เหตุการณ์ไฟไหม้รถบัส: ประมาทเลินเล่อหรือผลพวงจาก ‘คอร์รัปชัน’

ผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือนกับเหตุการณ์สุดสะเทือนใจอย่างเหตุการณ์ “รถบัสไฟไหม้” ที่สร้างบาดแผลแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างร้ายแรง และยังทำให้เกิดคำถามมากมายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความปลอดภัยในการเดินทางในประเทศไทย การให้เด็กอนุบาลไปทัศนศึกษาโดยไม่มีผู้ปกครอง ความประมาทเลินเล่อของคนขับและโรงเรียน หรือแม้แต่ประเด็นสำคัญอย่างความบกพร่องในกระบวนการตรวจสอบความพร้อมของรถยนต์ และการขอใบอนุญาตที่อาจไม่โปร่งใส ที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐ ข้าราชการ และกลุ่มทุนอย่างซับซ้อน โดยบทความนี้จะขอพาทุกคนไปสำรวจข้อค้นพบ ข้อสังเกตต่าง ๆ จากเหตุการณ์ รวมถึงการดำเนินงาน และมาตรการที่รัฐจัดทำอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก

เหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 23 ราย และบาดเจ็บจำนวน 3 ราย โดยในเวลา 15.30 น. ทรงวิทย์ ชินบุตร เจ้าของบริษัทรถทัวร์นำเที่ยว ชินบุตรทัวร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสและยืนยันว่า ถังแก๊ส NGV ผ่านมาตรฐานของกรมการขนส่ง ที่มีการตรวจทุก 2 ปี พร้อมเยียวยาผู้เสียหายเต็มที่ ซึ่งในวันต่อมา (2 ต.ค. 2567) สมาน จันทร์พุฒ คนขับรถบัสได้เดินทางมาติดต่อมอบตัวกับตำรวจ สภ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง หลังหลบหนีตอนรถเกิดไฟไหม้ โดยให้เหตุผลว่าหลังเกิดเหตุได้พยายามรีบไปหยิบถังดับเพลิงที่รถบัสคันอื่นในขบวน แต่ไฟโหมแรงขึ้นจนทำให้ตกใจและตัดสินใจหลบหนีออกจากจุดเกิดเหตุไปอยู่ที่บ้านญาติในจังหวัดอ่างทอง

ตรวจสอบข้อเท็จจริงและ หามาตรการป้องกันอุบัติเหตุซ้ำเดิม

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหากับ สมาน 4 ข้อหา คือ 1.ขับรถโดยประมาทหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตราย แก่บุคคลหรือทรัพย์สิน 2.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 3.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และ 4.ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและไม่หยุดรถให้การช่วยเหลือ ไม่แสดงตัว และไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานเป็นเหตุให้บุคคลถึงแก่ความตาย โดยศาลจังหวัดธัญบุรีพิจารณาอนุญาตรับฝากขัง

ต่อมามีญาติและทนายความของผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแต่ทางศาลไม่อนุญาต เนื่องจากคดีนี้มีความเสียหายร้ายแรงผู้ตายส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก ซึ่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หลังเกิดเหตุ ผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุเพื่อช่วยเหลือโดยตลอดและไม่แสดงตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ประกอบกับผู้เสียหายและพนักงานสอบสวนคัดค้าน หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ในภายหลัง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน และดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำเดิม

ในเวลาต่อมา ได้มีการดำเนินการพักใบอนุญาตของผู้ประกอบการ และผู้จัดการด้านความปลอดภัย (TSM) โดยจะไม่สามารถดำเนินการ กิจการขนส่งสาธารณะได้ ในระหว่างการสอบสวน รวมถึงพักใบอนุญาตวิศวกรผู้ติดตั้งถังก๊าซ และยังตรวจยึดรถบัสนำเที่ยว 5 คันของบริษัทที่เกิดเหตุรถไฟไหม้ หลังพบถูกเคลื่อนย้ายไปที่อู่แห่งหนึ่ง ในเมืองโคราช พบว่ารถติดตั้งถังแก๊ส 10 ถัง แต่ขออนุญาตไว้ 6 ถัง ทั้งหมดถูกซุกซ่อนไว้ในช่องเก็บอุปกรณ์ บริเวณด้านหน้ารถ และใกล้กับประตูฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังพบว่า รถบางคันไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงและค้อนทุบกระจก ซึ่งเจ้าของอ้างว่า นำอุปกรณ์ไปให้รถคันที่เกิดไฟไหม้ ส่วนประตูฉุกเฉินด้านหลัง บางคันไม่สามารถเปิดได้

โดยในวันที่ 21 ต.ค. 67 ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(บก.ปปป.) อลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 สมาชิกวุฒิสภา เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. เพื่อให้ดำเนินคดีกับขนส่งจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งกล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่การดำเนินคดีที่ สภ.คูคต จะต้องประสานกับครอบครัวผู้เสียชีวิตที่อยู่ในท้องที่ สภ.ลานสัก จ.อุทัยธานี จะต้องมีการสรุปสำนวนสอบสวนคดี เพื่อฟ้องเป็นคดีอาญากับคนขับ และผู้ประกอบการ ซึ่ง สภ.คูคตรับปากว่า จะสรุปสำนวน ส่งฟ้องภายในวันที่ 3 พ.ย. 67 และอย่างช้าสุดในวันที่ 3 ม.ค. 68 ตามกำหนดที่จะต้องส่งสำนวนส่งฟ้องให้กับศาลธัญบุรีภายใน 84 วัน ยังไม่มีการพูดถึงการตรวจสอบสภาพรถ รวมถึงถังแก๊สที่ติดตั้งภายในรถมีมาตรฐานหรือไม่ จึงจำเป็นต้องร้องเรียนกับตำรวจ ปปป. เพื่อต้องการให้มีการสอบและดำเนินคดีกับขนส่งจังหวัดสิงห์บุรี และวิศวกรที่ตรวจสอบสภาพรถทั้งหมด

ขัอสังเกตเรื่องการตรวจสภาพรถ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะการคุ้มครองเด็กตามหลักสิทธิมนุษยชนเสนอแก่นายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอให้รัฐดำเนินมาตรการป้องกันการบาดเจ็บและอุบัติเหตุของเด็ก พร้อมแต่งตั้งหน่วยงานเฉพาะทางเพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์ต่อคณะรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ข้อเสนอยังรวมถึงการยกเลิกรถโดยสารสองชั้นและรถที่ใช้ CNG เป็นรถทัศนศึกษา กระทรวงศึกษาธิการถูกเสนอให้ปรับหลักเกณฑ์ทัศนศึกษาให้สอดคล้องกับวัยเด็กและจัดหลักสูตรบังคับด้านการรับมือเหตุฉุกเฉิน และยังมีข้อสังเกตที่น่าสงสัยอีกหลาย เช่น ส่วน

  1. บริษัท ชินบุตร เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการรถบัสในเหตุการณ์นี้ ให้บริการรถบัสที่มีอายุการใช้งานมาแล้วกว่า 54 ปี (จดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2513) ขณะที่มาตรฐานรถโดยสารสาธารณะควรอยู่ที่ 10-15 ปี รถบัสมียี่ห้อรถเดิมคือ อีซูซุ แต่ดัดแปลงมาเป็นยี่ห้อเบนซ์และใช้เครื่องยนต์ยี่ห้อเบนซ์ โดยคุณณัฐพงศ์ บุญตอบ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ได้ให้ความเห็นว่า ผู้ประกอบการหลายแห่งในประเทศไทยมักจะซื้อคัสซี (หรือแชสซี) ที่เป็นตัวโครงของรถบรรทุกมาและซื้อเครื่องยนต์เพื่อมาจดประกอบ นับเป็นช่องว่างในการจดประกอบรถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยที่น่าเป็นห่วงและยังคงเกิดขึ้น
  2. บริษัท ชินบุตร เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ติดตั้ง NGV 11 ถังภายในรถบัสที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ แต่มีการยื่นขออนุญาตติดตั้งเพียง 6 ถัง และยังพบว่าถังที่ต่อเติมเกิดการรั่วไหลของก๊าซ ซึ่งหากคำนวณตามน้ำหนักของตัวรถควรติดตั้งมากที่สุดเพียง 6 ถังเท่านั้น นอกจากนี้ ตามระเบียบการตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ต้องตรวจปีละ 2 ครั้ง โดยจะเป็นการตรวจความพร้อมของช่วงล่าง ทดสอบความเอียงความสูง เสถียรภาพการทรงตัว ส่วนการต่ออายุพวกถังก๊าซ ต้องมีการตรวจสภาพเช่นกัน ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นการตรวจพร้อมกับการตรวจสภาพรถ
  3. บริษัท ชินบุตร เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด มีการยื่นจดทะเบียนรถบัสกับการยื่นจดประกันโดยใช้รายละเอียดการยื่นไม่เหมือนกัน โดยยื่นจดทะเบียนรถบัสต่อหน่วยงานขนส่งเป็นรถบัสที่ไม่ได้ติดตั้งก๊าซเอ็นจีวี แต่ตอนที่ยื่นทำประกันกับบริษัทประกันภัยระบุข้อมูลว่า ติดตั้งก๊าซเอ็นจีวี
  4. รถบัสที่ บริษัท ชินบุตร เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการในเหตุการณ์นี้ไม่สามารถใช้ประตูทางออกฉุกเฉินได้ ไม่มีระบบอุปกรณ์ฉุกเฉินบนตัวรถบางส่วน โดยมีหลักฐานสนับสนุน 3 ส่วนคือ 1.ร่างของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่บริเวณด้านหลังรถ ใกล้กับบริเวณของประตูทางออกฉุกเฉิน แต่พบว่าไม่มีการเปิดขณะเกิดเหตุ 2.ภาพวงจรปิดของอาคารบริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุยังจับภาพขณะที่คนขับรถบัสเปิดประตูลงจากรถ และเดินวนมาที่บริเวณประตูฉุกเฉินด้านหลังก่อนพยายามเปิดแต่ไม่สำเร็จ 3.ไม่พบค้อนทุบกระจกอยู่บนรถบัส

ข้อสังเกตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

อีกหนึ่งข้อสังเกตสำคัญที่ได้จากการสืบค้นของฝ่ายข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของ HAND Social Enterprise ผ่านเครื่องมือจับโกงจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือ ACT Ai (actai.co) ที่พบว่า บริษัท ชินบุตร เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รับงานกับหน่วยงานรัฐเพียง 4 โครงการในปี 63 ด้วยวิธีการวิธีเฉพาะเจาะจงทั้งหมด จำนวนวงเงินสัญญาที่ได้งานทั้งหมด 120,957 บาท (https://tinyurl.com/yr5fwp67) แต่พบว่าผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทมีการรับงานกับหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นประเภทเดียวกันกับบริษัท ได้แก่

  1. นายจิรภัทร ชินบุตร
    • ถือหุ้นทั้งหมด 3 บริษัท ดังนี้
      • ชินบุตร เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
      • เอกซ์เซลเลนซ์ เฟอร์นิเจอร์ บาย ชินบุตร จำกัด
      • ชัยนาททัวร์ จำกัด
    • ใช้ชื่อตัวเองรับงานกับภาครัฐตั้งแต่ปี 58-67 จำนวน 105 โครงการ จำนวนวงเงินสัญญาที่ได้งานทั้งหมด 3,325,200 บาท (https://tinyurl.com/yqpno667
      • โครงการที่เป็นผู้ได้รับสัญญาเพียงรายเดียว จำนวน 84 โครงการ
      • โครงการที่ได้รับสัญญาร่วมกับผู้ถือหุ้น/กรรมการบริษัท ชินบุตร เอนจิเนียริ่งและกลุ่มเอกชน จำนวน 17 โครงการ
      • โครงการที่ได้รับงานแต่ใช้ชื่ออื่นในการลงนามสัญญาจ้าง เช่น “บ้าน/ชินบุตรทัวร์/ชินบุตรทัวส์” จำนวน 4 โครงการ
  2. นางสาวปาณิสรา ชินบุตรถือหุ้นทั้งหมด 4 บริษัท
    • เอกซ์เซลเลนซ์ เฟอร์นิเจอร์ บาย ชินบุตร จำกัด
    • ชัยนาททัวร์ จำกัด
    • ชินบุตร เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
    • เอฟ โอ ที จำกัด
    • ใช้ชื่อตัวเองรับงานกับภาครัฐตั้งแต่ปี 58-67 ทั้งหมด 164 โครงการ จำนวนวงเงินสัญญาที่ได้งานทั้งหมด 4,288,695 บาท (https://tinyurl.com/yo4drdco)
      • โครงการที่เป็นผู้ได้รับสัญญาเพียงรายเดียว จำนวน 140 โครงการ
      • โครงการที่ได้รับสัญญาร่วมกับผู้ถือหุ้น/กรรมการบริษัท ชินบุตร เอนจิเนียริ่งและกลุ่มเอกชน จำนวน 19 โครงการ
      • โครงการที่ได้รับงานแต่ใช้ชื่ออื่นในการลงนามสัญญาจ้าง เช่น “-/ชินบุตรทัวร์/ชินบุตร” จำนวน 5 โครงการ
  3. นายทรงวิทย์ ชินบุตร
    • ใช้ชื่อตัวเองรับงานกับภาครัฐในโครงการเดียวกับกรรมการบริษัท ชินบุตร เอนจิเนียริ่ง ตั้งแต่ปี 59-67 จำนวน 15 โครงการ จำนวนวงเงินสัญญาที่ได้งานทั้งหมด 1,124,000 บาท (https://tinyurl.com/25jldnob)
  4. นางกนิษฐา ชินบุตร
    • ถือหุ้นทั้งหมด 2 บริษัท
      • ชินบุตร เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
      • เอกซ์เซลเลนซ์ เฟอร์นิเจอร์ บาย ชินบุตร จำกัด
    • ใช้ชื่อตัวเองรับงานกับภาครัฐในโครงการเดียวกับกรรมการบริษัท ชินบุตร เอนจิเนียริ่ง ตั้งแต่ปี 59-67 จำนวน 16 โครงการ จำนวนวงเงินสัญญาที่ได้งานทั้งหมด 980,185 บาท (https://tinyurl.com/255a3x7m)
  5. นางนงนุช ชินบุตร
    • ใช้ชื่อตัวเองรับงานกับภาครัฐในโครงการเดียวกับกรรมการบริษัท ชินบุตร เอนจิเนียริ่ง เมื่อปี 66 จำนวน 2 โครงการ จำนวนวงเงินสัญญาที่ได้งานทั้งหมด 195,000 บาท

ยังพบอีกว่า จากระบบ e-GP ของกรมบัญชีกลาง พบว่า บริษัท ชินบุตร เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รับงานในลักษณะ “จ้างเหมารถไปทัศนศึกษา” เพียง 4 โครงการในปี 63 แต่พบข้อสังเกตว่ามีการรับงานโดยใช้ชื่อของกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัทจำนวน 3 คน (จิรภัทร, ปาณิสรา, กนิษฐา) โดยตรงในสัญญาเดียวกันหลายโครงการ ตามตัวอย่างด้านล่าง

หากเสิร์ชชื่อของ นายจิรภัทร ชินบุตร จะพบบางโครงการที่ได้รับงานในลักษณะ “จ้างเหมารถบัส” แต่ในสัญญากลับไม่ใช่ชื่อผู้ทำสัญญา ตามตัวอย่างด้านล่าง

จะสังเกตได้ว่าโครงการที่รับงานกับหน่วยงานรัฐเกือบทั้งหมดเป็นแบบ “เฉพาะเจาะจง” และ “ตกลงราคา” จ้างเหมาไปทัศนศึกษา มีการจัดทำการจัดซื้อจัดจ้างช่วงท้ายปีงบประมาณหลายโครงการ ทำให้เกิดคำถามถึงลักษณะงานจ้างเหมารถไปทัศนศึกษาด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง สามารถใช้ชื่อกรรมการบริษัทเดียวกัน (หรือ ผู้รับจ้างที่มีความเกี่ยวข้องกัน) รับงานในสัญญา/โครงการเดียวกันถือว่าปกติหรือไม่อย่างไร โครงการลักษณะจ้างทำของ/จ้างเหมาบริการ ผู้รับจ้างที่เป็นบุคคลจะสามารถรับงานหลายสัญญาจ้าง/หลายรายการ ภายในโครงการเดียวกันได้หรือไม่ ถ้าทำได้ เหตุใด บ.ชินบุตร จึงมักใช้ชื่อบุคคลรับงาน 1 คนต่อ 1 สัญญา แล้วทางสำนักงาน ป.ป.ช. มองว่าความแตกต่างในการรับงาน 1 คน 1 สัญญา กับ 1 คน หลายสัญญา คืออะไร หรือการรับงานรัฐด้วยชื่อกรรมการ(หรือบุคคลหนึ่ง) แต่ผู้ขับรถที่ร่วมงานกับโรงเรียนและเด็กจริงเป็นลูกจ้างของผู้รับงาน(หรือบุคคลอื่น) หรือรถที่ใช้เป็นรถที่จดทะเบียนในนามบุคคลอื่นอีกทีจะทำให้หน่วยงานเจ้าของโครงการทราบข้อมูลของผู้ที่มาทำงานให้จริง หรือไม่ การตรวจสอบด้านคุณภาพ ความปลอดภัย ฯลฯ จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

ช่องโหว่ สู่ “ส่วยรถบัส” หลีกเลี่ยงตรวจสภาพรถ

จากข้อมูลข้างต้นทำให้เกิดข้อสงสัยต่อกระบวนการต่าง ๆ ที่ “ภาครัฐ” มีหน้าที่รับผิดชอบในการรับจดทะเบียน ออกใบอนุญาต รวมไปถึงตรวจสอบความพร้อม ความเหมาะสม และความปลอดภัยของสิ่งต่าง ๆ ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างผ่านงบประมาณของรัฐว่าเป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่การรับจดทะเบียนรถสำหรับประกอบกิจการว่ามีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดมากแค่ไหน มีการตรวจสอบไปถึงการข้อมูลการจดทะเบียนกับที่อื่นอย่างประกันภัยหรือไม่ มีขั้นตอนหรือมาตรการในการตรวจสอบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอหรือไม่

หากยังไม่มีมาตรการควรจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้การออกใบอนุญาตเป็นไปอย่างเหมาะสมมากขึ้น หรือกระบวนการจัดจ้างควรจะมีการตรวจรับที่รัดกุมและรอบคอบมากขึ้นหรือไม่ การตรวจสอบสภาพรถยนต์ทุก 2 ปีเพียงพอหรือไม่ หากไม่มีการตรวจสภาพรถจะมีบทลงโทษอย่างไร กระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใสแค่ไหน

โดยผู้ประกอบการรถบัสหลายรายได้ให้ข้อมูลแก่สาธารณะหลังจากเกิดเหตุการณ์ว่า รถบัสส่วนใหญ่จะหมดอายุทะเบียนพร้อมกันในช่วงเดือนมกราคมและมิถุนายน ซึ่งการตรวจสภาพใช้เวลานานทำให้สามารถตรวจได้แค่ประมาณ 10 คันต่อวัน และหากไม่ผ่านการตรวจสภาพก็ไม่สามารถรับงานได้ จึงทำให้เกิดการลัดคิวผ่าน “ส่วยรถบัส” ขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ขนส่งเพื่อลัดคิวและย่นระยะเวลาการตรวจสภาพ โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องจะเรียกรับเงินกับผู้ประกอบการ ประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อคัน แต่ถ้าหากจ่ายมากกว่า 4,000 บาทขึ้นไป ถือว่าเป็นราคา VIP จะได้สิทธิพิเศษคือสามารถเข้าช่วงตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคิว และอาจมีกรณีการจ่ายใต้โต๊ะหลักหมื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสภาพรถที่มักมาจากอู่เล็ก ๆ หรือใช้วัสดุเก่าต่างจากมาตรฐานที่ควรจะเป็น

ไม่ว่าคำถามหรือเรื่องราวข้างต้นจะเกิดขึ้นกับกรณีนี้หรือไม่ เกี่ยวข้องกับข้อสังเกตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ก็อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้อำนาจของรัฐที่เกินควร ต้นทุนการกระทำตามกฎหมายที่สูงมาก และความไม่สะดวกสบายของกระบวนการต่าง ๆ เป็นช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้ข้าราชการและผู้ประกอบกิจการสามารถเสนอหรือสนองความต้องการที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดอันทำให้เกิดวัฒนธรรมการทุจริตคอร์รัปชันขนาดเล็ก (Petty corruption) ที่เกิดจากข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน และไม่ได้มีความเสียหาย(จำนวนเงิน)มหาศาล ที่อาจมาจากการทุจริตคอร์รัปชันขนาดใหญ่ (Big corruption) ที่เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่สร้างความเสียหาย(จำนวนเงิน)มหาศาล และประกอบกันเป็น “การคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Systemic Corruption)” หรือที่เราเรียกว่า “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” เนื่องจากความอ่อนแอของระบบที่เอื้อให้คนนำวัฒนธรรมและผลประโยชน์ส่วนตนรวมเข้าด้วยกัน สร้างความกลัวในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เอื้อต่อการกระทำเหล่านี้

ข้อเสนอป้องกันโศกนาฎกรรมในอนาคต

กรณีไฟไหม้รถบัสอาจกลายเป็นเพียงหนึ่งในโศกนาฏกรรมที่ผ่านไปอย่างน่าสะเทือนใจ หากภาครัฐ หน่วยงานตรวจสอบ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น ๆ ยังไม่มีกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องให้รัดกุมมากพอที่จะไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเลือกใช้ดุลยพินิจหรือทำตามวัฒนธรรมการทุจริตคอร์รัปชันแทนการกระทำตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยผู้เขียนมีข้อเสนอดังนี้

  1. กำหนดมาตรการการตรวจสอบทะเบียน สภาพรถ การออกใบอนุญาตอย่างรัดกุม รวมถึงแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนเพื่อลดการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา โดยอาจประกอบกับการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบกิจการผ่านระบบออนไลน์เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินการ และยังลดการติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบกิจการที่จะลดโอกาสในการรับส่วน สินบน หรือการคอร์รัปชันได้ ทั้งนี้ ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับประเภทของกิจกรรมนั้น ๆ เช่น การออกใบอนุญาตการประกอบกิจการเกี่ยวกับรถยนต์ที่อาจไม่สามารถใช้กระบวนการผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างเดียว แต่อาจประกอบกับการทำงานเชิงรุกอย่างการลงตรวจสอบสภาพรถในพื้นที่ของผู้ประกอบกิจการ รวมไปถึงการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะด้วยเช่นกัน
  2. ปรับปรุงให้โรงเรียนมีฝ่ายตรวจรับวัสดุหรือพัสดุที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง โดยต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือให้มีผู้สังเกตการณ์ด้านวิศวกรรมร่วมตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไปจนถึงการตรวจรับอย่างในโครงการที่ร่วมข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact: IP) เพื่อลดโอกาสในการได้วัสดุที่ไม่ตรงตาม TOR หรือไม่ได้คุณภาพ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ควรเกิดขึ้น
  3. ฝึกอบรมความปลอดภัยสำหรับผู้ขับขี่ ต้องมีการอบรมให้ผู้ขับขี่เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยและวิธีการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการรู้จักตรวจสอบสภาพรถก่อนออกเดินทาง
  4. สร้างความตระหนักรู้ของผู้โดยสาร ควรมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการใช้งานอุปกรณ์ฉุกเฉินและวิธีการหนีออกจากรถในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้โดยสารมีความรู้ในการรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้
  5. การแก้ไขปัญหาการจ้างเหมาด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงหรือตกลงราคา ควรมีการออกมาตรการตรวจสอบการประมูลโครงการรัฐและวิธีการจ้างเหมาให้โปร่งใสมากขึ้น พร้อมกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับข้าราชการหรือหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำการทุจริต

         

การสร้างระบบการขนส่งที่ปลอดภัยและโปร่งใสไม่ใช่เพียงแค่การออกกฎหมาย แต่ควรเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบและความโปร่งใสในทุกระดับของระบบขนส่ง โดยเหตุการณ์นี้ควรเป็นบทเรียนสำคัญให้ทุกฝ่ายปรับปรุงมาตรการเพื่อให้ความปลอดภัยในการเดินทางกลับมาเป็นที่ไว้วางใจในสังคม


อ้างอิง