ถอดรหัส “ประยุทธ์” เปิดตัวใหญ่ 9 ม.ค. 66

ท่วงท่า และย่างก้าว บนเส้นทางการเมือง เปรียบเทียบเวทีปราศรัยใหญ่ 2562 เบอร์เดิม ย้ายค่าย กับเป้าหมายครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี


9 มกราคม 2566 ถือฤกษ์ วันราชาโชค วันไชยโชค และวันอมริสสโชค ตามปฏิทินไทย เปิดตัว ‘พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานพรรครวมไทยสร้างชาติ หวังต่อชีวิตทางการเมือง 2 ปีสุดท้าย หันหลังให้พรรคพลังประชารัฐ และพี่ใหญ่ 3 ป. ‘พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทุกท่วงท่า และย่างก้าวต่อจากนี้จึงสำคัญ และเป็นตัวกำหนดวาระการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะถึง

จะว่าไปแล้วการเปลี่ยนบทบาทจาก “ทหาร” มาสู่ “นักการเมือง” ของ พล.อ. ประยุทธ์ เริ่มต้นตั้งแต่การเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถืออำนาจบริหารเบ็ดเสร็จในปี 2557 แล้ว แต่กระนั้นเอง หากนักการเมือง หมายถึงที่มาที่ยึดโยงกับพรรค และเสนอตัวเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอาจเริ่มนับในปี 2562 ที่มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า บทบาทในฐานะนักการเมืองของ พล.อ. ประยุทธ์ ชัดเจนที่สุดในครั้งนี้ ทั้งกระแสข่าวการสมัครร่วมเป็นสมาชิกพรรค รับหน้าที่ประธานพรรค ต่างจากการถูก “รับเชิญ” ให้เป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรคพลังประชารัฐเพียงอย่างเดียว ในการเลือกตั้งปี 2562

เปิดตัวใหญ่ ไฟกระพริบ ไม่แพ้เลือกตั้ง 62 

หากย้อนหลับไปช่วงการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ ปักธงเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรค ทั้งที่ไม่ได้มีรายชื่อรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือแม้แต่จะเป็นสมาชิกพรรค ชูจุดขาย “เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่” ก่อนมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ในการปราศรัยครั้งใหญ่ วันที่ 22 มีนาคม2562 ณ สนามเทพหัสดิน กับการปราศรัยครั้งแรกในชีวิตการเมืองของ พล.อ. ประยุทธ์ 

The Active รวบรวมข้อมูลสำคัญ ที่คอการเมืองคงรอติดตามว่าการเปิดตัวในวันนี้ จะเหมือน หรือต่างออกไปจากเดิมหรือไม่ เรื่องแรกที่แตกต่างอย่างแน่นอน คือ “สถานะ” ของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ไม่ได้มาในฐานะแขกรับเชิญ แต่เข้ามาในฐานะสมาชิกของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ในขณะที่ “สถานที่” ในการจัดเวที เรียกได้ว่าเล่นใหญ่กว่าเดิมลงทุนเปิด “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” เป็นสถานที่จัดงาน ตอกย้ำความสำเร็จการประชุมผู้นำ APEC ที่รัฐบาลเชื่อว่าเป็นผลงานสำคัญ ในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา 

เมื่อสถานที่ใหญ่ สมค่าการลงทุนลงแรง แหล่งข่าวภายในพรรครวมไทยสร้างชาติ ยังออกมาเปิดเผยว่างานนี้คาดว่าจะมีทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ และประชาชนผู้สนับสนุนมาร่วมงานร่วม 10,000 คน จากเดิมที่ออกมาบอกว่าอย่างน้อย 5,000 คน เป็นสิ่งที่น่าจับตาว่าจำนวนมวลชนที่มาร่วมงานจะเป็นเท่าใด เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในปี 2562 ที่พรรคพลังประชารัฐจัดเตรียมเก้าอี้รองรับประชาชนถึง 15,000 คน แต่มาเข้าร่วมงานจริงเท่าไหร่ ยังไม่ปรากฏชัด

สีสันเล็กน้อย ที่อาจแทนคำมั่นสัญญา และความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ เพลงที่ใช้ในการเปิดตัว – และปิดการปราศรัย เพราะ หากย้อนหลับไปเมื่อปี 2562 เวทีของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นด้วยเพลง “หยุดตรงนี้ที่เธอ” อ้อนมิตรรักแฟนการเมืองอย่างเต็มที่ พร้อมจบลงด้วยเพลง “จับมือกันไว้” ของพี่เบิร์ด ธงไชย สะท้อนเส้นทางของความร่วมมือ ที่จะเกิดขึ้นหลังตนเองได้เป็นนายกฯ น่าสนใจว่าการเปิดตัวในครั้งนี้ จะเริ่มด้วยเพลงอะไร ด้วยความรู้สึกแบบไหน 

เนื้อหาตลอดการปราศรัยของ พล.อ.ประยุทธ์ ราว 7 นาทีในปี 2562 เล่าความตั้งใจของตัวเอง และการเสียสละที่เข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีเพื่อคนไทย หวังสร้างความสงบสุข ปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม สานต่อนโยบายที่ได้ทำไว้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย กับวลีเด็ดที่ทิ้งเอาไว้ว่า

“ผมให้ท่านทั้งชีวิตและจิตใจ จะยอมตายเพื่อแผ่นดินผืนนี้และต้องรักษาไว้ให้ลูกหลาน ประเทศไทยจะไม่ล้มอีกต่อไปเรากำลังร่วมกันทำประวัติศาสตร์ให้กับประเทศไทยในสิ่งที่ดีกว่า”

แต่การเปิดตัวครั้งนี้ กำหนดการจากแหล่งข่าวพรรครวมไทยสร้างชาติ กำหนดเวลาเอาไว้ 30 นาที มากกว่าหลายเท่าตัว แต่อาจไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย และคงไม่มีการประเมินล่วงหน้า ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะมาด้วยเนื้อหาอะไรเพราะ การปรากฎ และถ้อยแถลงของ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นเรื่องที่ไม่อาจประเมิน และคาดเดาได้ แต่เมื่อสายตาทุกคู่จับจ้อง ย่อมมีนัยยะทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ท้ายที่สุด การปรากฎตัวในครั้งนี้ อาจไม่ได้ตอกย้ำเพียงว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเดินหน้าต่อสู้ในเส้นทางการเมืองต่อไป แต่เป็นการแสดงความพร้อมของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ว่าหากจะดันให้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งในสมัยหน้า จะมีกระแส และกระสุน เพียงพอ เพื่อไปสู่เป้าหมายหรือไม่ แต่หากงานออกมาในทางตรงข้าม ไม่สามารถเรียกความมั่นใจของสังคมได้ คงเป็นโอกาสของพรรคการเมืองอื่นที่ต้องนำเสนอทางเลือกใหม่ของสังคมต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์