควรและอาจจะเกิดซ้ำได้อีก มีการคาดการณ์ว่าการเกิดรอบสองน่าจะเกิดแน่นอน หมายความว่าประเทศไทยควรจะเตรียมรับความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาดในครั้งต่อ ๆ ไป ไม่ใช่แค่รอบสอง

ความพร้อมของระบบสาธารณสุขต้องเป็นเรื่องใหญ่ เราต้องคิดเรื่องทำอย่างไรคนของเราจะสุขภาพดี ไม่ป่วย ทำอย่างไรคนของเราจะมีรายได้ รวมทั้งประเทศมีรายได้ที่พึ่งคนอื่นน้อยลง พอที่เรียกว่าผลกระทบมันจะไม่แรงมหาศาลเหมือนที่โดนครั้งนี้ ต้องเรียกว่าครั้งนี้เสมือนมาเตือนว่า ถ้ายืมจมูกคนอื่นหายใจมาก พอถูกอุดจมูกก็จะตาย เพราะหายใจไม่ออก

“ทิศทางของการพัฒนาจำเป็นที่จะต้องสร้างสมดุลในหลายด้าน อันแรก คือ สมดุลระหว่างการพึ่งการบริโภคในประเทศกับต่างประเทศ เป็นการกระจายความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจออกไป ซึ่งจะทำให้เราปลอดภัยมากขึ้น เจ็บน้อยลง หรือถ้าเจ็บก็ลุกไว หากเกิดการระบาดครั้งต่อไป”

ตัวที่สอง คิดว่าการจัดการความเสี่ยงแบบนี้ต้องตีความคำว่า Resilience ใหม่ว่า ภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเตือนมานานแล้วว่า ต้องมีภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่ภูมิต้านทาน ไม่ใช่ หรือ Immunity แต่เป็น Resilience คือความสามารถที่เราจะคุ้มกันตัวเองได้

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต ภาคเกษตรเป็นหลังอิง ทำให้เมื่อตกลงไปแล้วเจ็บน้อย กลับไปบ้านอย่างไรก็ยังพอทำมาหากิน มีอาหารกิน และอาจดีกว่านั้นหากผลผลิตเริ่มขายได้ ก็จะเริ่มมีรายได้ ดังนั้น การหนุนเศรษฐกิจฐานรากและภาคการเกษตร เป็นยุทธศาสตร์ที่จำเป็นที่ควรจะเข้าไปทำ เพื่อทำให้ลดความเสี่ยง

แต่พร้อม ๆ กันนั้น ภาคเกษตรมักจะมีปัญหาประสิทธิภาพของแรงงานต่ำ แนวทางการปรับตัวก็คือเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้เกิดการเติบโตของข้างล่าง พร้อม ๆ กับการกระจายรายได้ไปหาคนข้างล่าง

ตัวที่สาม คือ การปรับเปลี่ยนการพัฒนาไปสู่ Green Economy อย่างที่เราเห็นว่าเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจยุติลง สิ่งแวดล้อมก็ฟื้นตัว สะท้อนว่า เราควรรักษาสภาพนี้ไว้ เช่น ตอนนี้รถกลับมาติดอีกแล้ว แต่ถ้าเราใช้โหมดการทำงานที่บ้านให้มากกว่านี้ ซึ่งจะเป็นทั้งมาตรการทางด้านสุขภาพ มาตรการทางด้านเศรษฐกิจ และมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม การใช้รถยนต์น้อยลง ก็คือการใช้น้ำมันน้อยลง ฝุ่นก็น้อยลง ค่าน้ำมันก็น้อยลงด้วย ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพวกนี้จะเป็นตัวที่ควรจะต้องทำ

วางมาตรการแก้ 3 ระยะ

ในแง่ระยะสั้น คือ การ balance ระหว่างความเสี่ยงทางด้านสุขภาพกับความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ โดยเงินที่มีควรนำไปใช้กับกลุ่มที่เปราะบางที่สุดที่ต้องการความช่วยเหลือ

ส่วนมาตรการระยะกลาง คือ บรรเทาผลกระทบในเรื่องการจ้างงาน การลงทุนของภาครัฐควรเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังไม่ใช้เงินเกินไปจนกระทั่งทำให้เกิดปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ

ระยะยาว คือ ต้องปรับทิศทางการพัฒนา โดยการจัดการกับเรื่องนี้ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มมาตรการ คือ มาตรการทางด้านสาธารณสุข มาตรการทางด้านเศรษฐกิจ มาตรการคุ้มครองทางสังคม และมาตรการนโยบายอื่น ๆ

มาตรการทางด้านสาธารณสุข คือ การเตรียมความพร้อมระบบบริการสาธารณสุขให้เพียงพอ ให้ความรู้คนกับเรื่องวิธีการดูแลสุขภาพ แต่ก็ต้องกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจเข้ามาเสริม และมีมาตรการทางนโยบายมาสนับสนุนเพื่อให้เกิดการบริโภคในประเทศ

ยกตัวอย่าง กระทรวงมหาดไทยบอกว่าให้แต่งชุดไทยผ้าท้องถิ่นสัปดาห์ละ 2 วัน ข้าราชการก็ไปซื้อผ้าท้องถิ่น รายได้ก็เข้าไปหาวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ในท้องถิ่น ก็เกิดการกระตุ้นการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นได้ ไม่ได้แปลว่าต้องให้เงินเพื่อกระตุ้นให้คนไปเที่ยวอย่างเดียว บางทำไม่ต้องใช้เงิน ใช้นโนยบายบางอย่างเท่านั้น

“ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เขาใช้วิธีไปดูว่าสารพัดอย่างที่มหาวิทยาลัยต้องใช้นั้น อะไรจะใช้ผ้าท้องถิ่นได้บ้าง แล้วพบว่ารายได้หมุนลงไปข้างล่างภายในเวลาแค่ 8 เดือน ประมาณ 10 ล้านบาท นี่คือใช้แค่นโยบายอย่างเดียว ไม่ต้องลงทุนมากมาย”

คือ ทำให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคข้างใน มันก็นำไปสู่การซื้อของไทย และทำให้รายได้ลงไปถึงข้างล่างได้ คนข้างล่างเป็นคนจับจ่ายใช้สอย เพราะเขาจำเป็นต้องกินต้องใช้ เมื่อเขามีรายได้ก็ใช้ เศรษฐกิจก็จะเริ่มหมุน เมื่อเศรษฐกิจเริ่มหมุน ก็เริ่มฟื้นตัวได้ เป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญมากของการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

มาตรการทางเศรษฐกิจอีกหลายตัวก็ควรจะเข้าไปที่เรื่องการกระตุ้นการจ้างงาน หรือการให้เงินอุดหนุนกับธุรกิจให้สามารถจ้างคนได้ ส่วนเงินเยียวยาที่เข้าภาคครัวเรือนถ้าจะมีต่อควรจะเน้นช่วยเหลือกลุ่มที่จำเป็นจริง ๆ ให้สุรุ่ยสุร่ายไม่ได้แล้ว เพราะเงินเหลือไม่มาก เช่นเดียวกับเงินอุดหนุนให้เกิดสภาพคล่องของภาคธุรกิจซึ่งมีความจำเป็นมาก เพราะธุรกิจจำเป็นที่จะต้องการสภาพคล่องเพื่อเยียวยา และมาตรการคุ้มครองทางสังคมควรเน้นไปที่เรื่องการช่วยเหลือเยียวยา

ในเรื่องการศึกษาอาจจะเป็นผลกระทบระยะยาว เพราะถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ ถึงแม้จะมีงานทำ แต่ถ้ารายได้ตก ผู้ปกครองก็อาจจะเอาเด็กออกจากโรงเรียนก่อนเวลา

“ผลกระทบด้านการศึกษาในช่วงที่เกิดโควิดที่เห็นก็คือ การสอนออนไลน์ ปรากฏว่าทำให้ยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ เพราะครอบครัวที่ยากจน โดยเฉพาะครอบครัวที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่จริง คอมพิวเตอร์ไม่มี หมู่บ้านไม่มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึง ครูไม่มีความพร้อม ถ้าคิดถึงว่ามันอาจจะเกิดการระบาดได้อีก ระบบการศึกษาต้องเตรียมพร้อมมากกว่านี้”

ในด้านโภชนาการ ระยะยาวก็จะมีผลเหมือนด้านการศึกษา เพราะเมื่อรายได้ตก การบริโภคก็น้อยลง ต้องซื้ออาหารราคาถูก ทำให้โภชนาการไม่ดีนัก ทำให้เด็กตัวเตี้ยหรือภาวะทุพโภชนาการ

ตัวที่สำคัญมากของมาตรการทางสังคมก็คือ ระบบข้อมูลยังไม่ดีพอและมันไม่เชื่อมต่อกัน ข้อมูลอยู่คนละกระทรวงไม่สามารถเชื่อมโยงเข้าหากัน ซึ่งถ้าระบบมันเชื่อมต่อกัน จะทำให้การให้ความช่วยเหลือคนที่ยากลำบากจริง ๆ จะแม่นยำขึ้น แต่วันนี้มันทำไม่ได้เพราะระบบไม่มีอยู่ ถ้าทำทั้งหมดนี้ได้ คาดการณ์ว่า ปีหน้าเศรษฐกิจก็น่าจะฟื้นตัว ยกเว้นภาคท่องเที่ยวที่จะช้ากว่า

4 เสาหลัก ฟื้นพิษโควิด-19

การวางทิศทางการฟื้นตัวหลังจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อให้กลับมาดีกว่าเดิม เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่แลกการทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นการกระจายความเสี่ยงออกไปนั้น ควรวางน้ำหนักไว้ที่ 4 เสาหลัก

เสาหลักที่หนึ่ง คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะยังมีคนเดือดร้อนจำนวนมาก การกระตุ้นเศรษฐกิจทำได้โดยการยกเลิกการปิดประเทศด้วยการใช้ความรู้และการเตรียมความพร้อมทางด้านระบบสุขภาพ การกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และการใช้งบประมาณภาครัฐอย่างฉลาด มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ตัวนี้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เสาหลักที่สอง คือ การช่วยที่ตัวธุรกิจ เพราะธุรกิจเป็นกลไกสำคัญในการจ้างงาน ทำให้แรงงานมีรายได้ มีเงิน ที่ผ่านมารัฐบาลก็ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจไปแล้วทุกตัว แต่ยังต้องทำมากขึ้น และทำให้มันตรงเป้า โดยเฉพาะกับภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และยังมีอีกหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องตั้งแต่สายการบิน โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว รถทัวร์ ไปจนถึงร้านอาหาร

ธุรกิจเหล่านี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างแรง ต้องการสภาพคล่อง มาตรการที่รัฐควรจะให้เข้าไปคือ เสริมให้เกิดสภาพคล่อง แต่ต้องระมัดระวังให้พอดี ๆ อย่าให้ลามกลายเป็น NPL มาตรการแบบนี้จะทำให้เขารักษาการจ้างงานเอาไว้ได้

เสาหลักที่สาม คือ มาตรการคุ้มครองทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง และคนที่ตกงาน ซึ่งกลุ่มที่หนักสุด คือ คนพิการ คนมีโรคเรื้อรัง คนจนเมือง และแรงงานนอกระบบ เพราะพวกนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคม ต้องหาวิธีการที่จะกระตุ้นและทำให้เขาขึ้นมาอยู่บนสภาพที่เขามีหลักประกันบางอย่าง เพราะว่าวิกฤตเที่ยวนี้เป็นตัวที่สะท้อนให้เห็นค่อนข้างชัดว่า ระบบหลักประกันทางสังคม มันช่วยปะทังชีวิตคนที่โดนผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจไปได้พอสมควร

และ เสาหลักที่สี่ คือ การสร้างสมดุลระหว่างการเติบโต กับความสามารถที่จะล้มแล้วลุกได้ไว ในสภาวะที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะเกิดโรคระบาดใหม่ได้อีก ควรจะกระจายความเสี่ยงด้วยการทำให้แหล่งรายได้มาจากหลายทาง ไม่พึ่งพิงต่างประเทศมากเกินไป ทำฐานภาคเกษตรให้แข็งแรงเป็นหลังอิงได้ มีการกระจายความเจริญที่ทำให้มีเครื่องจักรทางเศรษฐกิจหลายตัว เพราะหากเกิดอะไรขึ้น แต่ละตัวมันยังพอเดินได้  ก็จะลดความเสี่ยงของประเทศ และทำให้การฟื้นขึ้นมาใหม่ดีกว่าเก่า

ดูเพิ่ม

รายงานวิจัย 10 องค์กรระหว่างประเทศ มองไทย หลังโควิด-19

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active