‘จิตแพทย์’ ห่วงวัยรุ่นใช้ ‘กัญชา’ เสี่ยงซึมเศร้า ฆ่าตัวตายสูง – จี้ปิดช่องว่างเปิดเสรี ไร้ควบคุมมิติสุขภาพ

เผยยุคโควิดคนป่วยจากสารเสพติดพุ่ง พบวัยรุ่นใช้กัญชา ส่งผลพฤติกรรม ความรุนแรง เชื่อมโยงภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ‘อัยการ’ แนะเพิ่มบทลงโทษ กรณีผู้ครอบครองไร้ใบอนุญาต เสนอตั้งกองทุนเยียวยาผลกระทบจากกัญชา กัญชง 

เมื่อวันที่ 6 พ.ค.65 ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการและการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting โดยมีจิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช นักกฎหมาย และอัยการ เข้าร่วม เพื่อแสดงความเห็นต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในกรณีเปิดเสรีกัญชา

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) บอกว่า สังคมเห็นด้วยในการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ และลุ้นการพิจารณาผ่าน ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… ในสภาผู้แทนราษฎร แต่หลายฝ่ายยังเป็นห่วงผลกระทบกับสุขภาพ ดังนั้นการใช้กัญชาต้องใช้อย่างถูกต้องเข้าใจผลข้างเคียง ทั้งนี้ จากการศึกษาย้อนหลัง 3 ปีต่อเนื่อง พบกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ใช้กัญชาแบบสูบเพิ่มมากขึ้น ส่วนการกิน การดื่ม พบเพิ่มทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะวัยกลางคน

นพ.สุจิระ ปรีชาวิทย์ โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ ระบุว่า สาร THC ในกัญชา ส่งผลต่อสมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทำให้การถอดรหัสพันธุกรรมและการสร้างโปรตีนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การใช้กัญชาอาจทำให้เกิดอาการโรคจิต มีหูแว่ว หวาดระแวง โรคซึมเศร้า ความคิด หรือความพยายามฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ยังทำให้โรคจิตเวชเดิมแย่ลง ทั้งโรคจิตเภท โรคอารมณ์สองขั้ว โรควิตกกังวล และ PTSD ปัญหาสำคัญที่สุด คือ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการใช้และติดสารเสพติดชนิดอื่นด้วย

เปิดเสรีกัญชา อุบัติการณ์โรคจิตเวชเพิ่มขึ้น?

จากการศึกษาในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่ประกาศใช้นโยบายกัญชาทางการแพทย์ทั้งแบบจำกัดข้อบ่งชี้และแบบเปิดกว้างที่ไม่จำกัดข้อบ่งชี้ พบว่า รัฐที่ใช้นโยบายกัญชาแบบเปิดกว้างนั้นมีอุบัติการณ์ของโรคจิตเวชรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลจากประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาแบบสันทนาการได้ พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบจากกัญชาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทย มีรายงานจากฐานข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ปี 2563 – 2564 พบว่า ช่วงการระบาดของโควิด–19 มีผู้รับบริการแบบผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในแผนกจิตเวชลดลง แต่ผู้เข้ารับการรักษาโรคจากการใช้สารเสพติด ไม่รวมแอลกอฮอล์ และบุหรี่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องถึง 20 – 40% การออกนโยบายกัญชาจึงควรสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวม รัฐควรทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กัญชาสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันยังสามารถป้องกันบุคคลทั่วไปและเยาวชนจากความเสี่ยงของกัญชารูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการอย่างเสรีอีกด้วย

หวั่นวัยรุ่นใช้กัญชา เสี่ยงกระทบสมอง ซึมเศร้า พฤติกรรมรุนแรง

ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย บอกว่า กัญชายังเป็นสารเสพติด ผู้ใหญ่มีโอกาสเสพติดประมาณ 9% เด็ก วัยรุ่น 17% และมีผลกระทบต่อการทำงานของสมอง โดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่น ซึ่งจากการทำ MRI พบสมองเล็กลง รอยหยักเปลี่ยนไป เกี่ยวข้องกับความสามารถในการเรียนรู้และสติปัญญา ไอคิวลด มีผลต่อความจำ ความสามารถในการใช้เหตุผล สมาธิ ทักษะแก้ปัญหาชีวิต มีปัญหาความยับยั้งชั่งใจ ส่งผลต่อพฤติกรรมความรุนแรง พบความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย เกเร ทั้งนี้ พบพฤติกรรมฆ่าตัวตายในวัยรุ่นที่ใช้กัญชา สูง 3-4 เท่า


“น่ากังวลหากเปิดใช้กัญชาที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ ปัญหาการฆ่าตัวตายอาจจะเพิ่มขึ้น ทั้งยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว เกิดความเครียด มีข้อมูลพบการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย ความรู้สึก การล่วงละเมิดทางเพศสูงขึ้นด้วย ดังนั้น ข้อเสนอของสมาคมจิตแพทย์ฯ คือ ร่าง พ.ร.บ.ที่จะผ่านสภาฯ นั้นขอให้ตีกรอบเฉพาะการใช้ทางการแพทย์ก่อน ส่วนการใช้ที่นอกเหนือจากทางการแพทย์ ขอให้รอพัฒนาระบบการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้เข้าที่ก่อน มีการควบคุมการผลิต ป้องกันการใช้นอกระบบ หากทำสิ่งเหล่านี้ได้ดีแล้วค่อยมาว่าเรื่องการใช้กัญชาด้านอื่น ๆ ต่อไป”

ศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

แนะทบทวนร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ คำนึงผลกระทบสุขภาพ สังคม

ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงนโยบายกัญชาของภาครัฐกับผลกระทบของร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ของพรรคภูมิใจไทย ว่า กัญชา หรือพืชกัญชา ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศคือ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยสารเสพติด ค.ศ.1961 (Single Convention 1961) การแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จะส่งผลทำให้พืชกัญชาในส่วนที่มีสาร THC สูงซึ่งมิใช่สารสกัด ไม่เป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามประกาศ สธ.เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ จึงขัดต่อกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ ไม่มีประเทศใดออกกฎหมายลักษณะนี้ จะทำให้การค้ากัญชาผิดกฎหมายกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ทำให้มีใช้เพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้อง ซึ่งประเทศไทยยังขาดความพร้อมในเรื่องนี้ อาจส่งผลเสียมากต่อสังคมและประชาชน มีการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น จนส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้เกิดอาชญากรรม อุบัติเหตุ ปัญหาสังคม

“การจัดทำร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย มีจุดอ่อนหลายประการ เน้นการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาที่เอื้อต่อกลุ่มทุน ขาดมาตรการคุ้มครองสุขภาพ ขาดมาตรการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่เหมาะสม ซึ่งในกฎหมายต่างประเทศจะมีมาตรการที่เข้มงวด”

ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มธ.

ขณะที่ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 10 ระบุถึง ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ที่เสนอนั้น มีบางอย่างที่ก่อให้เกิดความสับสนในเรื่องการสื่อสาร และการนำไปบังคับใช้ ดังนั้น ข้อเสนอแนะคือให้มีการปรับบทนิยามในมาตรา 3 มาตรา 4 เรื่องการใช้เพื่อประโยชน์ในครัวเรือน และเพิ่มมาตรการรองรับการครอบครองกัญชา หรือกัญชงภายหลังการสิ้นอายุการแจ้ง หรือสิ้นอายุใบอนุญาตว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป และพิจารณาบทกำหนดโทษกรณีที่ไม่จดแจ้งหรือไม่ขออนุญาตครอบครองภายหลังสิ้นอายุใบอนุญาต เพราะในร่างฯ ไม่ได้มีการกำหนดไว้

และควรมีการกำหนดหมวดใหม่ ในร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ให้มีการตั้งกองทุนสำหรับเยียวยาผลกระทบจากกัญชา กัญชง เพิ่มเติม เนื่องจากเรื่องนี้อยู่ภายใต้การกำกับของสธ. จะมาใช้กองทุนของ ป.ป.ส.ไม่ได้ ซึ่งเท่าที่ดูร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ยังไม่ได้กำหนดตรงนี้ไว้ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องมี เพราะสุดท้ายพ.ร.บ.อาจจะบังคับใช้ไม่ได้จริง เนื่องจากปัจจุบันมีการมองในมุมการแพทย์ การรักษาพยาบาล แต่ไม่ได้มองในมุมที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะเท่าที่ดูน่าจะเป็นทุนใหญ่ที่มาขออนุญาต ดังนั้นต้องเขียนไว้ในร่างพ.ร.บ.ให้ชัดเจน เพราะถ้าผลักดันภายหลังเป็นเรื่องยากมาก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active