มนุษย์ก็เหมือนต้นไม้ มีงอกงาม มีโรยรา เห็นได้จากทุก ๆ เดือนกันยายนแห่งการสิ้นปีงบประมาณ เหมือนฤดูกาลผลัดใบของข้าราชการและเหล่ามนุษย์ออฟฟิศที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์
หลายคนมองชีวิตวัยนี้ ว่าคล้ายจะตั้งต้นใหม่ แต่ในยุคที่ใคร ๆ ต่างบอกว่าอายุเป็นเพียงตัวเลข เกษียณสุขใจจะทำอย่างไรได้บ้าง
The Active สนทนากับ “ตุ่น – พนเทพ สุวรรณะบุณย์” แห่ง ดึกดำบรรพ์ Boy Band และ วงนั่งเล่น – Nanglen Band นักดนตรีสูงวัยที่ใจยังเฟี้ยว ซึ่งหลายคนไม่เชื่อว่าเขามีอายุเลยเส้นเกษียณเกือบ 10 ปีแล้ว
ช่วงบ่ายอ่อน ๆ ในวันที่อากาศแสนร้อนอ้าว
ทีม The Active รวมตัวอยู่ใต้ตึกหนาหน้าซอยนวมินทร์ 45 กทม. อันเป็นฐานที่มั่นของคนทำงานพัฒนาชุมชน คุ้นเคยกันในชื่อ ‘สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.’
เบื้องหน้าของเรากำลังคึกคักด้วยบรรยากาศเตรียมงานเวทีสาธารณะ ที่ The Active มาเปิดวงคุยเรื่องคนไร้บ้าน ไม่ทันทอดสายตาได้ถ้วนทั่ว เสียงเครื่องดนตรีสากลเกือบ 10 ชนิด ก็ดังอึกทึก ดึงสายตาไปยังคนดนตรีที่น่าจะมีอายุรวมกันเกินครึ่งศตวรรษ
“เสียงยังไม่ค่อยดี ตรงนั้นเสียงไม่ดัง ลองแก้ตรงนี้หน่อยสิ”
เจ้าของเสียงคุยที่เราได้ยิน คือ กลุ่มศิลปิน ‘วงนั่งเล่น’ ผู้ผ่านเบื้องหลังโลกดนตรีมาอย่างโชกโชน
สี่ซ้าห้าสิบปี ยังน้อยไปสำหรับบางคน ที่ดันศิลปินสุดฮอตให้มีเพลงฮิตนับไม่ถ้วน ก่อนชวนกันมาอยู่เบื้องหน้าในช่วงอายุที่ใคร ๆ ต่างเรียกว่า “วัยเกษียณ”
ถ้ามองข้ามเรื่องอายุ ศิลปินกลุ่มนี้ยังขมักเขม้นแข็งแรง จริงจังกับเตรียมตัวก่อนแสดงจริงในอีก 4 ชั่วโมง แม้นเป็นวิถีที่พวกเขาเชี่ยวชาญ แต่สมาชิกวงนั่งเล่นทั้ง 10 คน ก็ไม่ได้ลดความทุ่มเทหรือย่นระยะทำงาน แถมให้เวลาเหลือเฟือ
ได้จังหวะเสียงเพลงเข้าที่ ‘The Active’ ไม่รีรอ ขอคั่นเวลา ชวนหัวหน้า ‘วงนั่งเล่น’ มานั่งคุยถึงเรื่องราวความเป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตจนตึกผลึกในบรรยากาศสบายอารมณ์
เราขออนุญาตเรียกชายมาดอบอุ่นที่อยู่ตรงหน้าว่า “พี่ตุ่น” หรือ “พนเทพ สุวรรณะบุณย์” ที่หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะสมาชิกวงดนตรีรุ่นเก๋า ‘ดึกดำบรรพ์บอยแบนด์’
ผมหงอกขาวน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยยืนยันว่าชายคนนี้มีอายุ 69 ปีแล้วจริง ๆ เพราะยังคล่องแคล่วอยู่มาก ผิดจากภาพผู้สูงอายุในจินตนาการของใครหลายคนที่คงต้องวาดภาพใหม่
คน 2 วัย ที่มีอายุต่างกัน 4 ทศวรรษ คุยกันอย่างเป็นเรื่องราว ‘พี่ตุ่น’ เล่าที่มาของการตั้ง ‘วงนั่งเล่น’ ภายใต้ใบหน้าเปื้อนยิ้มเหมือนเพิ่งผ่านมาไม่นาน
‘วงนั่งเล่น’ เสียงดนตรีจากคนสูงวัยหัวใจยังเฟี้ยว
ยาวนานกว่า 10 ปีแล้ว กับการก่อตั้งวงดนตรีน้องใหม่โดยคนวัยเก๋า พี่ตุ่นวัย 50 ปลายในตอนนั้น อยากส่งงานดนตรีถึงแฟนเพลงบนทางสายตรง
“วงนั่งเล่นมาจากคนเบื้องหลังที่ทำงานมาด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นคนแต่งเพลง เป็นโปรดิวเซอร์ เป็นซาวด์เอ็นจิเนีย วันหนึ่งตัวพี่รู้สึกเบื่อ ๆ กับการทำงานแต่งเพลงในรูปแบบเดิม ๆ เรามีความรู้สึกว่างานดนตรี ถ้าจะทำออกมาให้มีชีวิตจริง ๆ มันควรจะเล่นมาจากมือของเรา จากที่อยู่ข้างหลังก็เลยมาฝึกซ้อมกีตาร์ ชวนพรรคพวกมาสนุก ๆ กันดีกว่า”
ย้อนยาวไปในชีวิตวัยแรงงานของพี่ตุ่นกับมิตรสหายทั้ง 9 ต่างมีหน้างานสร้างชื่อเสียงให้กับศิลปินมากหน้า ถ้านำชื่อของพวกเขาไปค้นหาในกูเกิลจะเห็นประวัติยาวเฟื้อย
…… ส ม า ชิ ก ว ง นั่ ง เ ล่ น ……
เป๋า-กมลศักดิ์ สุนทานนท์ (Lead Vocal)
ตุ่น-พนเทพ สุวรรณะบุณย์ (Nylon Guitar)
เต้ง-ธนิต เชิญพิพัฒนสกุล (Drums)
พง-อิศรพงศ์ ชุมสาย ณ อยุธยา (Keyboard)
ป้อม-เกริกศักดิ์ ยุวะหงษ์ (Percussion)
แตน-เศกสิทธิ์ ฟูเกียรติสุทธิ์ (Keyboard)
ตุ๋ย-พรเทพ สุวรรณะบุณย์ (Drums)
ตู๋-ปิติ ลิ้มเจริญ (Acoustic Guitar)
เก่ง-ณัฏฐ์ ทองนาค (Electric Guitar)
โอ-ศราวุธ ฤทธิ์นันท์ (Bass)
การกระโจนตามฝันของวงนั่งเล่นในยามสูงวัย น่าจะบันดาลใจให้คนอายุมากที่คาดการณ์กันว่าภายในปี 2579 ไทยคงหนีไม่พ้นการเดินเข้าสู่ “สังคมสูงวัยแบบสุดยอด” ที่หันไปทางไหนก็จะเต็มไปด้วยคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 30 ของประชากร
ถึงเวลานั้นเราคงเห็นผู้สูงอายุแบบชิค ๆ คูล ๆ ใช้ชีวิตไม่สนอายุมากขึ้น
“เรื่องอายุที่วงไม่สนใจเลย อย่างคนที่แก่ที่สุดก็คือตัวพี่นี่แหละ 69 ปีเต็ม ไม่เคยคิดถึงอายุ ความรู้สึกตอนนี้มันก็คือคนคนเดียวกับเมื่อตอนที่เป็นวัยรุ่น คือตื่นมายังอยากแต่งเพลง ยังอยากจะไปนั่งกินกาแฟ ยังอยากไปเดินเล่น มันก็คือตัวตนคนเดิม ข้างนอกมันจะเป็นยังไงเราก็อย่าไปสนใจเท่านั้นเอง”
ส่วนดีของงานศิลปะ คือ ไม่มีเส้นตัดเรื่องวัยเกษียณ ถ้าร่างกายยังดี สุขภาพดี ความคิดและการใช้ชีวิตก็ย่อมเสมอภาคกับตอนหนุ่ม ๆ
แต่พี่ตุ่นก็เข้าใจการโคจรของโลกว่าอายุ เป็นทางแพร่งการมีตัวตนสำหรับหลายคน โดยเฉพาะคนทำงานในระบบซึ่งถูกขีดเส้นเกษียณที่อายุ 60 ปี
“คนที่เคยทำงานอยู่ ๆ วันหนึ่งตุ๊บไม่มีอะไรเลย บางทีมันน้อยใจ มันถึงกับซึมเศร้าได้เลยนะ ถ้าเผื่อยังติดอยู่กับสิ่งนั้นก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสำคัญ อยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ทำงาน คนเราพอรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสำคัญ มันลดทอนกำลังใจไปเยอะนะ”
‘ตกผลึกชีวิต’ มองโลกอย่างเข้าใจผ่านเนื้อเพลง
ชีวิตที่โชกโชนตามการจัดสรรเวลาโดยธรรมชาติ ย่อมให้ประสบการณ์ถมความเป็นคน ทั้งมุมสำเร็จล้มเหลว
อายุมากขึ้นก็เป็นเรื่องดี ทำให้พี่ตุ่นมีโจทย์ชีวิตน้อยลง การสร้างวงดนตรีชื่อใหม่ เลยเหมือนการตั้งสมาคมของคนอยากมีพื้นที่ทำกิจกรรมสนุก ๆ กับเพื่อน
“ในชีวิตผ่านมาก็เจอหลายเรื่องจนรู้สึกว่าทำใจได้ ตอนนี้คิดแค่ว่าหลังจากนี้จะทำอะไรกับพรรคพวกดี เอาสนุก ๆ เดี๋ยวนี้สิ่งที่มันสนุกคือวันที่ได้นัดซ้อมดนตรีกัน อาทิตย์หนึ่งเรานัดกัน 1-2 วัน บางทีไม่มีงานอะไร แต่สิ่งที่ได้คือเราได้มาเจอกัน ได้มาจอยกัน ได้มาคุยกัน พอคุยกันมันก็ได้เฮ พอเฮมันก็ทำให้เรารู้สึกจิตใจดี”
ไม่ใช่เพียงความสนุกส่วนตน วงนั่งเล่นมีวิธีทำเพลงที่ให้มุมมองความเป็นมนุษย์สังคมด้วยแนวเพ่งชีวิต คือ จ้องมองเรื่องราวต่าง ๆ จากแว่นกรองคนนอกส่งไปยังคนข้างใน จะว่าพวกเขาเป็นนักขับเคลื่อนสังคมก็ได้ แต่เป็นนักขับเคลื่อนผ่านเนื้อเพลง
“วงการเพลงทุกวันนี้ 90% เป็น Love Song หรือเพลงรัก ส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องความผิดหวัง ความคิดถึง เรื่องความรู้สึกของตัวเองทั้งนั้น เราแต่งเพลงแบบนี้มาทั้งชีวิต จะทำเพลงอะไรต้องมองว่าขายได้ กระทั่งถึงตอนที่เลิกทำงานเราไม่ต้องคิดเรื่องนี้แล้ว เราก็มาคิดเรื่องที่เราอยากทำมากกว่า”
- Nanglen Group – วงนั่งเล่น (ช่องยูทูปที่รวมงานเพลงของวงนั่งเล่น)
‘มนุษย์วัยเก๋า’ กับโลกดิจิทัล 2020
วันนี้โลกออนไลน์กลายเป็นโลกเสมือนจริงที่คนอายุเหยียบ 70 ปีอยู่กับมันได้อย่างคล่องมือ
พี่ตุ่นเล่าว่าวงนั่งเล่น ไม่ได้วางตัวตนเป็นวงดนตรีแบบเก่า แต่ตั้งใจเรียนรู้โลกใหม่ในฐานะ Content Creator
หลายปีมานี้ เฟซบุ๊กและยูทูปกลายเป็นหน้าบ้านที่มิตรสหาย 10 คน ใช้พบแฟนเพลง ใครคิดอะไรก็โพสต์ แบ่งปันสุขทุกข์ผ่านผลงาน ที่มีผู้ติดตามกว่า 6 แสนชีวิต
“เวลาแต่งเพลงเราก็อยากให้คนฟังใช่ไหม เมื่อก่อนถ้าไม่ได้อยู่ในค่ายเทปต่าง ๆ ก็จะไม่มีช่องทางสื่อสารกับคนเยอะ ๆ ทุกวันนี้เราถือว่าโซเชียลมีเดียคือสื่อของเรา อยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการอย่างไรเท่านั้นเอง ซึ่งมันโอเค ก็สนุกดี”
แม้ทุกวันจะไม่ใช่วันดี ๆ แต่ถ้ามองให้ดี สิ่งดี ๆ มีอยู่ทุกวัน
ถูกบอกย้ำ ๆ ก่อนจะร้อง ‘Something Good’ ชื่อเพลงของวงนั่งเล่น
เมื่อพวกเขามองตัวเองเป็น Content Creator
เวลาที่โลกขยับหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้อาวุโสกลุ่มนี้เลยมักหาแง่งามมาเสนอในมุมมองใหม่ อย่างการแต่งเพลงหน้ากาก และจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ในช่วงที่ทุกคนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19
“เมื่อก่อนทางวงจะไปเล่นตามที่ต่าง ๆ ที่เราอยากไป มีคนดูสัก 200-300 คน เราก็แฮปปี้แล้ว เล่นข้างถนนเราก็เล่นบ่อย คลองเตยก็ไปเล่นมาแล้ว พอมีโควิด-19 เข้ามา มันไม่มีตรงนี้แล้ว มันก็เหลืออีกทางหนึ่งคือโซเชียลมีเดียที่เราทำอยู่ ก็เลยคุยกันว่าหาอะไรทำสนุก ๆ กันไหม แต่ว่าไม่อยากให้เป็นไลฟ์ปกติ เพราะว่าช่วงนั้นทุกคนไลฟ์หมด เลยคุยกันว่าถ้าเราจะไลฟ์สด อยากให้มันพิเศษนิดหนึ่งโดยใช้แอปพลิเคชันซูมสร้างการมีส่วนร่วมกับคนดูในรูปแบบ Interactive Concert โดยตัววงเล่นในสตูดิโอ ส่วนคนดูทางบ้านเราก็คุยกันได้ทักกันได้ มีคนดูแสนกว่าคน”
‘เสียงเพลงคือตัวตน’ คอนเสิร์ตคือพื้นที่ส่งความหมาย
วันที่เรานั่งสนทนากับพี่ตุ่น
เป็นวันที่วงนั่งเล่นออกมาบรรเลงดนตรีสดข้างนอกครั้งแรกในรอบหลายเดือน หลังจากรัฐบาลมีมาตรการคลายล็อก ความสุขพอสังเขปของศิลปินรุ่นเก๋าที่มองโลกอย่างเข้าใจ เห็นได้ชัดผ่านสีหน้าเวลาสร้างสรรค์เสียงเพลง
วันนี้เป็นงานการกุศลที่มีผู้ชมเป็นคนไร้บ้าน และคนทำงานพัฒนาชุมชนประมาณร้อยคน
การเป็นศิลปินอายุมากก็มีดี คือ มั่นคงพอ ที่จะเลือกรับงานไม่สนรายได้ ขอเพียงพวกเขาได้อยู่ในความรู้สึกร่วมกับคนดู ถ้าบรรยากาศคึกคัก พวกเขาก็บอกว่าคุ้ม
“เรามาถึงจุดที่ใช้ชีวิตมาเยอะแล้ว ถ้าจะให้รับจ้างไปเล่นทั่วไปในร้านอาหาร ถ้าไม่ใช่คนรู้จักหรือคนสนิทเราไม่รับ เพราะว่าวงนั่งเล่นเริ่มมาจากการที่เราอยากจะสร้างเพลงในแนวของตัวเอง ฉะนั้นเวทีที่เราอยากจะไปเล่น เราอยากจะสื่อสารเรื่องราวในแต่ละเพลง ก็อยากให้คนที่สนใจจริง ๆ หรือคนที่ชอบเราจริง ๆ มานั่งฟัง หรือรูปแบบงานที่มีประโยชน์กับสังคม ตอนแรกคิดว่าถ้าจะมีคนชอบน่าจะเป็นคนวัยเรา แต่เดี๋ยวนี้มีโซเชียลเข้าถึงคนได้เยอะ เมื่อไม่กี่วันเพิ่งเห็นน้อง ๆ ที่เป็นวัยรุ่นมาฟัง ร้องเพลงได้ ตกใจเหมือนกันนะแต่ก็ดีใจ”
‘วัยเกษียณ’ ผู้เปลี่ยนแปลง
โลกที่ถูกครอบครองโดยคนหนุ่มสาวกำลังเปลี่ยนไป
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่าปีหน้า (พ.ศ. 2564) ไทยจะมีผู้สูงอายุไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน เป็นการกระโจนเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ครั้งแรก คือมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด 67 ล้านคน บ้านเราเป็นประเทศที่สองของอาเซียนที่เป็นสังคมสูงวัยสมบูรณ์รองจากสิงคโปร์
คงสมควรแก่เวลา ที่ความคิดความเชื่อและการจัดการในสังคมหลาย ๆ ด้านต้องปรับใหม่ หนึ่งในนั้น คือพื้นที่การทำงานที่ไม่จำกัดด้วยตัวเลขอายุ
“การทำวงนั่งเล่นไม่ได้มองว่าจะไปสุดทางตรงไหน วางแผนแค่เราเริ่มทำแล้วก็เดินไปแค่นั้น พี่มีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าคนเราถ้าเผื่ออยู่หลังประตู เราก็จะอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเรากล้าที่จะก้าวพ้นประตูไปหนึ่งก้าว เราไม่รู้ว่าข้างหน้ามันจะดีไม่ดี แต่ว่าสิ่งที่ได้ก็คือพอก้าวไปปั๊บ เราหันซ้ายหันขวา เราเห็นอะไรมากขึ้น”
ที่ผ่านมารัฐบาลไทยพยายามบอกว่าให้ความสำคัญกับนโยบายหลาย ๆ อย่าง ที่มุ่งวางแผนรองรับกลุ่มคนสูงวัยซึ่งกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ลำพังหากมองเพียงเบี้ยยังชีพเดือนละ 600-1,000 บาท คงสานฝันชีวิตสุขใหม่ในยามสูงวัยได้ยากอยู่
“ถ้าเป็นคนที่ไม่มีภูมิหลังมาเลย ไม่มีมรดก คงทำตามฝันได้ยากกว่า ยกตัวอย่างคนคนหนึ่งโตมาอยากจะมีบ้านสักหลังไม่ง่าย มันคงดีถ้ารัฐบาลมีสวัสดิการสนับสนุนเรื่องพวกนี้ เพราะเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตสิ่งหนึ่งเลย อันนี้เป็นความฝันเลยนะถ้ารัฐบาลสามารถมีสวัสดิการด้านนี้ให้กับผู้สูงวัยได้จะเป็นบุญมาก เราก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่อะไรบันดาลให้มันเป็นไปได้ แต่ถ้าเผื่อถามว่าอยากจะเห็นแบบนั้นไหม ใช่อยากจะเห็น”
ถึงจังหวะร่ำลา หลังใช้เวลาสนทนากับ “ตุ่น – พนเทพ สุวรรณะบุณย์” ร่วมครึ่งชั่วโมง ก็พอให้เราได้เห็นตัวตนของคนสูงวัยที่ใจยังเฟี้ยว โดยได้ทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า ถ้าคิดจะทำอะไร อย่าล้มเลิกง่าย ๆ เพราะการล้มเลิก คือความล้มเหลวขั้นต้นของคนที่ไม่มีวันไปถึงจุดหมาย และไม่อยากให้คำว่า “คนสูงวัย” เป็นคำที่น่ากลัวของสังคมไทย