การรวบรวมรายชื่อประชาชนมากกว่า 30,000 รายชื่อ เพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เมื่อ 8 ปีก่อน นำมาสู่การชะลอ “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” หรือที่รู้จักกันในนาม “ทางเลียบเจ้าพระยา”
การคัดค้านโครงการฯ โดยภาคประชาสังคมเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงการถูกระงับด้วยคำสั่งของศาลปกครองเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม ว่าการต่อสู้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ยังเป็นสิ่งชอบธรรมที่ประชาชนสามารถทำร่วมกันได้เพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ การพัฒนาของรัฐต้องฟังเสียงประชาชน
The Active ชวนถอดบทเรียนการขับเคลื่อนประเด็นนี้ ผ่านบทสัมภาษณ์ ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Friends of the River และ ส.รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ในฐานะทนายความผู้ฟ้องคดี พร้อมมองอนาคตของเจ้าพระยากับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะจากมุมมองภาคประชาชน
ความเดิมตอนที่แล้ว…
ย้อนกลับไป ปี 2558 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสมัยของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติ “โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เมื่อ 12 พ.ค. 2558 ตามแผนงานก่อสร้างถนนเลียบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางสองฝั่ง ๆ ละ 7 กิโลเมตร รวม 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อให้เป็นทางสัญจรโดยใช้จักรยาน การชมทัศนียภาพ การพักผ่อนหย่อนใจและนันทนาการ การกีฬาและการท่องเที่ยว ด้วยกรอบวงเงินงบประมาณ 14,006 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน (ม.ค. 2559 – ก.ค. 2560)
โครงการดังกล่าวถูกคัดค้านทั้งจาก สมาคมวิชาชีพสถาปัตยกรรม เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับองค์กรวิชาชีพ และเครือข่ายจำนวน 32 องค์กร ที่มีความเห็นว่าโครงการดังกล่าว อาจก่อให้เกิดผลกระทบ และปัญหาในระยะยาว ควรมีการศึกษารายละเอียดอย่างครบถ้วน ทั้งด้านผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของประชาชน โบราณสถาน และการป้องกันน้ำท่วม
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2561 เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชน ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย (ผู้ฟ้องคดี) จำนวน 12 ราย ได้ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) และกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ต่อศาลปกครองกลาง
เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา) เนื่องจากไม่ดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมายเรื่องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการจัดการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนดำเนินโครงการ ดำเนินการผิดกฎหมายผังเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ต่อมา 23 เม.ย. 2562 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว ด้วยการสั่งให้ชะลอการดำเนินโครงการไปจนกว่าจะมีคำพิพากษา ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ 2 กระทรวงมหาดไทย ที่ 3 กรุงเทพมหานคร ที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดี ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นให้ชะลอโครงการไปจนกว่าคดีจะมีคำพิพากษา
จนกระทั่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อ 5 ก.พ. 2563 ห้ามมิให้กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 4) ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น และ 22 ก.พ. 2566 ศาลปกครองกลางมีความเห็นจากการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ระงับโครงการก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ก่อนกำหนดพิพากษาคดีในวันที่ 9 มี.ค. 2566 โดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งว่า หากผู้ถูกฟ้องคดีต้องการจะดำเนินโครงการต่อจะต้องทำตาม 4 ข้อ ดังนี้
- ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็น ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการรับฟังความคิดเห็น พ.ศ. 2548
- ดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กฎหมายกำหนด ถึงแม้จะไม่มีกำหนดไว้ในประกาศโครงการที่ต้องทำ แต่โครงการนี้มีผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงต้องทำ EIA
- ดำเนินการขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าใหม่
- ดำเนินการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารต่ออธิบดีกรมศิลปากร เนื่องจากการดำเนินการโครงการจะส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน
ขบวนการขับเคลื่อนของภาคประชาชนเพื่อปกป้องพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา
ยศพล บุญสม ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Friends of the River เล่าว่า ตอนที่มีโครงการออกมาแรก ๆ นั้นในฐานะคนเมืองและคนทำงานออกแบบ ก็รู้สึกตกใจ จึงได้ส่งเสียงและเปิดพื้นที่ให้สังคมได้ร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมนำเสนอนโยบายถึงรัฐบาลว่าจริง ๆ แล้ว ประชาชนมีความต้องการอย่างไร การรวมกลุ่มกันในครั้งนั้นทำให้เห็นว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นความสำคัญของพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนักออกแบบ นักผังเมือง ผู้ที่ทำงานเรื่องระบบนิเวศในเมือง ชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา กลุ่มคนที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม แม้กระทั่งผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิพลเมือง เกิดการรวมตัวกันขึ้นมาเพื่อร่วมกันรณรงค์ และทำให้เกิดความตื่นตัวอย่างมากในการเคลื่อนไหวเรื่องนี้
“ตอนนั้นหลายคนก็ไม่รู้เลยว่ามีโครงการอะไรแบบนี้เกิดขึ้น แต่การการรวมกลุ่มกันสื่อสาร ช่วยจุดประกายให้สังคมได้รับรู้มากขึ้น และตั้งคำถามกับรัฐโดยตรงว่า เราทำโครงการแบบนี้กันไปทำไม เพราะไม่ใช่แค่ 1.4 หมื่นล้านบาทในระยะแรก แต่ถ้ารวมทั้งโครงการก็แตะ 3-4 หมื่นล้าน และเป็นคำถามว่ามันคุ้มค่าไหมกับสิ่งที่อาจจะสูญเสียไป เช่น ระบบนิเวศ วิถีชีวิตชุมชน และการดูแลรักษาระยะยาวจะเป็นอย่างไร ก็กลายเป็นวาระที่เปิดโอกาสให้ได้มีพื้นที่ถกเถียงกัน สร้างบรรยากาศที่ดีของการพูดคุยประเด็นเชิงนโยบาย”
ยศพล บุญสม
ยศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าขณะนั้นจะมีการว่าจ้างสถาบันการศึกษา (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) ให้มาทำการศึกษาแล้วก็ตามแต่กลับกลายเป็นเหมือนเครื่องมือมากกว่า เพราะก่อนหน้านั้นได้พยายามที่จะเปิดประมูลราคาก่อสร้างและออกแบบจากบริษัทเอกชนแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจเข้าร่วม จึงมาลงเอยที่สถาบันการศึกษาให้ช่วยแต่ก็ถูกสังคมจับจ้อง ซึ่งเครือข่ายเองมองว่าควรสร้างกระบวนการที่ถูกต้องมากกว่า
“ถ้าจะมองให้ชัดคือมันเหมือนการมีถนน 3-4 เลนจะลงไปอยู่ในแม่น้ำ หากเทียบกับต่างประเทศเขาก็อาจจะพัฒนาในพื้นที่บนฝั่งแทน ไม่ใช่โครงสร้างขนาดใหญ่ขนาดนี้ ซึ่งเจ้าพระยาก็ไม่ได้กว้างขวางขนาดนั้นด้วย นักวิชาการต่าง ๆ ชี้ชัดว่าส่งผลกระทบแน่นอน การเร่งรัดกำหนดการที่จะทำการศึกษาในระยะเวลาที่กำหนด การใช้สถาบันการศึกษาเข้ามาทำงานภายใต้โจทย์ที่มันผิด ก็ไม่ได้หมายความว่าจะออกมาเป็นผลลัพธ์ที่ดี คุณตั้งโจทย์มาแล้วว่าจะสร้าง ไม่ได้ถามชาวบ้านว่าจะเอาไหม แต่ไปถามว่าจะเอาแบบไหนอย่างไร ดังนั้น เมื่อผิดตั้งแต่โจทย์ จะให้ใครมาทำผลลัพธ์ก็ไม่ตอบว่าจะมีผลดีต่อแม่น้ำอย่างไร”
ยศพล บุญสม
การรณรงค์ในครั้งนั้นเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบทั้งการจัดนิทรรศการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป ลงพื้นที่ในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ เอาข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ หรือการเวิร์กช็อปกับนักศึกษา เพื่อสร้างข้อเสนอที่ดีและมีความหลากหลาย การลอยเรือประท้วงในแม่น้ำก็ทำมาแล้ว ทำจดหมายเปิดผนึกก็แล้ว อะไรก็แล้ว รัฐบาลก็ยังไม่ถอยสักที จึงปรึกษากันในทีมว่าอาจจะต้องใช้กฎหมายเข้ามาเป็นเครื่องมือให้รัฐหันมาฟังกันอย่างจริงจัง จึงนำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง และมีผลให้หยุดยั้งโครงการ
“ทำให้เราเห็นการว่ารณรงค์ และเสียงของประชาชนยังมีความหมาย เราล่ารายชื่อของประชาชนที่คัดค้านกว่า 30,000-40,000 รายชื่อ ซึ่งทำให้ศาลได้เห็นว่ามันส่งผลกระทบจริง ๆ ถึงพี่น้องประชาชนทุกคน หลายข้อโต้แย้งของรัฐอาจจะบอกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำเกี่ยวอะไรด้วย เป็นส่วนหนึ่งในผลกระทบหรือเปล่า แต่ทุกคนบอกว่าเกี่ยวเพราะถ้ามันเกิดการขวางกั้นพื้นที่ริมน้ำ ทั้งคนที่อยู่ริมน้ำจนปลายน้ำต้องได้รับผลกระทบ และแม่น้ำเจ้าพระยาก็เป็นพื้นที่สาธารณะสำคัญของคนทั้งประเทศ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ถ้าโครงการที่ดำเนินการโดยมีธงไม่มีความโปร่งใสในการรับฟังความคิดเห็น โครงการอื่น ๆ ก็จะซ้ำตาม เราจึงไม่อยากให้มันเป็นบรรทัดฐานแบบนี้เกิดขึ้น และสร้างความเดือดร้อนทั้งระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของผู้คนอีกต่อไป”
ยศพล บุญสม
สู้หลังชนฝา ขอพึ่งพาพระเดชพระคุณ ศาลปกครอง
ส.รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ช่วงแรก ๆ ที่เครือข่ายจะฟ้องศาล ก็คิดกันว่าใครจะเป็นผู้ฟ้อง ซึ่งเราคิดว่าไม่ใช่แค่ผู้ที่อยู่ริมแม่น้ำ แต่แม่น้ำเป็นของทุกคน ดังนั้น ทุกคนจึงมีสิทธิ์ในการฟ้อง เราเรียกว่าชุมชนกรุงเทพมหานคร ผู้ฟ้องคดีจึงมีทั้งผู้ฟ้องคดีมีตั้งแต่คณะบุคคล กลุ่มเครือข่ายแม่น้ำ มูลนิธิต่าง ๆ ประชาชนทั่วไปในกรุงเทพมหานคร รวมถึงชาวบ้านที่เป็นชุมชนมาร่วมฟ้องด้วย ศาลก็ยอมรับความเป็นชุมชนในความหมายที่กว้างขึ้น และการรวมกลุ่มให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหา หลังจากเราได้ผู้ฟ้องแล้วก็มาถกกันเรื่องของประเด็นที่จะฟ้อง
“เราพบว่ามีการเปิดพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการน้อยมาก มีข้อมูลที่เปิดเผยน้อยมาก ในเว็บไซต์ก็มีข้อมูลน้อยมาก เราจึงตั้งประเด็นเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีเรื่อง EIA แม้เราจะรู้ว่าโครงการลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องทำ EIA ตามระเบียบของกระทรวงทรัพฯ แต่ถ้าไปดูตามรัฐธรรมนูญระบุว่าโครงการที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชัดเจน อย่างไรก็ต้องทำ EIA เราจึงใช้เงื่อนไขนี้ ยังไม่รวมถึงการขออนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เรื่องของผังเมือง การสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เป็นสิ่งที่เราเห็นว่ายังไม่มีการดำเนินการ สุดท้ายคือเรื่องของการที่จะไปสร้างอะไรในแม่น้ำ การใช้พื้นที่ ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน การจะเปลี่ยนให้เป็นอีกลักษณะหนึ่งจะต้องออก พ.ร.ก. หรือ พ.ร.ฎ. ต้องดูตามลักษณะการใช้งาน ซึ่งโครงการนี้ก็ไม่ได้มีการดำเนินงาน และสุดท้ายคือเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่เราใช้ดำเนินคดี”
ส.รัตนมณี พลกล้า
ส.รัตนมณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนที่เรายื่นฟ้อง ศาลกำลังพิจารณาอยู่เราก็ยังเห็นสัญญาณ ความพยายามที่จะเริ่มก่อสร้าง ซึ่งถ้าเริ่มสร้างแล้วก็จะเกิดปัญหาใหญ่ ถ้าสมมติเริ่มแล้วจะมาหยุด หรือยกเลิกจะเป็นความเสียหายที่มากขึ้น ก็เลยขอให้ศาลสั่งชะลอหรือยกเลิกก่อน เพราะดีกว่าการรอพิจารณาการพิพากษาซึ่งอาจจะใช้เวลานาน เป็นโชคดีมาก ๆ ที่ศาลให้การคุ้มครองก่อนจึงหยุดยั้งไว้ได้ เป็นความโชคดีต่อชุมชน และต่อรัฐด้วยที่จะได้ไม่ต้องเสียหายเชิงงบประมานไปมากกว่านี้
“ศาลสั่งว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื่องจากความเป็นศาลปกครอง จะไปยกเลิกโครงการโดยไม่เปิดโอกาสให้แก้ไขไม่ได้ ศาลก็คงมองว่าถ้าเขาไปแก้ไขทำตามกฎหมายดังที่มีคำพิพากษา ซึ่งถ้าเขาทำตามนั้นก็อาจจะได้รับการพิจารณาใหม่ แต่ว่าตอนนี้ทุกอย่างมันหยุด เพราะยังไม่มีการดำเนินการตามที่ศาลสั่ง ต้องกลับไปยังจุดเริ่มต้นใหม่ก่อน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละเงื่อนไขไม่ใช่เรื่องง่าย กรณีนี้ กทม. ก็ไม่ได้อุทธรณ์ ก็ถือว่า กทม. ยอมรับแล้วตามคำพิพากษา เขาอาจจะทำตามแผนก็ได้แต่ไม่เกี่ยวกับแม่น้ำ ทำอยู่บนฝั่งก็ทำได้”
ส.รัตนมณี พลกล้า
บทเรียนของโครงการนี้ผ่านคำพิพากษาสามารถเป็นประโยชน์สำหรับข้อพิพาทกรณีชุมชนกับรัฐในโครงการอื่น ๆ ได้ โดย ส.รัตนมณี กล่าวว่า มีหลายประการ คือ 1. โครงการรัฐทุกโครงการจะต้องทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มี 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น และขั้นตอนที่สองคือออกรายงานมาให้ประชาชนรู้ว่ารับฟังไปแล้วเป็นอย่างไร แต่ที่ผ่านมาเกือบทุกโครงการมีการจัดรับฟังความคิดเห็นแต่ไม่เคยเห็นรายงาน ซึ่งศาลพิพากษาและเขียนมาให้อย่างชัดเจนตามกฎหมายเป็นการย้ำเตือนถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานว่าหน่วยงานต่าง ๆ ต้องทำตามนี้ และชุมชนเองหากมีโครงการอะไรที่จะเข้าไปในพื้นที่ก็จะนำกรณีนี้ไปเป็นตัวอย่างของการต่อสู้ได้
2. คำว่า EIA หรือรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะไม่ใช่แค่การเขียนในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่างด้วยประเภทโครงการที่ต้องทำเท่านั้น แต่ถ้าโครงการไหนที่เข้าข่ายจะต้องทำอยู่แล้ว เราสามารถใช้ข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญมาต่อสู้ได้ ที่ผ่านมาอาจจะยังไม่มีการพิจารณาทางศาล แต่โครงการนี้เห็นชัดมาก ก็เป็นอีกบทเรียนที่ชุมชนอย่างไปยอม เราสู้เรื่องประเด็นนี้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด
3. ผู้ที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ในโครงการต่าง ๆ มีสิทธิ์เป็นผู้ฟ้องคดี บางทีในพื้นที่นั้น ๆ ชาวบ้านอาจจะถูกข่มขู่คุกคากทำให้ไม่กล้าพูดไม่กล้าวิจารณ์ แต่คนที่อยู่ข้างนอกอาจจะไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่เป็นคนที่เข้าใช้พื้นที่ก็สามารถฟ้องคดีได้ เช่นเดียวกับกรณีเขื่อนกันคลื่นที่หาดชลาทัศน์ ศาลก็ให้เงื่อนไขว่าเมื่อเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้ประโยชน์ เท่ากับว่าทุกคนมีส่วนได้เสียจากโครงการที่จะเข้าไปทำ
พักรบ หวังพบโอกาส สร้างความร่วมมือภาคประชาชน-รัฐ
ยศพล กล่าวว่า ถ้ารัฐจะหยิบยกโครงการนี้ขึ้นมาทำใหม่ก็ย่อมทำได้ เพราะไม่ใช่โครงการของ กทม. แต่เป็นโครงการของรัฐบาล ซึ่งตอนนี้ก็มีรัฐบาลใหม่แล้ว เราคงไม่สามารถวางใจได้ว่าถ้าเกิดรัฐบาลเปลี่ยนแนวนโยบายอาจจะเปลี่ยน อาจจะหยิบยกขึ้นมา ปรับแก้กฎหมาย เพิ่มอำนาจหน้าที่ของกรมเจ้าท่าให้สามารถอนุมัติได้ ปรับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เอื้อต่อการเกิดโครงการ เพราะคนมักบอกว่าทุกอย่างแก้ได้ถ้าอยากจะทำให้เกิดโครงการ เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่าการที่จะทำให้สังคมยังไม่วางใจ และส่งเสียงถึงรัฐบาลว่าเรายังไม่หายไปไหน เราก็ยังคิดว่าจะต้องมาตั้งโจทย์ร่วมกันใหม่
8 ปีของการต่อสู้ที่ผ่านมาเราเห็นพัฒนาการหลายเรื่องทั้งฝั่งภาคประชาชนเองก็ตื่นรู้ว่าโครงการลักษณะนี้ หรือโครงการอื่น ๆ ที่เข้าข่ายไม่สามารถที่จะปล่อยได้ เราต้องคอยสอดส่องดูแลให้โครงการพัฒนาเมืองต่าง ๆ อยู่ในกระบวนการที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ การตื่นรู้ตรงนี้สำคัญต่อเนื่องว่ารัฐจะมองเห็นหรือไม่ เพราะเป็นพลังที่ไม่สามารถมองข้ามได้ คิดว่ารัฐก็มีความระมัดระวังมากขึ้น เพราะเราก็จริงจัง และเครือข่ายก็จริงจัง
ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับโจทย์ อย่างที่ศาลก็ชี้ว่ากระบวนการเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องและคัดค้านเพราะอยากให้ทำกระบวนการให้ถูกต้อง มีการรับฟัง มีการชี้แจงต่อสาธารณะ เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ดี ที่ผ่านมาเราก็พยายามทำให้เห็นว่าเราคือหุ้นส่วนการพัฒนาที่ดี
“คุณไม่ควรที่จะมองเราเป็นแค่ประชาชนที่มาเปิดพื้นที่รับฟังแบบให้ผ่านไปที ซึ่งบรรทัดฐานที่ศาลให้มาทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นด้วยว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายก็ยังยืนอยู่ฝั่งประชาชน และสิทธิทางกฎหมาย ไม่ใช่แค่กลุ่มเรา แต่ภาคประชาสังคมกลุ่มอื่นก็เช่นกัน เรามั่นใจที่จะสร้างบทสนทนาที่จะคุยกับรัฐอย่างที่เรามีหลักคิด และมีหลังพิง เป็นการต่อสู้ที่เราไม่ใช่แค่ค้าน แต่เรามีข้อเสนอ เราอยากเห็นการพัฒนาแม่น้ำแบบไหน เราเห็นต้นทุนภูมิวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ อยากให้มีการทำงานร่วมกันในอนาคต อยากให้รัฐเห็นโอกาสตรงนี้เช่นกัน”
ยศพล บุญสม
ฟังในรูปแบบพอดแคสต์